หลังจากวางแผนเตรียมการแก้ไขปัญหารถจักรยานยนต์วิ่งย้อนศรบนถนนเพชรเกษมมาสักระยะ ความพยายามที่จะแก้ปัญหาของสำนักงานเขตบางแคเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ต้องจบลงภายในเวลาเพียงวันเดียวอย่างไม่น่าแปลกใจ

หลายคนคงได้ทราบข่าวแล้วว่า เมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา สำนักงานเขตบางแคได้ทำการทดลองแบ่งพื้นที่ทางเท้าให้รถจักรยานยนต์สัญจรร่วมกับคนเดินเท้าและรถเข็น เพื่อหาแนวทางลดปัญหาการวิ่งย้อนศรของรถจักรยานยนต์บนถนนเพชรเกษม และรูปแบบดังกล่าวอาจจะนำไปใช้ในพื้นที่อื่นในอนาคตหากได้รับการตอบรับที่ดี

เขตบางแคประกาศลงบนโซเชียลมีเดียถึงการทดลองแบ่งพื้นที่ทางเท้าให้กับรถจักรยานยนต์ใช้เป็นช่องทางย้อนศร โดยมีใจความว่า “เพื่อที่จะให้รถจักรยานยนต์ สัญจรไปมาได้สะดวก เนื่องจากถนนเพชรเกษมมีปริมาณรถที่หนาแน่น ช่องทางกลับรถอยู่ค่อนข้างไกล และทางเท้ามีความกว้าง 9-14 เมตร ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ประกอบกับพี่น้องประชาชนในย่านนี้ใช้รถจักรยานยนต์จำนวนมากในการรับส่งบุตรหลาน ซึ่งโรงเรียนในละแวกนี้มีจำนวนมาก รวมถึงมีผู้สูงอายุและแม่บ้านที่ออกมาจับจ่ายใช้สอยโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะเพราะมีซอยเป็นจำนวนมาก และยังไม่มีระบบขนส่งสาธารณะที่รองรับกลุ่มเหล่านี้”

ฟังดูเหมือนว่าทางสำนักงานเขตและกรุงเทพมหานคร (กทม.) ใส่ใจกับปัญหาและคุณภาพชีวิตของคนเมือง และพร้อมหาหนทางแก้ปัญหาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้พวกเราทุกคน แต่ ‘วิธีแก้ปัญหา’ ที่ทางสำนักงานเขตนำเสนอนั้น เป็นการหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ หรือเป็นเพียงการสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาทับถมปัญหาเดิมให้รุนแรงยิ่งขึ้นจนยากจะแก้ไข

แน่นอนว่าคนใช้รถจักรยานยนต์ต่างยินดีกับการทดลองนี้ เพราะก่อนการทดลองทางสำนักงานเขตได้เตรียมการล่วงหน้าเพื่อทดลองติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งเสาป้องกันไม่ให้รถจักรยานยนต์ขึ้นใช้ทางเท้าจากปากซอยเพชรเกษม 65/1 ถึงหน้าบิ๊กซีเพชรเกษม และการแบ่งพื้นที่บนทางเท้าบริเวณซอยเพชรเกษม 63/4 ถึงซอยเพชรเกษม 65/1 ระยะทดลองประมาณ 300 เมตร ด้วยกรวยสีส้มอย่างชัดเจนให้เป็นพื้นที่สำหรับรถจักรยานยนต์สัญจรไปมา พร้อมกันนี้ ทางสำนักงานเขตได้จัดทำแบบสอบถามเพื่อสำรวจความคิดเห็นประชาชนทุกกลุ่ม รวมทั้งประชาชนทั่วไปและรถจักรยานยนต์รับจ้างเพื่อนำมาประมวลผลเพื่อหาแนวทางแก้ไขผู้ฝ่าฝืนขับขี่หรือจอดบนทางเท้าที่เหมาะสมที่สุดต่อไป

คนเดินเท้ามักเป็นคนสุดท้ายที่ใครๆ มักจะนึกถึง เมื่อมีการก่อสร้างหรือซ่อมแซมสาธารณูปโภคใดๆ ช่องทางของคนเดินเท้ามักถูกลืมเป็นอันดับแรก

คงไม่ต้องบอกว่าคนเดินเท้าจำนวนมากคิดอย่างไร พวกเขาเริ่มตั้งคำถามกับการทดลองดังกล่าว รวมไปถึงการตั้งคำถามบนหน้าโซเชียลมีเดียของเขตบางแคเองว่า การทดลองนี้มีการกำหนดความเร็วของรถจักรยานยนต์หรือไม่ หรือเส้นเขตที่แบ่งให้ยานพาหนะนี้ใครจะเป็นผู้ได้สิทธิก่อนระหว่างจักรยานหรือรถจักรยานยนต์ ซึ่งล้วนเป็นคำถามที่ไม่ได้รับคำตอบจากทางเขตที่อาจจะไม่ได้กำหนดมาตรการในรายละเอียดเอาไว้ล่วงหน้า จนต้องพับโครงการนี้ไปภายในเวลาเพียงแค่วันเดียว

ความพยายามนี้ช่างฟังดูขัดแย้งยิ่งนัก เมื่อ กทม. ควรจะเป็นผู้รักษากฎไม่ให้มีผู้กระทำผิดบนทางเท้า ตามที่พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “มาตรา 17 ห้ามมิให้ผู้ใด 1. กระทำด้วยประการใดๆ ให้ทางเท้าชำรุดเสียหาย และ 2. จอดหรือขับขี่รถยนต์รถจักรยานยนต์หรือล้อเลื่อน บนทางเท้า เว้นแต่เป็นการจอดหรือขับขี่เพื่อเข้าไปในอาคาร”

นอกจากทางเท้าที่กำหนดให้เป็นพื้นที่ที่ทำไว้สำหรับคนเดินถูกตั้งอยู่ข้างใดข้างหนึ่งของทางหรือทั้งสองข้างของทางแล้ว การที่มีรถจักรยานยนต์ขับบนทางเท้าก็ถือว่าเป็นการละเมิดต่อผู้ที่เดินสัญจรไปมาบนทางเท้าตามมาตรา 56 ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุกหรือปรับ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2562 เป็นต้นมา กทม. มีนโยบายเพิ่มโทษผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้าเป็น 2,000 บาท (จากปกติเพียงไม่กี่ร้อยบาท) โดยทางผู้ว่าฯ ได้สั่งการให้มีการกวดขันอย่างเคร่งครัด และกำชับให้จัดชุดเจ้าหน้าที่เทศกิจออกปฏิบัติหน้าที่อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะช่วงเวลาชั่วโมงเร่งด่วน

แต่อย่างไรก็ดี พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวก็มีข้อยกเว้นไว้ท้ายมาตราว่า “หรือมีประกาศของเจ้าพนักงานจราจรผ่อนผันให้จอดหรือขับขี่ได้” จึงเป็นช่องทางที่ทำให้สำนักงานเขตสามารถสร้างข้อยกเว้นนี้ได้

ทางเท้าที่กว้างได้มาตรฐานสำหรับคนเดินเท้าบนถนนสุขุมวิทกลางกรุงถูกเบียดบังด้วยบันไดเลื่อนเพื่อให้คนเดินขึ้นสถานีรถไฟฟ้า ไม่เหลือพื้นที่ให้รถเข็นผ่านได้เลย

แต่เราควรจะยอมรับวิธีแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแบบนี้หรือ การแก้ปัญหาและพัฒนาเมืองที่ทำให้คนกลุ่มที่เปราะบางที่สุดกลายเป็นคนที่ถูกให้ความสำคัญน้อยที่สุดราวกับไร้ตัวตน และข้อเท็จจริงที่ว่าประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูป ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ประชากรจะใช้รถเข็นเพื่อเดินทางและเข้าถึงบริการต่างๆ ในเมืองมากยิ่งขึ้น

ทางเท้าบนถนนเพชรเกษมอาจจะมีความกว้างมากเมื่อเทียบกับทางเท้าทั่วไปในกรุงเทพ แต่นั่นไม่ได้แปลว่า กทม. จะสามารถแบ่งพื้นที่ที่กำหนดให้กับคนเดินเท้าที่มีเพียงน้อยนิดอยู่แล้วให้กับคนอีกกลุ่มที่ได้สิทธิมากกว่าด้วยเหตุผลของการแก้ปัญหาการจราจรแบบไม่ตรงจุด

หลายคนอาจโต้แย้งในใจว่า คนใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์นั้นเสียภาษีประจำปีตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 แล้วควรจะมีสิทธิพิเศษได้ใช้พื้นที่สาธารณะ ซึ่งในที่นี้หมายถึงถนนมากกว่าคนใช้รถจักรยานยนต์ที่จ่ายภาษีน้อยกว่า หรือคนเดินเท้าที่ไม่ได้เสียภาษีในส่วนนี้เลย แต่คนที่โต้แย้งคงลืมไปว่ารายได้จากกรมขนส่งทางบกนั้น ต้องส่งเข้ากระทรวงการคลังทั้งหมดก่อนที่จะถูกจัดสรรให้มาพัฒนาประเทศตามความเหมาะสม และคนกลุ่มนี้ยังลืมไปว่าภาษีสำหรับยานพาหนะหลักร้อยหรือพันบาทนั้นไม่น่าจะครอบคลุมถึงภาษีมลพิษที่ยังไม่เคยมีใครต้องจ่ายได้

การมุ่งพัฒนาเมืองเพื่อเอาใจคนใช้รถยนต์เป็นหลัก ทำให้ผู้มีอำนาจนึกถึงคนใช้รถจักรยานยนต์เพียงน้อยนิดหรือลืมนึกถึงคนเดินเท้า (ที่ไม่ใช่นักท่องเที่ยว) ไปเลยโดยสิ้นเชิง หรือลืมแม้กระทั่งข้อเท็จจรงที่ว่าปีนี้ประเทศไทยเราได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ เมื่อประชากรร้อยละ 20 หรือมากกว่า 13.1 มีอายุมากกว่า 60 ปี และคาดว่าอัตราส่วนจะสูงถึงร้อยละ 32.1 ในปี พ.ศ. 2583 ไปเสียสนิทใจ

หากดูจากงบประมาณของ กทม. ในแต่ละปีนั้นจะะเห็นได้ชัดเจนว่าคนเดินเท้านั้น เป็นเพียงประชาชนชั้นสองหรือแม้กระทั่งสาม ดูจากตัวเลขงบประมาณปี พ.ศ. 2562 ที่ กทม. ตั้งเป้าจัดงบให้กับสำนักการโยธาสูงถึง 7.4 พันล้านบาท จากงบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 8 หมื่นล้านบาท สำหรับ 34 โครงการ เช่น ปรับปรุงถนนพระราม 2 แต่กลับจัดงบประมาณไม่ถึง 100 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงทางเท้าและภูมิทัศน์ทางเท้าบนถนนหลายสายทั่วกรุงเทพ และงบประมาณปี พ.ศ. 2564 สำนักการโยธาได้รับการจัดสรรวงเงินสูงถึง 7.8 พันล้านบาท จากงบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 7.6 หมื่นล้านบาท เพื่อสร้างสะพานข้ามแยก อุโมงค์ทางลอดข้ามแยก โดยมีโครงการทางลอดแถวพระบรมมหาราชวังด้วยงบประมาณ 392 ล้านบาท

วินมอเตอร์ไซค์ใกล้วงเวียนใหญ่เป็นหนึ่งในวินมอเตอร์ไซค์ไม่กี่แห่งที่เคารพกฎการใช้ทางเท้าที่มีไว้ให้กับคนเดินและรถเข็นเท่านั้น

และลองย้อนกลับไปดูเหตุผลของการทดลองในเขตบางแค เห็นได้ชัดว่าการกระทำผิดกฎจราจรจนต้องทำให้กลายเป็นถูกนี้มีผลมาจากการออกแบบเมืองที่ไร้ประสิทธิภาพ (นอกเหนือไปจากการปล่อยปละละเลยของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย) ไม่ว่าจะเป็นระยะทางจุดกลับรถไกล ซอยจำนวนมาก และไม่มีขนส่งสาธารณะรองรับตามเหตุผลกล่าวอ้างในประกาศของเขต

ถนนบางสายที่ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวหรือย่านธุรกิจที่ต้องต้อนรับชาวต่างชาตินั้นไม่มีแม้กระทั่งทางเท้าให้เดิน เช่น ถนนบำรุงเมืองที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองเก่าซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก กลับมีทางเดินแคบๆ ด้านขวามือฝั่ง สน.สำราญราษฎร์ ปล่อยให้บางช่วงบนด้านซ้ายมือ (จากถนนสำราญราษฎร์ไปถึงถนนมหาไชย) ไร้ทางเดิน หรือในตรอกซอกซอยอีกมากมายที่ทำราวกับทุกคนเดินทางด้วยรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ไปทุกที่

เหตุผลที่ในถนนต่างๆ มีรถจักรยานยนต์วิ่งย้อนศรจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนลาดพร้าว หรือถนนประดิษฐ์มนูญธรรม เป็นเพราะของระยะทางกลับรถไกลเกินระยะรถจักรยานยนต์วิ่งคล้ายคลึงกับที่ทางเขตบางแคอ้างถึงหรือไม่ ทุกครั้งที่มีการตัดถนนสายใหม่ การออกแบบของถนนทั้งสายนั้นอำนวยความสะดวกให้กับใครมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นความกว้างของถนน จำนวนช่องจราจร ระยะของจุดกลับรถ หรือแม้แต่การกำหนดความเร็วบนท้องถนนมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่

เราไม่ได้เห็นด้วยกับการวิ่งย้อนศรของรถจักรยานยนต์ แต่ในขณะที่เราเฝ้าก่นด่าคนขับรถจักรยานยนต์ว่าเป็นกลุ่มคนที่ใช้พื้นที่สาธารณะได้อย่างเห็นแก่ตัว ไร้ความรับผิดชอบต่อสังคมมากที่สุด จนทำให้คนเดินเท้าและใช้รถเข็นถูกละเมิดอย่างสุดขีด เราเคยนึกไหมว่า นอกจากความมักง่ายแล้ว อะไรทำให้พวกเขาต้องจอดรถสะเปะสะปะบนทางเท้า ขี่รถย้อนศรบนถนนหรือบนทางเท้า หรือการวิ่งบนทางเท้าไปในทิศทางเดียวกันกับการจราจรเพียงเพื่อหลีกเลี่ยงปริมาณรถยนต์บนถนน แล้วเราเคยสงสัยไหมว่า ท้ายที่สุดแล้ว ต้นตอของการถูกละเมิดสิทธิของคนเดินเท้าและคนใช้รถเข็นอยู่ที่ตรงไหน

การทดลองแก้ไขปัญหาคงไม่จบสิ้นหากการพัฒนาเมืองของเรายังคงมุ่งมั่นที่จะรองรับเพียงคนใช้รถยนต์เป็นหลัก รถจักรยานยนต์เป็นรอง และคนเดินเท้ากับผู้ใช้รถเข็นยังไร้ตัวตน

 

อ้างอิง

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=791183718168845&id=100018316720730

http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER9/DRAWER051/GENERAL/DATA0002/00002514.PDF

https://www.js100.com/en/site/post_share/view/99589

https://www.facebook.com/DramaAdd/posts/10159028281213291

https://www.facebook.com/DramaAdd/posts/10159304403668291

https://www.facebook.com/DramaAdd/posts/10159534528253291

https://www.prachachat.net/property/news-196305

https://www.prachachat.net/property/news-531577

https://researchcafe.org/aging-society/

 

Tags: ,