วันนี้ (8 มีนาคม 2565) ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวคำปราศรัยทางการเมืองเรื่อง ‘ทำการเมืองให้สุจริต’ ในโครงการสัมมนาเครือข่ายประชาชนปฏิรูปการเมืองปี 2564 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ตอนหนึ่งว่า การปฏิรูปการเมือง ทำการเมืองให้สุจริต การเมืองสุจริต ถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญยิ่งของการปฏิรูปการเมือง ถ้าย้อนกลับไปหลายสิบปีที่ผ่านมาของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการยึดอำนาจหลายครั้ง และในแต่ละครั้ง จะได้เห็นเหตุผลหนึ่งเกือบทุกครั้งที่มีการยึดอำนาจคือการทุจริต มีพฤติกรรมทุจริต ประพฤติมิชอบ เป็นข้อเท็จจริงอันหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเห็นดีเห็นงามกับการยึดอำนาจแต่ละครั้ง คือความไม่สุจริตของฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะฝ่ายการเมือง
ทั้งนี้ ในฐานะที่เป็นนักการเมืองตั้งแต่ต้น 50 กว่าปีที่ผ่านมา เริ่มทำงานการเมืองมาตั้งแต่ปี 2512 จนบัดนี้ เหลือตัวเองเพียงคนเดียว ที่ยังทำหน้าที่ในฐานะนักการเมือง ทั้งนี้ ได้เห็นกับตาตัวเองว่า เมื่อนักการเมืองลงทุน ไม่มีที่ไม่เอาคืน แต่ละคน ซื้อเสียงมา โกงมา ลงทุน 20-30 ล้านบาท มากินเงินเดือน เดือนละแสนหนึ่งนั้นไม่คุ้มค่า ยิ่งต้องจ่ายเงินบำรุงพรรค เช่น พรรคประชาธิปัตย์ ต้องจ่ายเงินบำรุงเดือนละ 2 หมื่นบาท เหลือเงินเดือนอยู่ไม่กี่หมื่นบาท ทั้งนี้ หากไม่โกง ไม่สุจริต จะเอาที่ไหนไปใช้ หลายคนจึงต้องไปโกง ซึ่งก็ต้องทำความเข้าใจว่าการโกง คือการเบียดเบียนประชาชน
“นักการเมือง เขาก็จะเลือกข้าราชการโกงเป็นมือไม้ให้เขา ถ้าข้าราชการดี ไม่ร่วมมือกับเขา เขาก็โกงยาก ข้าราชการโกง ก็เลือกนักธุรกิจที่โกง มาเป็นที่ปรึกษา มาทำงานใดๆ ก็ตาม ร่วมกัน หลายเรื่องล้วนโยงใยเกี่ยวข้องกัน ตั้งแต่ข้างบนลงล่าง ข้างๆ ไปถึงอีกด้านหนึ่ง ถ้าอยากได้นักการเมืองสุจริต ต้องอย่าสนับสนุนคนซื้อเสียง ต้องเริ่มตั้งแต่ท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด ต้องให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต”
ประธานรัฐสภา กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดนั้น โดยส่วนตัว เป็นผู้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นคนแรก และอยู่มาจนพ้นวาระ ก็ไม่พบปัญหาใดๆ กลไกต่างๆ สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ แต่ในที่สุด รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็มีอันเป็นไป ไม่ใช่เพราะกฎหมายไม่ดี แต่เพราะผู้ใช้กฎหมายไม่ได้เคารพกฎเกณฑ์กติกาของรัฐธรรมนูญ
หลังจากนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญ 2540 เปลี่ยนเป็นรัฐธรรมนูญ 2550 จะพบว่ามีการเปลี่ยนมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ เขียนไว้เพิ่มเติมว่า “การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม” เหตุที่เพิ่ม มาจากรัฐธรรมนูญ 2540 นั้น มีการละเมิดหลักนิติธรรม จนเกิดปัญหา เช่น เหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหตุการณ์ในภาคใต้นั้นนองเลือดจากนโยบาย 8 เมษายน 2544 จากนโยบาย ‘ฆ่าทิ้ง’ ปัญหาภาคใต้ใช้เวลาก่อตัว 3 ปี ก็เกิดเหตุการณ์ค่ายทหารถูกปล้น ผู้ก่อการร้ายอาร์เคเคเอาปืนไปคืนเดียว 400 กว่ากระบอก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เกิดจากการบริหารโดยไม่ถูกหลักกฎหมาย นอกรัฐธรรมนูญ
“สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา รุ่นปัจจุบัน อาจไม่รับรู้ คนที่รับรู้อาจเกษียณบ้าง ล้มหายตายจากไปบ้าง แต่ผมยังจำได้ นโยบาย 8 เมษายน 2544 เขาเรียกว่านโยบายแก้ปัญหาภาคใต้ให้จบใน 3เดือน ด้วยความเชื่อว่า ฆ่าเดือนละ 20 คน 3 เดือน ก็ฆ่าได้หมด นโยบายฆ่าทิ้งนอกหลักนิติธรรมจึงได้เกิดขึ้น จึงได้ย้ำในรัฐธรรมนูญ 50 ว่า ทุกองค์กร ต้องยึดหลักนิติธรรม ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ตั้งแต่ 50 เป็นต้นมา จนถึงวันนี้ ก็ต้องเขียนให้ชัด
“ผมยกตัวอย่างปัญหาภาคใต้ เป็นตัวอย่างที่ชัดที่สุด เป็นตัวอย่างที่อมตะที่สุด ว่าในที่สุดเหตุการณ์นั้นเองเป็นที่มาของปัญหาภาคใต้ จนมีคนเสียชีวิตไปแล้วไม่ต่ำกว่า 6,000 คน ตั้งแต่ชาวบ้านธรรมดา จนถึงผู้พิพากษา อดีตอัยการ อดีตรองผู้ว่า พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่กองทุนสงเคราะห์การทำสวยงาม ความไม่สงบเกิดจากการละเมิดกฎเกณฑ์บ้านเมือง”
ชวน กล่าวอีกว่า ปราชญ์ยุคแรก บอกว่าการปกครองที่ดีที่สุดคือ Philosopher King หรือราชาแห่งปราชญ์ แต่คุณสมบัติราชาแห่งปราชญ์นั้นหายาก แน่ใจหรือว่าคนนั้น ดีตลอดไป วันหนึ่งเกิดมีสิ่งจูงใจ สิบไม่เอา ร้อยลังเล พันเอาเลย แน่ใจหรือว่า คนทุกคน จะเป็นคนดีตลอดไป เพราะฉะนั้น ปราชญ์ยุคหลัง จึงคิดว่าการปกครองที่ดีที่สุดคือหลักกฎหมาย หลักนิติธรรม หลักไม่ดีแก้ไข แต่หลักไม่เปลี่ยนแปลง การปกครองด้วยหลัก จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
ทั้งนี้ จากประสบการณ์ที่เห็นและได้รวบรวมเหตุการณ์ที่รัฐมนตรี ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองติดคุก พบน่าสนใจมาก โดยเฉพาะ ที่ล่าสุดที่ศาลสั่งจำคุกรัฐมนตรี 99 ปี ได้ทำให้เห็นว่าคณะรัฐมนตรีชุดหนึ่งติดคุกจำนวนมากเพราะประพฤติปฏิบัติในทางไม่สุจริต ทั้งที่ความจริงแล้ว ความซื่อสัตย์สุจริต รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่าทุกตำแหน่งที่ต้องปฏิญาณตน ตั้งแต่องคมนตรี นายกฯ คณะรัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร องค์กรต่างๆ ล้วนต้องถวายสัตย์ว่าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตทั้งสิ้น และความซื่อสัตย์สุจริต ก็ปรากฏอยู่ในทุกเอกสารราชการ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ
“ตอนเขาประกาศรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ผมขออภัยที่ผมบอกว่าไม่รับฉบับนี้ แต่ฉบับปัจจุบัน เขาย้ำว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นกฎหมายฉบับปราบโกง ตอนนี้ไม่ต้องพูดว่าโกงมากขึ้นกว่าเดิม หรือน้อยกว่าเดิม แต่จะพูดว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีคำว่าซื่อสัตย์ 23 คำ มีคำว่าสุจริต 38 คำ มากกว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับ แต่จริงหรือว่ารัฐธรรมนูญเขียนไว้ขนาดนี้ ความซื่อสัตย์สุจริตจะมากกว่าในฉบับก่อนๆ คำตอบก็คือไม่จริง ทำไมไม่จริง มาจากพฤติกรรมของคน”
ประธานรัฐสภา ยังระบุอีกด้วยว่า การปกครองที่ดี ไม่ใช่ปกครองด้วยหลักเท่านั้น ต้องการคนดีด้วย หลักที่ดี กับคนดี ต้องไปด้วยกัน หลักที่ดี แต่คนไม่ดี เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐธรรมนูญ 2540 ที่เป็นรัฐธรรมนูญที่ดี ก็มีปัญหา ด้วยเหตุนี้ คำตอบคือเรื่อพฤติกรรมของคน ทั้งหมด หลักที่ดี กับคนที่ดี จึงต้องไปด้วยกัน พร้อมกับบอกว่า ได้ของบประมาณ 15 ล้านบาทในการทำโครงการ ‘บ้านเมืองสุจริต’ มีกรรมการในองค์กรนี้ เชิญบรรดาผู้นำจากองค์กร เช่น ที่ประชุมมหาวิทยาลัยเอกชน ที่ประชุมมหาวิทยาลัยรัฐ ที่ประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่ประชุมมหาวิทยาลัยราชมงคล รวมถึงสื่อมวลชน เป็นกรรมการ มีเป้าประสงค์เรื่องบ้านเมืองสุจริต ไปอยู่ในทุกหลักสูตรการศึกษา ปลูกฝังตั้งแต่เด็ก เพื่อให้ความสุจริต อยู่ในความคิด อยู่ในนิสัยของเด็กทุกคน
ภาพ: รัฐสภา
Tags: รัฐสภา, ชวน หลีกภัย, บ้านเมืองสุจริต