หลังจากที่นั่งดู หัวใจพบรัก หรือ Encounter แบบไม่ตั้งใจไปหลายตอน ผู้เขียนพบว่าซีรีส์ดังจากเกาหลีเรื่องนี้ไม่ได้มีแค่พระเอกหล่อนางเอกสวย พล็อตเนี้ยบ สคริปต์เป๊ะ หรือการสอดแทรกวัฒนธรรมท่องเที่ยวและอาหารการกินของเกาหลีให้ผู้ชมได้ซึมซับเท่านั้น ทว่าฉากหลังของซีรีส์นี้มี ‘เมือง’ และ ‘พื้นที่สาธารณะ’ ที่ผู้คนอาศัยใช้ชีวิตในแต่ละวัน รายละเอียดเหล่านี้ชวนให้ผู้เขียนนึกถึงเรื่อง ให้รักพิพากษา หรือ Dare to Love ซีรีส์ไทยที่กำลังเผยแพร่ทางช่องเน็ตฟลิกซ์ในขณะนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เรื่องแรกเป็นเรื่องราวความรักระหว่างซีอีโอสาวเจ้าของโรงแรม ‘ชาซูฮยอน’ กับพนักงานโรงแรมหนุ่ม ‘คิมจินฮยอก’ โดยมีฉากหลังอยู่ในกรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ และเมืองซกโช เมืองชายทะเลทางตะวันออกของประเทศ ห่างจากกรุงโซลประมาณสองชั่วโมงครึ่ง ส่วนเรื่องหลังเป็นเรื่องราวในสำนักงานทนายความที่ทนายสาวดาวรุ่ง ‘ทิชากร’ พบรักกับ ‘คิว’ เด็กฝึกงานหนุ่มในทีม โดยมีฉากหลังคือกรุงเทพมหานคร และเกาะพีพี จังหวัดกระบี่
หลังจากติดตามไปได้หลายตอน สิ่งที่ผู้เขียนเห็นในซีรีส์ทั้งสองเรื่อง ไม่ใช่ความ ‘เหมือน’ ของเรื่องราวความรักระหว่างเด็กหนุ่มที่หลงรักหญิงสาวอายุมากกว่า แต่เป็นความ ‘ต่าง’ ของพื้นที่สาธารณะที่ทั้งสองคู่รักใช้เวลาด้วยกัน
ขณะที่ชาซูฮยอนและคิมจินฮยอกออกเดตกันในภัตตาคารหรูหรา ร้านอาหารข้างทาง ร้านกาแฟ หรือแม้แต่ร้านหนังสือที่พวกเขาต้องจ่ายค่าบรรยากาศ แต่เราก็ได้เห็นทั้งคู่พบปะกันในพื้นที่ฟรีแบบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เช่น สนามเด็กเล่นในชุมชน อุทยาน ที่นั่งริมทะเล เก้าอี้ริมชายหาดในเมืองซกโช (ไม่ใช่สไตล์ร่มกับเตียงผ้าใบที่จะได้นั่งฟรีก็ต่อเมื่อสั่งอาหารเหมือนบ้านเรา)
ฉากที่น่าสนใจที่สุดฉากหนึ่งคือ ฉากที่คิมจินฮยอกชวนชาซูฮยอนไปออกเดต ด้วยการเดินดูงานศิลปะที่ติดตั้งอยู่บนเสาตอม่อของสะพานฮองนัม (Hongnam) ในสวนสาธารณะใต้ทางด่วนนาบุ (Naebu) ท่ามกลางคนหลากหลายวัยมาออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ เดิน วิ่ง ปั่นจักรยานบนเส้นทางขนาบลำธารเล็กๆ ใต้ทางด่วน ไม่น่าแปลกใจที่หนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้คู่นี้จะมีพื้นที่พบปะกันได้อย่างอิสระ
ภาพสตรีทวิวแกลเลอรีใต้สะพานฮองนัม (Hongnam)
เมื่อลองค้นหาข้อมูลคร่าวๆ ทางอินเทอร์เน็ตก็พบว่า พื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่กลางเมืองนั้น มีไม่น้อยที่ชาวเมืองสามารถเดินเล่นพักผ่อนหย่อนใจได้ ไม่ว่าจะเป็น ลานชองกเยพลาซ่า (Cheonggye Plaza) พื้นที่สาธารณะที่ตั้งอยู่ต้นน้ำคลองชองกเยชอน (Cheonggyecheon) ที่ไหลผ่านใจกลางกรุงโซล และทางเดินเลียบแม่น้ำชองเกยชอนที่ยาวถึง 10 กิโลเมตร ซึ่งนักท่องเที่ยวทุกคนชอบไปเยือน หรือจัตุรัสควางฮวามุน (Gwanghwamun Square) พื้นที่กว่า 12.5 ไร่กลางเมือง ที่ใช้เวลาเดินตลอดเส้นทางเพียง 10 นาทีเท่านั้น หรือแม้แต่ลานโซลพลาซ่า (Seoul Plaza) ที่ตั้งอยู่หน้าศาลาว่าการกรุงโซล ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นวงเวียนจราจร แต่ถูกเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับจัดกิจกรรมสันทนาการและงานเทศกาลใน ค.ศ. 2004 รวมทั้งถูกใช้เป็นลานสเกตน้ำแข็งในฤดูหนาวด้วย
ขณะเดียวกัน คู่หนุ่มสาวชาวไทยอย่างทิชากรและคิวกลับใช้เวลาส่วนใหญ่นอกสำนักงานอันจืดชืดและแห้งแล้ง ในร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า หรือผลัดกันไปมาระหว่างคอนโดหรูของทิชากรกับบ้านของคิว โดยพื้นที่สาธารณะที่ทั้งคู่ใช้เวลาด้วยกันมีเพียงลานหน้าตึกที่ทำงาน และสถานที่คล้ายลานจอดรถกึ่งสวนสาธารณะใกล้บ้านคิวเท่านั้นเอง
แม้ว่าละครเรื่องดังกล่าวจะมีพื้นที่สาธารณะน้อยมาก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ากรุงเทพมหานครจะไม่ให้ความสำคัญกับพื้นที่สาธารณะเลย เพราะช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นความพยายามที่จะเปิดพื้นที่สาธารณะใหม่ๆ ขึ้น ทั้งจากพื้นที่เดิมหรือพื้นที่ทิ้งร้าง ไม่ว่าจะเป็น ‘สะพานด้วน’ ที่นำเอาสถานีรถไฟฟ้าที่สร้างไม่เสร็จ มาเปลี่ยนเป็นสวนลอยฟ้าให้คนได้พักผ่อน และเป็นทางสัญจรข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาสำหรับคนเดินเท้าหรือจักรยาน หรือ ‘สะพานเขียว’ เปลี่ยนสะพานลอยที่ครั้งหนึ่งถูกมองเป็นพื้นที่ต้องห้ามหลังตะวันตกดิน ให้เป็นพื้นที่กิจกรรมสำหรับคนในและนอกชุมชน หรือพื้นที่ที่เคยถูกใช้งานผิดประเภท เช่น ตลาดสะพานเหล็ก ที่ปรับเปลี่ยนเป็นคลองโอ่งอ่างจนได้รับรางวัลระดับโลก
ภาพบน ‘สะพานด้วน’ หนึ่งในพื้นที่สาธารณะที่ได้รับการปรับปรุงจากสถานีรถไฟฟ้าสายแรกที่สร้างไม่เสร็จ
ผู้เขียนไม่แน่ใจการเลือกโลเคชันของซีรีส์เรื่อง ให้รักพิพากษา เป็นผลจากข้อจำกัดของการแพร่ระบาดโควิดระหว่างการถ่ายทำเมื่อปีที่แล้วหรือไม่ แต่ฉากหลังของละครแสดงให้เห็นคุณภาพชีวิตที่น่าเศร้าของคนกรุงเทพฯ ที่ต้องถูกบีบบังคับให้ใช้ชีวิตนอกเวลาเรียนหรือทำงานอยู่แต่ในพื้นที่กึ่งสาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร หรือลานจอดรถขนาดใหญ่แทบจะตลอดเวลา เพราะพื้นที่สาธารณะที่แท้จริงนั้นเติบโตไม่ทันการขยายของเมืองและจำนวนประชากรเมือง
นั่นเป็นเพราะหน่วยงานรัฐไทยให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตน้อยเกินไป เนื่องจากหน่วยงานรัฐยังมองการใช้พื้นที่สาธารณะเป็นกิจการที่ไม่สร้างรายได้ให้กับองค์กร ไม่เคยมองว่าคุณภาพชีวิตของประชากรเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า บ่อยครั้งเราจึงเห็นพื้นที่ของหน่วยงานรัฐถูกเช่าโดยเอกชนรายใหญ่ที่มีความสามารถที่จะสู้ราคาประมูลสิทธิเช่าพื้นที่
ยกตัวอย่างพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย นั่นคือพื้นที่กว่า 500 ไร่ของโรงงานซ่อมบำรุงรถไฟมักกะสันที่จะกลายเป็นอดีตในไม่ช้า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมไม่สามารถโน้มน้าวให้ รฟท. เชื่อว่า การเปลี่ยนพื้นที่โรงงานแห่งนี้ให้เป็น ‘สวนมักกะสัน’ ที่ผสมผสานพื้นที่การค้า เช่น บูทีคโฮเทลและคอนเวนชันฮอลล์ กับพื้นที่สาธารณะ เช่น สวนและพิพิธภัณฑ์ จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากว่าการเปลี่ยนพื้นที่สีเขียวให้เป็นป่าคอนกรีตอันจะเต็มไปด้วยศูนย์ช้อปปิ้งระดับโลก คอนเวนชันฮอลล์ขนาดใหญ่ ศูนย์การประชุมนานาชาติ และสถานพยาบาลระดับไฮเอนด์ เพราะสวนมักกะสันอาจจะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกรุงได้จริง แต่สร้างรายได้ให้กับ รฟม. เพียงน้อยนิด เมื่อเทียบกับเมืองมักกะสันที่จะกลายเป็นจุดเชื่อมสามสนามบินในอนาคต
บริเวณใต้ ‘สะพานเขียว’ ที่กำลังจะได้รับการปรับปรุงโดย กทม. ให้สะอาดและปลอดภัยต่อชุมชนมากขึ้น แต่ปัจจุบันสภาพยังดูห่างไกลจากแกลเลอรี่ใต้ทางด่วนของกรุงโซล
หรือแม้แต่ ‘บ้านพระประเสริฐวานิช’ ซึ่งหลายคนเรียกว่า ‘วังค้างคาว’ ในเขตคลองสาน ที่กรมธนารักษ์ เจ้าของพื้นที่กำลังจะเปิดประมูลสิทธิการเช่าในปลายเดือนกันยายนนี้ ด้วยตัวเลขที่ผู้เข้าร่วมประมูลต้องเสนอไม่ต่ำกว่า 9,475,200 บาท เดาได้ไม่ยากว่า คงมีเพียงนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ไม่กี่เจ้า ที่มีสายป่านยาวพอจะสู้ราคาประมูลและค่าซ่อมบำรุงในการเนรมิตอาคารโบราณอันแสนทรุดโทรมแห่งนี้ แลกกับสิทธิการเช่า 30 ปี
แต่ตัวเลขขั้นต่ำการประมูลอาจจะยังไม่ใช่จุดดับฝันของคนกรุงเทพฯ เพราะ ยศพล บุญสม สถาปนิกผู้ร่วมก่อตั้ง We Park เล่าถึงความฝันอันทะเยอทะยานของตัวเองว่า เขาอยากระดมทุนจากผู้ถือหุ้น (ทั้งรายย่อยและองค์กร) เพื่อทำแผนประมูลวังค้างคาว แล้วนำมาปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่สำหรับชุมชนทั้งทำกิจกรรมและเรียนรู้เรื่องชุมชนร่วมกัน แต่ทั้งนี้ต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อบริหารรายได้และกิจกรรมเพื่อความโปร่งใสทางการเงิน
ยศพลรู้ดีว่า ความฝันที่จะวางแผนประมูลวังค้างคาวนั้นไม่ง่าย แต่เขาก็อยากทดลองวิธีใหม่ๆ เหมือนที่กำลังทดลองด้วยวิธีของ We Park ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ว่างให้กลายมาเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียว ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีโครงการนำร่องเปลี่ยนพื้นที่รกร้างขนาด 200 ตารางวา ในซอยหน้าวัดหัวลำโพงให้เป็นสวนขนาดเล็ก (pocket park) และการเปลี่ยนพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้างขนาดเล็กในชุมชนโชฎึกในเขตสัมพันธวงศ์ให้เป็นสนามเด็กเล่นของชุมชน จนมาถึงปัจจุบัน กลุ่ม We Park กำลังพยายามเปลี่ยนพื้นที่ตาบอดขนาดประมาณสองไร่ในคลองสานให้เป็น ‘สวนสาน’ ให้ชุมชนได้ใช้พื้นที่ร่วมกัน หลังจากที่เจ้าของสนใจให้ใช้พื้นที่เป็นระยะเวลา 15 ปี
ยศพลเล่าว่า หากรัฐใช้การลดภาษีที่ดินเป็นแรงจูงใจให้เจ้าของที่ดินอนุญาตให้ชุมชนใช้พื้นที่ที่ยังไม่ต้องการใช้ประโยชน์เป็นเวลา 10-15 ปี ก็จะเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย เจ้าของที่ได้ลดภาระด้านภาษี ชุมชนได้พื้นที่ใช้สอยร่วมกัน และรัฐสามารถจัดสรรพื้นที่ให้กับชุมชนได้โดยไม่ต้องมีการเวนคืน
ผู้เขียนรู้ดีว่า แผนประมูลวังค้างคาวเพื่อสร้างให้เป็นพื้นที่สาธารณะในระยะเวลาไม่ถึงเดือนนั้นเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้เลย แต่อย่างน้อยเราก็ยังมองเห็นความพยายามที่จะเปลี่ยนเมืองจากคนกลุ่มเล็กๆ (นอกเหนือไปจากสถาปนิกและภาคประชาสังคมอีกหลายกลุ่ม) ที่ทดลองวิธีใหม่ๆ ที่จะสร้างพื้นที่สาธารณะ
เผื่อว่าวันหนึ่ง ทิชากรกับคิวอาจจะมีสวนสาธารณะใกล้บ้านหรือใกล้ที่ทำงานให้พวกเขาได้สวีตกัน แทนที่จะต้องนั่งคุยกันที่ลานหน้าตึกสำนักงานตัวเองเหมือนเคย
อ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/953410
https://www.bltbangkok.com/lifestyle/urban-living/35850/
https://www.bravoyourcity.com/story/a-transformed-hongje-stream
https://www.facebook.com/wecreatepark/
https://www.posttoday.com/social/local/365382
https://www.reic.or.th/News/RealEstate/440974
https://www.theseoulguide.com/public-spaces/
Tags: ซีรีส์เกาหลี, พื้นที่สาธารณะ, City Calling, เมืองใหญ่