ARAYA เปิดตัวด้วยเทรเลอร์แบบหนังสยองขวัญ มีฉากเป็นความมืดอันวังเวงในโรงพยาบาลไร้ผู้คน เสียงประตูลั่นเอี๊ยดอ๊าด เงาร่างไหววูบโผล่มากระตุกหัวใจให้สะท้าน เป็นฉากหนังผีที่คอหนังไทยคุ้นเคยกันดี แต่นี่ไม่ใช่หนัง หากคือเกมที่ผู้เล่นคือตัวละครที่ต้องร่วมชะตากรรม เพื่อหาหนทางเอาตัวรอด และสืบให้ได้ว่า ใครฆ่าอารยา?
ท่ามกลางกลุ่มควันขาวคลุ้งบนเวที OKMD Knowledge Festival 2017 ต้น-อารันดร์ อาชาพิลาส นักพัฒนาเกม เจ้าของบริษัท MAD Virtual Reality Studio ผู้อยู่เบื้องหลังเกมผี ARAYA ปรากฏตัวขึ้นพร้อมเล่าถึงเบื้องหลังของความสำเร็จ ว่าทำไมเกมผีที่ very Thai ถึงดังได้ในระดับโลก
ผลงานนักศึกษาปี 4 ที่เติบโตมาเป็นของเล่นของเหล่าเกมเมอร์
‘อารยา’ มีจุดเริ่มต้นจากธีสิส Stimulation ชื่อ ‘Be Lost (The Hospital Haunted: Be Lost)’ ของ ก๊อก-จัตุพร รักไทยเจริญชีพ ที่ถูกแชร์ต่อในโลกโซเชียล โดยเกมแคสเตอร์ต่างชาติคนหนึ่ง และเป็นที่รู้จักในเมืองไทยเพราะ ‘จ่าพิชิต’ แห่ง Drama-Addict นำมาแชร์ต่ออีกที
อารันดร์ซึ่งเป็นนักธุรกิจพบกับจัตุพรโดยบังเอิญ ในการแสดงผลงานของนักศึกษาคณะดิจิทัล มหาวิทยาลัยศรีปทุม ที่หอศิลป์กรุงเทพฯ จึงชวนจัตุพรและเพื่อนฟอร์มทีมขึ้นมาพัฒนาเกมนี้ พวกเขากินนอนอยู่ในห้องทำงานนับปีเพื่อทำสิ่งแรกด้วยกัน คือสร้างเทรเลอร์สำหรับทดลองตลาด โดยปล่อยลง Steam Greenlight ตลาดที่เป็นเหมือนสนามให้ผู้พัฒนาเกมได้ทดลองก่อนจะขายไปทั่วโลก ว่าเกมจะได้รับความสนใจหรือไม่
ใน Steam Greenlight เทรเลอร์เกมผีไทยของพวกเขาถูกใจผู้ทดสอบที่เป็นนักเล่น ได้รับการอัปโหวตในเวลาเพียง 3 วัน และติด Top 5 ของเกมกว่า 3,000 เกม ที่เข้าไปลองตลาดในช่วงปลายปี 2015 และเป็นที่ตั้งตารอว่าเมื่อไรเวอร์ชั่นเต็มจะออกมาให้พวกเขาได้หวีดสยองไปกับการไขปริศนาฆาตกรรมเสียที
ขนบความบันเทิงแบบ ‘ไทยๆ’ ให้อะไรในการสร้างเกม
โรงพยาบาลเป็นโลเคชั่นสากลเมื่อพูดถึงกลิ่นอายของความตาย อารยาเองก็สร้างสถานการณ์น่าสะพรึงนั้นลงในเกมเช่นกัน
“ผนัง เพดาน ทุกอย่างเราทำขึ้นด้วยมือ คือเมาส์คอมพิวเตอร์ หลายคนบอกว่าเดี๋ยวนี้ช่างฝีมือหายาก ผมจะบอกว่าความเป็นช่างฝีมือของคนไทยยังอยู่ เพียงแค่จากเลื่อย จากตะไบ มันได้เปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่เรียกว่า adobe creative cloud เราไปที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เก็บภาพเก็บรายละเอียดภายในโรงพยาบาลมาใส่” อารันดร์เล่าถึงกระบวนการออกแบบ
ความเป็นไทยรอบตัวคือจุดขายในเกมที่เขาส่งออก ไม่ว่าจะโครงสร้าง ศาลพระภูมิ ตุ๊กแก ม้าลาย ถัดมาคือหนังผี ละครไทย ที่เขามองว่านี่แหละคือ ‘โคตร’ ของดีที่มีอยู่
“อารยาออกแบบเกมเป็นตอนๆ ตอนละ 15 นาที ไม่เกินนี้ เหมือนเบรกโฆษณาของละครไทย แล้วตอนช่วงท้ายของแต่ละตอนหรือแต่ละด่าน จะขมวดปมของตอนต่อไปให้ ข้อดีของมันคือช่วยให้คนเล่นต่อไปได้เรื่อยๆ ศาสตร์พวกนี้ช่อง 3 ช่อง 7 ทำไว้แล้ว เราแค่ครูพักลักจำเอามาใช้”
เขาใช้หลักการของละครไทยบวกเข้ากับวิธีการออกแบบฉากความน่ากลัว
“มนุษย์เราถ้าเจอความน่ากลัวเกินครึ่งชั่วโมง มันชาชินแน่นอน จะไม่กลัวละ การบีบความกลัวของคน กราฟจะพุ่งขึ้นมาสูงสุดประมานสิบสองนาที จากนั้นจะโล่ง หลังจากนั้นกระชากได้อีกรอบ อันนี้อารยาทำบ่อย แต่ละด่าน ความกลัวจะพีคแล้วดรอปลง จนรู้สึกปลอดภัย แล้วกระชากขึ้นอีกรอบ เป็นสูตรสองเด้ง ซึ่งผมว่าสูตรสองเด้งนี้หนังไทยใช้เยอะมาก หันมาไม่เจอ เดินเข้าไปมีผีเกาะอยู่บนตัว อะไรแบบนี้แหละที่ผมเอาไปใช้”
และอย่างไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยนกัน สูตรสำเร็จอีกข้อหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือตัวละครที่เป็นผู้หญิงสรีระดี เขาบอกว่าอารยาคือเกมที่มีผู้หญิงทรงโตวิ่งอยู่ในโรงพยาบาล ที่ต้องออกแบบเช่นนี้ก็เพื่อให้รองรับเกมเมอร์ที่ใช้แว่นตา Virtual Reality ซึ่งเวลาใส่แว่นจะมีข้อจำกัดของมุมมองที่มองลงมาแล้วไม่เห็นอะไรเลย เขาจึงต้องอัปขนาดหน้าอกของตัวละครให้ถึงจุดที่มองเห็น จนเป็นที่มาของแฮชแท็ก #400cc.
ส่วนที่มาของชื่อเกม อารันดร์เล่าติดตลกว่าได้มาจากชื่อของนางเอกสาว ‘ชมพู่-อารยา เอ. ฮาร์เก็ต’ ที่กำลังดังจากละคร ทรายสีเพลิง ในเวลานั้น แต่ในความตลกนั้นคือความจริง และในช่วงแรกเกมของเขาก็มีชื่อเรียกว่า ‘เกมชมพู่’ มาก่อน
“ตอนแรกชื่อนุช แต่เราว่ามันไม่ไหว ก็เลยบอกอารยานี่แหละ อย่างน้อยคนไทยก็จำได้”
สร้างในไทย แต่ขายในแพลตฟอร์มโลก
ในการสร้างเกม สิ่งแรกที่ต้องสร้างคือทีเซอร์หรือเทรเลอร์ เพื่อปล่อยลง Steam Greenlight เป็นการลองตลาด แต่การปล่อยของอารันดร์และทีมงานไม่ใช่การปล่อยอย่างสะเปะสะปะ เขาคิดหาวิธีที่จะดึงเหล่าเกมแคสเตอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เหล่าเกมเมอร์ติดตามเข้ามาเล่น โดยที่เกมแคสเตอร์ก็จะต้องได้ผลประโยชน์จากการเล่นเกมของเขาด้วย
“เราค้นพบสัจธรรมว่ามนุษย์เราชอบดูความทรมานของคนที่เรารู้จัก โจทย์นี้มาละ เล่นอารยาแล้วทรมาน ทรมานแล้วได้วิวเพิ่มขึ้นกว่าปกติ การได้วิวเพิ่มคือการได้ค่าโฆษณาด้วย ดังนั้นสูตรนี้อาจพอไปได้”
และวิธีของเขาก็ได้ผลจริงๆ
“โจทย์ของผมในวันนั้นจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าเราไม่มียูทูบ ไม่มีแพลตฟอร์มที่เชื่อมโลกเข้าด้วยกัน เกมอารยาโดนปล่อยออกไป มีนักเล่นจากทั่วโลกทั้งฝั่งอเมริกาและญี่ปุ่นสนใจ ซึ่งเราต้องขอบคุณแคสเตอร์ไทยด้วยที่ทำให้มันไปทั่วโลก”
(อยากรู้ว่าเกมแคสเตอร์ชาวสเปน อินกับอารยาแค่ไหนถึงมียอดวิวกว่า 5 ล้านครั้ง คลิกที่นี่)
“การพาอารยาไปสู่แพลตฟอร์มโลก ผมใช้แพลตฟอร์มชื่อ Steam ซึ่งมีเกมแคสเตอร์ไทยเล่นอยู่ด้วย ขณะเดียวกันก็จับมือกับ Twitch แพลตฟอร์มสำหรับนักเล่นเกมที่ต้องการจะเล่นสด ก่อนจะลอนช์เกม เราคุยกับทาง Twitch ว่าผมจะปล่อยเดโมเกมไปให้เครือข่ายคาสเตอร์ของเขาจำนวนหนึ่งแล้ว Twitch ก็ช่วยกระจายให้ พอเขาเล่นใน Twitch เสร็จก็มาอัปโหลดในยูทูบ ประเด็นคือในการเล่นอารยาเราได้ยอดวิวเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติเพราะมันทรมานและตลก แต่มันทำได้เพราะมีแพลตฟอร์มอยู่ หากคิดจะลอนช์อะไรในระดับโลกเราต้องหาแพลตฟอร์มที่มีอยู่แล้วที่คนไทยหรือฝรั่งสามารถซื้อได้ในที่เดียวกัน”
และด้วยสูตรเหล่านี้เอง ที่ทำให้หลังจากปล่อยเวอร์ชั่นเต็มของเกมอารยาออกมาจำหน่ายในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เกมผีไทยของเขาติด Top Seller ของ Steam ได้ไปยืนอยู่ในงาน Tokyo Game Show 2016 ได้รับรางวัล Exellent Game of the Year และรางวัล Game Developer Choice Awards จากงาน Bangkok International Digital Content Festival 2017
เป็นเกมที่เกมเมอร์จำนวนมากติดใจ และคาใจเกมเมอร์อีกไม่น้อยที่ยังไม่กล้าเล่น เพราะประสาทไม่แข็งพอ
ภาพ: OKMD Festival 2017
Tags: ARAYA, OKMD Knowledge Festival 2017, อารันดร์ อาชาพิลาส, จัตุพร รักไทยเจริญชีพ, MAD Virtual Reality Studio, เกมแคสเตอร์, เกมเมอร์, Steam Greenlight