สิ้นประกาศปิดแคมป์คนงานก่อสร้างทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑลจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เมื่อช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ผ่านมา พร้อมคำสั่ง ‘ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นเวลา 30 วัน’ โดยมีผลบังคับวันจันทร์ ผู้มีอำนาจในรัฐบาลคงเริ่มเบาใจว่าสามารถหาทางออกเพื่อชะลอการแพร่ระบาดระลอกล่าสุดนี้ได้สำเร็จ และมั่นใจว่าคนงานนับแสนในแคมป์ก่อสร้างกว่า 400 แห่งทั่วเมืองหลวงจะไม่เคลื่อนย้ายตัวเองออกจากที่พักแน่นอน
ทว่าไม่ถึง 24 ชั่วโมงถัดมา ภาพแรงงานก่อสร้างขนของเต็มท้ายรถกระบะพร้อมออกเดินทางกลับภูมิลำเนาถูกแชร์บนโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง ดูเหมือนว่าผู้มีอำนาจสั่งการปิดแคมป์ก่อสร้างไม่เคยรู้ว่า คนงานก่อสร้างจำนวนไม่น้อยที่อยู่ภายใต้การดูแลของผู้รับเหมารายย่อยนั้น ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม อีกทั้งสภาพความเป็นอยู่ของแคมป์ก่อสร้างที่มีขนาดเล็กนั้นแออัดคับแคบ แถมยังร้อนอบอ้าว ยากที่จะใช้ชีวิตให้สุขใจและปลอดภัยได้
แม้ภาพที่พักคนงานหลายแห่งที่ถูกปิดตัวชั่วคราวที่ปรากฏอยู่ตามข่าวจะอยู่ในสภาพค่อนข้างดี เป็นอาคารชั่วคราวสองชั้น มีพื้นที่แบ่งเป็นสัดส่วนสำหรับแต่ละครอบครัว สาธารณูปโภคตรงตามกฎหมายกำหนด และเมื่อลองค้นคำว่า ‘บ้านพักคนงานสำเร็จรูป’ ก็จะเห็นภาพเรือนแถวที่ใช้วัสดุสำเร็จรูปพร้อมเคลื่อนย้ายและประกอบใหม่เรียบร้อยสวยงาม ประตูหน้าต่างครบครัน ได้มาตรฐาน หรือเป็นตู้คอนเทนเนอร์เก่าที่นำมาปรับเป็นห้องพักอาศัย ติดเครื่องปรับอากาศ แต่คิดหรือว่าบ้านพักคนงานจริงๆ จะมีเครื่องปรับอากาศเหมือนในโฆษณา และการกินอยู่หลับนอนในบ้านพักชั่วคราวเหล่านี้ท่ามกลางภูมิอากาศบ้านเราที่อุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส จะเอาชีวิตรอดไปได้จริงๆ
ยิ่งไปกว่านั้น บ้านพักชั่วคราวของคนงานก่อสร้างส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้มาในรูปแบบนี้ด้วยซ้ำไป บ้านพักในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่อาจจะมีบ้านพักชั่วคราวที่ได้มาตรฐาน แต่หลายโครงการที่ผู้รับเหมารายย่อยพยายามคุมงบการก่อสร้าง มักให้ความสนใจกับความเป็นอยู่ของคนงานเพียงน้อยนิด
เมื่อเร็วๆนี้ นิตยสาร สารคดี ได้เผยแพร่ภาพบรรยากาศแคมป์คนงานก่อสร้าง เป็นเรือนพักมุงหลังคาและผนังด้วยสังกะสี ขนาดพื้นที่ราว 4 ตารางเมตรต่อครอบครัว พ่อแม่ลูกหลายชีวิตนั่งรวมตัวกันกินอาหารกลางห้อง ซึ่งไม่ต่างจากพื้นที่สารพัดประโยชน์ที่สมาชิกทุกคนใช้ร่วมกันตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน คงจะทำให้นึกออกว่าการกักตัวในแคมป์ก่อสร้างหนึ่งเดือนเป็นเรื่องที่โหดเกินไป ภาพ ‘ห้องน้ำกลางแจ้ง’ ตั้งอยู่หน้าเพิงสังกะสีที่หันหน้าชนกันราวกับเป็นคอร์ทยาร์ดของชุมชน ในภาพ แรงงานชายคนหนึ่งใช้หมวกก่อสร้างตักน้ำจากถังชำระล้างร่างกาย อีกคนกำลังยืนสระผม เด็กชายคนหนึ่งเพิ่งอาบน้ำเสร็จ ส่วนเด็กผู้หญิงอีกคนกำลังอาบน้ำให้ตุ๊กตาของเธอ นี่คือ ‘ห้องน้ำ’ ที่มีขนาดใหญ่กว่าที่ระบุไว้ในประกาศหลายเท่านัก เพียงแต่มันไม่มีฝาผนังหรือหลังคาใดๆ ไม่ต้องพูดถึงระบบระบายน้ำหรือบำบัดน้ำเสีย ภาพชุดนี้ช่างขัดแย้งกับประกาศคณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน เรื่องมาตรฐานด้านสวัสดิการแรงงานที่พักอาศัยสำหรับลูกจ้างประเภทกิจการก่อสร้าง ลงวันที่ 13 มกราคม 2559 เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของแรงงานให้ได้มาตรฐานความสะอาดและปลอดภัย
ประกาศดังกล่าวได้อาศัยอำนาจพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 93 (3) กำหนดมาตรฐานที่พักของคนงาน (ในกรณีที่นายจ้างเป็นคนจัดหา) ให้มีขนาดความกว้างอย่างน้อย 2.5 เมตร พื้นที่รวมไม่น้อยกว่า 9 ตารางเมตร และความสูงไม่น้อยกว่า 2.4 เมตร ทั้งนี้ ให้มีพื้นที่พักอาศัยไม่น้อยกว่า 3 ตารางเมตรต่อคน ฐานรากและโครงสร้างที่มีความปลอดภัยแข็งแรง วัสดุที่ใช้ต้องมีความเหมาะสม รวมไปถึงระบบระบายอากาศร้อยละ 10 ของพื้นที่
มาตรฐานดังกล่าวยังครอบคลุมถึงห้องน้ำและห้องส้วมที่ต้องมีความแข็งแรง ใช้วัสดุเหมาะสมการใช้งานไม่ต่างจากที่พัก แยกหญิงชาย แต่ละห้องมีขนาดไม่น้อยกว่า 1 ตารางเมตร และถ้าห้องน้ำและห้องส้วมอยู่รวมกันต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า 1.5 ตารางเมตร อีกทั้งต้องมีการจัดการเรื่องความสะอาดและขยะมูลฝอยไม่ให้สร้างความรำคาญแก่ผู้อื่น หรือไม่ปล่อยน้ำไหลนองรบกวนพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดให้จัดเตรียมอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และมีความปลอดภัยให้กับคนงานที่พักอาศัยด้วย
เมื่อลองดูภาพที่พักของคนงานในโครงการก่อสร้างขนาดกลางหรือขนาดเล็กแล้ว จะพบว่าช่างแตกต่างจากอาคารบ้านเรือนใหญ่โตหรูหราที่พวกเขากำลังสร้างให้คนอื่นอยู่
ที่น่ากังวลไปกว่านั้นคือ หลายคนอาจจะคิดว่าความเป็นอยู่ที่ต่ำกว่ามาตรฐานในภาพที่เผยแพร่ผ่านสื่อ เป็นเพียงภาพของที่พักอาศัยชั่วคราวของแรงงานก่อสร้างที่มักจะอยู่ในพื้นที่เพียงไม่กี่เดือน เพราะพวกเขาถูกมองว่าเป็นแรงงานที่พร้อมจะเคลื่อนที่เสมอ จึงไม่จำเป็นต้องมีที่พักอาศัยที่ได้มาตรฐานและถาวร
ยกตัวอย่างเช่น แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านในอุตสาหกรรมอาหารทะเลในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ได้แตกต่างกันนัก บางคนอาจโชคดีที่โรงงานบางแห่งสร้างหอพักใหม่ และมีการจัดห้องพักเป็นสัดส่วนพร้อมห้องน้ำในตัว แต่แรงงานจำนวนมากต้องเช่าห้องที่สภาพไม่แตกต่างจากแรงงานก่อสร้างที่เราเห็น ครอบครัวพ่อแม่ลูกมักเช่าห้องอยู่รวมกันในห้องขนาดเล็ก ขณะที่คนโสดจะรวมกลุ่มกันสามหรือสี่คน เช่าห้องที่มีพื้นที่กว้างพอให้เก็บสัมภาระส่วนตัวเพียงเล็กน้อย และมีพื้นที่มากพอนอนเบียดกันในแต่ละคืน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด ทุกตารางเมตรล้วนถูกใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตั้งแต่เป็นที่นอน ครัว ห้องอาหาร และพื้นที่พักผ่อน โดยใช้ห้องน้ำร่วมกัน
ในยามปกติคงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่ในยามวิกฤตเช่นนี้ที่ทุกคนควรเว้นระยะห่างกันสองเมตร มีการแยกข้าวของเครื่องใช้และห้องน้ำส่วนตัว ลองจินตนาการว่าถ้าใครคนหนึ่งในห้องติดเชื้อโควิด แล้วคนที่เหลือในห้องเดียวกันจะหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือรักษาระยะห่างให้ปลอดภัยได้อย่างไร
มันจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่แรงงานเหล่านี้จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาล โดยใช้กฎเดียวกันกับคนที่มีที่พักอาศัยที่มีพื้นที่มากพอที่จะแบ่งเป็นสัดส่วนให้กับสมาชิกครอบครัว ให้สามารถแยกตัวเองอยู่ในห้องพัก แยกข้าวของเครื่องใช้และห้องน้ำส่วนตัวได้ หากจำเป็นต้องกักตัว
ในวันที่รัฐบาลสั่งปิดแคมป์คนงานทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑลทั้งหมด พร้อมทั้งยังส่งกำลังตำรวจทหารเข้าควบคุมพื้นที่ แต่กลับไม่มีเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขหรือเจ้าหน้าที่แรงงานเข้าไปดูแลด้านสุขอนามัยหรือชีวิตความเป็นอยู่ให้กับแรงงานแต่อย่างใด
ก็ได้แต่หวังว่า ‘คลัสเตอร์แคมป์ก่อสร้าง’ ในครั้งนี้ จะปลุกหน่วยงานรัฐให้ตื่นตัว แล้วลุกขึ้นมาดำเนินการ ‘จัดระเบียบ’ และใช้โอกาสนี้ ‘ยกระดับ’ คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานในทุกอุตสาหกรรมให้ดีขึ้นกว่าเดิม
อ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/945212
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/945618
https://www.facebook.com/sarakadeemag/posts/3041510529411710
https://houzzmate.com/topic/7916100108165658
http://legal.labour.go.th/images/law/Protection2541/notifications_0009.pdf
https://www.tcijthai.com/news/2018/6/watch/8063
Tags: แรงงาน, โควิด, City Calling, แคมป์แรงงาน, แคมป์ก่อสร้าง, แรงงานก่อสร้าง