คำค้นฮอตฮิตอย่าง “ย้ายประเทศ” กลับมาติดอันดับต้นๆ อยู่บ่อยครั้งในยามที่ผู้คนรู้สึกคับข้องใจกับสถานการณ์ทางการเมือง

ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าบุคคลเหล่านั้นจริงจังขนาดไหน แต่จากผลการค้นหาภาษาไทยปรากฏว่าไม่ค่อยมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์สักเท่าไร เว้นแต่ว่าคุณกำลังมองหาคู่ชีวิตต่างสัญชาติและพร้อมแต่งงานเพื่อโอนย้ายรกราก แต่หากถามนักเศรษฐศาสตร์ว่าหากจะย้ายประเทศต้องทำอย่างไร ผู้เขียนก็สามารถตอบให้ได้อย่างตรงไปตรงมาว่า…

“ก็ซื้อดิครับ!”

ทำเป็นเล่นไป สัญชาติที่ใครต่อใครรักนักหวงหนา ปัจจุบันมีหลายประเทศนำมาจำหน่ายให้เหล่ามหาเศรษฐีเพื่อนำเงินเหล่านั้นกลับมาพัฒนาประเทศ แถมยังเป็นเทรนด์ยอดนิยมตามการศึกษาของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ที่คุณสามารถเลือกเมนูได้เลยว่าต้องการขอไปเป็นประชากรในประเทศใด ไม่ว่าจะเป็นประเทศในสหภาพยุโรป แคนาดา สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แม้แต่ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างสิงคโปร์ ต่างก็มีโครงการสิทธิการเป็นพลเมืองจากการลงทุน (Citizenship-by-investment)

ก่อนจะกระโดดไปเลือกประเทศ ผู้เขียนขอพาย้อนเวลาไปดู ‘ต้นแบบ’ โมเดลการขายสัญชาติของประเทศเซนต์คิตส์และเนวิส (St. Kitts and Nevis) ที่เริ่มโครงการนำร่องตั้งแต่ พ.ศ. 2527 ที่ช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ และยังเป็นแหล่งรายได้สำคัญจวบจนปัจจุบัน

จุดกำเนิดประเทศขายสัญชาติ

ประเทศเซนต์คิตส์และเนวิส เป็นประเทศเล็กจิ๋วซึ่งเคยอยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร ตั้งอยู่บนทะเลแคริบเบียน ระหว่างทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้โดยมีประชากรราวครึ่งแสน เศรษฐกิจหลักของประเทศเซนต์คิตส์ฯ พึ่งพาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเป็นหลัก แต่ด้วยสภาพภูมิอากาศในบางปีไม่เอื้ออำนวย พร้อมกับภัยพิบัติต่างๆ ทำให้ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เซนต์คิตส์ฯ กลายเป็นประเทศที่มีอัตราหนี้ต่อจีดีพีสูงที่สุดอันดับต้นๆ ของโลก

ประเทศเซนต์คิตส์และเนวิส ตั้งอยู่บนเกาะสองเกาะในทะเลแคริบเบียน ระหว่างทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ โดยมีประชากรราว 50,000 คน ภาพโดย kayokayo CC BY-SA 3.0 Wikipedia

ในสภาวะที่เศรษฐกิจใกล้ล้อมอยู่รอมร่อ ก็มีพระเอกขี่ม้าขาว คริสเตียน คาลิน (Christian Kälin) ทนายความหนุ่มชาวสวิตเซอร์แลนด์ ประธานบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมาย Henley & Partners ซึ่งต่อมาคริสเตียนได้ถูกขนานนามว่า “ราชาแห่งพาสปอร์ต” โดยมีผลงานชิ้นเอกคือปรับปรุงโครงการสิทธิการเป็นพลเมืองจากการลงทุนของเซนต์คิตส์ฯ และนำไปเสนอขายให้กับลูกค้าผู้ร่ำรวยของเขา สร้างสถานการณ์ที่ใครๆ ก็ได้ประโยชน์

สำหรับราคาพาสปอร์ตสัญชาติเซนต์คิตส์ฯ มีทั้งหมดสองแพ็คเกจ แพ็คเกจแรกคือบริจาคให้กับประเทศขั้นต่ำ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 7.5 ล้านบาท แพ็คเกจที่สองคือลงทุนในประเทศ เช่น ซื้อบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์มูลค่าขั้นต่ำ 400,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 12 ล้านบาท และแน่นอนว่าคุณจะต้องผ่านการสกรีนเบื้องลึกเบื้องหลังเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะไม่ทำให้ชื่อเสียงชาวคิตติเตียน (Kittitians หมายถึงประชากรของประเทศเซนต์คิตส์ฯ) เสียหาย

เมื่อรายละเอียดโครงการพร้อม ที่เหลือก็ต้องเดินสายโฆษณา หาดสวย น้ำใส อัตราภาษีน้อยนิด พาสปอร์ตทรงอำนาจที่สามารถเดินทางไป 141 ประเทศทั่วโลกโดยไม่ต้องขอวีซ่า ค่าเงินที่อิงกับดอลลาร์สหรัฐฯ ยังจะรออะไรอีกล่ะครับ สมัครได้แล้วที่นี่ แค่คลิก!

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 อุตสาหกรรมหลักของเซนต์คิตส์ฯ ก็ได้เปลี่ยนจากอ้อยและน้ำตาลมาเป็นโครงการสิทธิการเป็นพลเมืองจากการลงทุน โดยรอบ 10 ปีที่ผ่านมา รายได้ดังกล่าวคิดเป็นราวร้อยละ 20 ของจีดีพี โดยเทรนด์ดังกล่าวมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องจากความไร้เสถียรภาพและความไม่สงบในหลายประเทศ ทำให้เหล่ามหาเศรษฐีต้องมี ‘สัญชาติสำรอง’ ไว้ในกรณีฉุกเฉิน หรือบางครั้งอาจเลือกเอาตัวเองออกจากสถานการณ์ความไม่สงบ แล้วมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในฐานะพลเมืองของต่างแดน

อย่างไรก็ดี โครงการลักษณะดังกล่าวก็เสมือนดาบสองคม แม้ว่าในระยะสั้น รัฐบาลอาจสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่กระแสเงินจากต่างประเทศที่ไหลทะลักเข้าสู่เศรษฐกิจภายในประเทศจะทำให้เกิดเงินเฟ้อ ค่าแรงเพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายของรัฐบาลเองก็เช่นกัน หากไม่ควบคุมนโยบายการคลังอย่างระมัดระวัง อาจก่อให้เกิดปัญหาในระยะยาวได้เมื่อถึงวันที่สัญชาติของประเทศนั้นๆ อาจไม่ได้เป็นที่นิยมอีกต่อไป หรือเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ทำให้โครงการต้องหยุดชะงัก

หัวใจสำคัญที่จะทำให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้คือธรรมาภิบาลและความโปร่งใส อย่าลืมว่าหากประเทศซึ่งอนุญาตให้ผู้ถือพาสปอร์ตของประเทศ เช่น เซนต์คิตส์ฯ เดินทางเข้ามาได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า วันหนึ่งเกิดไม่มั่นใจในคุณภาพของชาวคิตติเตียนอีกต่อไป และเพิกถอนสิทธิในการเดินทางเข้าประเทศ เมื่อนั้นผลิตภัณฑ์สัญชาติที่เคยขายดิบขายดีอาจลดความน่าสนใจลง

นอกจากนี้ สิ่งที่หลายคนกังวลคือการใช้โครงการดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน เลี่ยงภาษี หรือดำเนินธุรกิจที่ผิดกฎหมาย ทำให้ภาระตกเป็นของเหล่าประเทศต้นทางที่ต้องเข้มงวดกวดขันก่อนรับชาวต่างแดนมาเป็นพลเมือง

แล้วตอนนี้ มีประเทศอะไรให้เลือกบ้าง?

มาถึงส่วนที่ทุกคนรอคอยคือเมนูว่าปัจจุบันมีประเทศอะไรบ้างที่เราสามารถซื้อสิทธิการเป็นพลเมืองได้ โดยแต่ละประเภทนั้นจะมีรายละเอียดโครงการที่แตกต่างกัน แต่หลักๆ แล้วจะมีสององค์ประกอบคือ 1) การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หุ้นสามัญ ธุรกิจ หรือเงินบริจาคในประเทศปลายทาง และ 2) ระยะเวลาพำนักต่อเนื่องอยู่ในประเทศนั้นๆ ซึ่งหากทำได้ตามเงื่อนไข ก็จะมีสิทธิสมัครเพื่อตรวจสอบพื้นเพว่าเรา ‘สะอาด’ ก่อนจะได้รับสิทธิพลเมือง

โครงการดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาตั้งรกรากโดยจะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ

  • สิทธิพำนักถาวร (Permanent Residency) จะเป็นสถานะพิเศษเพิ่มเติมให้สามารถเดินทางเข้าประเทศ พักอาศัย และทำมาหาเลี้ยงชีพในประเทศปลายทางได้อย่างถูกกฎหมาย แต่จะไม่มีสิทธิเทียบเท่าพลเมือง เช่น สิทธิในการเลือกตั้ง จะว่าไปก็คล้ายกับวีซ่าที่ไม่มีวันหมดอายุ โดยผู้ได้สิทธิดังกล่าวยังคงถือสัญชาติเดิม

  • สิทธิความเป็นพลเมือง (Citizenship) คือการย้ายสัญชาติแบบชุบตัวในอ่างทองคำ หลังจากลงทุนตามเงื่อนไขและผ่านกระบวนการตามกฎหมาย ก็พร้อมที่จะเกิดใหม่เป็นชาวประเทศปลายทาง โดยสามารถถือพาสปอร์ตของประเทศนั้นๆ ได้ และมีสิทธิเฉกเช่นพลเมืองคนหนึ่งในประเทศ

ผู้เขียนขอเริ่มที่กลุ่มประเทศในฝันของใครหลายคนที่ถือพาสปอร์ตที่เรียกได้ว่า ‘ทรงพลัง’ ที่สุดในโลก นั่นคือกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ซึ่งต้องบอกว่ามีหลายประเทศทีเดียวที่มีโครงการในลักษณะดังกล่าว เริ่มจากประเทศมัลตา หมู่เกาะทะเลสวย น้ำใส ที่ต้องบริจาคเงิน 675,000 ยูโรให้กับกองทุนพัฒนาประเทศ และลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ 350,000 ยูโร สิริรวม 1.15 ล้านยูโร หรือราว 40 ล้านบาทเศษ หรือใครอยากเลือกประเทศที่สบายกระเป๋าหน่อย เราก็มีออปชันครับ คือลงทุน 500,000 ยูโร (ราว 20 ล้านบาท) ในประเทศบัลแกเรียเพื่อได้สิทธพำนักถาวร แล้วอยู่ต่ออีก 5 ปีเพื่อสมัครเป็นพลเมือง

รายละเอียดเบื้องต้นของโครงการสิทธิการเป็นพลเมืองจากการลงทุนในหลายประเทศทั่วโลก แปลงเป็นสกุลเงินยูโรเพื่อการเปรียบเทียบ อินโฟกราฟิกโดย The Guardian

ยังแพงไปหรอครับ? อย่างนั้นลงทุนอสังหาริมทรัพย์ 250,000 ยูโร (ราว 10 ล้านบาท)  ในประเทศกรีซ แล้วดูใจกันอีก 7 ปีก่อนจะได้เป็นพลเมือง สำหรับใครที่ต้องการพาสปอร์ตแบบประหยัดงบประมาณ ผู้เขียนขอแนะนำประเทศลัตเวีย เมืองท่าโรแมนติกริมทะเลบอลติก เริ่มต้นที่ 50,000 ยูโรลงทุนในบริษัทสัญชาติลัตเวีย บวกกับเงินบริจาคอีก 10,000 ยูโร รวมทั้งแพ็คเกจที่ 60,000 ยูโร (ราว 2.4 ล้านบาท) หลังจากนั้นอีก 10 ปีค่อยมาคุยกันเรื่องสมัครเป็นพลเมือง

ส่วนทางเลือกอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น วีซ่าประเภท EB-5 เริ่มต้นที่ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 16 ล้านบาท) ออสเตรเลีย ต้องการเงินลงทุน 1.5 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 34 ล้านบาท) ส่วนประเทศแคนาดา ราคาจะอยู่ที่ 1 ล้านดอลลาร์แคนาดา (ราว 24 ล้านบาท) ใครชอบประเทศไหน อาหารอย่างไร ภูมิอากาศแบบไหน ก็เลือกช็อปกันได้เต็มที่เลยครับ

สำหรับใครที่มีเงินเก็บเหลือเฟือ แต่รู้สึกเลือกไม่ถูกว่าจะไปประเทศไหนดี บริษัท Henley & Partners ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงการสิทธิการเป็นพลเมืองจากการลงทุน ก็ได้เผยแพร่อินโฟกราฟฟิก “ดัชนีคุณภาพของสัญชาติ (Quality of Nationality Index)” โดยพิจารณาจากมิติต่างๆ ทั้งสภาพความเป็นอยู่ภายในประเทศ เสรีภาพในการตั้งถิ่นฐาน และการเดินทางท่องเที่ยวโดยไม่ต้องขอวีซ่า โดยประเทศอันดับ 1 ในตารางคือประเทศฝรั่งเศส โดยคุณผู้อ่านสามารถขอสิทธิพำนัก 10 ปีในเมืองสุดแสนโรแมนติกนี้ได้ด้วยการลงทุน เริ่มต้นที่ 10 ล้านยูโร (ราว 360 ล้านบาท)

เห็นตัวเลขแล้วอย่าเพิ่งหมดไฟนะครับ ค่อยๆ เก็บหอมรอมริบไทย ส่วนผู้เขียนถอดใจยอมแพ้ ขออยู่ประเทศไทยในน้ำมีปลาในนามีข้าว กรุงเทพฯ เมืองเทพสร้าง แผ่นดินทอง แผ่นดินธรรม ฯลฯ ต่อไปดีกว่าครับ

 

เลือกสัญชาติไหนดี? ดูข้อมูลได้จากแผนที่ดัชนีคุณภาพของสัญชาติ (Quality of Nationality Index) จัดทำโดยบริษัท Henley & Partners ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงการสิทธิการเป็นพลเมืองจากการลงทุน ภาพจาก nationalityindex.com

 

 

หมายเหตุ: ตัวเลขที่ใช้อ้างอิงในบทความเป็นตัวเลขของโครงการสิทธิการเป็นพลเมืองจากการลงทุนซึ่งผู้เขียนรวบรวมจากหลากหลายเว็บไซต์ ซึ่งปัจจุบันมูลค่าการลงทุน หรือเงื่อนไขระยะเวลาในการพำนักอาศัยก่อนของสิทธิการเป็นพลเมืองอาจเปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายของแต่ละประเทศ

 

เอกสารประกอบการเขียน

Planet Money Episode 687: Buy This Passport

A Passport of Convenience

Countries where you can buy citizenship

Citizenship for sale: how tycoons can go shopping for a new passport

The easiest places in the world to get citizenship or residency, from Thailand to St. Lucia

 

Fact Box

  • สำหรับประเทศไทย เราก็มีบัตรพิเศษสำหรับชาวต่างชาติผู้ร่ำรวยและหลงรักเมืองไทย “ไทยแลนด์ อีลิทคาร์ด” ซึ่งเป็นวีซ่าระยะยาว 4 ประเภทระยะเวลาตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี พร้อมสิทธิพิเศษตั้งแต่การตรวจคนเข้าเมือง กีฬา อาหาร และสุขภาพตามไลฟ์สไตล์อีลิทเมืองไทย สนนราคาที่ 800,000 ถึง 1,000,000 บาทถ้วน ซึ่งบริหารโดยรัฐวิสาหกิจภายใต้การดูแลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

 

Tags: , ,