ในตอนที่ผ่านมา เราทิ้งท้ายเอาไว้ว่า โดยลำพัง ตัวศิลปะเองอาจไม่มีพลังถึงขนาดที่จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง หรือวิกฤตการณ์ต่างๆ ในโลกได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีผลงานศิลปะของศิลปินคู่หนึ่ง ที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสภาพแวดล้อม ภูมิทัศน์ หรือแม้แต่สิ่งก่อสร้างขนาดมหึมาบนโลกของเราได้ด้วยวิธีการง่ายๆ อย่างการ ห่อ

ทั้งคู่มีชื่อว่า คริสโตและฌานน์-โคล้ด (Christo and Jeanne-Claude)

คริสโต หรือในชื่อเต็มว่า คริสโต วลาดิมีรอฟ จาวาเชฟ (Christo Vladimirov Javacheff) และ ฌานน์-โคล้ด หรือในชื่อเต็มว่า ฌานน์-โคล้ด เดอนา เด กีบง (Jeanne-Claude Denat de Guillebon) เป็นคู่สามีภรรยาศิลปินที่สร้างผลงานศิลปะในสิ่งแวดล้อม ทั้งคู่เกิดในวันเดือนปีเดียวกัน คริสโตเป็นผู้ลี้ภัยจากบัลแกเรีย ส่วนฌานน์-โคล้ด เป็นผู้อพยพมาจากโมรอคโค พวกเขาพบกันในปารีสในปี 1958 เมื่อคริสโตวาดภาพเหมือนให้แม่ของฌานน์-โคล้ด พวกเขาทั้งคู่ก็ตกหลุมรักกันผ่านการทำงานศิลปะ

พวกเขาร่วมกันทำงานศิลปะทั้งหมดด้วยกัน โดยในช่วงแรกเครดิตของงานทั้งหมดใช้ชื่อ คริสโต แต่เพียงผู้เดียว จนกระทั่งในปี 1994 พวกเขาก็เปลี่ยนมาใส่เครดิตร่วมกันว่า คริสโตและฌานน์-โคล้ดซึ่งนับย้อนหลังรวมไปถึงผลงานที่พวกเคยเขาทำที่ผ่านๆ มาด้วย ที่น่าสนใจก็คือ เวลาเดินทางโดยสารด้วยเครื่องบิน พวกเขาจะไปกันคนละลำ เผื่อในกรณีที่เครื่องบินของใครเกิดอุบัติเหตุตกจนเสียชีวิต อีกคนก็จะได้สานต่องานของกันและกันได้ (รอบคอบมากๆ)

คริสโตและฌานน์-โคล้ด เริ่มต้นทำงานศิลปะด้วยการห่อ ของเขามาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1960 โดยเริ่มแรก พวกเขาห่อของเล็กๆ อย่าง หนังสือ นิตยสาร โทรศัพท์ โต๊ะ เก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์ ถังน้ำมัน ไปจนถึงของชิ้นใหญ่ขึ้นอย่าง ยวดยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็น มอเตอร์ไซค์ รถยนต์ และถาวรวัตถุขนาดย่อมๆ อย่างต้นไม้ อนุสาวรีย์ ไปจนถึงขนาดมหึมาอย่างอาคารสำนักงาน หอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ สะพาน ไปจนถึง หุบเขา หรือแม้แต่เกาะทั้งเกาะก็ยังมี!

พวกเขาเป็นที่รู้จักในวงกว้างเป็นครั้งแรกในมหกรรมศิลปะ Documenta ครั้งที่ 4 ที่เมืองคาสเซิล ในปี 1968 จากผลงาน ห่ออากาศ หรือ 5,600 Cubicmeter Package ที่พวกเขาสร้างถุงบรรจุอากาศขนาด 5,600 ลูกบาศก์เมตร โดยเมื่ออากาศถูกบรรจุเต็มถุงจนพองตัวตั้งตรงสูงขึ้นสู่ท้องฟ้า มันมีความสูงถึง 85 เมตร และถูกทิ้งค้างเอาไว้อย่างนั้นเป็นเวลา 10 ชั่วโมง มันกลายเป็นโครงสร้างพองลม (ที่ไม่มีแกนด้านใน) ที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีการทำขึ้นมาในโลก

5,600 Cubicmeter Package (1967-68), ถ่ายภาพโดย Klaus Baum, ภาพจาก http://christojeanneclaude.net/projects/5600-cubicmeter-package

ผลงานในปี 1969 อย่าง Wrapped Coast พวกเขาห่อพื้นที่ชายฝั่งทะเล ลิตเติ้ลเบย์ ซิดนีย์ ออสเตรเลีย ระยะทางครึ่งกิโลเมตร และหน้าผาสูง 26 เมตร ด้วยผ้าใยสังเคราะห์ขนาด 95,600 ตารางเมตร และเชือกยาว 56 กิโลเมตร จนกลายเป็นผลงานศิลปะกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการสร้างมาในเวลานั้น มันมีขนาดใหญ่กว่าภูเขารัชมอร์ (Mount Rushmore) เลยด้วยซ้ำ

Wrapped Coast (1968-69), ถ่ายภาพโดย Shunk-Kender, ภาพจาก http://christojeanneclaude.net/projects/wrapped-coast

ผลงานในปี 1972 อย่าง Valley Curtain เป็นการขึงผ้าไนลอนสีส้มสดใสความยาว 18,600 ตารางเมตร ระหว่างช่องเขาไรเฟิล แกป ของเทือกเขาร็อกกี้ ในรัฐโคโลราโด โดยใช้เวลา 28 เดือนในการทำ แต่มีอายุอยู่เพียง 28 ชั่วโมงก็จำเป็นต้องรื้อถอนออก เหตุเพราะลมพายุที่รุนแรง

Valley Curtain (1970-72), ถ่ายภาพโดย Wolfgang Volz, ภาพจาก http://christojeanneclaude.net/projects/valley-curtain

ผลงานในปี 1983 อย่าง Surrounded Islands พวกเขาใช้ผ้าใยสังเคราะห์สีชมพูสดใสจำนวน 603,850 ตาราเมตร ปูเป็นพรมลอยล้อมรอบ 11 เกาะ ในอ่าวบิสเคย์ ในไมอามี เป็นเวลาสองอาทิตย์

Surrounded Islands (1980-83), ถ่ายภาพโดย Wolfgang Volz, ภาพจาก http://christojeanneclaude.net/projects/surrounded-islands

ผลงานในปี 1985 อย่าง The Pont Neuf Wrapped พวกเขาห่อ ปงเนิฟ หรือสะพานข้ามแม่น้ำแซน ที่เก่าแก่ที่สุดในปารีส ด้วยผ้าใยสังเคราะห์จนมิดไปทั้งโครงสร้างขอบ ตอม่อสะพาน และเสาไฟ (แต่ยังเหลือถนนตรงกลางเอาไว้ให้รถวิ่งได้)

The Pont Neuf Wrapped (1975-85), ถ่ายภาพโดย Wolfgang Volz, ภาพจาก http://christojeanneclaude.net/projects/the-pont-neuf-wrapped

หรือผลงานในช่วงปี 1991 อย่าง The Umbrellas ที่พวกเขาทำงานศิลปะจัดวางในรูปร่มขนาดมหึมา (ความสูง 6 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 8 เมตร) ขึ้นพร้อมๆ กันในสองประเทศ โดยร่มสีเหลืองจำนวน 1,760 คัน ถูกติดตั้งบนพื้นที่กลางแจ้งในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และร่มสีฟ้าจำนวน 1,340 คัน ถูกติดตั้งบนพื้นกลางแจ้งในจังหวัดอิบารากิ ประเทศญี่ปุ่น ผลงานนี้สะท้อนให้เห็นถึงความคล้ายคลึงและความแตกต่างในวิถีชีวิตและการใช้ประโยชน์จากที่ดินในหุบเขา ของสองประเทศที่อยู่คนละซีกโลก

The Umbrellas (1984-91), ถ่ายภาพโดย Wolfgang Volz, ภาพจาก http://christojeanneclaude.net/projects/the-umbrellas

แต่ผลงานศิลปะที่สร้างชื่อให้พวกเขาเป็นที่รู้จักมากที่สุด ก็คือ Wrapped Reichstag หรือการห่ออาคารไรชส์ทาค (Reichstag) หรือ อาคารรัฐสภาเยอรมัน อภิมหาโครงการห่อศิลปะที่พวกเขาเริ่มพัฒนาขึ้นในช่วงปี 1971 แต่กว่าจะได้รับการอนุมัติให้สร้างจริงก็ปาเข้าไปอีกยี่สิบกว่าปีให้หลัง

เนื่องด้วยในเวลานั้น อาคารไรชส์ทาค หรือในชื่อเป็นทางการว่า อาคารที่ประชุมใหญ่ไรชส์ทาค (Plenarbereich Reichstagsgebäude) นอกจากจะเป็นสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญของประเทศเยอรมนี อายุนับร้อยปี ที่สร้างขึ้นในสมัยจักรวรรดิเยอรมัน เพื่อเป็นที่ประชุมของรัฐสภาเยอรมัน ตัวอาคารยังเผชิญหน้ากับประวัติศาสตร์แห่งความเปลี่ยนแปลงและความยุ่งเหยิงอย่างต่อเนื่อง

มันถูกสร้างขึ้นใช้งานในปี 1894 และถูกวางเพลิงในปี 1933 จนสร้างความเสียหายอย่างมาก และถูกปล่อยทิ้งร้างกว่าสี่ทศวรรษ จนเมื่อมีการรวมประเทศเยอรมนีในปี 1990 ตัวอาคารก็ได้รับการบูรณะซ่อมแซมโดยสถาปนิก นอร์มัน ฟอสเตอร์ (Norman Foster) จนเสร็จสมบูรณ์ในปี 1999 และถูกใช้เป็นอาคารรัฐสภาของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมานับตั้งแต่ครั้งนั้น และมันก็ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยของเยอรมนีจวบจนถึงปัจจุบัน

ในช่วงเวลานั้น กรุงเบอร์ลินยังถูกแยกออกเป็นสองฟากฝั่ง ตะวันออกและตะวันตก สองขั้วการเมือง ระหว่างคอมมิวนิสต์และประชาธิปไตย อาคารไรชส์ทาคที่ถูกทิ้งร้างเอาไว้ เป็นอาคารเดียวที่ตั้งคร่อมอยู่ระหว่างสองฟากฝั่งของเมือง สำหรับอดีตผู้ลี้ภัยการเมืองอย่างคริสโต อาคารที่อยู่กึ่งกลางระหว่างพื้นที่สองขั้วการเมืองแห่งนี้จึงมีความหมายสำคัญกับเขาอย่างยิ่ง

แต่การขออนุญาตห่ออาคารแห่งนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายดาย อันที่จริงมันเป็นเรื่องยากจนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ พวกเขาต้องทำเรื่องขออนุญาตใช้อาคารจากรัฐบาลเยอรมันอย่างแสนยากเข็ญ ต้องหว่านล้อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายร้อยคน ต้องเขียนจดหมายอธิบายโครงการหลายร้อยฉบับ และโทรศัพท์ต่อรองอีกนับครั้งไม่ถ้วน ต้องเจรจากับสภาผู้แทนรัฐเยอรมนีอย่างยืดเยื้อยาวนานถึงหกสมัยรัฐบาล และถูกปฏิเสธไปหลายต่อหลายครั้ง จนพวกเขาเกือบจะถอดใจ

แต่ในที่สุด ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ปี 1995 หลังจากการอภิปรายและโหวตกันในสภาเป็นเวลา 70 นาที สภาผู้แทนรัฐเยอรมนีก็อนุมัติให้พวกเขาดำเนินการห่ออาคารไรชส์ทาคได้ในที่สุด ด้วยข้อแม้ว่า มันจะต้องเป็นโครงการศิลปะที่ไม่มีนัยยะทางการเมืองใดๆ แอบแฝง ต้องใช้เงินส่วนตัวในการทำ และวัสดุทุกอย่างที่ใช้ทำ ต้องรีไซเคิลได้

หลังจากดิ้นรนต่อสู่เป็นเวลายาวนาน ผ่านทศวรรษที่ 70s 80s และ 90s (เรียกว่านานจนเยอรมันกลับมารวมประเทศกันแล้วน่ะนะ) การห่ออาคารไรชส์ทาค ก็ได้เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 17 มิถุนายน 1995 และเสร็จสิ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 1995

Wrapped Reichstag (1971-95), ถ่ายภาพโดย Sylvia Volz, ภาพจาก http://christojeanneclaude.net/projects/wrapped-reichstag

แต่ก่อนหน้านั้นพวกเขาต้องยื่นเอกสารขออนุญาตก่อสร้างจำนวน 700 หน้า ต้องติดต่อกรมตำรวจ, ตำรวจดับเพลิง, กรมควบคุมอาคาร และเทศบาลเมืองจากทั้งสองฝั่ง และยังต้องทำงานร่วมกับสถาปนิก วิศวกร และผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก รวมถึงความช่วยเหลือจากนักปีนเขาอาชีพ 90 คน และคนงานติดตั้งผลงาน 120 คน และผู้สังเกตการณ์อีกเกือบพันคน

และแล้วในที่สุด อาคารไรชส์ทาค ก็ถูกห่อด้วยผ้ากันไฟเนื้อหนาสีเทาเงินที่ทอด้วยเส้นใยโพลีโพรพิลีน เคลือบผิวด้วยอลูมิเนียมขนาด 100,000 ตารางเมตร และมัดด้วยเชือกเส้นใยโพลีโพรพิลีนสีฟ้า ขนาดเส้นผ้าศูนย์กลาง 1.26 นิ้ว ความยาว 15.6 กิโลเมตร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผ้าที่ห่อก็ไม่ได้ทำความเสียหายหรือแม้แต่สัมผัสกับอาคารเลยแม้แต่น้อย เพราะมีการติดตั้งโครงสร้างเหล็กกล้าจำนวน 220 ตัน ก่อนที่จะห่อลงไป และแน่นอนว่าวัสดุทุกอย่างที่ใช้ในการห่ออาคารนั้นถูกนำไปรีไซเคิลทั้งหมด

การห่ออาคารไรชส์ทาค ไม่เพียงเป็นผลจากความเพียรพยายามเป็นเวลา 24 ปี ในชีวิตของศิลปินทั้งคู่ที่ผลักดันให้โครงการนี้เป็นจริงขึ้นมา แต่มันยังเป็นความพยายามและการร่วมแรงร่วมใจของทีมงานอีกจำนวนนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกคนสำคัญอย่าง ไมเคิล เอส คัลเลน (Michael S. Cullen) วูลฟ์แกง และ ซิลเวีย วอลซ์ (Wolfgang & Sylvia Volz) และ โรลองต์ สเป็คเตอร์ (Roland Specker) อีกด้วย

Wrapped Reichstag (1971-95), ถ่ายภาพโดย Wolfgang Volz, ภาพจาก http://christojeanneclaude.net/projects/wrapped-reichstag

ในประวัติศาสตร์ศิลปะที่ผ่านมา การใช้ผ้าหรือสิ่งทอ เป็นที่นิยมชมชอบในหมู่ศิลปิน นับแต่ครั้งโบราณกาลมาจนถึงยุคสมัยปัจจุบัน รูปทรงของผ้าที่พับ จับจีบ และผ้าม่าน ถูกนำเสนออย่างโดดเด่นในภาพวาดสีน้ำมัน ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังปูนเปียก ภาพนูนต่ำ และประติมากรรมที่ทำจากไม้ หิน หรือสำริด การใช้ผ้าห่ออาคารไรชส์ทาค ได้แรงบันดาลใจจากศิลปะคลาสสิคแบบประเพณีเหล่านี้ เช่นเดียวกับเสื้อผ้าอาภรณ์หรือผิวหนัง ที่เป็นสิ่งที่เปราะบาง และแสดงความหมายถึงธรรมชาติอันไม่จีรังยั่งยืนของสรรพสิ่งในโลก

ผ้าสีเทาเงินเมลืองมลังอลังการ ที่ถูกมัดเข้ารูปกับอาคารโดยเชือกสีน้ำเงิน สร้างภาพลักษณ์อันหรูหราของเส้นสายรูปทรงและรอยจีบพับของผ้า ที่ขับเน้นลักษณะและสัดส่วนอันโดดเด่นของโครงสร้างอาคาร และเปิดเผยแก่นแท้อันสำคัญยิ่งของอาคารแห่งนี้ออกมา

และเหมือนกับผลงานที่ผ่านๆ มาของเขา งบประมาณในการห่ออาคารไรชส์ทาคทั้งหมดจำนวน 15.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (ในเวลานั้น) ศิลปินทั้งคู่เป็นคนจัดหามาด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นจากการขายเอกสารวิจัยศึกษาเพื่อเตรียมโครงการ ภาพร่าง ภาพสเก็ตซ์ลายเส้น ภาพคอลลาจ โมเดลย่อส่วน รวมถึงเงินจากการขายผลงานในช่วงก่อนหน้าของเขา อย่างงานภาพพิมพ์ต่างๆ ซึ่งตัวศิลปินไม่ยอมรับเงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์ในรูปแบบใดก็ตามเลยแม้แต่น้อย และตัวศิลปินเองก็ไม่อนุญาตให้มีการหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ใดๆ ก็ตามกับผลงานชิ้นนี้ของเขาอย่างสิ้นเชิง

อาคารไรชส์ทาคถูกห่อเป็นเวลา 14 วัน มันดึงดูดผู้คนจำนวนห้าล้านคนให้เข้ามาเยี่ยมชมในช่วงเวลานั้น ถึงแม้ทางเทศบาลเมืองต้องการให้ยืดระยะเวลาการห่อต่อไปอีก แต่ทั้งคู่ก็ไม่ยินยอม และรื้อถอนมันลงมาทันทีเมื่อครบกำหนด และทั้งคู่ก็ไม่เคยทำการห่อรัฐสภาแบบนี้ที่ไหนอีกเลย อันที่จริงพวกเขาก็ไม่เคยทำงานแบบเดียวกันซ้ำสองเลยด้วยซ้ำ

ผลงานชิ้นนี้ส่งผลให้ทั้งคู่กลายเป็นศิลปินผู้มีชื่อเสียงและทรงอิทธิพลที่สุดในเยอรมนีรวมถึงในวงการศิลปะโลกจวบจนทุกวันนี้

ถึงแม้ผลงานของคริสโตและฌานน์-โคล้ดส่วนใหญ่จะมีความยิ่งใหญ่อลังการด้วยขนาดอันมหึมา และกระบวนการทำงานที่ต้องอาศัยการร่วมมือจากคนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังต้องเกี่ยวพันกับรัฐบาลและนักการเมืองต่างๆ แต่พวกเขาก็ยืนยันเป็นมั่นเหมาะว่า ทุกๆ โครงการศิลปะของพวกเขา ไม่มีความหมายอะไรมากไปกว่าความสวยงามและผลกระทบทางสุนทรียะแบบฉับพลันต่อสายตาของผู้พบเห็น เพราะจุดมุ่งหมายและเจตนารมณ์ในการทำงานศิลปะของพวกเขานั้น เพียงต้องการที่จะสร้างความงาม และความเพลิดเพลินให้กับผู้ชม และสร้างหนทางใหม่ๆ ในการมองภูมิทัศน์เดิมๆ ที่เคยคุ้นตา

และตรงกันข้ามกับภาพลักษณ์อันยิ่งใหญ่ของมัน ผลงานทุกชิ้นของเขากลับมีอายุแสนสั้น ซึ่งคริสโตกล่าวว่า ผมเป็นศิลปิน และผมต้องมีความกล้าหาญ คุณรู้ไหมว่าผมไม่มีงานศิลปะชิ้นไหนเลยที่ยังคงหลงเหลืออยู่ มันสูญสลายหายไปทุกครั้งเมื่อถูกแสดงเสร็จ ที่เหลือเอาไว้ก็มีแค่ภาพถ่าย ภาพร่างลายเส้นและคอลลาจ (รวมถึงภาพเคลื่อนไหวที่ถูกบันทึกเอาไว้และถูกทำออกมาเป็นสารคดี) นั่นทำให้งานของผมแทบจะกลายเป็นตำนานหรือเรื่องเล่าขาน ผมคิดว่ามันต้องอาศัยความกล้าหาญอย่างยิ่งยวดในการสร้างสิ่งที่จะสูญสลายหายไป มากกว่าการสร้างสิ่งที่อยู่ยั้งยืนยงเสียอีก

แต่ถึงแม้ทั้งคู่จะกล่าวว่างานของพวกเขามีจุดมุ่งหมายเพื่อความสวยงาม และความสุขความเพลิดเพลินของผู้ชมเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผลงานของพวกเขาจะขาดไร้ซึ่งนัยยะทางการเมืองเอาเสียเลย ดังเช่นในผลงานในปี 1962 ที่พวกเขาทำขึ้นเพื่อโต้ตอบการสร้างกำแพงเบอร์ลิน พวกเขาทำการปิดถนนวิสคงติ (Rue Visconti) ในปารีส ด้วยถังน้ำมันที่ก่อขึ้นเป็นกำแพงสูง 4 เมตร ที่ตัดขาดการคมนาคมระหว่างถนนโบนาปาร์ต (Rue Bonaparte) และถนนเดอแซน (Rue de Seine) ออกจากกันอย่างสิ้นเชิง พวกเขากล่าวว่า ม่านเหล็กอันนี้ สามารถใช้เป็นสิ่งกีดขวางในช่วงมีงานเทศกาลบนท้องถนนสาธารณะ หรือใช้ในการเปลี่ยนถนนให้เป็นทางตันได้ ซึ่งหลักการนี้สามารถนำไปใช้กับบริเวณที่กว้างใหญ่กว่านี้ หรือกับเมืองทั้งเมืองได้ และเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาเพื่อรื้อถอนงานชิ้นนี้ทิ้ง ฌานน์-โคล้ดก็ยืนหยัดปกป้องผลงานชิ้นนี้สุดฤทธิ์สุดเดช โดยเธอโต้เถียงกับเจ้าหน้าที่อย่างยืดเยื้อ เพื่อยื้อให้งานวางขวางทางเดินต่อไป แม้จะแค่อีกไม่กี่ชั่วโมงก็ยังดี

และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ถึงแม้ผลงานของพวกเขาแทบทุกชิ้นจะมีขนาดมหึมาและต้องใช้เงินทุนจำนวนมหาศาลในการสร้าง แต่ในขณะเดียวกัน พวกมันก็เป็นผลงานศิลปะบนพื้นที่สาธารณะ ที่คนทุกชนชั้นสามารถเข้าถึง ดูชม และสัมผัสมันได้อย่างเสรี โดยที่ไม่ต้องเสียสตางค์ (ยกเว้นค่าเดินทางไปชมน่ะนะ)

เช่นเดียวกับอาคารไรชส์ทาคที่คริสโตมองว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพของปวงชนชาวเยอรมันมานับตั้งแต่ครั้งที่มันถูกสร้างขึ้นมา ซึ่ง เสรีภาพนี่เอง ที่เป็นหัวใจสำคัญของทุกผลงานของศิลปินผู้เคยเป็นอดีตผู้ลี้ภัยการเมืองอย่างคริสโต

หลังจากการทำงานร่วมกันมาอย่างยาวนานเป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ ในที่สุด ฌานน์-โคล้ด ก็เสียชีวิตในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2009 ด้วยวัย 74  ปี ด้วยอาการแทรกซ้อนจากโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง โดยทั้งคู่ทำงานร่วมกันจนวาระสุดท้ายในชีวิตของเธอ ดังคำกล่าวของเธอที่ว่า ศิลปินไม่มีการเกษียณหรอก พวกเขาจะหยุดทำงานศิลปะก็ต่อเมื่อเขาตายนั่นแหละ

ปัจจุบันคริสโตในวัย 83 กำลังทำงานในโครงการศิลปะอย่างต่อเนื่องถึงสามโครงการ ที่เขาออกแบบร่วมกับฌานน์-โคล้ดผู้ล่วงลับ ในจำนวนนั้นคือผลงานประติมากรรมจัดวาง Mastaba (2018) ที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก แมสตาบา  (Mastaba) หรือสุสานกษัตริย์ของอียิปต์โบราณที่เป็นต้นกำเนิดของพีระมิด ที่ประกอบด้วยถังน้ำก่อขึ้นเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมูคล้ายกับแมสตาบา โดยชิ้นที่แสดงที่ทะเลสาบเซอร์เพนไทน์ในลอนดอน ประกอบด้วยถังน้ำมัน 7,506 ถัง ในขณะที่อีกชิ้น ที่ประกอบด้วยถังน้ำมัน 410,000 ถัง กำลังวางแผนจะติดตั้งบนพื้นที่ในเมือง อัล การ์เบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งว่ากันว่ามันจะเป็นผลงานศิลปะขนาดใหญ่ที่ติดตั้งแบบถาวรชิ้นแรกของคริสโตเลยก็ว่าได้

The Serpentine Mastaba (2018) ถ่ายภาพโดย David Hawgood, ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Christo_and_Jeanne-Claude

ข้อมูล:

Tags: , , , , , , , , , , , , ,