หลายคนคงทราบแล้วว่า ‘คลองโอ่งอ่าง’ โครงการปรับภูมิทัศน์ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับรางวัลเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองระดับเอเชีย ในฐานะประชากรเมืองกรุงเทพฯ เราควรจะดีใจที่ได้เห็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแจ้งข่าวดีผ่านโซเชียลมีเดียว่ามันคือรับรางวัล ’2020 Asian Townscape Awards’ จาก UN-Habitat Fukuoka สิ ถึงจะถูก
แต่ทำไมเรารู้สึกยินร้ายมากกว่ายินดีหลังจากได้อ่านโพสต์ของผู้ว่าฯ ถึงความสำเร็จกับรางวัลระดับเอเชียที่มอบให้โดยหน่วยงานระดับสากลที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองและความเป็นอยู่ของมนุษยชาติ หลังจากกล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและประชาชนที่ได้ร่วมกันทำให้พื้นที่แห่งนี้ได้รับรางวัลบนโซเชียลมีเดีย ตลอดถึงบรรยายถึงความสำเร็จของโครงการว่า
“ฟื้นคืนวิถีชีวิตชุมชนริมคลองได้อย่างลงตัวกับชีวิตของคนกรุงเทพฯ จนได้รับรางวัลระดับโลก เป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองที่เหมาะกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ
“ถือเป็นหนึ่งรางวัลความสำเร็จของ กทม. ในการปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่สาธารณะ ที่มีความโดดเด่นอย่างเป็นรูปธรรม จนเป็นที่ยอมรับและพูดถึงในสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
“รางวัลระดับโลกที่คลองโอ่งอ่าง… ได้รับการคัดเลือกให้เป็น ต้นแบบการปรับปรุงภูมิทัศน์ (Landscape Improvement Project) ที่เหมาะสมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ศิลปวัฒนธรรม ที่มีความสอดคล้องระหว่างภูมิทัศน์ของเมืองกับรูปแบบการดำเนินชีวิต”
เราคงไม่โต้แย้งว่าการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองโอ่งอ่างในครั้งนี้ช่วยเปลี่ยนภาพลักษณ์ของคลองโอ่งอ่างที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นคลองที่แสนเน่าและยังถูกปิดทับด้วยสิ่งก่อสร้างกึ่งถาวรอย่างตลาดสะพานเหล็กมากว่าสองทศวรรษ กลายเป็นคลองสวย น้ำใส บรรยากาศและกิจกรรมที่ชวนให้คนเมืองมาใช้เวลายามเย็นแบบที่หาได้ค่อนข้างยากในเขตเมือง แต่เราไม่แน่ใจว่าเราอยากจะเห็นการพัฒนาเมืองเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเป็นหลัก และพร้อมที่จะทิ้งผู้คนไว้ข้างหลัง
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กรุงเทพฯ ได้รับรางวัลดังกล่าว นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของรางวัลนี้ในปี 2553 เขตเมืองเก่าของกรุงเทพฯ ได้รับรางวัลครั้งแรกในปี 2554 ภายใต้ชื่อโครงการ ‘The Living Bangkok Heritage’ ที่ครอบคลุมพื้นที่ในเขตรัตนโกสินทร์ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ สวนสันติชัยปราการ สวนนาคราภิรมย์ และสนามหลวง ซึ่งในปีนั้นโครงการบนเกาะเจจูของเกาหลีใต้และเมืองคุมาโมโตะของญี่ปุ่นก็ได้รับรางวัลเช่นเดียวกัน
รางวัลดังกล่าวเน้นแนวคิดเรื่องสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยและการฟื้นฟูเขตเมือง (living environment and urban revival) โดยในปีนั้น เกณฑ์การตัดสินก็ไม่ได้แตกต่างกันนัก โดยรวมจะพูดถึงถึงความปลอดภัยของชีวิต ความสำคัญด้านศิลปวัฒนธรรม การเชื่อมโยงระหว่างภูมิทัศน์เมืองและวิถีชีวิตคน ความคิดสร้างสรรค์ของโครงการ และการเป็นต้นแบบการพัฒนาให้กับพื้นที่อื่น
จากข้อมูลล่าสุดที่แสดงเกณฑ์การตัดสินบนเว็บไซต์ของหน่วยงานผู้จัดการประกวดคือจากปี 2561 เกณฑ์การตัดสิน 5 ข้อหลักก็ยังคงไม่ได้เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ได้แก่ การอยู่ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งแวดล้อม, ความปลอดภัย ความสะดวก และความยั่งยืน, การเคารพวัฒนธรรมท้องถิ่นและประวัติศาสตร์, ความเป็นศิลปะ, และการเป็นต้นแบบในการพัฒนาชุมชนอื่นในอนาคต
นับตั้งแต่ได้รับรางวัลครั้งแรกจากโครงการ The Living Bangkok Heritage ความเปลี่ยนแปลงที่เราเห็นคือไล่รื้อชุมชนออกจากพื้นที่เมืองเก่า เช่น ชุมชนป้อมมหากาฬกลายเป็นเพียงเขตเมืองเก่าที่เต็มไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมชั้นสูง แต่ไร้ซึ่งชีวิต
เราจึงตั้งคำถามกับเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่คลองโอ่งอ่างที่มุ่งเน้นรองรับการท่องเที่ยวเป็นหลัก อีกทั้งการ ‘ขอ’ คืนพื้นที่โดยกรุงเทพมหานคร ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล คสช. ในปี 2558 ด้วย ม.44 หลังจากที่ปล่อยให้พื้นที่ถูกรุกล้ำทั้งด้านบนคลองและบนทางเดินเลียบสองฝั่งคลองมาเป็นเวลายาวนานกว่าสองทศวรรษ โดยที่ไม่มีข้าราชการประจำ ผู้อำนวยการเขต หรือผู้ว่าฯ คนใดต้องรับผิดชอบจากการกระทำผิดที่ก่อให้เกิดการรุกล้ำอันยาวนานดังกล่าว
ยิ่งไปกว่านั้น ตลอดขั้นตอนการปรับภูมิทัศน์ล้วนเป็นความคิดจากเบื้องบนที่ไม่เคยให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมใดๆ จนกระทั่งได้คลองโอ่งอ่างที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจะใกล้ไกลมาเดินชมคลอง ทำให้หลายคนต่างตั้งคำถามว่า การมาชมคลองสะอาดขนาดกะทัดรัด ชิมอาหารที่ไม่ต่างจากตลาดนัดอื่นๆ หรือถ่ายรูปสตรีทอาร์ตที่เล่าเรื่องของ กทม. เป็นอัตลักษณ์ของเขตพระนครหรือไม่
นับตั้งแต่ปี 2559 กทม. ได้ใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 400 ล้านบาทปรับภูมิทัศน์คลองโอ่งอ่างเพื่อจุดประสงค์การท่องเที่ยวอย่างชัดเจน โดยจัดให้มีสตรีทอาร์ต ดนตรีสด และตลาดนัดขายของที่ไม่มีอัตลักษณ์ใดๆ รวมไปถึงการพายเรือคายัค (ที่อาจจะดูไม่เชื่อมโยง แต่พอจะเข้าใจได้ว่าการพายเรือไม้จริงจะยากยิ่งกว่าพายคายัค)
เพราะฉะนั้น การทึกทักว่าการปรับภูมิทัศน์ของทางเดินเลียบคลองเพียง 750 เมตร (รวมเป็น 1.5 กิโลเมตร) ว่าเป็นความสำเร็จในการพัฒนาเมืองอาจจะฟังดูไม่ถูกต้องนัก เพราะในกรุงเทพฯ เรามีคูคลองมากกว่า 1,600 เส้น รวมความยาวมากกว่า 2,600 กิโลเมตร ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในยุครัชกาลที่ 5ที่มีการขุดคลองทั้งใหม่และเก่ามากที่สุด ทั้งเพื่อการคมนาคมขนส่ง และเป็นการป้องกันการรุกรานของศัตรู จนเกิดเป็นคลองสำคัญหลายสาย เช่น คลองเปรมประชากร คลองประเวศบุรีรมย์ คลองราชมนตรี คลองทวีวัฒนา หรือคลองประปา แต่เมื่อเวลาล่วงเลยไปหนึ่งศตวรรษ แม่น้ำ คู คลอง ลำประโดงมากมายถูกทำให้เป็นเพียงท่อระบายน้ำ เหลือไว้เพียงไม่กี่สายที่ยังคงใช้เป็นเส้นทางสัญจรอยู่ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา คลองแสนแสบ หรือคลองบางกอกใหญ่
เทียบกับทางน้ำ (ที่ถูกเปลี่ยนเป็นท่อระบายน้ำ) ทั่วเมืองหลวงแล้ว โครงการคลองโอ่งอ่างเป็นเพียงจุดเล็กๆ ที่เราไม่แน่ใจว่ามันจะเปลี่ยนเมืองได้จริง เพราะเจตนารมย์ของผู้ว่าฯ ที่จะใช้ ‘คลองโอ่งอ่าง’ เป็นต้นแบบปรับภูมิทัศน์คลองในกทม. โดยเฉพาะในเส้นทางท่องเที่ยวให้สวยงาม สะอาด ปลอดภัย และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่นั้นชัดเจนว่า เส้นทางน้ำทั่วเมืองหลวงจะไม่ได้สวยงามเหมือนคลองโอ่งอ่าง แต่เราจะมี ‘คลองโอ่งอ่าง 2’ ‘คลองโอ่งอ่าง 3’ ‘คลองโอ่งอ่าง 4’ และอีกมายมายในเขตต่างๆ
เจตนารมย์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า กทม. และภาครัฐไม่ได้มีความพยายามที่จะปรับภูมิทัศน์หรือพัฒนาเมืองเพื่อคนอยู่อาศัยอย่างแท้จริง แต่มุ่งพัฒนาเมืองในทุกมิติเพื่อการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว
ยกตัวอย่างในปี 2558 รัฐบาลได้อนุมัติให้ กทม. ใช้งบประมาณ 6,800 ล้านบาทเพื่อฟื้นฟูคลองแสนแสบ และย่นระยะเวลาการทำงานให้สั้นลงให้เหลือเพียงสองปี (จากเดิมคือห้าปีและควรจะจบในปี 2563) การปรับภูมิทัศน์ดังกล่าว คือการทำให้น้ำในคลองแสนแสบในเขตกรุงเทพฯ ที่ยาวประมาณ 45.5 กิโลเมตร จากทั้งหมดประมาณ 72 กิโลเมตร ให้ใสและมีปริมาณออกซิเจนในน้ำเท่ากับเส้นทางที่เหลือในฉะเชิงเทราที่ยังคงใช้เพื่อการเกษตรกรรมอยู่ในปัจจุบัน
ปัจจุบัน น้ำในคลองแสนแสบก็ยังคงมีสภาพไม่ต่างจากเดิมมากนัก จนกระทั่ง พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี อาจจะอดรนทนไม่ได้จนต้องประกาศชงแผนปฏิบัติการพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูคลองแสนแสบขึ้นอีกครั้งเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยครั้งนี้จะมอบหมายให้ กทม. จับมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบทั้งในเขตกรุงเทพฯ และฉะเชิงเทรา แม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่มีการอนุมัติแผน แต่เราคงพอจะเดาได้ว่า 84 โครงการภายใต้แผนดังกล่าวจะต้องใช้งบประมาณมหาศาลมากเพียงใด และผลจะออกมาเป็นเช่นไร
‘ความสำเร็จ’ ของ กทม. ในครั้งนี้ชวนให้นึกถึงความสำเร็จของ อานน์ อิดัลโก (Anne Hidalgo) นายกเทศมนตรีเมืองปารีสที่ทดลองติดตั้งสระว่ายน้ำในแม่น้ำแซน (Seine River) ในฤดูร้อนปี 2560 ให้เป็นพื้นที่สาธารณะให้กับชาวเมืองได้ลงว่ายน้ำเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการห้ามลงว่ายน้ำในแม่น้ำแซนตั้งแต่ปี 2466 ถึงแม้ว่าในฤดูร้อนนั้นผู้คนจะไม่ได้การว่ายน้ำในแม่น้ำจริงๆ ผู้คนก็ชื่นชอบการใช้พื้นที่กลางแจ้งริมแม่น้ำจนมีคนมาว่ายน้ำมากถึง 53,000 คนในช่วงเวลาหกสัปดาห์ของการทดลอง
โดยปกติแล้วชาวปารีสสุดจะแขยงกับน้ำในแม่น้ำแซน เพราะนอกจากจะโดนปรับเนื่องจากการลงเล่นน้ำในแม่น้ำแซนเป็นเรื่องผิดกฎหมายแล้ว ความสกปรกของน้ำในแม่น้ำยังทำให้พวกเขาได้แต่ส่ายหัว และขอเลือกนั่งเล่น ทำกิจกรรม และพักผ่อนริมแม่น้ำเป็นพอ แม้แต่ ฌัก ชีรัก (Jacques Chirac) เองยังเคยปรารภเมื่อครั้งที่เขาเป็นนายกเทศมนตรีเมืองปารีสในปี 2531 ว่า อยากทำให้แม่น้ำแซนกลับมาว่ายได้อีกครั้ง แต่มันก็ไม่เคยเกิดขึ้นจนกระทั่งยุคสมัยของอิดัลโกที่ทำให้คนเกือบจะได้ว่ายน้ำในแม่น้ำจริงๆ
แน่นอนว่าโครงการสระว่ายน้ำของอิดัลโกคงเป็นโครงการโยนหินถามทางของอิดัลโก เพราะในปีต่อมาเธอก็คิดการใหญ่และให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำให้แม่น้ำแซนกลับมาใสสะอาดจนว่ายได้อีกครั้งด้วยงบประมาณ 1 พันล้านยูโร (ประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท) ที่สื่อและหลายคนตั้งคำถามกับงบประมาณจำนวนมหาศาล เพื่อให้นักแข่งว่ายน้ำโอลิมปิกได้ว่ายผ่านแลนด์มาร์กของเมืองอย่าง วิหารน็อทร์-ดามหรือหอไอเฟล ในวันที่ปารีสเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี พ.ศ. 2567 (ถ้าการแข่งขันครั้งถัดไปไม่ถูกเลื่อนออกไป) แต่ทุกวันนี้ชาวปารีสจำนวนมากก็ยังชอบไปนั่งริมน้ำทำกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่นั่งเมาท์มอยกับเพื่อนไปจนถึงดื่มไวน์กันบนฝั่งแม่น้ำ ตามบันได ริมเขื่อน
ถึงจุดนี้ เราก็ได้แต่หวังว่า ‘คลองโอ่งอ่าง’ จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเมืองที่ทำให้แม่น้ำ คู คลองในกรุงเทพฯ ใสสะอาดขึ้นกว่าเดิมทุกเส้นทางเพื่อคนอยู่อาศัย ไม่ใช่ใสสะอาด ปลอดภัย น่าเดิน สำหรับนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นเท่านั้น
อ้างอิง
http://ahshk.org/asian-townscape-awards/
https://www.lefigaro.fr/sciences/2018/06/18/01008-20180618ARTFIG00306-se-baigner-dans-la-seine-en-2024-la-promesse-a-1-milliard-d-euros-d-anne-hidalgo.php
https://www.matichon.co.th/politics/news_2622817
https://www.matichon.co.th/politics/news_2629996
https://www.nationthailand.com/news/30177386
https://www.posttoday.com/social/local/398993
https://www.thebangkokinsight.com/576820/
https://www.theguardian.com/cities/2017/jul/22/paris-queues-clean-canal-swimmers-villette-seine
http://urc.or.jp/ata_english?lang=en
Tags: Seine River, กทม., Urban, คลองโอ่งอ่าง, City Calling