3 ตอนก่อนหน้านี้ ผู้เขียนเสนอว่าเราสามารถมองปัญหาทั้งหมดในการจัดสรรวัคซีน ผ่าน ‘ความเหลื่อมล้ำ’ 5 มิติในการจัดสรร ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำเชิงกลุ่มเป้าหมาย ความเหลื่อมล้ำเชิงเทคโนโลยี ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ ความเหลื่อมล้ำเชิงชนชั้น และความเหลื่อมล้ำเชิงเชื้อชาติ
ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ยกตัวอย่างเช่น ในเมื่อรัฐบาลเลือกใช้แอพพลิเคชันสมาร์ทโฟน (อาทิ ‘หมอพร้อม’) และเว็บไซต์ในอินเทอร์เน็ต เป็นช่องทางหลักในการให้ประชาชนจองคิวฉีดวัคซีน แทนที่จะใช้มาตรการเชิงรุกที่ไม่ขึ้นอยู่กับการเข้าถึงเทคโนโลยีของประชาชน และในเมื่อผู้สูงวัยจำนวนมากไม่มีสมาร์ทโฟนและเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต ความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีในการจัดสรรวัคซีน จึงส่งผลซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำเชิงกลุ่มเป้าหมายด้วย กล่าวคือ ผู้สูงวัยซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงหลัก มีโอกาสเข้าถึงวัคซีนน้อยกว่าประชากรกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง
ในแง่ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ ตอนที่แล้วผู้เขียนเสนอว่าเราพบหลักฐานความเหลื่อมล้ำในมิตินี้อย่างชัดเจน ตั้งแต่ระดับจังหวัด ย่อยลงไปถึงระดับสถานที่ฉีดวัคซีน ดังตัวอย่างที่ผู้เขียนยกว่า ในบรรดาจังหวัดที่มีสัดส่วนผู้เสียชีวิตสูงสุด 10 จังหวัดแรก ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 มีเพียงครึ่งหนึ่งหรือ 5 จังหวัดเท่านั้นที่ประชากรได้ฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม เกิน 74 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรทั้งหมดในจังหวัด (74 เปอร์เซ็นต์ คือ ค่าเฉลี่ยอัตราการได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม ของทั้งประเทศ) ที่เหลืออีก 5 จังหวัด ประชากรยังได้วัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ 74 เปอร์เซ็นต์อยู่มาก ได้แก่ สมุทรสงคราม (59 เปอร์เซ็นต์) ปัตตานี (55 เปอร์เซ็นต์) ยะลา (65 เปอร์เซ็นต์) นครนายก (57 เปอร์เซ็นต์) และ นครปฐม (59 เปอร์เซ็นต์)
ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ในการจัดสรรวัคซีนไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะ ‘วัคซีนทางหลัก’ ที่รัฐบาลจัดหาให้กับประชาชนเท่านั้น แต่เรายังพบความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ในการจัดสรร ‘วัคซีนทางเลือก’ เช่นกัน โดยเฉพาะวัคซีนชนิด mRNA ยี่ห้อ โมเดอร์นา ซึ่งรัฐปล่อยให้เอกชนและหน่วยงานของรัฐจัดการกันเอง ทั้งที่วัคซีนยี่ห้อนี้ไม่จำเป็นต้องเป็น ‘วัคซีนทางเลือก’ แต่อย่างใด ดังเหตุผลที่ผู้เขียนอธิบายไปแล้วก่อนหน้านี้
ตัวอย่างของความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ในการจัดสรรวัคซีนทางเลือก คือ การจัดสรรวัคซีนยี่ห้อโมเดอร์นา ในส่วนของสภากาชาดไทย ที่ซื้อจากองค์การเภสัชกรรมมาขายให้กับ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จำนวน 750,000 โดส ในราคาโดสละ 1,300 บาท หลังจากที่รัฐได้มีการปลดล็อกให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งส่วนจังหวัด ตำบล และเทศบาล สามารถใช้งบประมาณของตัวเองในการซื้อวัคซีนทางเลือกได้
ในเมื่อ อปท. ต้องควักเงินของตัวเองในการซื้อวัคซีนทางเลือก ไม่ว่าจะเป็น โมเดอร์นา จากสภากาชาดไทย หรือ ซิโนฟาร์ม จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงไม่น่าแปลกใจที่จังหวัดที่ประชากรโดยเฉลี่ยมีฐานะร่ำรวยกว่าจังหวัดอื่น ก็จะเป็นจังหวัดที่สั่งซื้อวัคซีนทางเลือกมากกว่าจังหวัดยากจนเช่นกัน โดยผลการวิเคราะห์ข้อมูลของ Rocket Media Lab ในบทความ ‘วัคซีนทางเลือก: ทางเลือกแห่งความเหลื่อมล้ำ?’ (29 กรกฎาคม 2564) พบว่า อบจ. ที่มีการตั้งงบประมาณสั่งซื้อวัคซีนทางเลือกมากที่สุด ล้วนเป็น อบจ. ของจังหวัดที่มีฐานะดี กล่าวคือ มีเงินสะสมประจำปีมากที่สุด ส่วน อบจ. ที่มีเงินสะสมน้อยที่สุด ล้วนเป็นจังหวัดยากจน ไม่มีแผนการจัดซื้อวัคซีนทางเลือกหรือซื้อน้อยมาก อาทิ อำนาจเจริญ หนองบัวลำภู นครพนม แม่ฮ่องสอน (จังหวัดหลังสุดนี้จองวัคซีนซิโนฟาร์ม 11,000 โดส ได้รับเพียง 1,000 โดส)
ผู้เขียนจึงเห็นด้วยกับผู้เขียนบทความดังกล่าวว่า “การปลดล็อกให้ อปท. จัดซื้อวัคซีนทางเลือกในครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีน ของ อปท. ที่มีเงินน้อย ที่ไม่สามารถจัดซื้อวัคซีนทางเลือกมาแก้ปัญหาการขาดแคลนวัคซีนหรือความล่าช้าของการกระจายวัคซีนของภาครัฐได้ ดังเช่น อปท. ที่มีเงินสะสมจำนวนมาก”
แทนที่การจัดสรร ‘วัคซีนทางเลือก’ จะช่วยแก้ไขความเหลื่อมล้ำในการจัดสรร ‘วัคซีนทางหลัก’ ของภาครัฐ กลับกลายเป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ให้ถ่างกว้างมากขึ้น
ที่ผ่านมาเราพูดถึงความเหลื่อมล้ำเชิงกลุ่มเป้าหมาย เทคโนโลยี และพื้นที่ไปแล้ว คราวนี้มาดูความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรวัคซีนอีก 2 มิติที่เหลือ นั่นคือ ความเหลื่อมล้ำเชิงชนชั้น และความเหลื่อมล้ำเชิงเชื้อชาติ ซึ่งมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น เนื่องจาก ‘เชื้อชาติ’ ก็เป็นส่วนหนึ่งของ ‘ชนชั้น’ ในสังคมไทยมาช้านาน โดยเฉพาะทัศนคติเหยียดเชื้อชาติของผู้ใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ของคนไทยจำนวนมากในสังคม
4. ความเหลื่อมล้ำเชิงชนชั้น
การ ‘ลัดคิว’ ฉีดวัคซีน เป็นสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังอย่างหนาหูตั้งแต่วันแรกของการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ในประเทศ รายงานประเมินผลงานกลางเทอมรัฐบาลประยุทธ์ 2 ของทีดีอาร์ไอ ถึงกับระบุว่า “มีการลัดคิวในการฉีดวัคซีนมากมาย โดยใช้เงินบริจาคหรือสายสัมพันธ์กับผู้บริหารโรงพยาบาลที่ได้รับการจัดสรรวัคซีน จึงทำให้ผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรังซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงจำนวนมากยังไม่ได้รับวัคซีน …การจัดสรรวัคซีนที่บิดเบี้ยวนี้น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการสูญเสียจากการป่วยหนักและการเสียชีวิตของประชาชนกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว ดังจะเห็นได้จาก ‘อัตราการตายส่วนเกิน’ (excess mortality) ของประชากรกลุ่มสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก”
การลัดคิวโดยใช้เส้นสาย โดยเฉพาะสายสัมพันธ์กับผู้บริหารโรงพยาบาล หรือสถานะ ‘ผู้อุปถัมภ์’ หรือผู้บริจาครายใหญ่ของโรงพยาบาล ซึ่งแน่นอนว่ามีแต่ผู้มีฐานะดีเท่านั้นที่ทำได้ เป็นเครื่องสะท้อนความเหลื่อมล้ำเชิงชนชั้นที่ชัดเจนในสังคมไทย ผู้เขียนเคยตั้งข้อสังเกตตอนที่เขียนถึงการจัดสรรวัคซีนบริจาคยี่ห้อไฟเซอร์ ว่า การแจ้งจำนวนบุคลากรในโรงพยาบาลบางแห่งที่ผิดปกติ เช่น มีจำนวนแพทย์มากกว่าพยาบาลมาก หรือมีสัดส่วน ‘บุคลากรอื่นๆ’ สูงมาก เป็นข้อมูลที่ “ส่อเค้าว่าผู้บริหารโรงพยาบาลบางแห่งอาจจะอยากกันวัคซีนเร่งด่วนบางส่วนไว้ให้ VVIP”
5. ความเหลื่อมล้ำเชิงเชื้อชาติ
ความเหลื่อมล้ำเชิงเชื้อชาติในการจัดสรรวัคซีน เป็นปัญหาที่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงในสังคมไทย ผู้เขียนได้ขอให้ คุณโรยทราย วงศ์สุบรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติ ช่วยอธิบายประเด็นนี้ ซึ่งคุณโรยทรายก็ได้กรุณาส่งบทความมา ดังเนื้อความต่อไปนี้
——
“Until everyone is safe no one is safe”
“ไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย”
วิกฤตโควิด-19 และ การกระจายวัคซีนให้เป็นธรรมและเข้าถึงได้ทุกคนบนโลก จนเกิดการรณรงค์ระดับนานาชาติว่า ‘ไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย’ เพราะการที่มีคนตกหล่นจากวัคซีนก็จะส่งผลต่อการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ การรักษา และ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทยนั้น นพ.โอภาส การ์ยกวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ว่า การฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประเทศไทยจะต้องฉีดอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ซึ่งรวมถึงคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยด้วย กรมควบคุมโรคประมาณการคนต่างชาติในประเทศไทยประมาณ 3 ล้านคน รวมทั้งเน้นย้ำว่า “ประเทศไทยยึดตามสากล ข้อบ่งชี้ตามทางการแพทย์ทั้งหมด เรายึดหลักเกณฑ์อย่างไรกับคนไทย ก็ทำแบบนั้นกับคนต่างชาติ เท่าเทียมกันหมดและไม่มีใครฉีดก่อนฉีดหลัง การฉีดวัคซีนเป็นไปตามความสมัครใจ ขอยืนยันว่า ทุกคนในแผ่นดินไทยได้ฉีดวัคซีนพร้อมเพรียงกัน และใกล้เคียงกันตามหลักทางการแพทย์และสาธารณสุข”
อย่างไรก็ตาม สำนักงานระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรคได้รายงานการฉีดวัคซีนสำหรับชาวต่างชาติ ณ วันที่ 31 มกราคม 2565 ว่ามีจำนวน 4,320,076 โดส คิดเป็น 45.39 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนประชากรต่างชาติในไทย
บุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยต้องลงทะเบียนเพื่อจองวัคซีน โดยการเข้าถึงวัคซีนของคนต่างชาติมีเงื่อนไขเพิ่มเติม คือ สถานะเข้าเมืองถูกต้องตามกฎหมาย และต้องมีเอกสารประจำตัวบุคคลหรือหนังสือเดินทาง โดยมีช่องทางหลักๆ คือ ประกันสังคม ระบบการฉีดเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยงสูง และวัคซีนทางเลือก ซึ่งรวมถึงการจัดสรรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ expatvac.consular.go.th ที่เริ่มเปิดลงทะเบียนเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564
การลงทะเบียนผ่านกระทรวงต่างประเทศไม่ได้ครอบคลุมแรงงานข้ามชาติจากเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่ถือวีซ่าประเภท Non-LA แม้จะมีการย้ำเสมอว่าจะไม่มีการเลือกปฏิบัติแต่การจงใจไม่รวมประเภทวีซ่าสำหรับแรงงานข้ามชาติกลุ่มกรรมกรและงานรับใช้ในบ้าน ซึ่งกลุ่มนี้มีประมาณ 2 ล้านคน ทั้งที่คนเหล่านี้มีสถานะเข้าเมืองถูกกฎหมายและใบอนุญาตทำงานในระบบประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข อีกทั้งประเทศไทยยังไม่มีนโยบายเฉพาะสำหรับวัคซีนสำหรับคนไม่มีเอกสารประจำตัว ผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารเดินทางหรือเอกสารเดินทางหมดอายุซึ่งรวมกันประมาณหลักล้านคน โดยมติ ศบค. ชุดเล็กเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 จะจัดวัคซีนให้แรงงานข้ามชาติต่อเมื่อ ‘มีวัคซีนเพียงพอ’ เท่านั้น
นโยบายของไทยแตกต่างจากรัฐบาลมาเลเซียที่ภาคการผลิตพึ่งพิงแรงงานข้ามชาติ มาเลเซียฉีดวัคซีนเชิงรุกให้กลุ่มแรงงานที่ไม่มีสถานะเข้าเมืองตามกฎหมาย และกลุ่มที่อยู่เกินวีซ่า รวมทั้งให้คำมั่นที่จะไม่จับกุมหรือให้มีข้อมูลรั่วไหลในการฉีดวัคซีน เพราะอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มก็ประสบภาวะชะงักงันในการผลิตเนื่องจากขาดแคลนแรงงาน หรือประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีการให้วัคซีนสำหรับทุกคนโดยไม่จำเป็นต้องมีเอกสารประจำตัว
ในสังคมไทย สำหรับแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการจัดสรรผ่านระบบประกันสังคม มีเงื่อนไขว่านายจ้างเป็นคนยื่นรายชื่อให้สำนักงานประกันสังคม โดยต้องเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ตอนนี้มีแรงงานข้ามชาติประมาณ 1 ล้านคน ที่เป็นผู้ประกันตนแต่ยังไม่มีจำนวนแน่ชัดว่าเข้าถึงวัคซีนไปแล้วเท่าไร สำหรับวัคซีนทางเลือก ก็ต้องมีนายจ้างที่มีสถานะนิติบุคคล หรือนายจ้างจองให้แรงงานข้ามชาติผ่านโรงพยาบาลเอกชน แต่แรงงานต้องมีเอกสารประจำตัวหรือหนังสือเดินทาง
ในการระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง เมื่อปลายปี 2564 โดยมีการพบคลัสเตอร์การระบาดที่ตลาดกุ้ง จ.สมุทรสาคร ซึ่งแรงงานข้ามชาติก็โดนพุ่งเป้าว่าเป็นสาเหตุแห่งการระบาด โดยเชื่อว่าเกิดจากการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย จนนำไปสู่การตรวจเชิงรุกหลักแสน และการระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารทะเล จนนำไปสู่การพัฒนานโยบาย Bubble & Seal ที่สถานประกอบการต้องจัดที่พักอาศัยให้ลูกจ้าง หรือจัดบริการรับ-ส่ง เปิดพื้นที่สำหรับ รพ.สนาม
นอกจากนี้รัฐบาลไทยได้พยายามแก้ปัญหาโดยการเปิดจดทะเบียนแรงงานรอบใหม่ และนายจ้างต้องให้แรงงานข้ามชาติยืนยันผลโควิด-19 ด้วยวิธีการ Real-time RT-PCR ซึ่งมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย 3 พันบาททุกรายก่อนจะมีการขอใบอนุญาตทำงาน โดยให้นายจ้างเป็นคนรับภาระค่าใช้จ่าย แต่กลับไม่มีการสื่อสารสาธารณะในการจัดสรรวัคซีนให้แรงงานข้ามชาติ ทั้งที่ค่าใช้จ่ายวัคซีนถูกกว่าการตรวจแบบ RT-PCR
ต่อมาปลายเดือนมีนาคม 2564 ก็มีการพบการระบาดในไซต์งานก่อสร้าง กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ก็พบว่ามีการระบาดในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่มีแรงงานข้ามชาติทำงานเป็นหลัก เช่น โรงงานแปรรูปไก่ โรงงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอีกหลายอุตสาหกรรม นโยบายที่ภาครัฐบังคับให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ Bubble & Seal ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตสินค้าส่งออก และสภาพคล่องของธุรกิจ ไซต์ก่อสร้างต้องหยุดกิจกรรมทันที โรงงานผลิตอาหารหลายแห่งชะงักงันในการผลิตขณะที่มีออเดอร์สินค้าเข้ามาเนื่องจากหลายประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวจากโควิด-19 กระทรวงแรงงานเร่งออกนโยบายใหม่ในเดือนสิงหาคมที่เรียกว่า ‘Factory Sandbox’ ซึ่งนำร่องใน 4 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และชลบุรี สถานประกอบการ 387 แห่ง เป็นแรงงานที่เป็นผู้ประกันตนประกันสังคมทั้งแรงงานไทยและข้ามชาติ รวม 474,109 คน โดยแรงงานต้องตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ เป็นต้นทุนของสถานประกอบการอย่างน้อยสัปดาห์ละ 33 ล้านบาท จากความล่าช้าในการจัดหาวัคซีนทำให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือนายจ้างที่เป็นบุคคลทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ นอกจากนี้สถานพยาบาลหลายแห่งก็สับสนว่า สามารถฉีดวัคซีนให้บุคคลต่างชาติที่ไม่มีเอกสารเดินทางได้หรือไม่ แม้บางแห่งจะฉีดให้คนต่างชาติโดยมีการออกเลขผู้ป่วยให้ใช้ในการอ้างอิง
ข้อจำกัดการเข้าถึงวัคซีนของแรงงานข้ามชาติกระทบโดยตรงกับภาคเอกชนไทย เมื่อมีมาตรการคลายล๊อกดาวน์ของกรุงเทพมหานคร ก็ได้กำหนดให้สถานประกอบการ ร้านอาหาร ฟิตเนส และสถานที่นวด กลับมาเปิดบริการได้โดยมีเงื่อนไขว่าพนักงานต้องได้รับวัคซีน 2 เข็ม ซึ่งสมาคมภัตตาคารไทยต้องออกแถลงการณ์และให้กระทรวงสาธารณสุขจัดสรรโควต้าวัคซีนให้ลูกจ้างในกลุ่มร้านอาหาร หาบเร่ แผงลอย ทั้งคนไทยและข้ามชาติเข้าถึงวัคซีน 2 เข็ม
นอกจากนโยบายระดับชาติในการจัดสรรวัคซีนให้แรงงานข้ามชาติจะมีความไม่แน่นอน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็มีนโยบายลักลั่นในการดำเนินการ เช่น จังหวัดนนทบุรี มีโครงการ ‘นนท์ ASEAN’ โดยจัดวัคซีนสำหรับชาวเมียนมา ลาว กัมพูชา ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่มีทะเบียนการทำงานอยู่ในจังหวัดนนทบุรี หรือสภากาชาดไทยที่มีการจัดสรรวัคซีนให้แรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสาร แต่ก็ยังเป็นวัคซีนที่ได้จากการบริจาค
อีกทั้งประเทศเมียนมาที่มีพรมแดนติดกับไทยก็ยังดำเนินการฉีดวัคซีนได้ล่าช้า และ ปัญหาขาดเสถียรภาพทางการเมืองของเมียนมา ทำให้ประชาคมโลกกังวลว่า เมียนมาจะรับมือกับโควิด-19 ได้อย่างไร ไทยที่มีพรมแดนติดกันและยังต้องพึ่งพิงการนำเข้าแรงงานมาทำงานในห่วงโซ่การผลิตโดยเฉพาะธุรกิจที่พึ่งพิงแรงงาน สำนักข่าวนิกเคอิเอเชียรายงานว่า โรงงานแปรรูปไก่ในไทยลดกำลังการผลิตลง 15-20 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการหยุดผลิตเพราะการระบาดของโคโรน่าไวรัส อีกทั้งประเทศไทยเองไม่สามารถบริหารแรงงานข้ามชาติ ส่งผลให้ขาดกำลังการผลิตและญี่ปุ่นกำลังสั่งนำเข้าไก่จากบราซิลทดแทนการผลิตของไทย สภาอุตสาหกรรมประเมินว่าไทยต้องการแรงงานข้ามชาติเพิ่มอีก 5 แสนคนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ
กรมควบคุมโรคตั้งเป้าการฉีด 70 เปอร์เซ็นต์ของประชาชน แต่ไม่มีแผนการดำเนินการที่ชัดเจนสำหรับการจัดหาและจัดสรรวัคซีนสำหรับคนต่างชาติ การจัดลำดับในการจัดสรรก็มีการเลือกปฏิบัติว่าแรงงาน 3 สัญชาติที่ถือวีซ่า Non-LA กลับไม่สามารถลงทะเบียนผ่าน Expat vac ได้ แม้จะมีเงื่อนไขทางสุขภาพ และ 7 โรคเรื้อรัง ขณะที่คนต่างชาติอื่นๆ ได้ฉีดวัคซีนก่อน รวมทั้งการวางแผนให้คนไม่มีเอกสารก็ต้องได้รับวัคซีน โดยที่รัฐบาลไม่ได้มีการสื่อสารและแผนรูปธรรมใดๆ เป็นที่แน่ชัดนอกจากผลักให้ภาคเอกชนฝั่งนายจ้างต้องพยายามแก้ปัญหา ขณะที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเร่งฉีดวัคซีนให้พลเมืองทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศได้รับการฉีดวัคซีน
ทางออกสำหรับการแก้ปัญหาวัคซีนขาดแคลน นอกจากการรับบริจาคหรือการที่รัฐบาลไทยจะเป็นฝ่ายจัดหาให้กับกลุ่มเปราะบางแล้ว ประเทศไทยสามารถเข้าร่วมโครงการ Humanitarian Buffer ภายใต้โครงการ COVAX ซึ่งเป็นความพยายามที่จะให้พื้นที่ในภาวะฉุกเฉินหรือกลุ่มประชากรที่อยู่ในภาวะเสี่ยง เปราะบาง และต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม รวมถึงกลุ่มคนที่อาจจะไม่ได้อยู่ในแผนวัคซีนของประเทศนั้นๆ โดยกลุ่มประชากรในความห่วงใยภายใต้ Humanitarian Buffer คือ ผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาสภานภาพ บุคคลไร้สัญชาติ และผู้ที่ตกอยู่ในภาวะฉุกเฉินด้านมนุษยธรรม รวมทั้งแรงงานข้ามชาติที่มีหรือไม่มีสถานะทางกฎหมาย ซึ่งเครือข่ายองค์กรด้านแรงงานข้ามชาติ (MWG) ได้เคยประเมินไว้ที่ประมาณ 1 ล้านคน โดยอาจจะรวมถึงคนที่หนีภัยสู้รบจากประเทศเมียนมาที่ข้ามมาฝั่งไทยเมื่อมีการปะทะกัน แต่เงื่อนไขสำคัญของ Humanitarian Buffer คือ การที่รัฐบาลไทยจะต้องยินยอมที่จะแสดงความรับผิดชอบ (Liability) แม้หน่วยงานด้านมนุษยธรรมจะเป็นผู้สมัครเข้าร่วมโครงการนี้
โจทย์ใหญ่ในการจัดการแรงงานข้ามชาติต่อปัญหาความมั่นคงของประเทศ ไม่ใช่แค่เรื่องสถานะกฎหมายคนเข้าเมืองและชายแดนในอดีต แต่เป็นการสร้างความมั่นคงของมนุษย์ทั้งทางสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม องค์การอนามัยโลกเน้นย้ำถึงยุทธศาสตร์สุขภาพที่ทุกประเทศต้องแน่ใจว่า ไม่มีคนตกหล่นจากวัคซีน การเข้าถึงความรู้ การป้องกันตัวเอง และการเข้าถึงการรักษา อย่าลืมว่าคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมีคุณูปการต่อเศรษฐกิจไทย เป็นส่วนหนึ่งในสังคม ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในทุกภาคการผลิต อาศัยอยู่ในสังคมร่วมกับคนไทย อีกทั้งแรงงานมักจะอยู่ในสภาพที่อยู่อาศัยไม่เอื้อต่อการเว้นระยะห่าง ความแออัด และความจำกัดในแง่สุขอนามัย หากแรงงานข้ามชาติยังคงเข้าไม่ถึงวัคซีน การที่ประเทศไทยจะสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ยังคงเป็นได้ยากต่อไป นอกจากค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้น ก็ยังมีความเสียหายที่ล่าช้าในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่เข้าสู่เดือนที่ 4 ของปี 2565 ดูเหมือนว่า วัคซีนในประชากรข้ามชาติยังตกหล่น หากไทยจะก้าวจาก Pandemic เป็น Endemic กระทรวงสาธารณสุขต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปิดช่องว่าง เช่น ข้อมูลระบาดวิทยา ข้อมูลประชากรข้ามชาติ เจ้าภาพร่วมในการกระจายวัคซีน และการสื่อสารสาธารณะเชิงนโยบายต่อแรงงานข้ามชาติ นายจ้าง และ เจ้าหน้าที่รัฐ ในการให้แรงงานมารับวัคซีน
ทุกวันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังจับกุมแรงงานที่มาฉีดวัคซีน โดยอ้างว่าแรงงานไม่มีบัตร การใช้กฎหมายเพื่อความหวาดกลัว ทำให้แรงงานบางส่วนไม่กล้าจะไปฉีดวัคซีน
แรงงานข้ามชาติก็อาศัยปะปนในสังคมไทย อย่างผู้เขียนได้สูญเสียคุณอาไปกับโควิด-19 และ ได้ติดโควิด-19 พร้อมแรงงานทำงานบ้านที่เป็นแรงงานข้ามชาติ คุณอามีอาการเรียนรู้บกพร่องต้องมีพี่เลี้ยงอยู่ด้วยตลอดเวลา จากวันที่คุณอาตรวจพบว่าเป็นโควิด-19 จนถึงวันที่คุณอาเสียชีวิต เป็นระยะเวลาเพียง 1 อาทิตย์ ครอบครัวไม่มีโอกาสร่ำลา
ยังมีครอบครัวคนไทยที่ต้องพึ่งพิงแรงงานข้ามชาติ หรือมีปฏิสัมพันธ์ทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น คนเช่าบ้าน พนักงานเสิร์ฟอาหาร แรงงานก่อสร้าง แรงงานประมง แรงงานในตลาด คนทำงานบ้าน คนใช้บริการสาธารณะ หรือคนซื้อของจับจ่ายในตลาด
ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะย้ำเตือนว่าการเข้าถึงวัคซีนสำหรับทุกคนสำคัญอย่างไร อย่าให้คนอื่นต้องมาเจอการสูญเสียเหมือนที่ครอบครัวผู้เขียนเคยเจอ
โรยทราย วงศ์สุบรรณ
ที่ปรึกษาโครงการการต่อต้านการค้ามนุษย์และแรงงานบังคับในอาหารทะเล
Freedom Fund
Tags: ความเหลื่อมล้ำ, ปัญหาความเหลื่อมล้ำ, Citizen 2.0, มหากาพย์วัคซีน