ธันวาคม 2564 ปักหมุดเวลาที่เราอยู่กับโควิด-19 มาเกือบสองปีเต็ม อยู่กับ มหากาพย์วัคซีน มาหนึ่งปีเต็ม ในที่สุดก็ดูเหมือนสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น ถึงแม้จะยังวางใจไม่ได้ทีเดียวนักกับการมาเยือนของ ‘โอมิครอน’ โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ที่ดื้อวัคซีนและแพร่เชื้อไวกว่าเดลตา
แต่ทว่าในเวลาเดียวกัน ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนมีอาการไม่หนัก มันน่าจะ ‘แรง’ น้อยกว่าเดลตา ในความเห็นของแพทย์ในประเทศแอฟริกาใต้ ประเทศแรกที่พบและรายงานสายพันธุ์นี้ต่อโลก ส่งผลให้คนทั้งโลกลุ้นว่าโควิด-19 อาจกำลังกลายสภาพเป็น ‘โรคประจำถิ่น’ ที่เราใช้ชีวิตอยู่กับมันได้ภายในอนาคตอันใกล้
ย้อนดูสถานการณ์การฉีดวัคซีนในไทย วันนี้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังจากที่บริษัทแอสตราเซเนกาน่าจะเริ่มทยอยส่งได้ใกล้เคียงกับแผนเดิมของรัฐบาล (10 ล้านโดสต่อเดือน) ตั้งแต่ประมาณปลายเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ประกอบการทยอยส่งมอบวัคซีนไฟเซอร์ตามสัญญาจัดซื้อฉบับแรก 30 ล้านโดส
อย่างไรก็ดี ผู้เขียนอยากหมายเหตุตัวโตๆ ว่า ตัวเลขการส่งมอบวัคซีนในไทยค่อนข้าง ‘แปลกประหลาด’ และ ‘ขาดความโปร่งใส’ ตั้งแต่ราวเดือนกันยายน 2564 เป็นต้นมา โดยเฉพาะหลังจากที่เพจ ระบบติดตามตรวจสอบย้อนกลับโซ่ความเย็นวัคซีนโควิด-19 ศูนย์ LogHealth เลิกเปิดเผยรายงานการส่งมอบและกระจายวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน 2564 หลังจากที่ส่งมอบโครงการให้กับแหล่งทุนวิจัยคือ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งจนถึงปัจจุบัน เว็บไซต์ ศบค. ที่ วช. ออกแบบ ก็ไม่เคยเปิดเผยสถิติการส่งมอบวัคซีนในระบบ LogHealth แต่อย่างใด
(จากข้อมูลที่เพจ LogHealth เปิดเผยเป็นวันสุดท้าย ณ 8 พฤศจิกายน 2564 พบว่า ไทยรับมอบวัคซีนแอสตราเซเนกามาแล้วทั้งหมดราว 36.2 ล้านโดส ซึ่งถ้าหักยอดวัคซีนยี่ห้อนี้ที่ยืมใช้ล่วงหน้าและรับบริจาคจากประเทศต่างๆ 8 ประเทศ รวม 3.9 ล้านโดส เท่ากับว่าเป็นวัคซีนที่บริษัทแอสตราเซเนกาส่งมอบตามสัญญาทั้งหมด 36.2 – 3.9 = 32.27 ล้านโดสเท่านั้น ณ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งแปลว่าบริษัทจะต้องส่งมอบวัคซีนราวเดือนละ 14.4 ล้านโดส ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมตามลำดับ ถ้าจะส่งให้ครบ 61 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2564)
ณ วันที่ 10 ธันวาคม 2564 มีคนไทยได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบสองเข็มรวม 43.2 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 62 ของประชากรทั้งประเทศ ห่างจากเป้าหมาย ‘วัคซีนครบโดส ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ของประชากรทั้งประเทศ’ ไม่มากนัก ภายในสิ้นปี 2564 ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด น่าจะทำได้ตามเป้า (ผู้เขียนอธิบายในบทความก่อนหน้านี้ว่า เหตุใดเป้าหมายนี้จึงมีความหมายมากกว่า ‘ฉีดวัคซีนครบ 100 ล้านโดส’ ที่รัฐบาลชอบประกาศ)
ในภาวะที่ประเทศไทยกำลังขยับใกล้เป้าหมาย ‘วัคซีนครบโดสร้อยละ 70 ของประชากร’ ก็เป็นโอกาสอันดีที่เราจะมาลองทบทวนกันว่า วันนี้มีใครบ้างที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว กลุ่มคนที่ต่อต้านการฉีดวัคซีน หัวเด็ดตีนขาดอย่างไรก็ไม่ฉีด หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘anti-vaxxer’ มีบ้างไหมในไทย
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา อธิบดีกรมควบคุมโรคเปิดเผยต่อสื่อว่า ประชาชนกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียวมีประมาณ 7-8 ล้านคน ทั้งประเทศ โดยตนเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ‘ฮาร์ดคอร์’ (Hardcore) พร้อมให้ทัศนะว่า ‘สาเหตุที่ยังไม่รับวัคซีน อาจเกิดจากอยู่ในพื้นที่ไม่ระบาด ยังกลัวผลข้างเคียง หรือยังรอวัคซีนบางชนิด เป็นต้น’
ผู้เขียนเห็นว่าการใช้คำว่า ฮาร์ดคอร์ ในบริบทของประเทศไทย อาจเป็นการใช้คำที่ฟังดู ‘แรง’ เกินไป คำคำนี้เหมาะที่จะใช้กับกลุ่มคนที่สื่อต่างชาติเรียกว่า ‘พวกต่อต้านวัคซีน’ หรือ anti-vaxxer มากกว่า คำคำนี้ใช้เรียกคนที่ไม่มีอุปสรรคใดๆ ในการเข้าถึงวัคซีน แต่หัวเด็ดตีนขาดอย่างไรก็ไม่ยอมฉีด เพราะความเชื่ออย่างผิดๆ ที่ฝังลึก เช่น เชื่อว่าวัคซีนจะเข้าไปเปลี่ยน DNA ในร่างกาย วัคซีนโควิด-19 ช่วยอะไรไม่ได้ เป็นเพียงอุบายทำเงินของบริษัทยายักษ์ใหญ่ ฯลฯ
ผู้เขียนสังเกตว่า กลุ่ม anti-vaxxer ที่เข้าข่ายข้างต้นในไทยนั้น จนถึงวันนี้น่าจะมีค่อนข้างน้อย เพราะขนาดกลุ่มที่ออกมาประท้วง อย่างกลุ่มที่นำโดย ม.ล.รุ่งคุณ กิติยากร เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2564 ก็ดูจะต่อต้านนโยบายบังคับฉีดวัคซีนของรัฐ มากกว่าจะต่อต้านตัววัคซีนเอง
แล้วคนส่วนใหญ่ในตัวเลข 7-8 ล้านคน ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มแรก ตามการประเมินของกรมควบคุมโรค น่าจะเป็นคนกลุ่มไหนบ้าง ถ้าไม่ใช่กลุ่ม anti-vaxxer ซึ่งเป็น ‘ฮาร์ดคอร์’ ตัวจริง?
ผู้เขียนเห็นว่า คนที่ยังไม่ได้ฉีดเข็มแรกในประเทศ ส่วนใหญ่น่าจะอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสามกลุ่มต่อไปนี้
กลุ่มแรก: ไม่ใช่ anti-vaxxer แต่เป็น ‘anti-Sinovac’ และ ‘anti-kwai’ (อ่านว่า แอนตี้ไขว้) รวมถึงผู้มีโรคประจำตัว และคนที่กลัวแพ้หรือกลัวผลข้างเคียงของวัคซีน
คนกลุ่มนี้ไม่ใช่ไม่อยากฉีดวัคซีนใดๆ เลย แต่ไม่อยากฉีดวัคซีนบางยี่ห้อ เช่น ซิโนแวค เพราะมองว่าเป็นเทคโนโลยีเชื้อตายที่มีประสิทธิผลต่ำสุดเมื่อเทียบกับชนิดอื่นๆ ที่มีใช้ในไทย โดยเฉพาะในภาวะที่สายพันธุ์เดลตาครองโลกแล้ว รวมถึงคนที่ไม่อยากฉีด ‘สูตรไขว้’ โดยเฉพาะสูตรที่ต่างประเทศใช้น้อยมาก เช่น เข็มแรกซิโนแวค เข็มสองไฟเซอร์ หรือ สองเข็มแรกซิโนแวค เข็มสามแอสตราเซเนกา
คนที่ต่อต้าน ‘สูตรไขว้’ มีเหตุผลที่จะสงสัยว่า ในเมื่อรัฐบาลก็สั่งวัคซีนชนิด mRNA ยี่ห้อไฟเซอร์ เข้ามาแล้ว และก็ประกาศว่าวัคซีนยี่ห้อแอสตราเซเนกาวันนี้ไม่ขาดมือเหมือนกับเดือนแรกๆ แล้วเหตุใดกระทรวงสาธารณสุขจึงยังแนะนำให้ใช้ ‘สูตรไขว้’ โดยเฉพาะสูตรที่มีซิโนแวค เป็นเข็มแรกอยู่ แทนที่จะฉีดยี่ห้อเดียวกันไปเลยสองเข็ม ไม่ว่าจะเป็นแอสตราเซเนกาหรือไฟเซอร์ ซึ่งก็เป็นวิธีใช้วัคซีนที่ถูกต้อง ทำไมจึงต้องมา ‘ไขว้’ สารพัดสูตร ซึ่งนอกจากประสิทธิผลจะน่ากังขาแล้ว ยังสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงที่อยู่นอกเหนือการคาดการณ์
ในความเป็นจริง วัคซีนโควิด-19 ทุกยี่ห้อ ล้วนผ่านมาตรฐานการผลิตและความปลอดภัยที่เข้มข้น ทุกยี่ห้อที่ใช้ในประเทศไทยล้วนได้รับการอนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินจากองค์การอนามัยโลก อย่างไรก็ดี ย่อมไม่มีวัคซีนยี่ห้อไหนที่ปลอดภัยไร้ผลข้างเคียงชนิด 100 เปอร์เซ็นต์ กับทุกคนทุกกลุ่ม
ดังนั้น สิ่งที่รัฐควรทำก็คือสื่อสารประเด็นผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากวัคซีนแต่ละชนิดอย่างตรงไปตรงมา ถูกต้องตามหลักวิชาการ รวมถึงออกมาอธิบายและสอบสวนกรณีเสียชีวิตที่ญาติติดใจสงสัยว่า อาจเกิดจากการฉีดวัคซีนโดยเฉพาะ ‘สูตรไขว้’ ทุกกรณีอย่างโปร่งใส รายงานอย่างทันท่วงที และนอกจากนี้ รัฐก็ต้องสร้างระบบชดเชยผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 รวมถึงญาติของผู้เสียชีวิตที่สาเหตุเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน ที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพเช่นกัน
ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้น กลับเป็นการสื่อสารที่ไม่ตรงไปตรงมาจากหน่วยงานรัฐ สารบางช่วงมีลักษณะ ‘อวย’ วัคซีนเชื้อตายจนเกินจริง ‘ดูเบา’ ผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากสูตรไขว้บางสูตร และไม่อธิบายผลการสอบสวนกรณีเสียชีวิตที่ญาติสงสัยว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่ อย่างโปร่งใสและน่าเชื่อถือเพียงพอ ดังตัวอย่างเมื่อเดือนกันยายน 2564 ผลการพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญ กรณีเสียชีวิตหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 รวม 628 ราย คณะผู้เชี่ยวชาญสรุปว่า มีผู้เสียชีวิต ‘ที่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน’ เพียงรายเดียวเท่านั้น ท่ามกลางคำถามของญาติผู้ตายที่ยังเจอกรณีน่าสงสัยอีกมากมายจนถึงปัจจุบัน
ผู้เขียนคิดว่าความกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีนจะยังดำเนินต่อไป ตราบใดที่รัฐยังไม่สื่อสารอย่างเข้าอกเข้าใจประชาชน และยังไม่เลิกใช้ ‘สูตรไขว้’ หลากหลายสูตร ‘แบบไทยๆ’ ที่ประเทศอื่นไม่ใช้กัน
กลุ่มที่สอง: คนที่เข้าไม่ถึงวัคซีนจริงๆ เนื่องจากการจัดสรรวัคซีนทั่วประเทศยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก
คนในกลุ่มนี้หมายถึงผู้ที่อยากได้วัคซีน แต่เข้าไม่ถึง มีทั้งคนที่ไม่ใช้สมาร์ตโฟน หรือใช้อินเทอร์เน็ตไม่เป็น จึงเข้าไม่ถึงสารพัดแอพฯ จองวัคซีนของภาครัฐ อันเป็น ‘เงื่อนไข’ ในการฉีดวัคซีนของหลายจังหวัด โรงพยาบาลรัฐบางแห่งเปิดให้บริการแบบวอล์กอิน คือไม่ต้องจองล่วงหน้า แต่ก็ไม่ใช่ทุกจังหวัดและไม่อาจทำต่อเนื่องได้ทุกวัน
บางจังหวัด เช่น กรุงเทพมหานคร มีบริการไปฉีดวัคซีนให้ถึงบ้าน สำหรับกลุ่มเปราะบางและผู้ป่วยติดเตียงที่ออกจากบ้านไม่ได้ แต่ก็ต้องลงทะเบียนออนไลน์อยู่ดี และก็ไม่มีบริการนี้อย่างทั่วถึงทุกจังหวัด ทั้งที่รัฐบาลจะกันงบประมาณส่วนหนึ่งมาหนุนองค์กรการกุศลและภาคประชาชนที่ยินดีทำ ก็ทำได้แต่ไม่ทำ
ผู้เขียนไม่เคยเข้าใจว่า เหตุใดขั้นตอนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในไทยจึงยุ่งยากซับซ้อน ต้องอาศัยสมาร์ตโฟน ใช้แอพฯ หรือเว็บออนไลน์ โดยที่ไม่มีกลไกช่วยเหลือผู้ที่ใช้เน็ตไม่เป็น
นอกจากนี้ ต่อให้ลงทะเบียนไปแล้วก็ไม่ใช่ ‘การันตี’ ว่าจะได้ฉีดวัคซีนอย่างแน่นอน หลายคนยังต้องรอข้อความแจ้งวันเวลามาทางโทรศัพท์ (ซึ่งเป็นวันเวลาที่สถานฉีดวัคซีนสะดวก ไม่ใช่เราสะดวก) โดยไม่มีความแน่นอนว่าจะได้รับข้อความเมื่อใด และพอใกล้จะถึงวันฉีด สถานฉีดวัคซีนก็อาจส่งข้อความมายกเลิก เลื่อนวัน หรือเปลี่ยนยี่ห้อ เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ส่งผลให้ประสบการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ของรัฐ เปรียบเสมือนกิจกรรมชิงโชคหรือประเพณีชิงเปรต มากกว่าการได้รับบริการสาธารณะอย่างมีคุณภาพ
ประเด็นข้างต้นยังไม่นับข้อเท็จจริงที่ว่า ที่ผ่านมาคนบางกลุ่ม อาทิ แรงงานต่างด้าว ถูกเลือกปฏิบัติ มองข้าม หรือละเลยในการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 (ผู้เขียนจะเขียนถึงมหากาพย์ ‘การจัดสรร’ วัคซีนโควิด-19 ในลำดับต่อไป) อย่างน่าเศร้า
กลุ่มที่สาม: คนที่จ่ายเงินจองโมเดอร์นาสองเข็ม และตั้งใจอดทนรอฉีดวัคซีนยี่ห้อนี้เป็นสองเข็มแรกของตัวเอง
ความผิดพลาดและล่าช้าในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาล ส่งผลให้วัคซีนชนิด mRNA ยี่ห้อโมเดอร์นา วัคซีนที่ผลการทดสอบและใช้จริงทั่วโลกล้วนยืนยันตรงกันแล้วว่าเปี่ยมประสิทธิผลสูงสุดในการรับมือกับโควิด-19 ต้องกลายเป็น ‘วัคซีนทางเลือก’ ที่ประชาชนหลายล้านคนจ่ายเงินซื้อเอง ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่วัคซีนยี่ห้อนี้ต้องเป็น ‘ทางเลือก’ และต่อให้เป็นทางเลือก รัฐบาลก็สามารถอำนวยความสะดวก ให้การจัดหาและนำเข้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ แต่กลับไม่ทำ (อ่านรายละเอียดได้ในบทความ ทำไมโมเดอร์นาจึงต้องเป็น ‘ทางเลือก’?)
ผลลัพธ์จากความผิดพลาดและการ (จงใจ?) ไม่อำนวยความสะดวกก็คือ ประชาชนหลายล้านคนที่จ่ายเงินจองซื้อโมเดอร์นาไปตั้งแต่กลางปี 2564 ต้องรอนานหลายเดือนกว่าจะได้ของ และคนส่วนใหญ่ต้องรอข้ามปี เนื่องจากบริษัทตัวแทนประกาศแล้วว่า จะนำเข้าได้เพียง 1.9 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2564 จากสัญญาแรก 5 ล้านโดสเท่านั้น ที่เหลืออีก 3.1 ล้านโดส ต้องยกยอดไปปี 2565
ความล่าช้าขนาดนี้ส่งผลให้คนจำนวนมากตัดสินใจหาทางไปฉีดวัคซีนของรัฐก่อน เก็บโมเดอร์นาไว้เป็น ‘บูสเตอร์’ เข็มสาม ซึ่งก็วางแผนไม่ง่ายและมีความเสี่ยงอีกเช่นกัน เนื่องจากวัคซีนแต่ละยี่ห้อมีระยะเวลาที่เหมาะสมไม่ตรงกันในการฉีดเข็มสาม
คนที่ยังรอโมเดอร์นาเป็นเข็มแรกมีกี่คน ผู้เขียนไม่เคยเห็นการสำรวจที่ชัดเจน แต่อนุมานได้ว่าอาจมีเป็นหลักล้าน เนื่องจากตอนที่ผู้เขียนเชิญชวนให้ผู้จองวัคซีนยี่ห้อนี้มาทำแบบสอบถามออนไลน์เมื่อเดือนตุลาคม 2564 มีผู้มาตอบแบบสอบถามกว่า 1,900 คน ในจำนวนนี้มีมากถึงร้อยละ 42 ที่ตอบว่า ‘ยังไม่ได้ฉีดแม้แต่เข็มเดียว’ สะท้อนว่าคนจำนวนมากน่าจะตั้งหน้าตั้งตารอ รักษาเนื้อรักษาตัวเพื่อยี่ห้อนี้จริงๆ บางคนตอบแบบสอบถามอย่างน่าสะท้อนใจว่า ‘ที่จองโมเดอร์นา เพราะเห็นว่าเป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่จะได้ฉีด mRNA สองเข็ม’
ในเมื่อคนส่วนใหญ่ใน 7-8 ล้านคน ที่ยังไม่ได้ฉีดเข็มแรก ไม่น่าจะใช่ ‘ฮาร์ดคอร์’ หรือ anti-vaxxer อย่างในต่างประเทศ แต่น่าจะเป็นคนที่เข้าข่ายสามกลุ่มข้างต้น ผู้เขียนจึงเห็นว่า รัฐควรมีมาตรการจูงใจและช่วยเหลือที่แตกต่างกันสำหรับคนสามกลุ่มนี้ เพื่อให้พวกเขามาฉีดวัคซีนมากขึ้น โดยตั้งอยู่บนการแก้โจทย์หรือ ‘pain point’ ที่พวกเขาเจอ แทนที่จะใช้วิธีเกลี้ยกล่อมหรือส่งทีมนักสุขภาพจิตไปสาธยายประโยชน์ของวัคซีน
วิธีจูงใจคนกลุ่มแรก (กลัวแพ้ กลัวผลข้างเคียง ไม่อยากได้สูตรไขว้) ที่ตรงไปตรงมาที่สุด คือการเลิกใช้ ‘สูตรไขว้’ ทุกสูตรที่ประเทศอื่นไม่ใช้ ถ้าจำเป็นจริงๆ ก็ใช้เฉพาะสูตรที่หลายประเทศใช้กันแพร่หลายเท่านั้น เช่น แอสตราเซเนกา + ไฟเซอร์
วิธีจูงใจคนกลุ่มที่สอง (เข้าไม่ถึงระบบการจองวัคซีนออนไลน์ หรือออกจากบ้านไม่ได้) ที่ตรงไปตรงมาที่สุด คือขยายบริการฉีดแบบวอล์กอินให้ครอบคลุมทุกจังหวัด บริการฉีดถึงที่ และกันงบประมาณมาสนับสนุนคนในชุมชนและองค์กรในภาคประชาสังคมที่สามารถช่วยเหลือผู้ที่ยังเข้าไม่ถึง
วิธีจูงใจคนกลุ่มที่สาม (เฝ้ารอยี่ห้อโมเดอร์นา) อาจไม่มี เพราะคนที่อยากรอถึงอย่างไรก็รอ แต่รัฐก็ไม่ควรทำให้พวกเขาต้องเสียความรู้สึกและโกรธแค้นรัฐมากไปกว่านี้ ด้วยการช่วยเร่งรัดการจัดหาวัคซีน และเมื่อรัฐได้รับวัคซีนยี่ห้อนี้มาเป็นวัคซีนบริจาค (อย่างเช่น 1 ล้านโดส ที่ได้รับจากสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564) ก็ควรจัดสรรอย่างรัดกุม เน้นฉีดให้กับกลุ่มเปราะบางที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนใดๆ ไม่ใช่ฉวยโอกาสนี้มาสำทับและสมน้ำหน้าประชาชน
Tags: มหากาพย์วัคซีน, โมเดอร์นา, วัคซีนสูตรไขว้, โควิด-19, Citizen 2.0