300 ล้านตัน คือ ตัวเลขโดยประมาณของปริมาณพลาสติกที่ผลิตขึ้นในแต่ละปี ในจำนวนนั้น 8 ล้านตัน คือ ปริมาณของพลาสติกที่กลายเป็นขยะในมหาสมุทร

ตัวเลขดังกล่าวนี้คือสถานการณ์ปกติก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้ปริมาณการใช้พลาสติกพุ่งสูงขึ้น โดยท่ามกลางวิถีชีวิตแบบ New Normal ปัจจัยใกล้ตัวที่มีส่วนทำให้ปัญหานี้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือการสั่งอาหารแบบดิลิเวรีที่โดยมากมักมาพร้อมกับพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งนั่นเอง

นอกจากผลกระทบที่ทุกคนน่าจะเห็นได้จากการใช้ชีวิตประจำวันของตัวเองอย่างเรื่องการสั่งอาหารแล้ว วิถี New Normal และการล็อกดาวน์ในหลายประเทศทั่วโลกยังส่งผลให้ดีมานด์ในการผลิตเชื้อเพลิงต่ำลง และทำให้ราคาของพลาสติกใหม่ (virgin plastic) ลดลงตามไป ซึ่งนั่นหมายความว่าต้นทุนของวัสดุในการผลิตพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งยิ่งถูกลงไปกว่าวัสดุที่นำมาผลิตพลาสติกแบบรีไซเคิล การเปรียบเทียบระหว่างต้นทุนและกำไรในการผลิตก็อาจจะมีผลทำให้การผลิตที่ต้นทุนต่ำกว่าเพิ่มปริมาณขึ้นได้หากมองในมุมการทำธุรกิจทั่วไป

สหภาพยุโรปที่มีนโยบายชัดเจนในเรื่องการลดการใช้พลาสติกและการจัดการกับขยะพลาสติกจึงต้องเจอกับโจทย์ที่ยากยิ่งขึ้น เนื่องมาจากปริมาณการใช้พลาสติกที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่เกิดโรคระบาด ด้วยเหตุนี้ สหภาพยุโรปจึงไม่เพียงรับมือกับโควิด-19 แต่ยังต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อให้นโยบายด้านพลาสติกเป็นไปตามที่วางแผนไว้แม้จะมีสถานการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น

นโยบาย European Strategy for Plastics in a Circular Economy คือแนวปฏิบัติที่สหภาพยุโรปวางไว้เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยมีใจความหลัก 3 เรื่อง เริ่มตั้งแต่เป้าหมายว่าภายในปี 2573 บรรจุภัณฑ์พลาสติกในสหภาพยุโรปทั้งหมดจะต้องเป็นพลาสติกที่รีไซเคิลหรือนำมากลับมาใช้ใหม่ได้และผ่านการผลิตด้วยต้นทุนที่เหมาะสม เป้าหมายต่อมาคือลดปริมาณการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียว และเป้าหมายสุดท้ายก็คือการจำกัดการใช้ไมโครพลาสติก ตัวการสร้างมลภาวะในมหาสมุทรที่เป็นปัญหาทั่วโลกมายาวนานและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

หัวใจหลักของการทำให้นโยบายนี้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้คือแนวคิด Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่เป็นไปโดยยึดหลักของการรักษาคุณค่าของวัตถุดิบ ทรัพยากร และผลิตภัณฑ์ให้คงไว้ในระบบนานที่สุด ทั้งยังคำนึงถึงการสร้างของเสียให้ต่ำที่สุด หลักการนี้ทำให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นระบบที่สามารถคงคุณค่าของปัจจัยต่างๆ ในระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Circular Economy เป็นแนวคิดที่ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตจนถึงการนำไปใช้ เพราะการผลิตภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจนี้จะคำนึงถึงตั้งแต่เรื่องวัตถุดิบที่เลือกใช้ที่มีคุณสมบัตินำกลับมาใช้ซ้ำได้ ต่อเนื่องจนถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น ง่ายต่อการซ่อมแซม นำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง หรือรีไซเคิลเพื่อนำมาใช้ในรูปแบบอื่นได้ หรือหากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกก็ควรเป็นพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ซึ่งผลจากแนวคิดนี้ทำให้ไม่เพียงแต่ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ที่นำไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

การดำเนินงานนโยบายดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมในยุโรปครอบคลุมถึงการจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการสนับสนุนโครงการด้านพลาสติกต่างๆ ที่มีองค์กรทั้งภาคประชาสังคมและมหาวิทยาลัยมาร่วมดำเนินงาน อย่างเช่น CIRC-PACK โปรเจกต์ที่มุ่งพัฒนาพลาสติกย่อยสลายได้จากวัตถุดิบทางเลือก รวมถึงการออกแบบที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม, CleanSea ที่ช่วยสร้างความเคลื่อนไหวด้านการวางแผนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะในมหาสมุทร, Res Urbris โปรเจกต์ที่นำของเสียทางชีวภาพมาทำให้เกิดประโยชน์ หรือ Force โปรเจกต์ที่หลายเมืองจับมือกันทำตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน วางแผนรีไซเคิลพลาสติกปริมาณ 5,000 ตัน ทั้งจากการผลิตและครัวเรือน รวมถึงตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 12,500 ตัน

ส่วนด้านความร่วมมือของนานาประเทศในการจัดการปัญหาขยะ ตัวอย่างหนึ่งคือกิจกรรม International Coastal Cleanup Day วันเก็บขยะชายหาดสากลซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่สามของเดือนกันยายนของทุกปี สำหรับสหภาพยุโรปแล้ว วันดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่คณะผู้แทนสหภาพยุโรปทั่วโลกจะร่วมกันจัดแคมเปญ #EUBeachCleanup ให้เจ้าหน้าที่ของอียูและอาสาสมัครมาร่วมกันทำความสะอาดชายหาด เพื่อเรียนรู้ถึงปัญหาขยะและหนทางแก้ปัญหาร่วมกัน

ในปีนี้ คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยก็เข้าร่วมแคมเปญดังเช่นที่ผ่านมา แต่เปลี่ยนจากการทำความสะอาดชายหาดมาเป็นการเก็บขยะในลำคลองแทน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมและผู้ที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับกิจกรรมนี้ได้เข้าใจว่า ขยะที่พบในทะเลและตามชายหาดไม่ได้เกิดจากการทิ้งขยะในบริเวณนั้นเพียงอย่างเดียว แต่มาจากขยะที่ถูกทิ้งลงในแม่น้ำลำคลอง ซึ่งขยะเหล่านั้นเดินทางตามเส้นทางน้ำและไหลลงสู่ท้องทะเลในที่สุด นี่คือที่มาของกิจกรรม Canal Cleanup Day 2020 ที่จะเกิดขึ้นในวันศุกร์ที่ 18 กันยายน เป็นแคมเปญที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผลักดันการแก้ปัญหาขยะของประเทศไทย

ประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกสูงถึง 1.93 ล้านตันต่อปี และในจำนวนนั้น มีเพียง 0.39 ล้านตันที่เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ข้อมูลจากมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยระบุว่า ปริมาณการใช้พลาสติกเฉลี่ยต่อวันของคนไทย เพิ่มขึ้นจาก 2,120 ตันในปี 2562 เป็น 3,440 ตันต่อวันในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายนของปีนี้ และหากคิดเฉพาะเดือนเมษายนเดือนเดียว ตัวเลขเฉลี่ยจะสูงกว่าเดิมมากถึง 62 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับตัวเลขของปีที่ผ่านมา สวนทางกับนโยบายลดการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวที่รัฐบาลประกาศไว้เมื่อต้นปีว่า จะต้องลดลงให้ได้ 30 เปอร์เซ็นต์ในปี 2563

Canal Cleanup Day 2020 ที่กำลังจะเกิดขึ้นที่คลองลาดพร้าวจึงเป็นกิจกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนและจริงจัง อีกทั้งยังเป็นการย้ำอย่างเป็นรูปธรรมว่า เหตุใดหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียนจะช่วยบรรเทาปัญหานี้ลงได้

ส่วนการเริ่มต้นที่คลองลาดพร้าวนั้นเป็นเพราะคลองเส้นนี้ถือเป็นคลองสายหลักที่ช่วยระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แต่ในขณะเดียวกันก็จัดเป็นคลองที่มีปัญหาขยะมากที่สุดคลองหนึ่งในกรุงเทพฯ เฉพาะจุดดักขยะของคลองลาดพร้าวบริเวณใต้ทางด่วนถนนประดิษฐ์มนูธรรมจุดเดียว มีขยะที่ดักได้มากถึง 3 คันรถบรรทุกต่อ 1 รอบ

กิจกรรมครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กรุงเทพมหานครวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดลมูลนิธิเทอร์ราไซเคิลไทย, SOS Earth, Little Big Green และเถื่อน Channel โดยทุกฝ่ายเห็นถึงความสำคัญในการปกป้องสิ่งแวดล้อมร่วมกัน

เพื่อสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมในแคมเปญนี้ไม่เฉพาะแต่เพียงวันที่จัดกิจกรรม จึงมีอีกกิจกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญนี้ นั่นคือ Trash Me Challenge ที่ชวนให้คนที่สนใจนำขยะมาเปลี่ยนให้เป็นแฟชั่นหรืองานออกแบบ และส่งภาพมาร่วมสนุกไปพร้อมกับสามคนดังอย่าง มารีญา พูลเลิศลาภ, วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล และครูลูกกอล์ฟ-คณาธิป สุนทรรักษ์ ที่จะมาใส่ชุดจากขยะที่ออกแบบโดยศิลปินและดีไซเนอร์ ซึ่งกิจกรรมนี้มีความเคลื่อนไหวผ่านทางเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมของ SOS Earth รวมถึงนักสิ่งแวดล้อมคนดังทั้งสามคน มาตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ติดตามความเคลื่อนไหวของกิจกรรม Canal Cleanup Day 2020 และกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊ก European Union in Thailand

 

ข้อมูลอ้างอิง

  • https://www.dailynews.co.th/bangkok/781089
  • https://www.dw.com/en/coronavirus-aggravates-thailands-plastic-waste-crisis/a-53586789
  • https://earth.org/covid-19-surge-in-plastic-pollution/
  • https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/ip_19_5609
  • http://oceansasia.org/plastic-pollution/
  • https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-eu-recycling/risk-of-covid-19-plastic-trash-pile-up-worries-europe-idUSKCN25615S
  • https://www.weforum.org/agenda/2020/07/plastic-waste-management-covid19-ppe/

Fact Box

ปัจจุบันปัญหาขยะพลาสติกยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกยังคงต้องเผชิญอยู่ โดยเฉพาะปัญหาขยะพลาสติกบนท้องทะเล ที่ประเทศไทยของเราที่ติดอัน 6 ของโลก ในการปล่อยขยะลงสู่ท้องทะเล ปริมาณมากกว่า1ล้านต่อปี โดยสาเหตุหลักมาจากการทิ้งขยะตามแหล่งท่องเที่ยวทั้ง ขวดพลาสติก,แก้ว,โฟม,กระป๋อง,ก้นบุหรี่ และต่างๆอีกมากมายที่ถูกพลัดลงยังทะเล จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องรณรงค์และปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนทุกคนมีจิตสำนึกในเรื่องการทิ้งขยะเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียกับสิ่งแวดล้อมในอนาคตภายภาคหน้า

Tags: , , ,