การแนะนำบริการใหม่ ‘อาหารตามสั่ง’ ในร้านสะดวกซื้อ บนเพจประชาสัมพันธ์ข่าวสารประจำจังหวัดของภาคอีสานอาจฟังดูเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าตื่นเต้นสำหรับผู้บริโภคจำนวนมาก ในขณะเดียวกัน อาจจะฟังดูน่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อยสำหรับหลายคน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย
เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีการแนะนำอาหารตามสั่งสำหรับคนรักสุขภาพที่ทำจากเห็ดและโปรตีนพืช พร้อมเสิร์ฟตลอด 24 ชั่วโมง ในร้านสะดวกซื้อบางสาขาในจังหวัดนครราชสีมาบนเพจ ที่นี่ โคราชไง ซึ่งมีคนติดตามอยู่มากกว่าสี่แสนคน โพสต์นี้มีคนให้ความเห็นมากกว่า 2,400 ครั้ง และแชร์มากกว่า 7,800 ครั้ง
การตอบรับของโพสต์อย่างคึกคักแสดงให้เห็นว่า อาหารตามสั่งจานละ 55 บาท ในร้านสะดวกซื้อ คงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นและน่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อย กลุ่มคนที่เห็นด้วยเห็นว่าเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค ที่สามารถเลือกอาหารเพื่อสุขภาพได้ไม่ว่าจะดึกดื่นแค่ไหน แต่ในทางตรงกันข้าม อีกกลุ่มกลับมองว่าบริการนี้จะเป็นการเริ่มต้นการแข่งขันที่ไม่เหลือพื้นที่ให้กับผู้ค้ารายย่อย เพราะร้านสะดวกซื้อแห่งนี้มีสาขามากกว่าสิบแห่ง (แต่มีบริการนี้เพียงแค่บางสาขา) ในจังหวัด และเปิดขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง
แน่นอนว่าวิถีชีวิตคนเมืองโคราชเปลี่ยนไปทุกวันเหมือนเมืองใหญ่ทุกแห่ง
เรานึกถึงเพื่อนบ้านวัยเกษียณที่ยังเป็นคนแข็งแรงเดินเหินได้คล่องตัว แต่เลือกสั่งอาหารแช่แข็งจากร้านสะดวกซื้อให้มาส่งที่บ้าน ทั้งที่ห่างจากบ้านเธอไปไม่ถึง 50 เมตร มีร้านอาหารตามสั่งหนึ่งร้าน หรือในรัศมี 300 เมตร มีร้านอาหารแทบทุกประเภทตั้งแต่ก๋วยเตี๋ยว ข้าวมันไก่ ส้มตำ ไปจนถึงราเม็ง บิบิมบับ และครัวซองต์ อีกนับสิบร้าน “มันสะดวก เราได้กินอาหารอุ่นใหม่ๆ แบบไม่ต้องออกจากบ้านเลยด้วยซ้ำไป” เธอบอกหลังจากเพิ่งรับกล่องอาหารร้อนๆ จากพนักงาน
คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่คนนับล้านเลือกความสะดวกสบาย เพียงแค่หยิบมือถือขึ้นมากดสองสามปุ่มแล้วนั่งรอสักครู่ อาหารเที่ยงก็มาส่งถึงที่โดยไม่ต้องก้าวเท้าออกจากบ้านหรือเจอแดดร้อนสักนิด
เพื่อนบ้านคนนี้คงไม่ได้ต่างจากคนเมืองจำนวนมากของ ‘ตลาดคนขี้เกียจ’ จากผลสำรวจของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดลในปี 2562 ที่ได้เก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง 1,200 คน จาก 4 กลุ่มอายุ ประกอบไปด้วย GenZ, GenY, GenX, และ Baby Boomers พบ 10 พฤติกรรมของคนไทยที่แสดงออกถึงความขี้เกียจ ได้แก่
- ออกกำลังกาย 84%
- รอคิวซื้อของ 81%
- ทำความสะอาดบ้าน 77%
- อ่านหนังสือ 70%
- ทำอาหาร 69%
- พูดคุยหรือเจอคนเยอะๆ 68%
- ดูแลผิวพรรณตัวเอง 68%
- เรียน/ทำงาน 65%
- ออกไปช้อปปิ้ง 64%
- การเดินทาง 60%
การสำรวจพบว่า สาเหตุของความขี้เกียจเกิดจากหลากหลายปัจจัย ทั้งการขาดแรงจูงใจ ความเหนื่อยล้าจากการทำงานและการเดินทางในเมือง และความขี้เกียจก็ยังทวีคูณขึ้นไปอีก เมื่อธุรกิจสมัยใหม่ใช้เทคโนโลยีออกแบบให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตแบบรีบเร่งของคนเมือง นอกจากนี้ ปัจจัยของความขี้เกียจในการสำรวจแสดงให้เห็นว่า ความสะดวกสบายของร้านสะดวกซื้อเป็นการตอบโจทย์ของความขี้เกียจได้ถึงสามข้อ (2, 5, และ 10)
แต่เราเคยตั้งคำถามไหมว่า วิถีชีวิตคนเมืองที่เต็มไปด้วยความสะดวกสบายชวนขี้เกียจเหล่านี้ จะทำให้เราเหลือทางเลือกบ้างไหม?
นับตั้งแต่ร้านสะดวกซื้อร้านแรกเข้ามาเปิดทำการครั้งแรกในประเทศไทยในย่านสีลมเมื่อปี 2533 วิถีชีวิตคนเมืองก็ค่อยๆ เริ่มเปลี่ยนไป สามทศวรรษผ่านไป เรามีร้านสะดวกซื้อหลากหลายบริษัทเพิ่มปริมาณขึ้นไปเกือบ 14,000 แห่ง (ประมาณครึ่งหนึ่งอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล) ค่อยๆ แทนที่ร้านโชห่วยรุ่นเก่าที่ปรับตัวไม่ทันกับโลกการค้าสมัยใหม่ ร้านสะดวกซื้อที่ตั้งอยู่เกือบทุกมุมถนน ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตเราไปมากเกินกว่าแค่การซื้อหาได้ทุกอย่างตั้งแต่กะปิ น้ำปลา ข้าวราดกะเพรา ไปจนถึงสายชาร์จโทรศัพท์แม้หลังเที่ยงคืน แต่ทุกวันนี้ แม้เราแทบจะไม่ต้องก้าวเท้าออกจากบ้าน ก็สามารถสั่งซื้อของทุกอย่างได้เกือบจะตลอด 24 ชั่วโมง โดยที่ไม่ต้องเสียค่าบริการส่ง
เราคงไม่ปฏิเสธว่าบริการใหม่ๆ จากร้านสะดวกซื้อ ล้วนตอบโจทย์ความต้องการความสะดวกสบายของคนเมืองที่มีเวลาน้อย และมักใช้ชีวิตคนเดียวหรือเป็นคู่ ไม่ว่าจะเป็นอาหารพร้อมรับประทาน อาหารหรือของใช้ขนาดเล็กสำหรับคนเดียวหรือสองคน ไปจนถึงแอพพลิเคชันที่เปิดปุ๊บก็เห็นรายการสินค้าที่สามารถกดสั่งให้มาส่งได้ถึงประตูบ้านผ่านมือถือ บริการที่แสนจะสะดวกที่ทำให้คนเมืองหายหิว โดยไม่ต้องเดินตากแดดไปเข้าคิวซื้อข้าวกะเพราจากร้านค้าหน้าปากซอย หรือถ้าจะกินข้าวร้านดังแต่ต้องจ่ายค่าบริการส่งอาหารที่อาจจะแพงกว่าค่าอาหารเสียอีก และแน่นอนว่าอาหารในร้านสะดวกซื้อย่อมได้เปรียบร้านข้างทาง (อย่างน้อยก็ด้านภาพลักษณ์) ในด้านความสะอาดและการจัดเก็บวัตถุดิบ
อาหารปรุงสดเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ชีวิตคนเมืองที่ไม่เคยหลับไหล (ยกเว้นในช่วงเวลาการแพร่ระบาด) บริการอาหารปรุงสดในร้านสะดวกซื้ออาจจะเป็นเรื่องใหม่ในต่างจังหวัด แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ในกรุงเทพฯ เซเว่นอีเลฟเว่นเริ่มเปิดตัวนำร่องบริการอาหารปรุงสด พร้อมที่นั่งรับประทานในสาขาประชาสงเคราะห์ซอย 23 ตั้งแต่ปลายปี 2557 เมนูหลากหลายตั้งแต่โจ๊ก ข้าวต้ม ก๋วยเตี๋ยวต้มยำ ไปจนถึงข้าวหมูบาร์บีคิวและไข่เจียวหมูสับ โดยราคาเริ่มต้นที่ 35 บาท แทบจะไม่แตกต่างจากร้านอาหารข้างทางเลย และได้รับความนิยมในช่วงเวลาที่ร้านอาหารข้างทางได้ปิดไปแล้ว คือหลังสี่ทุ่มไปจนถึงก่อนเช้า ที่ร้านข้าวแกงยังไม่เปิด
พื้นที่นั่งรับประทานอาหารปรุงสดในสาขาแห่งหนึ่งกลางกรุงเทพมหานคร
แต่กระแสดังกล่าวเงียบหายไป จนกระทั่งถูกพูดถึงอีกครั้งในปลายปี 2561 เมื่อโซเชียลมีเดียเริ่มกลับมาพูดถึงความพยายามที่ร้านสะดวกซื้อจะเดินหน้าเน้นบริการอาหารตามสั่งอย่างเต็มรูปแบบ จนเกิดกระแสต่อต้านจากผู้ค้ารายย่อยและผู้บริโภคจำนวนหนึ่ง ส่งผลให้ วิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าขณะนั้น แถลงว่า “ในแง่ของกฎหมาย ผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อสามารถดำเนินธุรกิจได้ ไม่ถือว่าผิดแต่ประการใด แต่ในแง่ของจรรยาบรรณ หากผู้ประกอบการรายใหญ่เปิดแล้วกระทบกับสังคม กระทบกับคนหมู่มากก็ไม่ควรทำ แต่ถ้าดูแล้วไม่กระทบ ไม่ได้ใช้อำนาจเหนือตลาดในลักษณะของการกลั่นแกล้ง เช่น กำหนดราคาขายต่ำกว่ารายอื่นมาก ก็สามารถทำได้” และแจ้งว่าผู้เดือดร้อนจากการกระทำของผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถร้องเรียนมายังสำนักงานแข่งขันทางการค้า เพราะจะเข้าข่ายเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 50 ของ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มีโทษอาญาคือจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 10% ของรายได้ในปีที่กระทำผิด
แม้การบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าคนเมืองของร้านสะดวกซื้อไม่ได้ผิดกฎหมายข้อไหน และความสำเร็จของร้านสะดวกซื้อไม่ได้มาจากความขี้เกียจของผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว แต่มีคนจำนวนหนึ่งที่พยายามไม่สนับสนุนร้านอาหารข้างทางที่รุกล้ำพื้นที่สาธารณะหรือประกอบอาหารไม่ถูกสุขอนามัย ร้านสะดวกซื้อจึงเป็นทางเลือกเดียวที่อยู่ในระดับราคาเดียวกัน
จริงอยู่ว่าการตายไปของร้านโชห่วยส่วนหนึ่ง เกิดจากเจ้าของร้านที่มักจะเป็นคนรุ่นเก่าไม่ยอมปรับตัว แต่การแข่งขันระหว่างมวยคนละรุ่นก็เป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และในวันนี้ ถ้าหากกระแสอาหารปรุงสดในร้านสะดวกซื้อจะกลับมาอีกครั้ง การแข่งขันระหว่างมวยคนละรุ่นครั้งใหม่ อาจส่งผลให้ร้านอาหารข้างทางที่เป็นแหล่งฝากท้องของคนรายได้น้อย ต้องทยอยปิดตัวตามไปไม่ต่างจากร้านโชว์ห่วยที่ทยอยหายไปในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา
อ้างอิง
https://news.mthai.com/economy-news/684405.html
https://www.thainewsonline.co/news/814320
https://www.thaipost.net/main/detail/21429
https://www.bbc.com/thai/thailand-55097574
https://www.facebook.com/teeneekoratt/posts/3976782952443089
https://www.marketingoops.com/reports/behaviors/lazy-consumer-lazy-economy/
https://thunhoon.com/article/231621
https://www.facebook.com/teeneekoratt/posts/3976782952443089
Tags: ร้านสะดวกซื้อ, Urban, City Calling