ตอนที่แล้วผู้เขียนได้เขียนถึงปัจจัย 7 ประการที่ช่วยชี้ ‘ความน่าเชื่อถือ’ ของคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งมักจะเป็นสิ่งแรกๆ ที่หน่วยงานหรือองค์กรลงมือทำเมื่อเกิดปัญหาที่ประชาชนจับตามอง ทว่าหลายครั้ง การตั้งคณะกรรมการสอบสวนกลับไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนแต่อย่างใด
ผู้เขียนทิ้งท้ายในบทความนั้นว่า “เหรียญอีกด้านก็คือ ยิ่งคณะกรรมการสอบสวนหรือคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่ใส่ใจที่จะทำงานอย่างน่าเชื่อถือ เราก็จะยิ่งได้เห็นธาตุแท้ของ ‘ระบอบลอยนวลพ้นผิด’ ในองค์กรนั้นๆ และองคาพยพที่เกี่ยวข้อง”
ยิ่ง ‘ระบอบลอยนวลพ้นผิด’ เข้มแข็ง คนที่ทำผิดยิ่งย่ามใจว่าไม่มีใครทำอะไรได้ และที่แย่กว่านั้นคือคนทำผิดก็มีแนวโน้มจะคิดเข้าข้างตัวเองว่า ‘ไม่ได้ทำผิด’ อะไร เพราะไม่มีใครเคยเอาผิด
อย่างไรก็ดี ปัญหาใหญ่ไม่ได้มีแต่ระบอบลอยนวลพ้นผิดเท่านั้น แต่ ‘ระบอบอวยคนผิด’ ก็เลวร้ายไม่แพ้กัน เพราะสร้างและตอกตรึงความคิดที่ว่า การทำอะไรผิดนอกจากจะไม่เป็นไรแล้ว ยังสามารถได้รับคำสรรเสริญเยินยออีกต่างหาก!
พูดง่ายๆ ว่า ‘อุ้ม’ คนผิดไม่พอ ยังช่วย ‘อวย’ ให้ย่ามใจเข้าไปอีก
รูปธรรมของ ‘ระบอบอวยคนผิด’ ในสังคมไทย ก็คือรางวัลและการจัดอันดับมากมายหลายโครงการที่เข้าข่ายประเภทใดประเภทหนึ่งดังต่อไปนี้ (แต่คนทั่วไปอาจดูออกยากมาก)
1. เอาไว้ขายสปอนเซอร์
พูดง่ายๆ ก็คือจ่ายเงินซื้ออันดับได้ ถ้าอยากได้อันดับหนึ่งก็เพียงแต่ต้องจ่ายเงินซื้อมากกว่าบริษัทที่ได้อันดับสอง
รางวัลชนิดนี้บ่อยครั้งคนนอกจะแทบมองไม่ออกว่าขาย จะระแคะระคายก็ต่อเมื่อมีปฏิกิริยาที่ดูสวนทางกับชื่อรางวัล ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากว่ามีบริษัทได้รางวัลทำนอง ‘องค์กรที่คนอยากทำงานด้วยมากที่สุด’ แล้วพนักงานบริษัทนั้นๆ แห่กันเข้าไปแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ประกาศรางวัล บรรยายความรู้สึกและสภาพการทำงานว่าแย่อย่างไรบ้าง กรณีแบบนี้ก็ตั้งข้อสังเกตได้ว่า รางวัลนี้อาจมีไว้ขายมากกว่าจะใช้เกณฑ์ประเมินผู้ชนะอย่างเป็นภววิสัย
2. เอาไว้ขายสินค้าหรือโปรโมตแบรนด์ของตัวเองเป็นหลัก
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเห็นรายชื่อหนังสือ 10 อันดับเบสต์เซลเลอร์ ในร้านหนังสือ แล้วพบว่าเกินครึ่งในนั้นเป็นหนังสือจากสำนักพิมพ์ที่เป็นเจ้าของเดียวกันกับร้านหนังสือนั้นๆ แบบนี้เราก็ตั้งคำถามได้ว่าหนังสือเหล่านั้นขายดีจริงไหม หรือว่าร้านฉวยโอกาสใช้คำว่า ‘เบสต์เซลเลอร์’ เป็นพื้นที่โปรโมตหนังสือของตัวเองเท่านั้นเอง
3. ไม่ได้ตั้งใจจะทำขึ้นมาขาย แต่ใช้ตัวชี้วัดหรือหลักเกณฑ์ประเมินที่ไม่น่าเชื่อถือ และขาดกลไกทบทวนและถอดถอนรางวัลในภายหลัง
รางวัลหรือการจัดอันดับชนิดนี้มีอยู่ไม่น้อยในสังคมไทย แต่แพร่หลายได้อย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ดำเนินโครงการไม่ใส่ใจมากพอที่จะปรับปรุงเกณฑ์การประเมินให้น่าเชื่อถือ และไม่มีกลไกถอดถอนหรือยึดรางวัลคืน ในกรณีที่ปรากฏข้อมูลหลักฐานในภายหลังว่า ผู้ได้รางวัลทำตัวไม่สมกับรางวัลที่ได้รับ
โครงการที่ผู้เขียนเห็นว่ามีปัญหามากคือ โครงการคะแนนคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ซึ่งแต่ละปีมีหน่วยงานของรัฐทุกระดับเข้าร่วมการประเมินกว่ามากกว่า 8,300 แห่ง
ย้อนไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ผู้เขียนสรุปปัญหาเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีประเมินของโครงการนี้ในบทความเรื่อง คะแนนคุณธรรมและความโปร่งใส อาจสะท้อน ‘ระบอบอุปถัมภ์’ มากกว่า ‘ความโปร่งใส’
อย่างไรก็ดี ปัญหาของโครงการชนิดนี้ไม่ได้อยู่ที่หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินเท่านั้น แต่สิ่งที่ทำให้รางวัลหรือการจัดอันดับขาดความน่าเชื่อถือมากกว่าเดิมอีกก็คือ การขาดกลไกทบทวน รับเรื่องร้องเรียน และถอดถอนรางวัลหรืออันดับ ในกรณีที่ปรากฏข้อมูลหลักฐานภายหลังที่ชี้ชัดว่า ผู้ได้รางวัลนั้นอันที่จริงขาดคุณสมบัติที่จะคู่ควรกับรางวัล
ตัวอย่างเมื่อไม่นานนี้คือเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 เจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. บุกเข้าไปจับกุมอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งถูกร้องเรียนว่าเรียกรับเงินผู้ใต้บังคับบัญชา ถึงห้องประชุม และพบปึกเงินสดในซองต่างๆ รวมเกือบ 5 ล้านบาทในห้องทำงาน
ไม่ถึง 2 เดือนถัดมา คนทั้งสังคมก็ได้ฮือฮาอีกครั้งเมื่อปรากฏเป็นข่าวว่าคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ มอบรางวัล ‘องค์กรคุณธรรมต้นแบบ’ ประจำปี 2565 ให้กับกรมอุทยานฯ
เกียรติบัตรฉบับนี้ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ลงนามโดยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สรุปสั้นๆ ก็คือหน่วยงานที่อธิบดีเพิ่งถูกจับกุมพร้อมบรรดาซองเงินสดไปไม่นานได้รับรางวัล ‘องค์กรคุณธรรมต้นแบบ’ ประจำปี โดยที่เกียรติบัตรของรางวัลนี้ก็ลงนามโดยปลัดกระทรวงคนเดียวกับที่เพิ่งลงนามให้อธิบดีคนดังกล่าวออกจากราชการไว้ก่อน ระหว่างรอผลการสอบสวนของ ป.ป.ช.
ความย้อนแย้งและตลกร้ายของกรณีนี้น่าทึ่งขนาดไหน ผู้เขียนคิดว่าคงไม่ต้องสาธยายอะไรเพิ่มเติม
แต่กรณีตัวอย่างนี้ก็ชี้ให้เราเห็นว่า ‘โครงการองค์กรคุณธรรมต้นแบบ’ ไม่มีกลไกทบทวนหรือรับเรื่องร้องเรียนใดๆ และแม้เมื่อปรากฏข้อมูลชัดเจนว่า หน่วยงานที่ได้รางวัลไม่น่าจะคู่ควรกับรางวัลแม้แต่น้อย ผู้มอบรางวัลก็ไม่มีกระบวนการตัดสินใจถอดถอนหรือเรียกคืนรางวัลใดๆ ด้วย
การมีกลไกทบทวนรางวัล กลไกรับเรื่องร้องเรียน รวมถึงการมีกระบวนการตรวจสอบซึ่งอาจนำไปสู่การถอดถอนรางวัลในภายหลัง ล้วนเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับโครงการที่อยากให้รางวัลหรือการจัดอันดับของตนมี ‘ความน่าเชื่อถือ’ ในสายตาสาธารณชน
ตัวอย่างรางวัลที่มีกลไกทบทวนและถอดถอนก็อย่างเช่น ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกแสวงหา เพราะมองเป็น ‘ตรารับรอง’ ว่าบริษัทของตนกำลังเดินอยู่บนเส้นทางที่สอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน
เจ้าของโครงการนี้ประกาศถอดบริษัทชั้นนำหลายแห่งออกจาก DJSI เมื่อปรากฏข้อมูลชัดเจนว่า บริษัทเหล่านั้นไม่ใช่ ‘ผู้นำด้านความยั่งยืน’ ดังที่กล่าวอ้าง
กรณีที่โด่งดังก็เช่น ใน ค.ศ. 2015 เมื่อโฟล์กสวาเกน (Volkswagen) ค่ายรถยักษ์ใหญ่สัญชาติเยอรมัน ถูกสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (Environmental Protection Agency: EPA) ออกมาแฉว่ารถยนต์หลายรุ่นของโฟล์กที่บริษัทอ้างว่าใช้ ‘น้ำมันดีเซลสะอาด’ ที่จริงปล่อยมลพิษกว่า 10-40 เท่าของค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดเลยทีเดียว แต่บริษัทจงใจติดซอฟต์แวร์ในรถเพื่อหลอกองค์กรกำกับดูแล
ก่อนหน้านี้บริษัทโฟล์กสวาเกนคว้าตำแหน่ง ‘บริษัทที่ยั่งยืนที่สุด’ ในอุตสาหกรรมยานยนต์ (Industry Group Leader) ในดัชนี DJSI ไม่ใช่แค่ติดอันดับในดัชนีนี้เฉยๆ หลังจากที่เผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ผู้จัดทำดัชนี DJSI ก็ประกาศ ‘ถอด’ โฟล์กสวาเกนออกจาก DJSI
จากนั้นเจ้าของโครงการก็ปรับปรุงกระบวนการให้คะแนนสำหรับ DJSI เพื่อตอบสนองต่อกรณีแบบนี้ได้ดียิ่งขึ้น เช่น ยกระดับกลไกการวิเคราะห์สื่อและผู้มีส่วนได้เสีย (Media and Stakeholder Analysis: MSA) ในกระบวนการให้คะแนนบริษัท ซึ่งรวมถึงการสำรวจข่าวในหลายภาษาเกี่ยวกับบริษัทตลอดเวลา เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่บริษัทอาจเขียนนโยบายสวยหรูดูดี แต่ในทางปฏิบัติตรงกันข้าม
(อ่านรายละเอียดกรณีนี้และตัวอย่างกรณีอื่นๆ ที่ DJSI ถอดถอนบริษัท ได้จากบทความเรื่องแน่ใจว่า ‘ยั่งยืน’? Volkswagen กับข้อจำกัดของ Dow Jones Sustainability Indices ของผู้เขียน บนเว็บไซต์ป่าสาละ)
โครงการมอบรางวัลหรือจัดอันดับโครงการไหนก็ตามที่ขาดกลไกทบทวน-รับเรื่องร้องเรียน-ถอดถอนรางวัล จึงบอกเราว่าผู้ดำเนินโครงการไม่ใส่ใจที่จะให้โครงการของตัวเองมีความน่าเชื่อถือในสายตาสาธารณะ
และยิ่งไม่ใส่ใจกับความน่าเชื่อถือก็ยิ่งสุ่มเสี่ยงที่จะอวยคนผิด ทำให้คนผิดยิ่งย่ามใจ เพราะไม่เพียงแต่ทำเงินได้เท่านั้น แต่ยังได้รับคำสรรเสริญผ่านรางวัล
ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการที่อธิบดีโดนจับพร้อมปึกเงินสด แต่ได้รางวัลคุณธรรมต้นแบบ คะแนนความโปร่งใสเต็มสิบ ไปจนถึงคนทำคลิปวิดีโอที่ได้รางวัล ‘ผู้สร้างสรรค์ดีเด่น’ ทั้งที่ลอกงานคนอื่นอย่างไม่แคร์สายตาใคร
และเราก็ไม่ควรแปลกใจแต่อย่างใด ที่สังคมอันอุดมระบอบลอยนวลพ้นผิด ทุกระดับ จะอุดมไปด้วยระบอบอวยคนผิดไปพร้อมกัน
Tags: Citizen 2.0, ระบอบลอยนวลพ้นผิด, ระบอบอวยคนผิด, องค์กรคุณธรรมต้นแบบ, การเมืองไทย, คอร์รัปชัน, ระบอบอุปถัมภ์