ตอนที่แล้ว ผู้เขียนยกตัวอย่างกฎหมายโครงการวัคซีนโควิด-19 จากฟิลิปปินส์ เพื่อชี้ว่า “มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ ‘รัฐ’ สามารถทำได้ ถ้าอยากอำนวยความสะดวกให้กับการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของทุกฝ่ายจริงๆ ถ้าไม่อยากผูกขาดอำนาจในการจัดหาไว้กับตัวเองฝ่ายเดียว”
ต่อให้รัฐไม่ลงมือซื้อวัคซีนคุณภาพสูงมาฉีดฟรีให้กับประชาชน (ด้วยเหตุผลอะไรไม่ปรากฏ) รัฐก็ควรควบคุมราคาให้สมเหตุสมผลและคงเส้นคงวา ทุกคนจ่ายราคาเดียวกันในการซื้อยี่ห้อเดียวกัน ไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบหรือเลือกปฏิบัติ ซึ่งถ้าจะทำแบบนี้ได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ “รัฐต้องประกาศว่าจะรับผิดชอบความเสียหายและผลข้างเคียงทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนทุกชนิด เพื่อที่เอกชนจะได้ไม่ต้องไปควานหาและจ่ายค่าประกัน ซึ่งก็จะทำให้วัคซีนแพงเกินจำเป็น”
ผู้เขียนจึงทิ้งท้ายว่า “เป็นตลกร้ายไม่น้อยที่รัฐบาลไทย คือรัฐบาลทหาร ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้อำนาจตัวเองเต็มมือ แต่กลับไม่สามารถใช้อำนาจนั้นในการอำนวยความสะดวกให้กับการจัดหาวัคซีนของภาคเอกชนได้เลย”
ตัวอย่างอันดีของอาการ ‘เกียร์ว่าง’ (เป็นอย่างน้อย หลายคนอยากเรียกว่า ‘ขัดขวาง’ มากกว่า) ของรัฐ การทำตัวเหมือนไม่แยแสต่อความต้องการวัคซีนคุณภาพสูงของประชาชนหลายล้านคน ก็คือความอลหม่านสับสนและเต็มไปด้วยคำถามในโครงสร้างการจัดหาและจัดสรร ‘วัคซีนทางเลือก’ โมเดอร์นา สัญญาแรก 5 ล้านโดส ที่บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา ตัวแทนจำหน่าย ประกาศว่าจะทยอยส่งมอบตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 จนถึงมีนาคม 2565
สัญญาซื้อวัคซีนโมเดอร์นา สัญญาแรก 5 ล้านโดส มีหน่วยงานรัฐและองค์กรสาธารณะที่ใช้งบประมาณแผ่นดิน เข้ามาเกี่ยวข้องมากถึง 4 หน่วยด้วยกัน ได้แก่ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สภากาชาดไทย โรงพยาบาลของรัฐ 12 แห่ง และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 38 จังหวัด
การจัดสรรวัคซีนทั้งหมดในสัญญานี้เต็มไปด้วยความล่าช้า ลึกลับซับซ้อน และคำถามที่ไร้คำตอบ คำถามที่ประชาชนอยากรู้ที่สุดก็คือ สภากาชาดไทยซื้อโมเดอร์นาเองได้มิใช่หรือ ทำไมถึงต้องทำสัญญาซื้อผ่าน อภ. และตกลงสภากาชาดไทยจ่ายเงินจองซื้อโมเดอร์นาตอนไหน จ่ายพร้อมกับประชาชนจริงหรือไม่ เพราะการจัดหาโมเดอร์นา 1 ล้านโดสของสภากาชาดไทยที่มาเอี่ยวในสัญญา 5 ล้านโดสด้วย เพิ่งมาเป็นข่าวเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมานี้เอง หลังจากที่ประชาชนจำนวนมากโอนเงินจ่ายค่าจองวัคซีนเต็มจำนวนให้กับโรงพยาบาลเอกชนไปแล้ว
ผู้เขียนนำไทม์ไลน์หรือลำดับเหตุการณ์ในกระบวนการสั่งซื้อโมเดอร์นา 5 ล้านโดส เรียบเรียงจากการให้ข่าวและแถลงการณ์ต่างๆ ของ อภ. สภากาชาดไทย และโรงพยาบาลเอกชน มาเป็นไทม์ไลน์เดียวได้ดังต่อไปนี้
(เนื้อหาส่วนใหญ่ในไทม์ไลน์ด้านล่าง มาจากคำชี้แจงไทม์ไลน์ของ อภ. และการเปิดเผยลำดับเหตุการณ์ของสภากาชาดไทยในเฟซบุ๊ก)
เนื้อหา ตัวเอน แสดงเฉพาะไทม์ไลน์ในส่วนของสภากาชาดไทย
- 25 ก.พ. 64 อภ. ติดต่อตรงไปที่โมเดอร์นา เพื่อแสดงความจำนงสั่งจองวัคซีนจำนวน 5 ล้านโดส โดยให้เข้ามาช่วงกลางเดือน มิ.ย.
- 28 ก.พ. 64 โมเดอร์นาตอบกลับมาว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะจัดส่งได้ทันในปีนี้ เนื่องจากทั่วโลกมีความต้องการวัคซีนในระดับสูงมาก ทำให้สามารถส่งได้เร็วสุดในไตรมาสแรกของปี 2565 (ดูภาพประกอบอีเมลติดต่อด้านล่าง จากการแถลงของ อภ.)
- 2 เม.ย. 64 โมเดอร์นาแจ้งว่าอยู่ระหว่างการเจรจาตั้งบริษัทซิลลิคฯ เป็นตัวแทนจำหน่ายวัคซีนแต่ผู้เดียว และหวังว่าจะสรุปสัญญากับซิลลิคฯ ให้เร็วที่สุด
- 26 เม.ย. 64 สภากาชาดไทยเริ่มการติดต่อสื่อสารกับบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด
- 28 เม.ย. 64 บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด แถลงความร่วมมือกับบริษัท โมเดอร์นา อิงค์ เพื่อเป็นผู้แทนจำหน่ายแต่ผู้เดียวในประเทศไทย
- 5 พ.ค. 64 สภากาชาดไทย ลงนามสัญญารักษาความลับของข้อมูลกับบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด
- 12 พ.ค. 64 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขึ้นทะเบียนวัคซีนโมเดอร์นา
- 15 พ.ค. 64 บริษัทซิลลิคฯ แถลงว่าการจัดซื้อวัคซีนของโมเดอร์นา ต้องจัดซื้อผ่านตัวแทนภาครัฐเท่านั้น ซึ่งหมายถึง อภ. เนื่องจากเป็นข้อกำหนดของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนเพื่อใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
- 31 พ.ค. 64 บริษัท ซิลลิคฯ แจ้งกับสภากาชาดไทยว่า วัคซีนที่สภากาชาดไทยจอง 1 ล้านโดสแรกนั้น ยังไม่สามารถทำสัญญาซื้อขายโดยตรงกับบริษัทซิลลิคฯ ได้ จำเป็นต้องทำสัญญาผ่านองค์การเภสัชกรรม แต่กำลังดำเนินการขออนุมัติให้สภากาชาดไทยสามารถทำสัญญาซื้อขายได้โดยตรงในล็อตต่อๆ ไป
- ต้นเดือน มิ.ย. 64 สภากาชาดไทยได้รับแจ้งด้วยวาจาว่า ในล็อตต่อไปที่วัคซีนจะเข้ามาปีหน้า สภากาชาดไทยสามารถทำสัญญาซื้อขายโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านองค์การเภสัชกรรม
- 8 มิ.ย. 64 ศบค. ออกประกาศให้ 5 หน่วยงานซึ่งรวมถึงสภากาชาดไทย เร่งนำเข้า ‘วัคซีนทางเลือก’
- 11 มิ.ย. 64 องค์การเภสัชกรรมเชิญสภากาชาดไทยและโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ ร่วมประชุมฟังคำชี้แจงขั้นตอนการจองซื้อวัคซีนโมเดอร์นา ผ่านองค์การเภสัชกรรม
- 21 มิ.ย. 64 ที่ประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจของสภากาชาดฯ มีมติให้เสนอคณะกรรมการบริหารสภากาชาดไทย เพื่อพิจารณาการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19
- 28 มิ.ย. 64 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสภากาชาดไทย ครั้งที่ 6/2564 เห็นชอบให้จัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นา แต่ยังไม่ได้ข้อยุติในเรื่องจำนวน งบประมาณ การบริหารจัดการ กลุ่มเป้าหมาย และการจัดสรร และเห็นควรนำความกราบบังคมทูลเพื่อขอพระราชทานพระราชวินิจฉัย
- 3 ก.ค. 64 ผู้อำนวยการ อภ. แถลงข่าวเปิดเผยไทม์ไลน์การจัดซื้อโมเดอร์นา โดยกล่าวว่า “ถามว่าทำไมองค์การเภสัชกรรมยังไม่ยอมเซ็นสัญญาสักที ผมต้องมีเวลาให้สมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้รวบรวมงบมาก่อน รวบรวมเงินมาก่อน เอาเงินมาให้ผม แล้วผมถึงเซ็นสัญญาได้ ถ้าผมไปเซ็นก่อนเลยโดยที่ความต้องการไม่มีอยู่จริง องค์การเภสัชกรรมคงรับผิดชอบไม่ไหว เนื่องจากเป็นวัคซีนราคาแพงและจำนวนมากด้วย”
- 8 ก.ค. 64 มีหนังสือจากเลขาธิการสภากาชาดไทยถึงองค์การเภสัชกรรม ยืนยันจองซื้อวัคซีนโมเดอร์นา 1 ล้านโดส
- 15 ก.ค. 64 สภากาชาดไทยส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ “ขอให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดในพื้นที่ที่มีความประสงค์จะซื้อวัคซีนไปฉีดบริการให้กับประชาชน กรุณาแจ้งมายังสภากาชาดไทย ภายในวันที่ 21 ก.ค. 2564 นี้” และ “เมื่อสภากาชาดไทยแจ้งการจัดสรรโควตาให้ อบจ. แล้ว ขอให้ชำระเงินเต็มตามจำนวนที่ได้รับอนุมัติจากสภากาชาดไทย ภายในวันที่ 23 ก.ค. 2564 ก่อนเวลา 12.00 น.”
- 16 ก.ค. 64 โรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง เช่น เครือโรงพยาบาลธนบุรี เปิดเผยภาพเช็คผ่านทวิตเตอร์ว่า ได้นำเช็คค่าจองซื้อโมเดอร์นาไปจ่ายให้กับ อภ. แล้ว
- 18 ก.ค. 64 สภากาชาดไทยออกเอกสารชี้แจงว่า สภากาชาดไทยได้ดำเนินการติดต่อขอสั่งซื้อ โมเดอร์นากับบริษัทผู้แทนจำหน่ายมาตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 “เมื่อรัฐบาลมอบให้องค์การเภสัชกรรมดำเนินการจัดซื้อและนำเข้าวัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นา บริษัทผู้แทนจำหน่ายจึงได้ขอให้องค์การเภสัชกรรมสั่งวัคซีนเพิ่มเติมอีกจำนวน 1 ล้านโดสให้สภากาชาดไทยด้วย โดยบริษัทผู้แทนจำหน่ายได้แจ้งยืนยันกับองค์การเภสัชกรรมตั้งแต่ต้นว่า วัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นา ที่จะเข้ามาปลายปีนี้ เป็นของสภากาชาดไทยจำนวน 1 ล้านโดส ดังนั้นการสั่งซื้อวัคซีน…ของสภากาชาดไทย จึงไม่ได้เป็นการตัดยอดออกมาตามที่เข้าใจ แต่เป็นการสั่งจองไว้ก่อน ต่างหากจากวัคซีนจำนวน 4 ล้านโดส” (ขีดเส้นใต้เน้นโดยผู้เขียน)
- 22 ก.ค. 64 เลขาธิการสภากาชาดไทยลงนามในหนังสือสัญญาซื้อขายวัคซีนโมเดอร์นากับ อภ.
- 22 ก.ค. 64 โรงพยาบาลเอกชนมีนัดชำระเงินค่าจองซื้อโมเดอร์นากับ อภ.
- 23 ก.ค. 64 อภ. ลงนามในสัญญาซื้อโมเดอร์นา 5 ล้านโดส อย่างเป็นทางการกับบริษัทซิลลิคฯ โดย อภ. กล่าวในวันนั้นว่า “โรงพยาบาลต่างๆ รวมทั้งสภากาชาดไทย ได้ทำการชำระเงินค่าวัคซีนครบถ้วนตามที่ได้รับการจัดสรร”
- 24 ก.ค. 64 ข่าวโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งประกาศคืนเงินค่ามัดจำ เนื่องจากได้รับจัดสรรจริงน้อยกว่าจำนวนที่จองไป บางแห่งระบุว่า “มี 277 โรงพยาบาลที่เข้าร่วม ทุกโรงพยาบาลที่มียอดจองเกิน 10,000 โดส โดนตัดจำนวนวัคซีนที่จะได้ลดลงทุกโรง”
จากไทม์ไลน์ข้างต้น ผู้เขียนมีข้อสังเกตสามข้อดังต่อไปนี้
ประการแรก รัฐบาลสามารถจัดงบประมาณสนับสนุนให้ อภ. ‘ออกเงินก่อน’ ในการซื้อโมเดอร์นา เพื่อทุ่นเวลา แต่เลือกไม่ทำเอง และต่อให้ อภ. ต้องออกเงินก่อน ก็ทำได้เหมือนกับตอนซื้อซิโนแวค แต่เลือกไม่ทำเอง
ประเด็นหนึ่งที่ไม่เคยมีใครเข้าใจอย่างถ่องแท้ก็คือ เหตุใดการลงนามในสัญญาซื้อโมเดอร์นาจึงล่าช้ากว่าการสั่งซื้อวัคซีนยี่ห้ออื่นมาก ถ้าไม่นับความพยายามของโรงพยาบาลเอกชนตั้งแต่ปลายปี 2563 เริ่มนับเฉพาะตั้งแต่เดือน ก.พ. ที่ อภ. บอกว่าเริ่มติดต่อกับบริษัท เวลาก็ต้องล่วงเลยมาอีกกว่า 5 เดือน กว่า อภ. จะลงนามในสัญญาซื้อ 5 ล้านโดสแรก
เมื่อถูกถามว่าเหตุใดกระบวนการจึงล่าช้ามาก ผู้อำนวยการ อภ. ตอบในวันเปิดไทม์ไลน์ วันที่ 3 ก.ค. ว่า “ถามว่าทำไมองค์การเภสัชกรรมยังไม่ยอมเซ็นสัญญาสักที ผมต้องมีเวลาให้สมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้รวบรวมงบมาก่อน รวบรวมเงินมาก่อน เอาเงินมาให้ผม แล้วผมถึงเซ็นสัญญาได้ ถ้าผมไปเซ็นก่อนเลยโดยที่ความต้องการไม่มีอยู่จริง องค์การเภสัชกรรมคงรับผิดชอบไม่ไหว เนื่องจากเป็นวัคซีนราคาแพงและจำนวนมากด้วย”
ผู้เขียนเห็นว่าคำตอบนี้ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากรัฐบาลสามารถอนุมัติงบประมาณให้ อภ. ไปจ่ายค่าจองซื้อโมเดอร์นาล่วงหน้าได้ จากนั้นค่อยมาเรียกเก็บเงินจากโรงพยาบาลเอกชนทีหลัง และต่อให้รัฐบาลไม่อนุมัติ อภ. เองก็สามารถจ่ายค่าจองซื้อวัคซีนล่วงหน้าได้แบบเดียวกับวิธีที่ตัวเองสั่งซื้อซิโนแวคแทบทุกครั้ง นั่นคือ อภ. ออกเงินตัวเองไปก่อน แล้วค่อยมาขอเบิกงบประมาณชดเชยจากรัฐบาลทีหลัง (เพิ่งมาปรากฏในวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ 1 ก.ย. 64 นี้เอง)
อภ. สามารถออกเงินล่วงหน้าในการซื้อซิโนแวคได้คราวละเป็นพันล้านบาท ถ้าอนุมานว่า อภ. ต้องจ่ายค่าจองโมเดอร์นาล่วงหน้าร้อยละ 30 ของค่าวัคซีนทั้งหมด ในราคาเดียวกันกับที่สภากาชาดไทยมาของบกลางจาก ครม. ซื้อเพิ่มเองอีก 1 ล้านโดส (ไม่เกี่ยวกับ 5 ล้านโดสแรก) ก็แปลว่า อภ. จะต้องจ่ายเงินเพียง 966.75 บาทต่อโดส x 5 x 30% = 1,450 ล้านบาท ถูกกว่าค่าซื้อซิโนแวคบางล็อตที่ อภ. จ่ายเงินก่อนเองเสียอีก
ส่วนข้ออ้างที่ว่าความต้องการโมเดอร์นาอาจไม่มีอยู่จริงนั้น เป็นข้ออ้างที่ตลกมาก ดูจากกระแสความต้องการของประชาชนจำนวนมากที่แห่กันจองวัคซีนยี่ห้อนี้ ทุกรอบที่มีโรงพยาบาลเอกชนเปิดจอง ก็เห็นภาพชัดแล้วโดยไม่ต้องดูหลักฐานอะไรอีก
ประการที่สอง อภ. ติดต่อแสดงความจำนงซื้อโมเดอร์นา 5 ล้านโดส ตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ. 64 แต่สภากาชาดไทยเพิ่งติดต่อบริษัทซิลลิคฯ สองเดือนให้หลัง คือปลาย เม.ย. 64
ในเมื่อ อภ. ประกาศชัดเจนในการแถลงไทม์ไลน์ของตัวเอง และแสดงหลักฐานเป็นอีเมลติดต่อว่า แสดงความจำนงซื้อ 5 ล้านโดส ในวันที่ 25 ก.พ. แต่สภากาชาดไทยเพิ่งจะเริ่มติดต่อบริษัทซิลลิคฯ สองเดือนหลังจากนั้น คือเมื่อวันที่ 26 เม.ย. ดังนั้นการที่สภากาชาดไทยอ้างในเอกสารวันที่ 18 ก.ค. ว่า การสั่งซื้อ 1 ล้านโดสของสภากาชาดไทย (ซึ่งทุกคนมารู้ภายหลังว่าอยู่ในยอด 5 ล้านโดสนี้) “ไม่ได้เป็นการตัดยอดออกมาตามที่เข้าใจ แต่เป็นการสั่งจองไว้ก่อน ต่างหากจากวัคซีนจำนวน 4 ล้านโดส” จึงไม่สอดคล้องกับข้อมูลของ อภ. เพราะจากไทม์ไลน์จะเห็นว่า อภ. ติดต่อขอซื้อ 5 ล้านโดส ไม่ใช่ 4 ล้านโดส นานถึงสองเดือนก่อนที่สภากาชาดไทยจะเริ่มต้นติดต่อบริษัทผู้แทนจำหน่าย
เรื่องนี้ผู้เขียนเห็นว่า อภ. ควรต้องร่วมรับผิดชอบด้วย กล่าวคือ เมื่อบริษัทซิลลิคฯ มาแจ้งสภากาชาดไทยอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 พ.ค. ว่า สภากาชาดไทยต้องซื้อ 1 ล้านโดสนี้ผ่าน อภ. ด้าน อภ. ก็ควรสั่งซื้อเพิ่มอีก 1 ล้านโดส (ได้ของเมื่อไรก็เมื่อนั้น) เป็นยอดรวม 6 ล้านโดส
ไม่ใช่ไปลดยอดจองของประชาชนที่ซื้อผ่านโรงพยาบาลเอกชนลง 1 ล้านโดส เพื่อนำโควตา 1 ล้าน ไปให้กับสภากาชาดไทย ซึ่งส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากไม่พอใจ เพราะเห็นว่าโดน ‘ปาดหน้า’ จนถึงทุกวันนี้
ประการที่สาม ประชาชนจำนวนมากจ่ายค่าจองซื้อโมเดอร์นาให้กับโรงพยาบาลเอกชน ตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค. และตลอดเดือน มิ.ย. นานก่อนสภากาชาดไทยจะลงนามในสัญญาซื้อ
ผู้เขียนทำการสำรวจความคิดเห็นออนไลน์ของคนที่จ่ายเงินจองวัคซีนโมเดอร์นากับโรงพยาบาลเอกชน มีผู้เข้ามาตอบ 1,932 คน ในช่วงเวลาประมาณหนึ่งเดือน ระหว่างกลางเดือนกันยายนถึงกลางเดือนตุลาคม 2564 ในจำนวนนี้มีมากถึง 331 คน หรือร้อยละ 17 ที่ตอบว่าโอนเงินจองโมเดอร์นาก่อนเดือน ก.ค. 2564 ที่เหลือส่วนใหญ่ทยอยโอนเงินจองให้กับโรงพยาบาลเอกชนตั้งแต่ต้นเดือนจนถึงปลายเดือน ก.ค. 2564
ในขณะที่สภากาชาดไทยเพิ่งมาเร่งรัด อบจ. ให้ส่งเงินค่าวัคซีนให้กับสภากาชาดภายในวันที่ 23 ก.ค. ในจดหมายลงวันที่ 15 ก.ค. นี้เอง
ดังนั้น แม้ว่า อภ. จะกล่าวว่า “โรงพยาบาลต่างๆ รวมทั้งสภากาชาดไทย ได้ทำการชำระเงินค่าวัคซีนครบถ้วนตามที่ได้รับการจัดสรร” ในวันที่ 23 ก.ค. วันเซ็นสัญญากับบริษัทซิลลิคฯ ก็ตาม ถ้าดูจากไทม์ไลน์ก็ค่อนข้างชัดเจนว่า ประชาชนจำนวนมากโอนเงินค่าจองซื้อให้กับโรงพยาบาลเอกชนนานหลายสัปดาห์ก่อนสภากาชาดไทย
แน่นอนว่าคนที่โอนเงินจองตั้งแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะคนที่โอนตั้งแต่เดือน มิ.ย. หรือต้นเดือน ก.ค. ย่อมคาดหวังว่าจะได้รับวัคซีน ‘ก่อน’ คนที่โอนเงินจองทีหลัง รวมทั้งก่อนสภากาชาดไทยด้วย
ทว่าหลักการ ‘จองก่อนได้ก่อน’ กลับไม่ถูกใช้ในการจัดสรรโมเดอร์นาสัญญาแรกแต่อย่างใด โดยนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนเปิดเผยกับสื่อในวันที่ 24 ต.ค. 64 ว่า อภ. จะจัดสรรแบบ ‘ตามสัดส่วนการจอง’ ของทุกแห่ง
นั่นหมายความว่า ล็อตแรกที่มาถึงไทย 1 พ.ย. 64 จำนวน 560,200 โดส ก็จะถูกจัดสรรให้กับทุกแห่งในสัดส่วนเท่ากัน คือ 560,200 / 5 ล้าน = 11.2% ของยอดจอง ดังนั้นสภากาชาดไทยก็จะได้ไป 11.2% x 1 ล้าน = 112,040 โดส โดยได้รับมอบพร้อมกันกับโรงพยาบาลเอกชน
ปริศนาและคำถามเกี่ยวกับ ‘วัคซีนทางเลือก’ โมเดอร์นายังมีอีกหลายข้อ ผู้เขียนเห็นว่าส่วนใหญ่เกิดจากความไม่แยแสของรัฐบาลที่จะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน
คำถามที่ผู้เขียนยังไม่ได้สำรวจก็เช่น เหตุใด ‘ราคา’ ของโมเดอร์นาที่เสนอขายต่อประชาชน จึงมีความแตกต่างหลากหลายมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบสัญญา 5 ล้านโดสแรก กับสัญญาอื่นๆ ที่มาภายหลัง อาทิ สัญญาซื้อ 8 ล้านโดส ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์? แล้วการรับมอบวัคซีนโมเดอร์นาที่โปแลนด์จะบริจาค โดยโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ต้องเจออุปสรรคอะไรบ้าง?
มาหาคำตอบในเรื่องเหล่านี้ และเรื่อง ‘หลักเกณฑ์’ การจัดสรรโมเดอร์นา กันใน มหากาพย์วัคซีน ตอนต่อไป
Tags: วัคซีน, Citizen 2.0, โควิด, มหากาพย์วัคซีน, โมเดอร์นา, วัคซีนทางเลือก