“วันนี้อากาศดี” เพราะช่วงนี้อากาศพักร้อน ผมสัมผัสได้ถึงความเย็นของอากาศและหมอกจางๆ (หรือควัน…) ที่ลอยตัวในระดับเดียวกับต้นไม้ในสวน บางพื้นที่อาจมีฝนตกให้ชุ่มฉ่ำก่อนฤดูร้อนจะมาถึงอย่างเต็มรูปแบบ แต่ไม่ว่าอากาศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจะเป็นอย่างไร จะมีคนไข้อยู่กลุ่มหนึ่งที่ไม่อาจยินดี (หรือคงจะค่อนไปทางยินร้ายมากกว่า) กับสภาพอากาศที่เป็นอยู่ นั่นคือผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคถุงลมโป่งพอง
แน่นอนว่าสำหรับพวกเขา “อากาศแบบนี้ไม่ดี” เพราะพวกเขาต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการกำเริบของโรค ซึ่งอาจจะแค่ไอเล็กน้อย ไอมีเสมหะ ไอถี่จนเหนื่อย ถ้าโชคดีก็อาจพ่นยาฉุกเฉินที่มีอยู่ที่บ้านแล้วดีขึ้น แต่ถ้ายังไม่หายเหนื่อยก็ต้องไปพ่นยาที่โรงพยาบาล และถ้าหมอฟังปอดแล้วยังมีเสียงวี้ดๆ ของหลอดลมตีบแคบอยู่ก็ต้องนอนที่โรงพยาบาล โดยพ่นยาขยายหลอดลมทุก 4 ชั่วโมง และต้องฉีดยากดภูมิคุ้มกันเข้าหลอดเลือดทุก 6 ชั่วโมงจนกว่าอาการจะดีขึ้น บางคนเหนื่อยชนิดเดินเข้าห้องน้ำไม่ได้ ต้องปัสสาวะบนเตียงเลยก็มี
ถ้าโชคร้าย บางคนอาจเป็นหนักจนหอบตัวโยน เหงื่อแตก แทบสูดอากาศเข้าปอดไม่ได้ ถ้ามาถึงขั้นนี้ก็ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ เป็นท่อคล้ายสายยางผ่านทางปากลงไปที่หลอดลมโดยตรงเพื่อช่วยชีวิตก่อน ส่วนความเจ็บปวดเอาไว้ทีหลัง ซึ่งคนที่เคยใส่แล้วรอดชีวิตมาได้มักพูดตรงกันว่า “ไม่อยากใส่อีกแล้ว”
เสาร์วันหนึ่ง คนไข้กลุ่มนี้เดินทางมาที่โรงพยาบาลพร้อมๆ กันโดยไม่ได้นัดหมาย และ ‘หอบ’ เอาอาการที่กล่าวไปข้างต้นมาด้วย ทั้งที่ทุกคนต่างก็มียาพ่นคุมอาการประจำและกินยาสม่ำเสมอ แต่โรคที่เคยสงบก็ไม่วายปะทุขึ้นมา
อันที่จริงจะพูดว่า “ไม่ได้นัดหมาย” ก็พูดได้ไม่เต็มปาก เพราะจริงๆ แล้วคนไข้ได้ทำการนัดหมายการมาที่โรงพยาบาลไว้ล่วงหน้าตั้งแต่เมื่อ 30-50 ปีก่อนแล้ว!
90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง มีสาเหตุมาจาก ‘การสูบบุหรี่’ อาจารย์หมอโรคทางเดินหายใจท่านหนึ่งเปรียบเทียบการสูบบุหรี่ไว้ว่าเหมือนกับ ‘การเผาเสาบ้าน’ ไปทีละนิด ตอนแรกอาจยังไม่เห็นผลกระทบ แต่เมื่อจุดไฟเผาไปนานๆ ก็กินเนื้อเสาเข้าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อเสารับน้ำหนักไม่ไหว หรือวันไหนฝนฟ้าคะนอง หลังคาบ้านก็ถล่มลงมา
มากกว่า 20 ซอง-ปี (pack-year) คือปริมาณการสูบบุหรี่ที่สัมพันธ์กับการเกิดโรค
ปริมาณในหน่วยซอง-ปีนี้คำนวณได้จากจำนวน ‘ซอง’ บุหรี่ที่สูบในแต่ละวัน x จำนวน ‘ปี’ ที่สูบทั้งหมด เช่น นาย ก. สูบบุหรี่เฉลี่ยวันละ 10 มวน (1 ซองมี 20 มวน) มาตั้งแต่สมัยเป็นหนุ่ม รวมเป็นระยะเวลา 40 ปี ปริมาณการสูบบุหรี่ของนาย ก. จึงเท่ากับ 10/20 x 40 = 20 ซอง-ปี นาย ก. จึงมีโอกาสป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพองตั้งแต่เริ่มสูบบุหรี่เมื่อ 40 ปีก่อนแล้ว
อย่างที่รู้กันดีว่าโรคนี้เป็นแล้วเป็นเลย ไม่หายขาด แต่ด้วยความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบัน จึงมียาที่ควบคุมอาการของโรคให้สงบได้ ทว่าวันดีคืนร้าย อากาศในช่วงเปลี่ยนฤดูที่น่าจะดีสำหรับคนทั่วไป ก็กลับกลายเป็นคำสาปส่งให้คนไข้โรคถุงลมโป่งพองต้องเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลปีละ 2-3 ครั้งในช่วงบั้นปลายชีวิต
90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง มีสาเหตุมาจาก ‘การสูบบุหรี่’
หากจะวัดความหนักหนาสาหัสออกมาเป็นตัวเลข ก็อาจใช้ค่าถ่วงน้ำหนักความพิการ (Disability Weights: DW) ของโรค ซึ่งเป็นค่าอ้างอิงค่าหนึ่งในการประเมินภาระโรค (Burden of Disease: BOD) มาเปรียบเทียบให้เห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งเท่ากับ 0.1600 ใกล้เคียงกับการสูญเสียการมองเห็นระดับปานกลาง (คือ 0.1700) เลยทีเดียว ในขณะที่โรคเบาหวานมีค่า DW เพียง 0.0330 ทั้งนี้ ค่า DW มีค่าระหว่าง 0-1 โดย 0 หมายถึงสุขภาพดี และ 1 เทียบเท่าตาย
รายงาน BOD ฉบับล่าสุดของไทยรายงานตัวเลขของปี 2557 (แต่ตีพิมพ์เมื่อปีที่แล้ว) ระบุว่ามีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคถุงลมโป่งพองประมาณ 23,000 คน มากเป็นอันดับ 5 ในผู้ชาย และอันดับ 7 ในผู้หญิง และเมื่อนำค่า DW มาใส่สมการ กดเครื่องคิดเลขเป็นจำนวนปีสุขภาวะที่สูญเสียไปจากการตายก่อนวัยอันควรและความบกพร่องทางสุขภาพ (Disability-Adjusted Life Years: DALYs) (แปลไทยเป็นไทยได้ว่า ความเจ็บป่วยจากโรคทำให้ ‘ปีที่มีชีวิตอยู่อย่างมีสุขภาพดี’ หายไปเท่าไร) ของโรคถุงลมโป่งพองได้เท่ากับ 3.8 แสนปี โดยเกือบทั้งหมดเป็นปีที่เสียไปหลังจากเกษียณ คือ 2.7 แสนปี (71%)
ในประชากรไทยอายุ 60 ปีขึ้นไป ภาระโรคของโรคถุงลมโป่งพองขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ในผู้ชาย รองจากโรคหลอดเลือดสมอง และเป็นอันดับ 9 ในผู้หญิง
ท้องฟ้าเหนือโรงพยาบาลที่ผมทำงานอยู่เป็นสีครึ้มทึมเทามาเป็นสัปดาห์ แต่ละครั้งที่ทาบหูฟังลงบนหน้าอกคุณลุงคุณตา เสียงวี้ดๆ ของหลอดลมตีบแคบฉุกให้ผมคิดตลอดว่า “การแลกเปลี่ยนความสุขหรืออรรถประโยชน์อื่นๆ ในปัจจุบันขณะที่สูบ กับความทุกข์หรือความเจ็บป่วยในอนาคตข้างหน้า จะคุ้มค่าหรือไม่” เพราะอย่างที่อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล กล่าวถึงการต่อต้านประณามผู้บริโภคบุหรี่และสุราจนล้นเกินในปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ “ประเทศไทยในความคิด ความคิดในประเทศไทย” เมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมาว่า
“…ในทัศนะของฝ่ายต่อต้าน คนสูบยากินเหล้าเป็นแค่ ‘คนไม่รักดี’ โดยไม่ต้องมีหมายเหตุอะไรทั้งสิ้น ความคิดเช่นนี้ ใช่หรือไม่ว่าเป็นการลดทอนย่อส่วนชีวิตของพวกเขาให้เหลือแค่มิติเดียวคือร่างกาย โดยไม่มีการพิจารณามิติทางสังคม วัฒนธรรม และคุณค่าอื่นๆ ของชีวิตแม้แต่น้อย
“ไม่มีใครปฏิเสธหรอกว่าสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ และทุกคนก็อยากมีสุขภาพดีกันทั้งนั้น แต่ชีวิตคนเรามันมีเนื้อหาสาระมากกว่าการดูแลร่างกายหลายอย่าง ด้วยเหตุดังนี้ จะมากจะน้อย ผู้คนก็ต้องทำเรื่องเสียสุขภาพบ้าง…”
ดังนั้น คนที่ยังสูบบุหรี่ในปัจจุบันก็ต้องยอมรับถึงผลกระทบหรือ ‘นัดหมาย’ ที่จะติดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยกเว้นแต่จะอยากผัดวัน ‘เลื่อนนัด’ ออกไปก่อนด้วยการเลิกสูบบุหรี่ ซึ่งยิ่งเลิกได้เร็วเท่าไรก็ยิ่งดี เพราะอัตราการเสื่อมลงของปอดจะลดลงกลับมาเท่ากับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่าในผู้ที่เลิกบุหรี่ 1 ปีแรก ค่าการทำงานของปอดจะฟื้นฟู ‘เพิ่มขึ้น’ เป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับค่าการทำงานของปอดที่เสื่อมถอย ‘ลดลง’ หากยังสูบบุหรี่ต่ออีกด้วย
“อากาศในอีก 30-50 ปีข้างหน้าเป็นอย่างไร?”
มวนบุหรี่ในมือคือคำตอบครับ
Tags: การสูบบุหรี่, โรคถุงลมโป่งพอง