“ภาคอีสานเราพื้นที่กว้างขวาง เถียงนาโมเดลเกิดขึ้นอยู่ที่ภาคอีสาน คือกลับมาแล้วให้ไปนอนเถียงนา ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวป่วยก็ไม่มาก อาการไม่มาก กักตัวก็นอนอยู่ตรงนั้นได้ มีคนส่งข้าวส่งน้ำเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน ซึ่งน่ารักมาก ๆ ก็ขอให้ใช้วิธีต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งเป็นภูมิปัญญา หรือเป็นการคิดจากพื้นที่ขึ้นมาช่วยกัน”

เป็นคำพูดของ นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่กล่าวระหว่างการแถลงข่าวประจำวันเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พร้อมกับรอยยิ้มอ่อนโยนแฝงความขี้เล่นอันเป็นเอกลักษณ์ เขาพูดถึงโมเดลที่ ศบค. ภูมิใจนำเสนอให้แรงงานที่ติดเชื้อจากเมืองใหญ่กลับบ้านไปกักตัวในเถียงนา ใกล้หูใกล้ตาครอบครัว

หนึ่งสัปดาห์หลังการประกาศปิดแคมป์คนงานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แรงงานก่อสร้างถูก ‘ขัง’ ให้อยู่ในแคมป์ที่มีเพียงเพิงสังกะสี พร้อมกำแพงและประตูที่กั้นสายตาเพื่อนบ้านได้ แต่ไม่สามารถกั้นความร้อนอบอ้าวในตอนกลางวันหรือเสียงฝนสาดลงบนหลังคาแผ่นสังกะสีในบางคืนได้ กระทั่งแรงงานจำนวนไม่น้อยตัดสินใจเดินทางกลับภูมิลำเนา สร้างความกังวลให้หลายฝ่ายว่าเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ศบค. จึงได้นำเสนอ ‘เถียงนาโมเดล’ อันสวยหรูที่จะนำแรงงานจากเมืองใหญ่กลับบ้านและใช้เวลาซึมซับบรรยากาศเก่าๆ ที่แสนจะน่ารักในบ้านเกิดระหว่างกักตัว

เถียงนาเป็นเพียงที่พักชั่วคราวของชาวนา เช่น พักกินข้าวกลางวัน พักหลบแดด จึงมีโครงสร้างง่ายๆ มีเสาแต่ไร้ผนัง กับหลังคาไว้กันแดดและกันฝน ไม่มีห้องน้ำ ไม่มีไฟฟ้า แน่นอนว่าไม่มีใครนอนพักค้างที่เถียงนาหากไม่จำเป็น ที่สำคัญเถียงนาอยู่กลางทุ่ง และมักห่างจากชุมชนหรือหมู่บ้าน ทำให้การติดต่อสื่อสารและดูแลกันเป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้นเถียงนาจึงไม่เหมาะกับการกักตัวไม่ว่าในกรณีใดๆ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่โฆษกศบค. พูดถึงความเป็นบ้านนอกคอกนาให้เป็นเรื่องชวนฝัน ย้อนกลับไปเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว โฆษกศบค. แสดงความมั่นใจว่าเงินเยียวยาจำนวน 15,000 บาทนั้นจะทำให้แรงงานต่างจังหวัดสามารถกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านนอกได้อย่างสบายๆ นานถึงสามเดือน นัยว่าอยู่บ้านนอกไม่มีค่าใช้จ่ายให้ต้องกังวล ทั้งยังสามารถเก็บผักหญ้ารอบบ้านตามแนวคิด ‘ผักสวนครัว รั้วกินได้’ มาลวกจิ้มกับน้ำพริกพร้อมปั้นข้าวเหนียวกินอย่างเอร็ดอร่อย

ดูเหมือนมันจะเป็นมุมมองชวนฝันของคนนอกที่ทั้งชีวิตอาจไม่เคยย่ำเท้าลงในทุ่งนาจริงๆ หรืออาจจะเคยสัมผัสทุ่งนาในเวลาช่วงเวลาสั้นๆ เมื่อครั้งไปพักผ่อนในรีสอร์ตกลางทุ่งในวันสุดสัปดาห์ การมองบ้านนอกคอกนาให้เป็นเรื่องจินตนาการสวยหรูไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เราเห็นความเพ้อฝันถึงท้องทุ่งในทุกๆ สื่อ ตั้งแต่ภาพยนตร์ ละคร โฆษณา จนถึงภาพถ่าย

ละครเรื่อง ‘มนต์รักหนองผักกะแยง’ เป็นหนึ่งในตัวอย่างใกล้ตัวที่น่าสนใจ ละครหลังข่าวช่องสามเรื่องนี้เรียกเรตติ้งได้ดี เพราะทั้งนักแสดงและเนื้อหาโดนใจผู้ชมคนเมือง เรื่องราวของ บักเขียว (ณเดชน์ คูกิมิยะ) เด็กบ้านนอกที่ครั้งหนึ่งเคยถูกเพื่อนที่โรงเรียนในเมืองล้อเลียน เมื่อเติบโตขึ้นเขากลายร่างเป็นคนเมืองและปกปิดความเป็นบ้านนอกด้วยบุคลิกของคนเมืองทุกกระเบียด แต่ด้วยอุบัติเหตุในชีวิตบางอย่าง ทำให้เขาต้องหวนกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิดที่เขาพยายามลืม บักเขียวกลับมาพร้อมมุมมองของเด็กหนุ่มที่วันนี้กลายเป็น ‘คนนอก’ ผู้ต้องการนำความเจริญและรายได้มาสู่หมู่บ้านของตัวเอง ความตั้งใจของบักเขียวคือการเปิดคาเฟ่กลางไร่เกษตรอินทรีย์ของ ชมพู่ (เมลดา สุศรี) ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นรูปแบบธุรกิจที่น่าจะประสบความสำเร็จได้ไม่ยากเย็น

เราคงพอจะเข้าใจได้ว่า ทำไมละครที่ฝันถึงชีวิตกลางทุ่งถึงขายได้ตลอดเวลา

นอกเหนือไปจากวัฒนธรรมอีสานที่ครั้งหนึ่งเคยถูกกดทับเอาไว้หลายทศวรรษ แต่วันนี้กลับกลายเป็นความทันสมัยแบบใหม่และถูกนำมาเป็นตัวเอกในละคร ไม่ว่าจะเป็นภาษาถิ่นที่ทุกตัวละครพูดอย่างไม่เคอะเขิน หลายคนเชื่อว่า วิถีชีวิตอันแสนเรียบง่ายและจริงใจยังมีอยู่จริง เมื่อเราเดินทางพ้นเขตเมืองหลวง

แต่หากมองลึกลงไป ความเป็นบ้านนอกคอกนาของภาคอีสานที่นำเสนอผ่านหมู่บ้านและนักแสดงสมทบรุ่นใหม่จนถึงรุ่นเก๋า กลับกลายเป็นเพียงฉากหลังของการนำเสนอภาพฝันของชีวิตเรียบง่ายที่เราไม่มี ไม่ว่าจะเป็นถนนในหมู่บ้านไร้รถราและการเดินทางด้วยจักรยานหรือเดินเท้าด้วยเวลาเพียงไม่กี่นาที พืชผักสวนครัวริมทางที่เราจินตนาการอยากให้มีทุกหัวมุมถนนแทนร้านสะดวกซื้อ หรือความเห็นอกเห็นใจของเพื่อนบ้านและชุมชนแบบที่เราฝันอยากให้มีจากคนข้างห้องหรือคณะนิติบุคคลของคอนโด

ไม่น่าแปลกใจที่ละคร โฆษณา หรือแม้แต่ภาพถ่ายของทุ่งนา การปลูกผัก และวิถีชีวิตเรียบง่ายจะโดนใจคนเมือง เพราะพวกเราต่างต้องกินอยู่หลับนอน เดินทางในพื้นที่จำกัดภายใต้ความเร่งรีบเมืองแบบกรุงเทพฯ โตแบบไร้ทิศทางส่งผลให้ผู้อาศัยต้องคอยปรับตัวให้เข้ากับเมืองที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ข้อจำกัดของพื้นที่และเวลา ผนวกกับความไร้ประสิทธิภาพของเมืองที่ทำให้พวกเขาหมดเวลาไปแต่ละวัน เดือน ปี ทำให้หลายคนโหยหาพื้นที่โล่งๆ ท้องฟ้ากว้างๆ ความเรียบง่าย และเวลาที่เราไม่เคยมี

การโหยหาสิ่งที่เราขาดอาจจะไม่แปลกสำหรับประชาชนทั่วไปที่มีทางเลือกเพียงทางเดียว นั่นคือการใช้ชีวิตในเมืองเพื่องานและค่าตอบแทนที่เพียงพอในการดำรงชีวิตในปัจจุบัน ท่ามกลางอนาคตที่ไม่แน่นอนสักเท่าไร ทว่าโฆษกศบค. กลับกล่าวถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนต่างจังหวัดอย่างสวยหรู สะท้อนว่าคนพูดไม่รู้จักบ้านเมืองตัวเองเอาเสียเลย

ยิ่งไปกว่านั้น ศบค. คงลืมไปว่าไม่ใช่ว่าเกษตรกรทุกรายในบ้านเรามีที่ดินทำกินเป็นของตัวเองเหมือนในอดีต แรงงานที่กลับบ้านอาจจะไม่มีเถียงนาให้นอน ไม่มีแม้แต่บ้านจะให้กลับด้วยซ้ำ

รายงาน “สรุปสถานการณ์การถือครองที่ดินและสาเหตุการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรรายย่อยในประเทศไทย” โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ชี้ให้เห็นว่า ที่ดินของครัวเรือนเกษตรกรลดลงจากประมาณ 102 ล้านไร่ ในปี 2524 เหลือ 71 ล้านไร่ ในปี 2556 ในทางกลับกัน การเช่าที่ดินเพิ่มขึ้นจากประมาณ 14 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 29 ล้านไร่ในช่วงเวลาเดียวกัน

เรารู้กันดีว่าความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองที่ดินในประเทศไทยนั้นสูงแค่ไหน จากรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2556 โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชี้ว่า ที่ดินมีโฉนดในประเทศ มีประมาณ 95 ล้านไร่ คนบนยอดปิรามิด 20% นั้นถือครองที่ดินถึง 79.9% ของพื้นที่ทั้งหมด ในขณะที่คน 20% ด้านล่างสุด ถือครองที่ดินเพียง 0.3% ของทั้งหมด และเมื่อเทียบเป็นสัดส่วนแล้วคนบนยอดปิรามิดถือครองที่ดินมากกว่าคนด้านล่างสุดถึง 325.7 เท่า

ใครหลายคนนั่งทำงานกับคอมพิวเตอร์ขณะกักตัวที่ห้องหรือบ้านในกรุงเทพฯ การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ในห้องแอร์ที่ค่าไฟฟ้าจะได้รับการลดหย่อน สั่งอาหารผ่านแอปเดลิเวอร์รีก็มีโปรโมชั่นฟรีค่าส่ง หรือใครที่โชคดีหน่อยก็อาจจะกำลังนั่งจิบชายามบ่ายกับเพลงเบาๆ ในสวนหน้าบ้าน พร้อมกับสนามพัตต์กอล์ฟคลายเครียดยามเย็น กลับฝันหวานถึงตัวเองในชุดม่อฮ่อมกับหมวกฟางยืนอยู่กลางทุ่ง มองดูต้นข้าวในนาปลอดสารที่รอวันออกรวง หรือผักเกษตรอินทรีย์ที่กำลังผลิใบออกผล ขณะที่ชาวนาชาวไร่ตัวจริงกำลังตากแดดเปรี้ยงในอุณหภูมิ 40 องศาท่ามกลางรวงข้าว นี่ต่างหากคือ ‘ชีวิตจริง’ ที่คนอีกหลายล้านคนกำลังเผชิญอยู่

กรุงเทพมหานครไม่ใช่ประเทศไทย ประเทศไทยไม่ได้มีเพียงคู่ตรงข้ามระหว่างเมืองที่พัฒนาด้วยความเร็วสูงสุดอย่างไร้ทิศทางอย่างกรุงเทพฯ กับ เมืองหลังเขาเต็มไปด้วยทุ่งนาสุดลูกหูลูกตาที่รอการพัฒนา แต่ประเทศไทยยังคงมีหัวเมืองที่พัฒนาไปในทิศทางของตนเองเพื่อรองรับอุตสาหกรรมท้องถิ่น เช่น เชียงใหม่ ชลบุรี มีเมืองรองที่มีศักยภาพพร้อมจะเติบโต และยังมีหมู่บ้านห่างไกลที่รอให้ความเจริญขยายตัวเข้าไปถึง

ก่อนจะตัดสินใจออกมาตรการเพื่อจำกัดการแพร่ระบาด ศบค. ควรจะทำความเข้าใจว่า ประเทศไทยไม่ได้มีเพียงแค่แคมป์คนงานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือเถียงนาอันไกลโพ้นที่จะให้แรงงานกักตัว

อ้างอิง

https://www.alro.go.th/tech_trans/ewt_dl_link.php?nid=733

https://www.matichon.co.th/politics/news_213121 8

https://www.nesdc.go.th/ewt_w3c/ewt_dl_link.php?filename=social&nid=10852