ทันทีที่การแพร่ระบาดของโควิดระลอกสามเริ่มรุนแรงขึ้นจนเกินควบคุม รัฐจึงเริ่มมาตรการคุมเข้มขึ้นด้วยมาตรการระยะสั้น เพื่อจำกัดการเคลื่อนย้ายที่ไม่จำเป็นของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง แต่มาตรการล่าสุดช่วยให้ประชากรเมืองผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันจริงหรือ
หลังมีการประกาศให้ประชาชนได้ทำงานอยู่บ้านตามมาตรการรัฐ เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิดระลอกสาม หน่วยงานรัฐ เช่น กรุงเทพมหานคร (กทม.) และองค์การขนส่งมวลชน (ขสมก.) ให้ความร่วมมือในทันที เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เพื่อจะนำพาทุกคนผ่านวิกฤตการแพร่ระบาดในครั้งนี้โดยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
การออกประกาศสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 26) ของกทม. มีเนื้อหาห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มเกิน 20 คน, ปิดการใช้พื้นที่สาธารณะ เช่น สนามกีฬา, ห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน, การจำกัดเวลาเปิดทำการถึง 21.00 น. สำหรับร้านค้าและห้างสรรพสินค้า และ 23.00 น. สำหรับตลาดนัดและร้านสะดวกซื้อ ก่อนหน้านั้น กทม. ได้มีคำสั่งปิดสถานที่ 31 แห่ง เช่น โรงภาพยนตร์ สวนสัตว์ สวนสาธารณะ สถานรับเลี้ยงเด็ก สระว่ายน้ำ ห้องจัดเลี้ยง และสนามกีฬาทุกประเภท มีผลตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2564
ในเวลาไล่เลี่ยกัน องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ก็ได้มีประกาศปรับลดจำนวนเที่ยวรถโดยสารทุกประเภทในช่วงเวลาปกติตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2564 เป็นต้นมา เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการควบคุมพื้นที่สีแดงเข้มตามประกาศของ ศบค. เนื่องจากหน่วยงานรัฐและเอกชนหลายแห่งได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นการทำงานอยู่ที่บ้าน และสถานศึกษาได้ปรับเปลี่ยนให้เรียนออนไลน์
ประกาศของสองหน่วยงานมีผลสืบเนื่องมาจากการออกคำสั่งกึ่งล็อกดาวน์โดย ศบค. ที่แบ่งออกเป็นสามระดับ (แดงเข้ม แดง และส้ม) เป็นเวลา 14 วัน ระหว่างวันที่ 1-14 พฤษภาคม 2564 โดยกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดระลอกล่าสุดจากคลัสเตอร์ทองหล่อ เป็นหนึ่งในหกจังหวัดที่ถูกจัดให้เป็นพื้นที่สีแดงเข้มหรือควบคุมสูงสุด
แน่นอนว่าความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อส่งเสริมมาตรการสนับสนุนให้คนทำงานอยู่กับบ้าน ลดการเคลื่อนย้ายที่ไม่จำเป็น น่าจะเป็นทางออกที่เห็นผลอย่างทันท่วงที อย่างน้อยก็ลดความเสี่ยงในการแพร่หรือรับเชื้อระหว่างการเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วนในแต่ละวันของคนนับล้าน แต่มาตรการดังกล่าวกลับลืมคนใช้แรงงานอีกจำนวนมากที่เป็นแรงงานขั้นต่ำรายวัน ซึ่งไม่สามารถทำงานที่บ้านได้
จากนโยบายรับมือการแพร่ระบาดของโควิดตลอดระยะเวลาปีกว่าที่ผ่านมา เราได้เห็นกันแล้วว่าการล็อกดาวน์และกึ่งล็อกดาวน์แต่ละครั้งกลายเป็นภาระของคนชนชั้นแรงงาน เพราะแรงงานในระดับปฏิบัติจำนวนไม่น้อย เช่น พนักงานทำความสะอาด เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย พนักงานขาย พนักงานส่งอาหาร พนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ ล้วนไม่สามารถทำงานจากที่บ้านได้
ดูเหมือนว่าหน่วยงานรัฐแต่ละแห่งจะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเป็นอย่างดี แต่ลืมทำหน้าที่เอื้อให้คนกลุ่มนี้ ที่ทำให้ชีวิตของคนอีกจำนวนมากใช้ชีวิต Work from Home มีประสิทธิภาพมากที่สุด
การเลือกปิดสวนสาธารณะของ กทม. เป็นการปิดช่องทางการผ่อนคลายของคนเมืองที่ไม่มีสวนในบ้าน หรือในบริเวณหมู่บ้านหรือคอนโด มีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไมสถานที่ออกกำลังกายกลางแจ้งหรือที่ตั้งในที่โล่งแจ้งจึงสามารถเปิดให้บริการได้ถึง 21.00 น. (ตามประกาศล่าสุด) แต่สวนสาธารณะของ กทม. ไม่สามารถเปิดให้คนเข้าใช้ได้ ทั้งที่ห้างสรรพสินค้าที่เป็นพื้นที่อากาศไม่ถ่ายเทกลับได้รับอนุญาตให้เปิดบริการ
นอกจากนี้ การเลือกปรับเปลี่ยนตารางเดินรถโดยสารของ ขสมก. ที่ดูเหมือนจะสอดคล้องกับมาตรการรัฐ กลับดูไม่ค่อยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการสักเท่าไหร่ หากเรายังจำช่วงล็อกดาวน์ประเทศครั้งแรกเมื่อเดือนปลายเดือนมีนาคมปีที่แล้วกันได้ ขสมก. ประกาศให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ด้วยการปรับลดจำนวนเที่ยวทันที พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนเวลาเดินรถให้สั้นลง เพื่อสอดคล้องกับชั่วโมงเคอร์ฟิว ทำให้รถเมล์คันสุดท้ายของทุกสายในแต่ละวันจะต้องวิ่งถึงปลายทางก่อนเวลาเคอร์ฟิว บางสายที่วิ่งระยะไกลและใช้เวลานานมากกว่าหนึ่งชั่วโมงจะต้องวิ่งให้ถึงปลายทางก่อนเวลาเคอร์ฟิว นั่นแปลว่าผู้โดยสารจะต้องหาวิธีเลิกงานให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะขึ้นรถโดยสารเที่ยวสุดท้ายของวัน
ผู้บริหาร ขสมก. เองคงลืมไปว่า กลุ่มผู้ใช้บริการรถเมล์ส่วนใหญ่เป็นแรงงานระดับปฏิบัติ เช่น แม่บ้าน หรือคนส่งอาหาร ที่ไม่สามารถนำความสะอาดของร้านอาหารหรือการส่งอาหารกลับไปทำที่บ้านได้ เพราะฉะนั้น การลดจำนวนเที่ยวและปริมาณรถเมล์ลงเพราะคนทำงานที่บ้านมากขึ้นนั้น ดูจะเป็นการซ้ำเติมให้การเว้นระยะห่างของคนกลุ่มนี้เป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น
หลายคนคงจะจำภาพรถเมล์บนโลกโซเชียลมีเดีย ขณะวิ่งให้บริการในช่วงเริ่มคลายล็อกดาวน์เมื่อปีที่แล้วได้ดี ในช่วงที่การทำงานที่บ้านเริ่มลดลง ทำให้คนสัญจรไปทำงานมากขึ้นในช่วงคลายล็อกดาวน์ แต่การเว้นระยะห่างยังคงต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ทำให้ที่นั่งสี่เบาะในแต่ละแถวมีคนนั่งได้เพียงสองคน แต่ผู้โดยสารกลับต้องยืนหายใจรดต้นคอกันตรงทางเดินขนาดไม่ถึงหนึ่งเมตร เพราะต้องทำตามกฎเว้นระยะห่างการนั่ง แต่กลับทำการเว้นระยะห่างการยืนไม่ได้
มาตรการล็อกดาวน์หรือกึ่งล็อกดาวน์อาจจะช่วยให้ลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดได้จริง ในขณะเดียวกัน ก็ลดคุณภาพชีวิตและปิดกั้นช่องทางสร้างรายได้ของชนชั้นแรงงานในเมืองอย่างไม่เป็นธรรม นอกเหนือไปจากข้อจำกัดเรื่องการเคลื่อนย้ายด้วยขนส่งที่มีปริมาณจำกัดมากขึ้น เวลาของร้านค้ารายย่อยที่สั้นลง รวมถึงการห้ามนั่งในร้าน ก็ส่งผลให้ลูกค้าชนชั้นแรงงานมีโอกาสซื้ออาหารข้างทางได้น้อยลง เพราะพวกเขายังคงต้องใช้เวลากับการเดินทางเท่าเดิม หรือยาวนานกว่าเดิม และผู้ประกอบการรายย่อยมีโอกาสขายได้น้อยลงเช่นกัน เนื่องจากเปิดได้ถึงแค่สามทุ่ม และต้องประสบปัญหากับรายได้ที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่รัฐบาลกลับเลี่ยงการเยี่ยวยาด้วยมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ ทว่าร้านสะดวกซื้อที่สายป่านยาวกว่ายังคงได้รับอนุญาตให้เปิดได้ยาวนานกว่าอีกสองชั่วโมง
เจ้าของแผงส้มตำรายหนึ่งเล่าถึงจำนวนลูกค้าที่ลดน้อยลงเพราะมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ ตั้งข้อคำถามว่า ทำไมแผงส้มตำกลางแจ้งของเขาที่จัดโต๊ะห่างกันได้สองเมตร ให้คนขับรถแท็กซี่และคนรายได้น้อยใช้เวลาสักครึ่งชั่วโมงฝากท้องก่อนกลับที่พัก กลับได้รับอนุญาตให้เพียงซื้อกลับบ้านได้ถึงแค่สามทุ่ม
“แต่เซเว่นยังเปิดขายได้ถึงห้าทุ่มนะพี่”
อ้างอิง
http://www.prbangkok.com/th/post/view/MDY1cDBzNnM0NHIyb3Ezc3E2NnEyNDk0cDRyOTQzcjQyODUzMg
https://www.prachachat.net/general/news-655069
https://www.prachachat.net/property/news-656252
Tags: City Calling, นโยบายรัฐ, โควิด-19, ล็อกดาวน์