หลังจากที่ประชาชนและแพทย์พยาบาลทั่วประเทศเรียกร้องวัคซีนประสิทธิผลสูงมานานหลายเดือน ในที่สุด กรมควบคุมโรคก็ลงนามในสัญญาสั่งซื้อวัคซีนชนิด mRNA ยี่ห้อไฟเซอร์ จำนวน 20 ล้านโดส เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 และต่อมาอีกสามวัน องค์การเภสัชกรรมก็ลงนามในสัญญาสั่งซื้อโมเดอร์นา จำนวน 5 ล้านโดส
ผู้เขียนอัพเดตชาร์ตแสดงเส้นทางของวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อต่างๆ ในไทยตามแผนภาพด้านล่างนี้ ให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างยี่ห้อ และเพื่อชี้ว่าระบบราชการไม่ใช่ปัญหา เพราะ ‘ถ้าจะเร็วก็เร็วได้’ ดังเช่นกรณีของซิโนแวคและซิโนฟาร์ม ซึ่งใช้เวลาไม่ถึงสองเดือนนับจากวันเริ่มเจรจา จนถึงวันที่วัคซีนล็อตแรกมาถึงไทย
(ภาพประกอบทั้งหมดในบทความนี้เป็นผลงานของ น้ำใส ศุภวงศ์)
อย่างไรก็ดี วัคซีนชนิด mNRA ล็อตแรกที่จะมาถึงไทยไม่ใช่ 25 ล้านโดส ตามสัญญาทั้งสอง ซึ่งกว่าจะมาถึงไทยก็ราวเดือนตุลาคม (สามเดือนนับจากวันเซ็นสัญญา พอๆ กับการส่งมอบประเทศอื่นก่อนหน้านี้) แต่เป็นวัคซีนยี่ห้อไฟเซอร์ จำนวน 1.5 ล้านโดส ที่สหรัฐอเมริกาบริจาคให้กับไทย โดยกรมควบคุมโรคเปิดเผยว่า วัคซีนล็อตนี้จะมาถึงไทยในวันที่ 29 กรกฎาคม 2564
วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 เฟซบุ๊กเพจสถานทูตสหรัฐฯ ลงคลิปวีดีโอ สารจากอุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ไมเคิล ฮีธ เกี่ยวกับการบริจาควัคซีนว่า “เรามีความภูมิใจที่จะบริจาควัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพให้กับประเทศไทยโดยไม่มีเงื่อนไข ตามคำมั่นสัญญาของรัฐบาลประธานาธิบดีไบเดน เพื่อช่วยพันธมิตรของเราต่อสู้กับโควิด…”
ตอกย้ำชัดเจนว่า วัคซีนบริจาคครั้งนี้ ‘ไม่มีเงื่อนไข’ ใดๆ การจัดสรรให้ประเทศผู้รับบริจาคไปกำหนดเอง
ต่อมาในวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เพจเฟซบุ๊กสถานทูตฯ ก็ลงรูปและข้อความว่า “สหรัฐฯ จะบริจาควัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์จำนวน 1.5 ล้านโดส มูลค่า 30 ล้านเหรียญฯ ให้กับไทย”
มูลค่าของวัคซีนไฟเซอร์ที่สถานทูตสหรัฐฯ เปิดเผยเท่ากับ 20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อโดส หรือราว 658 บาท ณ อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน แพงกว่าราคาวัคซีนยี่ห้อซิโนแวคที่ไทยสั่งซื้อ โดสละประมาณ 100 บาท (อ่านข้อสังเกตของผู้เขียนเรื่องความไม่โปร่งใสในการจัดหาวัคซีน ซิโนแวคได้ในมหากาพย์วัคซีน ตอนที่ 2)
วัคซีนไฟเซอร์ล็อตนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล ทุกครั้งที่บุคลากรด่านหน้าหนึ่งคนป่วย นั่นหมายถึงผู้ป่วยนับสิบคนนับร้อยคนที่จะขาดการดูแล
ทำไมต้องฉีด mRNA ให้บุคลากรด่านหน้าก่อน? วันนี้เรารู้แล้วว่า วัคซีนชนิด mRNA มีประสิทธิภาพสูงสุดในการรับมือกับโควิด-19 เมื่อเทียบกับวัคซีนชนิดอื่นๆ และวันนี้ ‘ประสิทธิภาพวัคซีน’ ก็มีความสำคัญมากกว่าปี 2563 ปีแรกที่โควิด-19 ระบาด เพราะวันนี้เรามีวัคซีนหลากหลายยี่ห้อแล้ว ทุกประเทศกำลังมุ่งหน้า ‘เปิดประเทศ’ สร้าง ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ เพื่อ ‘อยู่กับโรค’ ให้ได้ ไม่ได้คาดหวังแค่วัคซีนที่จะช่วยประคับประคองสถานการณ์เท่านั้น
ประสบการณ์จากทั่วโลกบอกเราว่าอะไร? ผู้เขียนนำข้อมูลจากเว็บไซต์ Our World in Data สองตัว ณ วันที่ 19 ก.ค. 2564 คือ อัตราการตายจากโควิด-19 เฉลี่ย 7 วันย้อนหลัง มาพล็อตเทียบกับสัดส่วนประชากรในประเทศที่ฉีดวัคซีนครบสองเข็มแล้ว นับเฉพาะประเทศที่อัตราส่วนนี้เกินร้อยละ 20 (ดังนั้นจึงไม่แสดงประเทศที่มีสัดส่วนประชากรฉีดครบน้อยกว่านั้น เช่น ไทย) โดยจำแนกประเทศต่างๆ ตามลักษณะของวัคซีนที่ใช้ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. ใช้วัคซีนเชื้อตาย (เช่น ซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม) เป็นหลัก 2. ใช้วัคซีนชนิด mRNA พอๆ กับชนิดอื่น และ 3. ใช้วัคซีนชนิด mRNA เป็นหลัก นำข้อมูลมาพล็อตเป็นกราฟได้ดังนี้
แผนภาพนี้บอกเราอย่างชัดเจนว่า ในบรรดาประเทศที่ประชากรได้วัคซีนครบสองเข็มเกินร้อยละ 20 และใช้วัคซีนชนิด mRNA เป็นหลัก ไม่มีประเทศใดที่มีอัตราการตายต่อวันเฉลี่ย 7 วันย้อนหลัง สูงกว่า 1 ต่อประชากรหนึ่งล้านคน ในขณะที่ประเทศชิลี หมู่เกาะเซเชลส์ อุรุกวัย และมองโกเลีย ล้วนมีสัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีนครบสองเข็มสูงกว่าร้อยละ 50 และใช้วัคซีนชนิดเชื้อตายเป็นหลัก แต่มีอัตราการตายต่อวันจากโควิด-19 สูงกว่าประเทศที่ใช้ mRNA เป็นหลักค่อนข้างมาก
ผู้ดำเนินนโยบายรัฐที่ตั้งใจทำงานเพื่อประชาชน เมื่อเห็น ‘ข้อมูลเชิงประจักษ์’ เช่นนี้ ย่อมต้องรีบจัดหาวัคซีน mRNA มาให้กับบุคลากรด่านหน้าและประชาชนอย่างเร่งด่วน และในความเป็นจริง รัฐบาลทุกประเทศในแผนภาพนี้ที่มีอัตราการตายสูงกว่า 1.5 ในล้านคน ใช้วัคซีนชนิดเชื้อตายเป็นหลัก ได้แก่ คูเวต กัมพูชา มองโกเลีย อุรุกวัย ชิลี และหมู่เกาะเซเชลส์ ล้วนเริ่มทยอยฉีดวัคซีนชนิด mRNA เช่น ยี่ห้อไฟเซอร์-ไบออนเทค เป็นวัคซีนหลักหรือวัคซีนบูสเตอร์ (เข็มสาม) ให้กับประชากรของตัวเองแล้ว ไม่จำเป็นต้องรออ่านและตีความผลการวิจัยภูมิคุ้มกันใดๆ ทั้งสิ้น (ถึงแม้ผลการวิจัยชิ้นแล้วชิ้นเล่าก็ออกมาในทิศทางตรงกันว่าวัคซีน mRNA มีประสิทธิผลสูงกว่าชนิดอื่น)
(อนึ่ง แผนภาพนี้ไม่แสดงข้อมูลของประเทศจีน เนื่องจากอัตราส่วนประชากรฉีดครบสองเข็มล่าสุดที่เว็บไซต์ Our World in Data รวบรวมได้คือร้อยละ 15.5 ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2564 ไม่พบข้อมูลที่ใหม่กว่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม จีน ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้วัคซีนเชื้อตายเป็นหลัก กำลังจะอนุมัติวัคซีนชนิด mRNA ที่บริษัทฟูซุ่น ฟาร์มาของจีน ร่วมพัฒนากับไบออนเทคของเยอรมนี และเริ่มฉีดให้ประชากรทั่วประเทศฟรีเป็นเข็มสามตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 เป็นต้นไป)
ในเมื่อวัคซีนชนิด mRNA มีประสิทธิผลสูงสุดอย่างไร้ข้อกังขา วัคซีนชนิดนี้ ล็อตแรก 1.54 ล้านโดส ที่จะมาถึงไทย เป็นวัคซีนบริจาคโดยไม่มีเงื่อนไขจากสหรัฐอเมริกา จึงสมควรพุ่งเป้าไปที่ ‘บุคลากรด่านหน้า’ และ ‘บุคลากรอื่นๆ ทุกคนที่เสี่ยงสัมผัสผู้ป่วย’ เป็นอันดับแรก ในเมื่อวันนี้ (กรกฎาคม 2564) ระบบสาธารณสุขของไทยกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างหนัก ผู้ที่สงสัยว่าตัวเองป่วยเป็นโควิด-19 จำนวนมากต้องดิ้นรนเข้าถึงการตรวจเชื้อกันเอาเอง หาทางติดต่อหาเตียงกันเอง ผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตายที่บ้านระหว่างรอเตียง บางคนตายกลางถนน ตายระหว่างทางไปโรงพยาบาล ส่วนโรงพยาบาลก็จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ วันนี้ก็มีผู้ป่วยล้นออกมาหน้าห้องฉุกเฉิน หมอถูกสถานการณ์บีบบังคับให้เลือกว่าใครจะอยู่ ใครจะไป
นอกจากแพทย์และพยาบาลแล้ว ยังมีบุคลากรด่านหน้าอีกมากมายที่เสี่ยงสัมผัสผู้ป่วยในสถานพยาบาลระหว่างการทำหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นเวรเปล ผู้ช่วยพยาบาล แม่บ้าน พนักงานรักษาความปลอดภัย เภสัชกร นักรังสีเทคนิค นักเทคนิคการแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำสถานีอนามัย รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ซึ่งวันนี้เป็นกลไกสำคัญในการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ตามนโยบาย Home Isolation/Community Isolation (กักตัวอยู่บ้านหรือชุมชน) ซึ่งขาดไม่ได้ในการแบ่งเบาภาระของระบบสาธารณสุขในปัจจุบัน
ทั้งหมดที่กล่าวถึงข้างต้นยังไม่นับบุคลากรสนับสนุนอีกมากมายที่เสี่ยงสัมผัสผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นจิตอาสาที่มาช่วยดูแลผู้ป่วย ส่งข้าวส่งยาและถังออกซิเจนถึงบ้านผู้ป่วย คนขับรถที่พาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล ไปจนถึงพระและสัปเหร่อในวัดที่เผาศพผู้ป่วยโควิด-19 หลังจากที่เขาสิ้นใจ
ผู้เขียนลองทำแผนภาพ ‘การเดินทางของผู้ป่วยโควิด-19’ จากจุดที่แสดงอาการที่บ้าน ไปจนถึงสถานพยาบาลและสุดท้ายเสียชีวิต เพื่อฉายภาพให้เห็นว่ามีผู้เสี่ยงติดเชื้อมากขนาดไหน ทั้งบุคลากรด่านหน้าและบุคลากรสนับสนุน ต่อผู้ป่วยโควิด-19 ทุก 1 คน แสดงได้ดังนี้
แผนภาพนี้บอกว่า อาจมีคนในสาขาอาชีพต่างๆ ถึง 25 คน หรือมากกว่านั้นที่เสี่ยงติดเชื้อจากผู้ป่วยทุก 1 คน ซึ่งคนเหล่านี้ถ้าติดเชื้อแล้วก็สามารถไปแพร่เชื้อให้กับคนอื่นๆ อีกหลายคน และคนที่ต้องเสี่ยงทุกวันก็คือบุคลากรด่านหน้าและบุคลากรสนับสนุนที่ทำงานช่วยเหลือผู้ป่วย ถ้าหากพวกเขาไม่ได้รับวัคซีนประสิทธิภาพสูง จึงเท่ากับบังคับให้พวกเขาทำงานภายใต้ความเสี่ยงทุกวัน นอกจากจะเสี่ยงติดเชื้อและล้มป่วย ยังสร้างสถานการณ์ที่คนอีกหลายร้อยหลายพันจะติดเชื้อต่อไปอีก และทำให้ผู้ป่วยอีกจำนวนมากขาดการดูแล
ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงเห็นว่า วัคซีนไฟเซอร์บริจาค 1.54 ล้านโดส จึงสมควรจัดสรรให้กับบุคลากรด่านหน้าและบุคลากรสนับสนุนทั้งจำนวน โดยใช้หลักการลำดับความสำคัญง่ายๆ ว่า ใครสัมผัสผู้ป่วยมากสุดต้องฉีดก่อน
อย่างไรก็ดี แนวทางการจัดสรรวัคซีนล็อตนี้ตามที่รองโฆษกรัฐบาลประกาศ อ้างอิงมติคณะทำงานด้านการบริหารจัดการวัคซีนล็อตนี้ ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2564 กลับแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่
1. บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ (ฉีดเป็นบูสเตอร์โดสหรือเข็มสาม จำนวน 1 เข็ม) จำนวน 700,000 โดส
2. ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 โรค และหญิงมีครรภ์ ใน 13 จังหวัดที่มีการระบาดรุนแรง จำนวน 645,000 โดส
3. ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทยทั่วประเทศ เน้นผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง จำนวนรวมกับกลุ่ม 4 (ไม่จำแนก) 150,000 โดส
4. ผู้ที่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียน นักศึกษา นักกีฬา นักการทูต นักธุรกิจ จำนวนรวมกับกลุ่ม 3 (ไม่จำแนก) 150,000 โดส
5. ทำการศึกษาวิจัย จำนวน 5,000 โดส
6. สำรองส่วนกลางสำหรับตอบโต้การระบาด จำนวน 40,000 โดส
ผู้เขียนเห็นว่า การแบ่งกลุ่มดังกล่าวแม้ฟังเผินๆ อาจดูดี แต่ก็มีความเสี่ยงสูงมากที่อภิสิทธิ์ชน หรือ ‘VVIP’ (ย่อมาจาก Very Very Important Person) จะมาปาดหน้าคนอื่น ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ทั้งที่ตัวเองไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงสูงและไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนใดๆ (อันที่จริง VVIP ในประเทศนี้จำนวนมากน่าจะได้ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาครบสองเข็มไปแล้วด้วยซ้ำ เพราะแอสตราเซเนกาล็อตแรก 117,000 โดส เข้าประเทศมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564
ดังนั้น แม้ว่าโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะแถลงในวันที่ 25 กรกฎาคมว่า “วัคซีนดังกล่าวจะไม่มีการจัดสรรให้กลุ่มพิเศษ VIP หรือกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในลำดับความสำคัญอย่างเด็ดขาด ในกรณีดังกล่าว หากท่านพบขอให้แจ้งมายังกระทรวงสาธารณสุข” ผู้เขียนเห็นว่าคำยืนยันดังกล่าวไม่มีความหมาย เพราะ VVIP สามารถอ้างว่าอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งทั้ง 6 กลุ่มของ สธ. ได้ เนื่องจากการจัดกลุ่มดังกล่าวมีปัญหาและคลุมเครือ
แนวทางการจัดสรร 6 กลุ่มดังกล่าวมีปัญหาอย่างไร VVIP จะ ‘เนียน’ เข้ามาได้ตอนไหน ผู้เขียนสรุปทีละกลุ่มดังนี้
กลุ่มที่ 1 บุคลากรด่านหน้า จำนวน 700,000 โดส
บุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศมีจำนวนราวเจ็ดแสนคน แต่ถ้านับเฉพาะคนที่อยู่ด่านหน้าจริงๆ ต้องสัมผัสผู้ป่วยโควิด-19 ทุกวันจริงๆ วัคซีนจำนวนนี้น่าจะเพียงพอที่จะฉีดเป็นบูสเตอร์ช็อต (เข็มสาม) ให้กับบุคลากรสาธารณสุข และบุคลากรด่านหน้าที่เสี่ยงสัมผัสผู้ป่วยแต่ไม่ใช่บุคลากรสาธารณสุข เช่น อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และเจ้าหน้าที่กู้ภัย
การจัดสรรวัคซีนส่วนนี้ควรใช้หลักการง่ายๆ ว่า ‘ใครสัมผัสผู้ป่วยมากสุดต้องฉีดก่อน’ และถ้าหากมียอดเหลือก็ควรยกไปให้กับบุคลากรสนับสนุนที่เสี่ยงสัมผัสผู้ป่วย เช่น คนขับรถ สัปเหร่อ จิตอาสา ฯลฯ (อ่านรายละเอียดได้ในส่วนถัดไป) หลังจากนั้นถ้ามีเหลืออีก ก็ควรจัดสรรต่อไปให้กับเจ้าหน้าที่บริการสาธารณะที่ไม่อาจทำงานอยู่บ้าน เช่น เจ้าหน้าที่เทศกิจ ไปรษณีย์ ไรเดอร์ส่งอาหาร ฯลฯ ใน 13 จังหวัดเสี่ยงสูง
การที่บุคลากรด่านหน้าจำนวนไม่น้อยตัดสินใจฉีดแอสตราเซเนกาเป็นเข็มสามไปแล้วก่อนหน้านี้ ส่วนหนึ่งผู้เขียนเห็นว่าต้องโทษกระทรวงสาธารณสุขที่ไม่เคยส่งสัญญาณอย่างชัดเจน ไม่ออกมารับประกันตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมว่า บุคลากรด่านหน้าทุกคนที่อยากฉีดไฟเซอร์จะได้ฉีดอย่างแน่นอนในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม
ในเมื่อกระทรวงไม่รับประกัน โรงพยาบาลหลายแห่งย่อมไม่อาจให้สัญญาบุคลากรได้ว่า ถ้าเลือกไฟเซอร์จะได้ฉีดไฟเซอร์อย่างแน่นอน การให้เลือกระหว่างแอสตราเซเนกากับไฟเซอร์จึงเท่ากับ ‘มัดมือชก’ กลายๆ เพราะตัวเลือกสองตัวนี้ไม่เท่าเทียมกัน เลือกตัวแรกรู้ว่าจะได้ฉีดแน่ๆ และได้ฉีดวันไหน แต่ตัวหลังกลับไม่มีความแน่นอนใดๆ
กลับมาเรื่องโควตาบุคลากรด่านหน้า 700,000 โดส ผู้เขียนเห็นว่า สธ. ควรออกแบบและประกาศกระบวนการจัดสรรและตรวจสอบ เพื่อสร้างความมั่นใจได้ว่า ทั้ง 500,000 โดส จะไปถึงมือบุคลากรด่านหน้าจริงๆ ไม่ใช่ผู้บริหารโรงพยาบาล ไม่ใช่ ‘ผู้มีอุปการคุณ’ ต่อโรงพยาบาลและครอบครัว (เคยบริจาคเงินเยอะๆ) และไม่ใช่ VVIP รายอื่นที่รู้จักกับผู้บริหาร
สธ. ควรหาทางป้องกันไม่ให้ VVIP มา ‘ตีเนียน’ ในส่วนนี้ ซึ่งเราเริ่มเห็นแนวโน้มบ้างแล้ว เช่น ในไฟล์สรุปยอดขอรับจัดสรรไฟเซอร์จากโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ทั้งรัฐและเอกชน (แพทย์หลายคนส่งต่อกัน ผู้เขียนนำตัวเลขมาใส่ Google Sheets เพื่อให้ง่ายต่อการวิเคราะห์) สังเกตว่าบุคลากรประเภท ‘อื่นๆ’ ที่ไม่มีการแจกแจง มีจำนวนและสัดส่วนค่อนข้างสูง เกินร้อยละ 40 ในหลายโรงพยาบาล ทั้งที่ตัวเลขนี้ควรรวมเฉพาะแม่บ้าน พนักงานร้านอาหารในโรงพยาบาล นักการ ภารโรง เจ้าหน้าที่ รปภ. และคนอื่นๆ ที่ทำงานในโรงพยาบาลเท่านั้น
บุคลากรประเภท ‘อื่นๆ’ ในโรงพยาบาลทั้งหมดเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่ขอรับการจัดสรรไฟเซอร์เป็นเข็มสาม มีจำนวนถึง 48,882 คน คิดเป็นร้อยละ 28 ของบุคลากรรวม 175,197 คน ที่ขอรับการจัดสรร ในจำนวนบุคลากร ‘อื่นๆ’ นี้ เป็นของโรงพยาบาลศิริราชมากถึง 11,392 คน หรือร้อยละ 23.3 (มากกว่าหนึ่งในห้า) ของบุคลากร ‘อื่นๆ’ ทุกโรงพยาบาลรวมกัน และคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 50.1 ของบุคลากรศิริราชทั้งหมด 22,731 คน
นอกเหนือจากตัวเลขและสัดส่วนบุคลากร ‘อื่นๆ’ ที่น่าจับตามองแล้ว สถานพยาบาลบางแห่งยังแจ้งจำนวนบุคลากรสูงอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อคำนึงถึงขนาดของโรงพยาบาล ยกตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลเมดพาร์ค แจ้งว่ามีแพทย์มากถึง 1,411 คน ขณะที่มีพยาบาลเพียง 347 คน (ทั้งที่พยาบาลควรมีจำนวนมากกว่าแพทย์มาก) และมีจำนวน ‘พนักงานช่วยงานการแพทย์’ สูงถึง 7,978 คน รวมบุคลากรทุกหมวดมากถึง 9,860 คน ทั้งที่เป็นโรงพยาบาลขนาด 500 เตียง เท่านั้น (โดยเปรียบเทียบกับโรงพยาบาลกรุงเทพ ซึ่งมีจำนวนเตียงใกล้เคียงกัน ขอรับการจัดสรรไฟเซอร์ให้แพทย์จำนวน 467 คน พยาบาล 1,469 คน รวมบุคลากรทุกหมวด 4,205 คน น้อยกว่าจำนวนที่เมดพาร์คแจ้งความจำนงมากกว่าสองเท่า)
ผู้เขียนเห็นว่า ‘จุดน่าสังเกต’ เหล่านี้ที่ส่อเค้าว่าผู้บริหารโรงพยาบาลบางแห่งอาจจะอยากกันวัคซีนเร่งด่วนบางส่วนไว้ให้ VVIP ยิ่งเป็นเหตุผลที่ สธ. ควรเร่งวางระบบการจัดสรรที่เป็นธรรม และประกาศกลไกตรวจสอบที่โปร่งใส เช่น เปิดช่องทางรับเรื่องร้องเรียนสำหรับบุคลากรด่านหน้าที่ประสงค์จะฉีดไฟเซอร์ แต่ได้รับการปฏิเสธ และทุกคนที่อยากแจ้งเบาะแสว่ามี VVIP มาปาดหน้าฉีดวัคซีน
กลุ่มที่ 2 ผู้สูงวัย ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 โรค หญิงมีครรภ์ ใน 13 จังหวัดเสี่ยงสูง และกลุ่มที่ 3 ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย รวม 795,000 โดส (ฉีดคนละ 2 เข็ม)
ผู้สูงวัยและผู้มีโรคเรื้อรัง 7 โรค ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่สมควรได้รับการจัดสรรวัคซีนอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในเมื่อวันนี้อัตราการฉีดกลุ่มนี้ยังไม่เป็นไปตามเป้า และน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เสี่ยงสูง เช่น ประชาชนทั่วไป ค่อนข้างมาก ยังมีผู้สูงวัยหลายล้านคนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเลยแม้แต่เข็มเดียว
อย่างไรก็ดี โควตาวัคซีนที่ สธ. จัดสรร มีจำนวนน้อยกว่าจำนวนผู้สูงอายุใน 13 จังหวัดเสี่ยงสูง และชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทยค่อนข้างมาก โดยจากสถิติของกรมกิจการผู้สูงอายุ มีผู้สูงอายุในจังหวัดเสี่ยงสูง 13 จังหวัด รวมประมาณ 2.71 ล้านคน และจากสถิติของสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน มีแรงงานต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในไทย รวม 2.38 ล้านคนทั่วประเทศ เท่ากับว่าโควตาของคนสองกลุ่มนี้ที่ สธ. จัดสรร คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 322,500÷2.71 ล้าน = ร้อยละ 11.9 สำหรับกลุ่มผู้สูงวัย และ 75,000÷2.38 ล้าน = ร้อยละ 3.1 สำหรับกลุ่มชาวต่างชาติเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ การจัดสรรวัคซีนทั้งสองกลุ่มควรคำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วนเป็นที่ตั้ง เช่น ฉีดให้กับผู้สูงวัยที่มีโรคเรื้อรัง 7 โรค และยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มแรก ก่อนผู้สูงวัยที่ได้รับวัคซีนแล้วหรือมีสุขภาพแข็งแรง ทั้งผู้สูงวัยชาวไทยและชาวต่างชาติ
กลุ่มที่ 4 นักศึกษา/นักการทูต/นักธุรกิจที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ, กลุ่มที่ 5 ทำการวิจัย และกลุ่มที่ 6 สำรองส่วนกลาง รวม ? + 45,000 โดส (ฉีดคนละ 2 เข็ม)
ผู้เขียนเห็นว่า กลุ่มที่ 4, 5 และ 6 ในแนวทางจัดสรรของ สธ. ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน และไม่มีเหตุมีผลใดๆ เลย ที่ต้องจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์เร่งด่วนล็อตนี้ให้กับคนเหล่านี้ การจัดสรรสามกลุ่มนี้เปิดช่องให้ VVIP เข้ามาฉวยโอกาสอย่างง่ายดาย
สำหรับกลุ่มที่ 4 บุคคลที่ ‘จำเป็น’ ต้องเดินทางไปต่างประเทศ กลุ่มนี้น่าสงสัยว่าอาจมี VVIP แฝงตัวเข้ามามากที่สุด เนื่องจากไม่ได้ระบุจำนวนโดสอย่างชัดเจน มีเพียงการประกาศกลุ่มนี้ ‘รวม’ กับกลุ่มชาวต่างชาติ 150,000 โดส (จากแผนทางการวันที่ 21 กรกฎาคม ปรากฏจำนวนโดส 45,000 โดส สำหรับคนกลุ่มนี้ แต่เอกสารวันที่ 24 กรกฎาคม ไม่ปรากฏจำนวนโดสแยกแต่อย่างใด กลับเอาไปรวมใน 150,000 โดส สำหรับชาวต่างชาติ ทั้งที่เป็นคนละกลุ่มกันอย่างสิ้นเชิง)
ในความเป็นจริง นักศึกษาจำนวนมากได้รับแอสตราเซเนกาเข็มแรกไปแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน โดยการจัดสรรของกระทรวงการต่างประเทศก็ควรได้เข็มสองเป็นแอสตราเซเนกาต่อไปตามแผนเดิม เนื่องจากไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงสูง ยังไม่ต้องพูดถึงข้อเท็จจริงที่ว่า นักศึกษา นักการทูต นักธุรกิจ และใครก็ตามที่ ‘จำเป็น’ จะต้องเดินทางไปต่างประเทศ สามารถไปฉีดวัคซีนชนิด mRNA อย่างไฟเซอร์เป็นเข็มสองหรือสามที่ประเทศปลายทางในสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปได้อย่างง่ายดาย เพราะหลายประเทศมีวัคซีนชนิดนี้เหลือเฟือ ฉีดให้กับคนที่ไม่ใช่พลเมืองของตัวเองด้วย
สำหรับกลุ่มที่ 5 ทำการศึกษาวิจัย 5,000 โดส ผู้เขียนเห็นว่าไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนใดๆ ที่จะต้องกันวัคซีนไฟเซอร์ที่เราจะได้รับในภาวะวิกฤตของระบบสาธารณสุข จำนวนมากถึง 5,000 โดส มาใช้สำหรับการวิจัยโดยเฉพาะ อีกทั้งการทำวิจัยใดๆ ก็ตามเกี่ยวกับวัคซีน ก็ไม่ควรใช้วัคซีนบริจาค เพราะผู้บริจาคย่อมประสงค์จะให้ใช้สำหรับการบรรเทาสถานการณ์ระบาดในประเทศเท่านั้น
สำหรับกลุ่มที่ 6 สำรองส่วนกลางสำหรับตอบโต้การระบาด 40,000 โดส ผู้เขียนเห็นว่าไม่มีความจำเป็นใดๆ อีกเช่นกัน เนื่องจากวัคซีนมีไว้ ‘ป้องกัน’ การระบาด ไม่ใช่ ‘ตอบโต้’ การระบาด และวัคซีนไฟเซอร์บริจาคล็อตนี้ควรใช้อย่างตรงเป้าที่สุด การเปิดช่องสำรองส่วนกลางจึงไม่จำเป็น และกลายเป็นเปิดช่องให้ VVIP มาฉวยโอกาสได้
ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวไปข้างต้น ผู้เขียนจึงเห็นว่า การจัดสรรกลุ่ม 4, 5 และ 6 ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ไม่มีเหตุมีผลเพียงพอ และสุ่มเสี่ยงที่จะมี VVIP มารับโควตาได้อย่างง่ายดาย ดังนั้น สธ. ควรยกเลิกทั้งสามกลุ่มนี้ จัดสรรทั้ง 90,000 โดส ให้กับบุคลากรสนับสนุนที่เสี่ยงสัมผัสผู้ป่วย เช่น คนขับรถ พระ สัปเหร่อ รปภ. เจ้าหน้าที่กู้ภัย ร่วมกตัญญู จิตอาสาที่เข้าไปดูแลผู้ป่วยที่บ้าน รับส่งยา อาหาร ฯลฯ
ข้อสังเกตและข้อเสนอทั้งหมดของผู้เขียนแสดงเป็นแผนภาพได้ดังนี้
กล่าวโดยสรุป ยุคนี้เป็นยุคที่ประชาชนจับตาและคาดหวัง ‘การกระทำ’ มากกว่า ‘คำพูด’ และเราเห็นแล้วว่า แนวทางจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์บริจาค 1.54 ล้านโดส ที่ ศบค. ประกาศนั้น มีโอกาสค่อนข้างสูงที่ VVIP (ซึ่งผู้เขียนคิดว่าในกรณีนี้ควรแปลว่า Very Very Impertinent Person หรือ ‘คนสะเออะ’ ไม่ใช่ Very Very Important Person หรือบุคคลสำคัญ) จะแทรกซึมเข้ามาปาดหน้า ฉีดไฟเซอร์ในทางที่ไม่ขัดแย้งต่อแนวทางที่ สธ. ประกาศ เพราะ 1. อ้างว่าเป็นนักธุรกิจที่จำเป็นต้องเดินทาง, เป็นกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัย ฯลฯ (เข้าข่าย กลุ่ม 4-6) และ 2. แม้แต่ในกลุ่ม 1 หรือบุคลากรด่านหน้าเอง ก็สุ่มเสี่ยงที่จะถูกปาดโควตาบางส่วนไปให้กับ VVIP หรือ ‘ผู้มีอุปการคุณ’ ของโรงพยาบาล แทนที่จะให้กับด่านหน้า ดังที่ผู้เขียนอธิบายข้างต้น
ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงเห็นว่า ถ้าหากกระทรวงสาธารณสุข ‘จริงใจ’ ที่จะจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์บริจาคให้ถึงมือบุคลากรด่านหน้า กลุ่มเสี่ยงสูง และบุคลากรสนับสนุนจริงๆ ในภาวะวิกฤต สธ. ควรทำ 5 เรื่องต่อไปนี้
1. ประกาศยกเลิกการจัดสรรให้กับกลุ่ม ‘ผู้เดินทางไปต่างประเทศ’ ‘ทำการศึกษาวิจัย’ และ ‘สำรองตอบโต้การระบาด’ นำวัคซีนทั้ง 45,000 โดส มาจัดสรรให้กับบุคลากรสนับสนุนแทน โดยเฉพาะใน 13 จังหวัดเสี่ยงสูง
2. ประกาศหลักเกณฑ์การจัดสรรวัคซีนให้กับทุกกลุ่มที่ชัดเจน สะท้อนการจัดอันดับความสำคัญตามความจำเป็น เช่น ‘ใครสัมผัสผู้ป่วยมากสุดต้องฉีดก่อน’ สำหรับบุคลากรด่านหน้าและบุคลากรสนับสนุน ส่วนผู้สูงวัยก็เน้นผู้สูงวัยที่มีโรคเรื้อรัง 7 โรค ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติก่อน เป็นต้น
3. บันทึกและเปิดเผยข้อมูลสถิติของผู้ที่ได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ล็อตนี้ตามกลุ่มอายุ อาชีพ พื้นที่ และประวัติการรับวัคซีนในอดีต (บุคลากรด่านหน้าและบุคลากรสนับสนุนน่าจะเคยได้รับวัคซีนซิโนแวคหนึ่งหรือสองเข็ม หรือไม่เคยได้รับวัคซีนใดๆ เลย ในขณะที่ VVIP ที่จะปาดหน้าทั้งหลาย น่าจะเคยได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาหนึ่งหรือสองเข็มมาแล้ว (ถ้าได้แอสตราเซเนกามาแล้วสองเข็ม แสดงว่าได้วัคซีนจากล็อตแรกแสนโดสเศษๆ ที่มาถึงไทยจากเกาหลีใต้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งแสดงว่า ‘เส้นใหญ่มาก’ ดังนั้น การบันทึกและเปิดเผยประวัติการฉีดวัคซีนจึงเป็น ‘ตัวบ่งชี้’ ได้ค่อนข้างดีว่า น่าจะมี VVIP แฝงตัวมาฉีดไฟเซอร์กี่ราย)
4. ประกาศกลไกรับเรื่องร้องเรียนจากบุคลากรด่านหน้าที่ประสงค์จะฉีดไฟเซอร์ แต่ถูกกีดกันจากต้นสังกัดไม่ให้ฉีดด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ประกาศกลไกรับเบาะแสจากประชาชนทั่วไปที่พบเห็นการปาดหน้าของ VVIP การขายวัคซีนบริจาค หรือขายโควตาการฉีดวัคซีนล็อตนี้ และประกาศว่า สธ. จะเร่งประสานงานกับตำรวจและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างเร่งด่วน ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด
5. เร่งประสานกับกระทรวงการต่างประเทศ จัดหาวัคซีนไฟเซอร์เพิ่มเติมอย่างเร่งด่วนด้วยวิธีทางการทูต เช่น เจรจาแลกวัคซีนของประเทศที่มีวัคซีนเหลือใช้มาก่อน เพื่อให้มีวัคซีนไฟเซอร์เข้ามาเร็วกว่าเดือนตุลาคม (กำหนดการส่งมอบล็อตแรกในสัญญาซื้อ 20 ล้านโดส)
ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างความมั่นใจว่า วัคซีนบริจาคล็อตนี้จะไปถึง ‘บุคลากรด่านหน้า’ ก่อนจริงๆ
ไม่ใช่ ‘คนหน้าด้าน’ ที่ภาคภูมิใจในอภิสิทธิ์ของตัวเอง และหาทางใช้อภิสิทธิ์นั้นตลอดเวลาอย่างไม่รู้สึกรู้สาอะไร ในสังคมที่เหลื่อมล้ำมหาศาลอย่างสังคมไทย
Tags: Citizen 2.0, โควิด, มหากาพย์วัคซีน, ไฟเซอร์, วิกฤตสาธารณสุข, ฉีดวัคซีน