ในตอนที่ผ่านมา เราทิ้งท้ายเอาไว้ว่า โดยลำพัง ตัวศิลปะเองอาจไม่มีพลังถึงขนาดที่จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง หรือวิกฤตการณ์ต่างๆ ในโลกได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีผลงานศิลปะของศิลปินคู่หนึ่ง ที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสภาพแวดล้อม ภูมิทัศน์ หรือแม้แต่สิ่งก่อสร้างขนาดมหึมาบนโลกของเราได้ด้วยวิธีการง่ายๆ อย่างการ ‘ห่อ’
ทั้งคู่มีชื่อว่า คริสโตและฌานน์-โคล้ด (Christo and Jeanne-Claude)
คริสโต หรือในชื่อเต็มว่า คริสโต วลาดิมีรอฟ จาวาเชฟ (Christo Vladimirov Javacheff) และ ฌานน์-โคล้ด หรือในชื่อเต็มว่า ฌานน์-โคล้ด เดอนา เด กีบง (Jeanne-Claude Denat de Guillebon) เป็นคู่สามีภรรยาศิลปินที่สร้างผลงานศิลปะในสิ่งแวดล้อม ทั้งคู่เกิดในวันเดือนปีเดียวกัน คริสโตเป็นผู้ลี้ภัยจากบัลแกเรีย ส่วนฌานน์-โคล้ด เป็นผู้อพยพมาจากโมรอคโค พวกเขาพบกันในปารีสในปี 1958 เมื่อคริสโตวาดภาพเหมือนให้แม่ของฌานน์-โคล้ด พวกเขาทั้งคู่ก็ตกหลุมรักกันผ่านการทำงานศิลปะ
พวกเขาร่วมกันทำงานศิลปะทั้งหมดด้วยกัน โดยในช่วงแรกเครดิตของงานทั้งหมดใช้ชื่อ คริสโต แต่เพียงผู้เดียว จนกระทั่งในปี 1994 พวกเขาก็เปลี่ยนมาใส่เครดิตร่วมกันว่า ‘คริสโตและฌานน์-โคล้ด’ ซึ่งนับย้อนหลังรวมไปถึงผลงานที่พวกเคยเขาทำที่ผ่านๆ มาด้วย ที่น่าสนใจก็คือ เวลาเดินทางโดยสารด้วยเครื่องบิน พวกเขาจะไปกันคนละลำ เผื่อในกรณีที่เครื่องบินของใครเกิดอุบัติเหตุตกจนเสียชีวิต อีกคนก็จะได้สานต่องานของกันและกันได้ (รอบคอบมากๆ)
คริสโตและฌานน์-โคล้ด เริ่มต้นทำงานศิลปะด้วยการห่อ ของเขามาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1960 โดยเริ่มแรก พวกเขาห่อของเล็กๆ อย่าง หนังสือ นิตยสาร โทรศัพท์ โต๊ะ เก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์ ถังน้ำมัน ไปจนถึงของชิ้นใหญ่ขึ้นอย่าง ยวดยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็น มอเตอร์ไซค์ รถยนต์ และถาวรวัตถุขนาดย่อมๆ อย่างต้นไม้ อนุสาวรีย์ ไปจนถึงขนาดมหึมาอย่างอาคารสำนักงาน หอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ สะพาน ไปจนถึง หุบเขา หรือแม้แต่เกาะทั้งเกาะก็ยังมี!
พวกเขาเป็นที่รู้จักในวงกว้างเป็นครั้งแรกในมหกรรมศิลปะ Documenta ครั้งที่ 4 ที่เมืองคาสเซิล ในปี 1968 จากผลงาน ‘ห่ออากาศ’ หรือ 5,600 Cubicmeter Package ที่พวกเขาสร้างถุงบรรจุอากาศขนาด 5,600 ลูกบาศก์เมตร โดยเมื่ออากาศถูกบรรจุเต็มถุงจนพองตัวตั้งตรงสูงขึ้นสู่ท้องฟ้า มันมีความสูงถึง 85 เมตร และถูกทิ้งค้างเอาไว้อย่างนั้นเป็นเวลา 10 ชั่วโมง มันกลายเป็นโครงสร้างพองลม (ที่ไม่มีแกนด้านใน) ที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีการทำขึ้นมาในโลก
ผลงานในปี 1969 อย่าง Wrapped Coast พวกเขาห่อพื้นที่ชายฝั่งทะเล ลิตเติ้ลเบย์ ซิดนีย์ ออสเตรเลีย ระยะทางครึ่งกิโลเมตร และหน้าผาสูง 26 เมตร ด้วยผ้าใยสังเคราะห์ขนาด 95,600 ตารางเมตร และเชือกยาว 56 กิโลเมตร จนกลายเป็นผลงานศิลปะกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการสร้างมาในเวลานั้น มันมีขนาดใหญ่กว่าภูเขารัชมอร์ (Mount Rushmore) เลยด้วยซ้ำ
ผลงานในปี 1972 อย่าง Valley Curtain เป็นการขึงผ้าไนลอนสีส้มสดใสความยาว 18,600 ตารางเมตร ระหว่างช่องเขาไรเฟิล แกป ของเทือกเขาร็อกกี้ ในรัฐโคโลราโด โดยใช้เวลา 28 เดือนในการทำ แต่มีอายุอยู่เพียง 28 ชั่วโมงก็จำเป็นต้องรื้อถอนออก เหตุเพราะลมพายุที่รุนแรง
ผลงานในปี 1983 อย่าง Surrounded Islands พวกเขาใช้ผ้าใยสังเคราะห์สีชมพูสดใสจำนวน 603,850 ตาราเมตร ปูเป็นพรมลอยล้อมรอบ 11 เกาะ ในอ่าวบิสเคย์ ในไมอามี เป็นเวลาสองอาทิตย์
ผลงานในปี 1985 อย่าง The Pont Neuf Wrapped พวกเขาห่อ ปงเนิฟ หรือสะพานข้ามแม่น้ำแซน ที่เก่าแก่ที่สุดในปารีส ด้วยผ้าใยสังเคราะห์จนมิดไปทั้งโครงสร้างขอบ ตอม่อสะพาน และเสาไฟ (แต่ยังเหลือถนนตรงกลางเอาไว้ให้รถวิ่งได้)
หรือผลงานในช่วงปี 1991 อย่าง The Umbrellas ที่พวกเขาทำงานศิลปะจัดวางในรูปร่มขนาดมหึมา (ความสูง 6 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 8 เมตร) ขึ้นพร้อมๆ กันในสองประเทศ โดยร่มสีเหลืองจำนวน 1,760 คัน ถูกติดตั้งบนพื้นที่กลางแจ้งในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และร่มสีฟ้าจำนวน 1,340 คัน ถูกติดตั้งบนพื้นกลางแจ้งในจังหวัดอิบารากิ ประเทศญี่ปุ่น ผลงานนี้สะท้อนให้เห็นถึงความคล้ายคลึงและความแตกต่างในวิถีชีวิตและการใช้ประโยชน์จากที่ดินในหุบเขา ของสองประเทศที่อยู่คนละซีกโลก
แต่ผลงานศิลปะที่สร้างชื่อให้พวกเขาเป็นที่รู้จักมากที่สุด ก็คือ Wrapped Reichstag หรือการห่ออาคารไรชส์ทาค (Reichstag) หรือ อาคารรัฐสภาเยอรมัน อภิมหาโครงการห่อศิลปะที่พวกเขาเริ่มพัฒนาขึ้นในช่วงปี 1971 แต่กว่าจะได้รับการอนุมัติให้สร้างจริงก็ปาเข้าไปอีกยี่สิบกว่าปีให้หลัง
เนื่องด้วยในเวลานั้น อาคารไรชส์ทาค หรือในชื่อเป็นทางการว่า อาคารที่ประชุมใหญ่ไรชส์ทาค (Plenarbereich Reichstagsgebäude) นอกจากจะเป็นสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญของประเทศเยอรมนี อายุนับร้อยปี ที่สร้างขึ้นในสมัยจักรวรรดิเยอรมัน เพื่อเป็นที่ประชุมของรัฐสภาเยอรมัน ตัวอาคารยังเผชิญหน้ากับประวัติศาสตร์แห่งความเปลี่ยนแปลงและความยุ่งเหยิงอย่างต่อเนื่อง
มันถูกสร้างขึ้นใช้งานในปี 1894 และถูกวางเพลิงในปี 1933 จนสร้างความเสียหายอย่างมาก และถูกปล่อยทิ้งร้างกว่าสี่ทศวรรษ จนเมื่อมีการรวมประเทศเยอรมนีในปี 1990 ตัวอาคารก็ได้รับการบูรณะซ่อมแซมโดยสถาปนิก นอร์มัน ฟอสเตอร์ (Norman Foster) จนเสร็จสมบูรณ์ในปี 1999 และถูกใช้เป็นอาคารรัฐสภาของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมานับตั้งแต่ครั้งนั้น และมันก็ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยของเยอรมนีจวบจนถึงปัจจุบัน
ในช่วงเวลานั้น กรุงเบอร์ลินยังถูกแยกออกเป็นสองฟากฝั่ง ตะวันออกและตะวันตก สองขั้วการเมือง ระหว่างคอมมิวนิสต์และประชาธิปไตย อาคารไรชส์ทาคที่ถูกทิ้งร้างเอาไว้ เป็นอาคารเดียวที่ตั้งคร่อมอยู่ระหว่างสองฟากฝั่งของเมือง สำหรับอดีตผู้ลี้ภัยการเมืองอย่างคริสโต อาคารที่อยู่กึ่งกลางระหว่างพื้นที่สองขั้วการเมืองแห่งนี้จึงมีความหมายสำคัญกับเขาอย่างยิ่ง
แต่การขออนุญาตห่ออาคารแห่งนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายดาย อันที่จริงมันเป็นเรื่องยากจนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ พวกเขาต้องทำเรื่องขออนุญาตใช้อาคารจากรัฐบาลเยอรมันอย่างแสนยากเข็ญ ต้องหว่านล้อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายร้อยคน ต้องเขียนจดหมายอธิบายโครงการหลายร้อยฉบับ และโทรศัพท์ต่อรองอีกนับครั้งไม่ถ้วน ต้องเจรจากับสภาผู้แทนรัฐเยอรมนีอย่างยืดเยื้อยาวนานถึงหกสมัยรัฐบาล และถูกปฏิเสธไปหลายต่อหลายครั้ง จนพวกเขาเกือบจะถอดใจ
แต่ในที่สุด ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ปี 1995 หลังจากการอภิปรายและโหวตกันในสภาเป็นเวลา 70 นาที สภาผู้แทนรัฐเยอรมนีก็อนุมัติให้พวกเขาดำเนินการห่ออาคารไรชส์ทาคได้ในที่สุด ด้วยข้อแม้ว่า มันจะต้องเป็นโครงการศิลปะที่ไม่มีนัยยะทางการเมืองใดๆ แอบแฝง ต้องใช้เงินส่วนตัวในการทำ และวัสดุทุกอย่างที่ใช้ทำ ต้องรีไซเคิลได้
หลังจากดิ้นรนต่อสู่เป็นเวลายาวนาน ผ่านทศวรรษที่ 70s 80s และ 90s (เรียกว่านานจนเยอรมันกลับมารวมประเทศกันแล้วน่ะนะ) การห่ออาคารไรชส์ทาค ก็ได้เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 17 มิถุนายน 1995 และเสร็จสิ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 1995
แต่ก่อนหน้านั้นพวกเขาต้องยื่นเอกสารขออนุญาตก่อสร้างจำนวน 700 หน้า ต้องติดต่อกรมตำรวจ, ตำรวจดับเพลิง, กรมควบคุมอาคาร และเทศบาลเมืองจากทั้งสองฝั่ง และยังต้องทำงานร่วมกับสถาปนิก วิศวกร และผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก รวมถึงความช่วยเหลือจากนักปีนเขาอาชีพ 90 คน และคนงานติดตั้งผลงาน 120 คน และผู้สังเกตการณ์อีกเกือบพันคน
และแล้วในที่สุด อาคารไรชส์ทาค ก็ถูกห่อด้วยผ้ากันไฟเนื้อหนาสีเทาเงินที่ทอด้วยเส้นใยโพลีโพรพิลีน เคลือบผิวด้วยอลูมิเนียมขนาด 100,000 ตารางเมตร และมัดด้วยเชือกเส้นใยโพลีโพรพิลีนสีฟ้า ขนาดเส้นผ้าศูนย์กลาง 1.26 นิ้ว ความยาว 15.6 กิโลเมตร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผ้าที่ห่อก็ไม่ได้ทำความเสียหายหรือแม้แต่สัมผัสกับอาคารเลยแม้แต่น้อย เพราะมีการติดตั้งโครงสร้างเหล็กกล้าจำนวน 220 ตัน ก่อนที่จะห่อลงไป และแน่นอนว่าวัสดุทุกอย่างที่ใช้ในการห่ออาคารนั้นถูกนำไปรีไซเคิลทั้งหมด
การห่ออาคารไรชส์ทาค ไม่เพียงเป็นผลจากความเพียรพยายามเป็นเวลา 24 ปี ในชีวิตของศิลปินทั้งคู่ที่ผลักดันให้โครงการนี้เป็นจริงขึ้นมา แต่มันยังเป็นความพยายามและการร่วมแรงร่วมใจของทีมงานอีกจำนวนนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกคนสำคัญอย่าง ไมเคิล เอส คัลเลน (Michael S. Cullen) วูลฟ์แกง และ ซิลเวีย วอลซ์ (Wolfgang & Sylvia Volz) และ โรลองต์ สเป็คเตอร์ (Roland Specker) อีกด้วย
ในประวัติศาสตร์ศิลปะที่ผ่านมา การใช้ผ้าหรือสิ่งทอ เป็นที่นิยมชมชอบในหมู่ศิลปิน นับแต่ครั้งโบราณกาลมาจนถึงยุคสมัยปัจจุบัน รูปทรงของผ้าที่พับ จับจีบ และผ้าม่าน ถูกนำเสนออย่างโดดเด่นในภาพวาดสีน้ำมัน ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังปูนเปียก ภาพนูนต่ำ และประติมากรรมที่ทำจากไม้ หิน หรือสำริด การใช้ผ้าห่ออาคารไรชส์ทาค ได้แรงบันดาลใจจากศิลปะคลาสสิคแบบประเพณีเหล่านี้ เช่นเดียวกับเสื้อผ้าอาภรณ์หรือผิวหนัง ที่เป็นสิ่งที่เปราะบาง และแสดงความหมายถึงธรรมชาติอันไม่จีรังยั่งยืนของสรรพสิ่งในโลก
ผ้าสีเทาเงินเมลืองมลังอลังการ ที่ถูกมัดเข้ารูปกับอาคารโดยเชือกสีน้ำเงิน สร้างภาพลักษณ์อันหรูหราของเส้นสายรูปทรงและรอยจีบพับของผ้า ที่ขับเน้นลักษณะและสัดส่วนอันโดดเด่นของโครงสร้างอาคาร และเปิดเผยแก่นแท้อันสำคัญยิ่งของอาคารแห่งนี้ออกมา
และเหมือนกับผลงานที่ผ่านๆ มาของเขา งบประมาณในการห่ออาคารไรชส์ทาคทั้งหมดจำนวน 15.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (ในเวลานั้น) ศิลปินทั้งคู่เป็นคนจัดหามาด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นจากการขายเอกสารวิจัยศึกษาเพื่อเตรียมโครงการ ภาพร่าง ภาพสเก็ตซ์ลายเส้น ภาพคอลลาจ โมเดลย่อส่วน รวมถึงเงินจากการขายผลงานในช่วงก่อนหน้าของเขา อย่างงานภาพพิมพ์ต่างๆ ซึ่งตัวศิลปินไม่ยอมรับเงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์ในรูปแบบใดก็ตามเลยแม้แต่น้อย และตัวศิลปินเองก็ไม่อนุญาตให้มีการหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ใดๆ ก็ตามกับผลงานชิ้นนี้ของเขาอย่างสิ้นเชิง
อาคารไรชส์ทาคถูกห่อเป็นเวลา 14 วัน มันดึงดูดผู้คนจำนวนห้าล้านคนให้เข้ามาเยี่ยมชมในช่วงเวลานั้น ถึงแม้ทางเทศบาลเมืองต้องการให้ยืดระยะเวลาการห่อต่อไปอีก แต่ทั้งคู่ก็ไม่ยินยอม และรื้อถอนมันลงมาทันทีเมื่อครบกำหนด และทั้งคู่ก็ไม่เคยทำการห่อรัฐสภาแบบนี้ที่ไหนอีกเลย อันที่จริงพวกเขาก็ไม่เคยทำงานแบบเดียวกันซ้ำสองเลยด้วยซ้ำ
ผลงานชิ้นนี้ส่งผลให้ทั้งคู่กลายเป็นศิลปินผู้มีชื่อเสียงและทรงอิทธิพลที่สุดในเยอรมนีรวมถึงในวงการศิลปะโลกจวบจนทุกวันนี้
ถึงแม้ผลงานของคริสโตและฌานน์-โคล้ดส่วนใหญ่จะมีความยิ่งใหญ่อลังการด้วยขนาดอันมหึมา และกระบวนการทำงานที่ต้องอาศัยการร่วมมือจากคนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังต้องเกี่ยวพันกับรัฐบาลและนักการเมืองต่างๆ แต่พวกเขาก็ยืนยันเป็นมั่นเหมาะว่า ทุกๆ โครงการศิลปะของพวกเขา ไม่มีความหมายอะไรมากไปกว่าความสวยงามและผลกระทบทางสุนทรียะแบบฉับพลันต่อสายตาของผู้พบเห็น เพราะจุดมุ่งหมายและเจตนารมณ์ในการทำงานศิลปะของพวกเขานั้น เพียงต้องการที่จะสร้างความงาม และความเพลิดเพลินให้กับผู้ชม และสร้างหนทางใหม่ๆ ในการมองภูมิทัศน์เดิมๆ ที่เคยคุ้นตา
และตรงกันข้ามกับภาพลักษณ์อันยิ่งใหญ่ของมัน ผลงานทุกชิ้นของเขากลับมีอายุแสนสั้น ซึ่งคริสโตกล่าวว่า “ผมเป็นศิลปิน และผมต้องมีความกล้าหาญ คุณรู้ไหมว่าผมไม่มีงานศิลปะชิ้นไหนเลยที่ยังคงหลงเหลืออยู่ มันสูญสลายหายไปทุกครั้งเมื่อถูกแสดงเสร็จ ที่เหลือเอาไว้ก็มีแค่ภาพถ่าย ภาพร่างลายเส้นและคอลลาจ (รวมถึงภาพเคลื่อนไหวที่ถูกบันทึกเอาไว้และถูกทำออกมาเป็นสารคดี) นั่นทำให้งานของผมแทบจะกลายเป็นตำนานหรือเรื่องเล่าขาน ผมคิดว่ามันต้องอาศัยความกล้าหาญอย่างยิ่งยวดในการสร้างสิ่งที่จะสูญสลายหายไป มากกว่าการสร้างสิ่งที่อยู่ยั้งยืนยงเสียอีก”
แต่ถึงแม้ทั้งคู่จะกล่าวว่างานของพวกเขามีจุดมุ่งหมายเพื่อความสวยงาม และความสุขความเพลิดเพลินของผู้ชมเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผลงานของพวกเขาจะขาดไร้ซึ่งนัยยะทางการเมืองเอาเสียเลย ดังเช่นในผลงานในปี 1962 ที่พวกเขาทำขึ้นเพื่อโต้ตอบการสร้างกำแพงเบอร์ลิน พวกเขาทำการปิดถนนวิสคงติ (Rue Visconti) ในปารีส ด้วยถังน้ำมันที่ก่อขึ้นเป็นกำแพงสูง 4 เมตร ที่ตัดขาดการคมนาคมระหว่างถนนโบนาปาร์ต (Rue Bonaparte) และถนนเดอแซน (Rue de Seine) ออกจากกันอย่างสิ้นเชิง พวกเขากล่าวว่า ม่านเหล็กอันนี้ สามารถใช้เป็นสิ่งกีดขวางในช่วงมีงานเทศกาลบนท้องถนนสาธารณะ หรือใช้ในการเปลี่ยนถนนให้เป็นทางตันได้ ซึ่งหลักการนี้สามารถนำไปใช้กับบริเวณที่กว้างใหญ่กว่านี้ หรือกับเมืองทั้งเมืองได้ และเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาเพื่อรื้อถอนงานชิ้นนี้ทิ้ง ฌานน์-โคล้ดก็ยืนหยัดปกป้องผลงานชิ้นนี้สุดฤทธิ์สุดเดช โดยเธอโต้เถียงกับเจ้าหน้าที่อย่างยืดเยื้อ เพื่อยื้อให้งานวางขวางทางเดินต่อไป แม้จะแค่อีกไม่กี่ชั่วโมงก็ยังดี
และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ถึงแม้ผลงานของพวกเขาแทบทุกชิ้นจะมีขนาดมหึมาและต้องใช้เงินทุนจำนวนมหาศาลในการสร้าง แต่ในขณะเดียวกัน พวกมันก็เป็นผลงานศิลปะบนพื้นที่สาธารณะ ที่คนทุกชนชั้นสามารถเข้าถึง ดูชม และสัมผัสมันได้อย่างเสรี โดยที่ไม่ต้องเสียสตางค์ (ยกเว้นค่าเดินทางไปชมน่ะนะ)
เช่นเดียวกับอาคารไรชส์ทาคที่คริสโตมองว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพของปวงชนชาวเยอรมันมานับตั้งแต่ครั้งที่มันถูกสร้างขึ้นมา ซึ่ง ‘เสรีภาพ’ นี่เอง ที่เป็นหัวใจสำคัญของทุกผลงานของศิลปินผู้เคยเป็นอดีตผู้ลี้ภัยการเมืองอย่างคริสโต
หลังจากการทำงานร่วมกันมาอย่างยาวนานเป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ ในที่สุด ฌานน์-โคล้ด ก็เสียชีวิตในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2009 ด้วยวัย 74 ปี ด้วยอาการแทรกซ้อนจากโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง โดยทั้งคู่ทำงานร่วมกันจนวาระสุดท้ายในชีวิตของเธอ ดังคำกล่าวของเธอที่ว่า “ศิลปินไม่มีการเกษียณหรอก พวกเขาจะหยุดทำงานศิลปะก็ต่อเมื่อเขาตายนั่นแหละ”
ปัจจุบันคริสโตในวัย 83 กำลังทำงานในโครงการศิลปะอย่างต่อเนื่องถึงสามโครงการ ที่เขาออกแบบร่วมกับฌานน์-โคล้ดผู้ล่วงลับ ในจำนวนนั้นคือผลงานประติมากรรมจัดวาง Mastaba (2018) ที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก แมสตาบา (Mastaba) หรือสุสานกษัตริย์ของอียิปต์โบราณที่เป็นต้นกำเนิดของพีระมิด ที่ประกอบด้วยถังน้ำก่อขึ้นเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมูคล้ายกับแมสตาบา โดยชิ้นที่แสดงที่ทะเลสาบเซอร์เพนไทน์ในลอนดอน ประกอบด้วยถังน้ำมัน 7,506 ถัง ในขณะที่อีกชิ้น ที่ประกอบด้วยถังน้ำมัน 410,000 ถัง กำลังวางแผนจะติดตั้งบนพื้นที่ในเมือง อัล การ์เบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งว่ากันว่ามันจะเป็นผลงานศิลปะขนาดใหญ่ที่ติดตั้งแบบถาวรชิ้นแรกของคริสโตเลยก็ว่าได้
ข้อมูล:
- http://christojeanneclaude.net/projects/wrapped-reichstag
- https://en.wikipedia.org/wiki/Christo_and_Jeanne-Claude
- https://en.wikipedia.org/wiki/Reichstag_building
- https://www.theguardian.com/artanddesign/2017/feb/07/how-we-made-the-wrapped-reichstag-berlin-christo-and-jeanne-claude-interview
- https://www.nytimes.com/1995/06/23/arts/christo-s-wrapped-reichstag-symbol-for-the-new-germany.html
- https://www.dw.com/en/how-christos-wrapped-reichstag-changed-berlins-image/a-18877643