นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. พรรคเพื่อไทย จังหวัดน่าน เป็นอีกหนึ่งคนที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น ‘ดาวสภา’ ในการอภิปรายในสภาที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาได้รับตำแหน่งนี้ ย้อนไปเมื่อปี 2552 ชลน่าน ซึ่งขึ้นมาทำงานเป็นกำลังหลักของพรรคเพื่อไทย หลังจากพรรคไทยรักไทยถูกยุบไปในปี 2549 ก็ได้รับการขนานนามว่าเป็นดาวสภาแห่งปี โดยสื่อมวลชนเช่นเดียวกัน

จากการเข้ามาทำงานในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในปี 2544 เป็นทั้งเลขาวิปรัฐบาลและฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่หล่อหลอมให้เขาก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับความไว้วางใจให้ขึ้นอภิปรายในประเด็นที่สำคัญ และแม้เวลาจะผ่านไปกว่า 10 ปีแล้ว แต่ชลน่านยังคงครองตำแหน่งดาวสภาได้เช่นเดิม แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าตำแหน่งก็คือ การอภิปรายในสภานั้นมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง อย่างไรถึงจะเรียกว่าเป็นดาวสภาในความหมายของเขา และการจะก้าวสู่การเป็นดาวสภา หรือผู้อภิปรายที่ดีในสภาต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง

นักการเมืองที่จะอภิปรายในสภา เขาคัดเลือกกันอย่างไรครับ 

จริงๆ มันมีกระบวนการขั้นตอนค่อนข้างมากพอสมควร ในการอบรมบ่มเพาะคนที่จะเข้ามาทำงานในสิ่งนั้นๆ แต่เอาสั้นๆ ว่าเมื่อมีประเด็นหรือมีญัตติสู่สภาแล้ว เราต้องเตรียมความพร้อมคัดเลือกบุคคลหรือสมาชิกของเราเข้าไปทำหน้าที่ โดยเฉพาะกรณีที่เป็นเรื่องสำคัญนะครับ เช่น การแถลงนโยบาย การอภิปรายไม่ไว้วางใจ การอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ หรือประเด็นอื่นๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญ 

เราจะดูว่า หนึ่ง เรื่องนั้นๆ มีความจำเป็นสำคัญขนาดไหน ที่จะต้องอภิปราย จะลงรายละเอียดมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ดูที่ประเด็นก่อน สอง เมื่อดูประเด็นแล้ว ขั้นตอนต่อไปเราก็จะเลือกคนว่าใครจะเป็นผู้อภิปราย โดยหลักแล้วเราให้สิทธิ์สมาชิกผู้ที่มีความสนใจแจ้งความจำนงเข้ามา โดยการแบ่งกลุ่มก่อน เช่น การอภิปรายที่ผ่านมาเราแบ่งออกเป็น 6 ประเด็น อาทิ ความมั่นคง มิติทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ ก็ให้สมาชิกมาแจ้งความจำนงพร้อมกับประเด็นของตัวเอง ซึ่งก็ได้มาเกือบ 100 คนนะครับ เพราะเรามี ส.. 136 คน 

หลังจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการคัดเลือก ไม่ได้เป็นลักษณะแบบแผนอะไรชัดเจนนะ แต่ว่าเราเองมีทีมงานที่ปรึกษา หรือคนที่มีความรู้ประสบการณ์ในเรื่องนั้นๆ เช่น เรื่องการเมือง ก็จะมีผู้อาวุโสที่เป็นอดีต ส.. เป็นอดีตรัฐมนตรี ที่มีความเชี่ยวชาญชำนาญช่ำชองในเรื่องเกี่ยวกับการเมืองทั้งหมด เป็นเสมือนที่ปรึกษา คนเหล่านี้เขาก็จะมาเป็นผู้ดูสมาชิกแต่ละท่านที่สมัครเข้ามา สุดท้ายก็จะคัดเลือกบุคคลเรียงลำดับเอาไว้ แต่ละกลุ่มก็จะทำแบบนี้ครับ 

หลังจากนั้นเราก็จะมาดูเวลาที่เราได้ทั้งหมด เอาเวลาที่เราได้มาบริหารจัดการมาเกลี่ยเฉลี่ยกันว่า แต่ละบุคคลควรได้เวลาเท่าไร แต่ละคนจะได้ไม่เท่ากันขึ้นกับเนื้องานที่เขากำหนดประเด็นเรามา ซึ่งทางวิปรัฐบาลจะเป็นผู้กำหนด ทีนี้แนวทางการทำหน้าที่ในสภามันเหมือนกับเราเล่นฟุตบอล ถ้าเปรียบเทียบง่ายๆ นะ สตาฟฟ์โค้ช ผู้จัดการ ทีมงาน ทุกอย่างต้องมาวางแผนทั้งหมดว่า จะวางแนวการเล่นอย่างไร จะรุกเมื่อไร จะรับเมื่อไร ผู้เล่นควรจะเป็นใคร เกมเป็นลักษณะไหน มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ 

การคัดเลือกผู้เล่นหรือผู้อภิปรายขึ้นกับว่าเราจะเน้นประเด็นไหนนำก่อน เช่น ขณะนี้ปัญหาเรื่องทางด้านการเมืองหนัก เราอาจจะเปิดประเด็นด้วยการเมือง ก็เอาผู้ที่ได้รับการคัดเลือกในกลุ่มการเมืองขึ้นมานำ เป็นไม้ 1 ไม้ 2 ไม้ 1 คือท่านผู้นำฝ่ายค้าน ไม้ 2 เรื่องมิติทางการเมือง เพราะฉะนั้นในแต่ละกลุ่มก็จะมีไม้ 1 ของกลุ่ม ไม้ 2 3 4 ว่ากันไป 

กลุ่มที่สองเรียกเก็บตกเก็บตกข้อมูลมาจากฝ่ายรัฐบาลที่เขาอภิปรายมา เพื่อนำมาเติมเต็มในการที่จะหักล้าง อาจจะเป็นไม้ 2 ไม้ 3 ของเราที่วางไว้ก็ได้ หรือตั้งขึ้นมาเฉพาะเพื่อจะเก็บประเด็นและหักล้างโดยเฉพาะ เราไม่อยากใช้คำว่าทีมประท้วงนะ แต่เราต้องตั้งทีมไว้เพื่อควบคุมการทำงานในสภาที่หน้างาน เช่น ทำถูกต้องตามข้อบังคับไหม ประธานทำหน้าที่ถูกต้องไหม ฝ่ายรัฐบาลพูดนอกประเด็นหรือเปล่า กล่าวหาโจมตีไหม ซึ่งจำเป็นมากนะครับ เราต้องมีทีมนี้ไว้ มอบหมายเป็นบุคคลๆ ไป 

ส่วนทีมอื่นๆ เช่นทีมสนับสนุนเราจะมี .. สมาชิกเราอยู่ในห้องประชุม โดยการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไม่ให้ห้องประชุมดูโล่งว่าง และช่วยกันเก็บประเด็น ฉะนั้นถ้าใครไปจะไปไหน จะต้องมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกัน

การทำหน้าที่ในสภาทั้งหมด ถามว่าพอไหมในยุคนี้ ไม่พอหรอกครับ เรามีทีมสนับสนุนนอกสภาอีก เป็นทีมที่ปรึกษาในแต่ละกลุ่ม ก็จะมีศูนย์ทำงานคล้ายๆ กับเป็นวอร์รูมของพรรค จะนั่งมอนิเตอร์ ติดตามการทำงานทำหน้าที่ของสมาชิกที่อยู่ในห้อง พร้อมที่จะส่งข้อมูลข่าวสารตลอด พูดง่ายๆ เหมือนโค้ช ถ้าเล่นอย่างนี้ จังหวะนี้ต้องปรับเปลี่ยน อะไรประมาณนี้ เพราะฉะนั้นการอภิปรายไม่ใช่ว่าคนใดคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาพูดก็ได้ ไม่ใช่นะครับ มันเป็นหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายและผ่านการตรวจสอบมาแล้ว 

การอภิปรายไม่ใช่ว่าคนใดคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาพูดก็ได้ มันเป็นหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายและผ่านการตรวจสอบมาแล้ว 

ผู้เริ่มกับผู้จบคือหมัดเด็ดของการอภิปรายใช่ไหมครับ

การอภิปรายทุกครั้งจะมีผู้สรุปครับ โดยเฉพาะญัตติที่จำเป็น เพราะในข้อบังคับเขียนไว้ชัดเจนว่ามีผู้อภิปรายสรุปเป็นผู้พูดสุดท้าย ฝ่ายอื่นจะลุกขึ้นมาไม่ได้แล้ว จบแค่นั้น ยิ่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจนี่ยิ่งขีดเส้นใต้เลย ผู้อภิปรายสรุปถือว่าเป็นไม้เด็ดเลย เก็บมาสรุปทั้งหมดโดยที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่สามารถลุกขึ้นมาโต้แล้ว เพราะการอภิปรายเป็นการยุติ เหลือแต่ผู้อภิปรายสรุปเท่านั้น แต่ญัตติทั่วไปไม่ได้เน้นตรงนี้มากนัก ซึ่งเราก็จะวางตัวไว้

นอกจากนั้นเดี๋ยวนี้ช่องทางมันมีเยอะ นอกจากวิทยุ ทีวี แต่เดี๋ยวนี้มีสื่อสังคมออนไลน์ แพลตฟอร์มต่างๆ การถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ทำให้สามารถติดตามการประชุมสภาได้ ประชาชนนั่งดูการประชุม เขาสามารถส่งข้อมูลในสิ่งที่เขาต้องการได้เลย อย่างผมเองเขาก็ส่งมาในทวิตเตอร์ ห้องมอนิเตอร์ของเราก็เอาสิ่งเหล่านี้มาดูว่า จำเป็นหรือสมควรที่จะต้องนำเสนอไหม ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ .. แต่ละท่าน อย่างผมเองก็เอามาสะท้อนในขณะที่ขึ้นพูดเลย เป็นกระบวนการการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนเสมือนเป็นการประชุมทางตรง เหมือนเรื่องเด็กกำลังถูกทำโทษหน้าห้องนั่นก็มาจากทวิตเตอร์ ฉะนั้น การประชุมสภายุคนี้ทำอะไรที่ผิดแผกแตกต่างไปจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ข้อบังคับวิถีประเพณีวัฒนธรรมที่ดีทำได้ยาก เพราะว่าคนเฝ้ามองตลอด และที่สำคัญเขาก็จะดูว่า ทำหน้าที่แทนเขาได้ดีไหม

ไม้ 1 หรือไม้ 2 ต้องพูดเก่งใช่ไหมครับ 

ก็ต้องยอมรับนะครับว่ามันเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นเลย คำว่าพูดเก่งนี่หมายถึงการนำเสนอ ท่วงที ท่าทาง ทำนอง จังหวะจะโคนต่างๆ นะครับ พูดเก่งโดยที่ไม่ต้องเห็นภาพเลย อันนั้นอีกเรื่องหนึ่ง หรือพูดเก่งโดยการใช้การอ่านนั่นอีกเรื่องหนึ่งนะครับ เรายอมรับในศักยภาพของแต่ละท่าน บางท่านอาจจะต้องมีโพยที่จะต้องอ่าน บางท่านพูดโดยไม่จำเป็นต้องมีโพยเลย มีแต่ประเด็น หัวข้อ โน้ตไว้ว่าจะพูดประเด็นอะไรบ้างก็สามารถเชื่อมโยงร้อยเรียงกันเป็นสตอรี่จบได้ เพราะฉะนั้นการพูดเก่งเป็นคุณสมบัติเบื้องต้น 

แต่ต้องพูดเก่งในมุมที่จำเป็นด้วย ก็คือทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย เพราะเราเองไม่ได้สื่อสารเฉพาะให้ประธานและสมาชิกฟังเท่านั้น เราสื่อสารให้กับพี่น้องประชาชนคนที่เป็นเจ้าของอำนาจฟังด้วย เพราะฉะนั้นการสื่อสารในสภาต้องเป็นไปตามระบบระเบียบ เพราะเรามีข้อบังคับการประชุม 

พูดเก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องพูดให้มีสาระและอยู่ในกติกา คือระเบียบข้อบังคับ ถ้าคุณพูดไปเรื่อยเปื่อย คุณโดนประท้วงทักท้วง เสียเวลาสภาอีก พูดหยาบคาย พูดเท็จ ก็มีปัญหาอีก ไปกล่าวหากล่าวร้ายคนอื่น เอกสิทธิ์ไม่คุ้มครองนะครับ เอกสิทธิ์คุ้มครอง ส.. ให้ทำหน้าที่ได้เต็มที่ในสภา การพูด การแสดงความเห็น การลงมติ การอภิปรายใดๆ ทำได้หมด โดยเฉพาะถ้าเป็นรัฐมนตรี 

แต่ถ้าบุคคลอื่นที่ไม่ใช่รัฐมนตรี คุณไปกล่าวหากล่าวร้ายเขาไม่ได้ ไปกล่าวถึงบุคคลภายนอกไม่ได้ เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง ยิ่งถ้ามีความผิด เขาฟ้องคุณคุณก็ต้องรับผิดชอบ เพราะการประชุมมันเป็นการประชุมแบบเปิดเผย มีการถ่ายทอดออกไป 

เรื่องพูดเก่งก็เป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่ง แต่ประสบการณ์ ผลงาน ความรู้ความสามารถที่สั่งสมมาเป็นองค์ประกอบสำคัญ เพราะว่าการอภิปรายในสภา สังเกตผู้อภิปรายหลักๆ ของเราจะไม่ได้อ่านโพย แต่จะออกมาจากหัวใจ สมอง แล้วก็ปากเรา เพราะฉะนั้นต้องอาศัยประสบการณ์ อาศัยการทำงานมาพอสมควร 

เรื่องพูดเก่งก็เป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่ง แต่ประสบการณ์ ผลงาน ความรู้ความสามารถที่สั่งสมมาเป็นองค์ประกอบสำคัญ 

จะเห็นว่าเพื่อไทยก็มีคุณหมอชลน่านกับคุณจิรายุ (ห่วงทรัพย์) 2 คน เป็นหลักที่รับส่งไม้กัน อยากรู้ว่าแบ่งแยกหน้าที่กันอย่างไร

เรามีกรรมการประสานงานหรือวิปครับ วิปจะเป็นคนกำหนด จริงๆ มีหลายคนนะครับ ดร.สุทิน คลังแสง นี่เป็นขุนพลของพรรคเราเลย หลายญัตติเราให้คุณสุทินเป็นผู้สรุป หรือบางครั้งก็เป็นคุณจิรายุเป็นผู้สรุป หลายญัตติผมเองเป็นคนเปิด ในขณะที่ยังไม่มีผู้นำฝ่ายค้าน อย่างเช่น อภิปรายแถลงนโยบาย หลังจากที่ท่านผู้นำฝ่ายค้านขึ้นแล้ว สิ่งที่เราต้องคำนึงคือเราเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน เราก็ต้องให้เกียรติให้สิทธิ์กับพรรคอื่นด้วย แทนที่เราจะเป็นไม้ 2 เลย เราก็ต้องให้เกียรติพรรคอื่น เพราะฉะนั้นอาจารย์ปิยบุตร (แสงกนกกุล) จึงขึ้นมาก่อนผม หลังจากนั้นก็เป็นผม เป็นทีมพรรคเพื่อไทย

.. รุ่นใหม่มีสิทธิ์ที่จะได้เป็นตัวแทนในการอภิปรายไหมครับ

มีสิทธิ์ครับ เราให้เกียรติ เราให้โอกาสนะ พรรคเพื่อไทยเรามีหลักสูตรการเรียนรู้ ฝึกอบรมกับสมาชิกรุ่นใหม่ ทั้งกฎระเบียบข้อบังคับ วิธีการในสภาทั้งหมด จะมีการอบรม ให้เขาเข้าใจ ทำไมต้องทำอย่างนี้ คือคนไม่รู้ไม่เข้าไปมันไม่รู้จริงๆ บางคนเป็น ส.. มา 2 สมัย ยังไม่รู้เลยว่าวิธีการพิจารณากฎหมาย ร่างกฎหมายหรือคำว่าแปรญัตติคืออะไร สงวนความเห็นคืออะไร อันนี้อภิปรายได้ไหม เราก็ต้องเอาสิ่งเหล่านี้มาบอก มาแนะนำ มาชี้ให้สมาชิกเราที่เข้ามาใหม่เห็นว่ามันจะต้องทำอย่างไร 

มีการฝึกการอภิปราย ฝึกถามกระทู้ ฝึกการอภิปรายญัตติ อภิปรายกฎหมาย ซึ่งแตกต่างกันนะครับ เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกสมาชิกเรา สมาชิกเราหลายคนที่เป็นคนรุ่นใหม่ แล้วก็สามารถมายืนแถวหน้าเลย ยืนหนึ่งได้เลยอย่าง น้องน้ำ จิราพร สินธุไพร หลายล้านวิวเลยนะคลิปที่เผยแพร่ออกไปเวลาเขาพูด ตอนที่เขาพูดอาจจะมีคนฟังไม่กี่ล้านคน แต่ถ้าเรานำเอาสิ่งที่พูดเหล่านั้นมาเผยแพร่ต่อ มันก็เป็นการตอกย้ำในสิ่งที่สมาชิกได้นำเสนอให้กว้างขวางมากขึ้น เพื่อไทยเราจะมีทีมงานทำเรื่องนี้ พูดในสภาเสร็จ ทีมงานมีคลิปออกทันทีเลย 

คนรุ่นใหม่มีโอกาสแน่นอน เพราะว่าเราวางแนวไว้อย่างนี้ ให้เขาทำงานจริงเลย ฝ่ายค้านเราได้โควต้าวันละ 20 คน ก็มาแบ่งกัน เพื่อไทยได้ 11 คน เราก็มาแบ่งในพรรคเรา หมุนเวียนกันแค่ 2 นาที คุณต้องพูดให้จบ มันก็เป็นการฝึกอีกอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะปัญหาความเดือดร้อนก็เป็นการฝึกสมาชิกใหม่ให้มีโอกาสได้พูดในสภา จริงอยู่เขาอาจจะไม่ได้อยู่แถวหน้า เป็นผู้เล่นแถวกองกลาง แต่ก็คอยป้อน คอยส่ง คอยเติมเต็มประเด็นที่สำคัญให้กับกองหน้าได้ 

ตอนคุณหมอเป็น ส..สมัยแรก ได้ขึ้นอภิปรายเลยไหมครับ

มันนานแล้วนะ (หัวเราะ) ผมเป็นผู้แทนครั้งแรกเมื่อ 6 มกราคม 2544 เลือกตั้งครั้งแรกในนามพรรคไทยรักไทย ตอนนั้นแม้กระทั่งคำว่ากฎหมายมหาชนผมยังไม่รู้จักเลย โชคดีที่ได้นั่งใกล้กับท่านสามารถ ท่านสงวน พงษ์มณี เขาเป็นอดีต ... มาก่อน เพราะว่าในสภาใช้รัฐธรรมนูญกับข้อบังคับเยอะมาก อาศัยนั่งเรียนรู้ไปเรื่อยๆ 

ช่องทางในการที่จะอภิปรายในช่วงที่ผมเป็น ส.. สมัยแรก กับยุคนี้ต่างกัน ยุคนี้ถือว่าเปิดช่องเยอะมาก การหารือเรามาเขียนข้อบังคับทีหลัง ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระ ประธานจะอนุญาตให้สมาชิกได้นำเอาปัญหาความเดือดร้อนของพื้นที่มาหารือ ซึ่งเขียนไว้ในข้อบังคับ เมื่อก่อนจะเป็นการยกมือขึ้น แล้วประธานจะอนุญาตไม่อนุญาตแล้วแต่โดยไม่มีข้อบังคับรองรับ ฉะนั้นช่องทางสมัยก่อนค่อนข้างน้อย 

แต่ผมเองเป็นคนสนใจเรื่องพวกนี้อยู่แล้วไง เวลากฎหมายเข้า ช่องมันเยอะ จึงมีการแก้ไข สิทธิ์ของสมาชิก มีการแปรญัตติ เสนอกระทู้เขียนญัตติ มันก็เลยทำให้เราได้อภิปราย ช่วงที่ผมต้องทำงานหนักคือหลังจากที่พรรคไทยรักไทยถูกยุบ หลังจากปี 2549 มือดีๆ เก่งๆ ของเราร่วงหมดไง ไม่ได้เข้าสภาเลย มันก็เหลือแถว 2 แถว 3 แล้ว สมัยนั้นผมอยู่แถว 3 เลยนะ แถว 1 แถว 2 ถูกตัดสิทธิ์ไปเกือบหมด มันก็เลยเป็นเหมือนสภาพบังคับให้เราต้องทำงานหนัก เลยทำให้ได้โอกาสเยอะแล้วตอนนั้นผมก็เป็นเลขาวิปด้วย เลยได้โอกาสในการอภิปรายในสภาเยอะหน่อย จนสื่อมวลชนให้ฉายาเป็นดาวสภาในปี 2552

ตอนนั้นได้รับมอบหมายให้ดูแลประเด็นอะไรเป็นพิเศษครับ

ผมทำหน้าที่เป็นเลขาวิปมาตลอดตั้งแต่เป็น ส.. ชอบก็เลยอาสามาทำงาน เป็นวิปรัฐบาลเป็นหลัก แล้วก็มาเป็นวิปฝ่ายค้านเมื่อปี 2552 วิปก็จะมีหน้าที่เอาประเด็นทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดจากการส่งต่อการประชุมร่วมระหว่างรัฐบาล ที่รัฐบาลจะนำเข้าสู่สภาเข้ามาสู่การประชุม ผมจะมีหน้าที่เอาประเด็นเหล่านั้นมาบอกกับสมาชิก ส่วนประเด็นเฉพาะของผมก็คือด้านการสาธารณสุข เพราะผมเป็นกรรมาธิการสาธารณสุขในตอนนั้น ถ้ามีประเด็นด้านสาธารณสุข ประเด็นด้านสังคม ส่วนใหญ่พรรคก็จะมอบหมายให้ผมครับ 

รู้สึกอย่างไรบ้างกับคำว่า ดาวสภา 

ถือว่าเป็นความภูมิใจของเราที่เราได้ทำงาน แล้วก็เป็นที่ยอมรับของมิติเชิงสังคมนะครับ สื่อก็เป็นบุคคลกลุ่มหนึ่ง เป็นฐานันดรที่ 4 ที่มีผลมีอิทธิพลต่อสังคมมาก สามารถชี้นำได้ สามารถที่จะให้ข้อมูลต่างๆ กับสังคมโดยรวมได้ ถ้าเขาให้เกียรติเราอย่างนี้ มันก็ยิ่งเป็นเหมือนโซ่ผูกมัดให้เราต้องอยู่ในกติกา อยู่ในหน้าที่ที่สมควรตามที่เขาให้เกียรติมา มันเหมือนกับเอาภูเขามาทับเรานะ เราจะผลักภูเขานี้ หรืออยู่กับภูเขานี้ให้มันรอดได้อย่างไร

อยากรู้ว่าทุกๆ ครั้งที่ต้องอภิปรายประเด็นสำคัญ คนที่อภิปรายหรือรับผิดชอบประเด็นนั้น จะมีการเตรียมการอะไรไว้ก่อนไหม เพื่อให้มันดัง

ถ้าเทียบกับสมัยนี้อาจจะน้อยกว่านะครับ เพราะสื่อสมัยนี้มันเอื้อ พอเราประดิษฐ์คำคำหนึ่งออกมา อย่างที่สมาชิกพรรคอนาคตใหม่เขาเสนอเรื่องกรรมาธิการของ LGBT คุณธัญญ์วาริน สุขะพิศิษฐ์ เขาพูดออกมาว่าถูกฆ่าความฝันซึ่งเขาหมายความว่า การที่เขาฝันที่จะเป็น .. ฝันที่จะเป็นนายกฯ มันยากมาก เขาใช้คำว่ากะเทยฝันจะเป็นนายกฯ ไม่ได้เหรอคะ มีใครยอมรับพอไม่มีคนยอมรับ นี่คือการฆ่าความฝันเขาไปโดยปริยายเลย คำเหล่านี้ฟังเผินๆ มันเสมือนเป็นการประดิษฐ์คำ แต่ที่จริงมันสื่อถึงเรื่องราวของเขานะ 

อีกอย่างสมัยนี้มันมันค่อนข้างง่ายที่พูดอะไรแล้วจะกลายเป็นเทรนด์ เพราะว่าการรับรู้ การสื่อสาร การดูแนวโน้ม ดูเทรนด์มันเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ เห็นแนวโน้มได้ บางคนไม่สนใจเลยว่ามันจะออกมาในมุมดีมุมร้าย ขอออกหน้าสื่อไว้ก่อน สมัยก่อนอาจจะมีบ้างแต่ค่อนข้างยาก เพราะว่าสื่อมันมีเฉพาะสื่อกระแสหลัก ยกเว้นว่าเขามีความผูกพัน ความเชื่อมโยง แล้วก็ส่งลูกกัน แต่ถ้าเป็นไปโดยไม่มีการบริหารจัดการกันไว้ มันก็ยากนะที่คำพูดเราจะไปขึ้นหน้าหนึ่ง (ในสมัยนั้น) ยกเว้นเป็นประเด็นใหญ่จริงๆ 

สำหรับผมเอง ผมไม่ค่อยคิด ยอมรับเลยว่าไม่เคยคิดว่าจะต้องพูดคำไหน สร้างคำไหนขึ้นมาเพื่อที่จะได้อยู่ในหน้าสื่อ แม้กระทั่งปัจจุบันนี้ ทางทีมงานก็พูดกับผมเหมือนกันว่า ต้องหานะ ต้องวางนะ ต้องมีนะ ไม่ใช่ว่าต้องขึ้นหน้าหนึ่งหรือเป็นเทรนด์ แต่สื่อจะได้เอาไปขยายได้ง่าย เรามองมุมบวกอย่างนั้นมากกว่า คือถ้าสื่อเขาจับประเด็นได้ เขาก็ขยายง่าย ผมมองในเรื่องทักษะของการสื่อสารมากกว่าครับ 

กรอบหรือลิมิตในการที่เราจะเล่นกับการพูด การเสียดสีในสภา มีอย่างไรบ้างครับ

ผมจะระมัดระวังมากในเรื่องนี้ จะหลีกเลี่ยงคำพูดที่ฟุ่มเฟือยเสียดสี กระทบกระทั่งกัน ผมจะไม่มี เพราะผมถือเป็นเรื่องหลัก พูดไปแล้วมันเป็นประเด็น 

แต่อย่างเรื่องที่ผมทวีตว่าเหมือนเด็กถูกทำโทษหน้าห้อง นั่นคือในทวิตเตอร์ ทวีตเข้าไปสังคมก็ขยายและขยี้กลับมา ถามว่ามันมาอย่างไร มันเกิดจากหน้างาน ผมไม่ได้คิดคำพูดนี้นะ ต้องยกให้พี่พรเพ็ญ บุญศิริวัฒนกุล.. ชัยภูมิ ซึ่งนั่งข้างหลังผมในวันแถลงนโยบาย เราก็เฝ้าดูว่าการอ่านของท่านนายกฯ ว่าเป็นไปตามตัวบทที่เขาให้เรามาหรือเปล่า พี่พรเพ็ญก็พูดออกมาว่าเหมือนเด็กถูกทำโทษอ่านหนังสือหน้าห้องเลยนะมันก็แวบเข้าสมองเรา ก็เลยทวีตในทวิตเตอร์ อันนี้ถามว่าเสียดสีไหม ก็ถือว่าเสียดสีนะ ลักษณะเปรียบเทียบประชดประชัน แต่ว่ามันอยู่อีกสื่อ ไม่ได้เป็นคำพูดในสภา ส่วนคนอื่นที่เขามี หรือใช้คำพูดแบบนี้ มันก็เป็นตามสถานการณ์ตามหน้างานบ้าง หรืออาจจะมีการเตรียมการมาแล้วบ้างว่าแนวนี้ เทรนด์นี้ คำพูดแบบนี้ จะกลายเป็นสิ่งที่คนนำไปขยี้ต่อ ก็ไปประดิษฐ์กันมา

จำเป็นไหมต้องมีคำเล็กคำน้อย คำสร้อย หรือการเสียดสี ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันจะเป็นสิ่งที่สื่อจะจับไปขยี้ต่อตลอดเวลา ในทุกๆ วันที่มีการอภิปราย 

เรามีแนวทางการทำงานว่า จะไม่ปะฉะดะ เพราะภาพมันไม่สวย สื่อเอาไปเล่นก็จริง แต่ว่ามันเป็นภาพที่พี่น้องประชาชนดูแล้วมันมีผลเชิงลบมากกว่า คำว่า ปะฉะดะ เนี่ย คือเอาทุกเม็ดเด็ดทุกดอก มันไม่บวก ถ้าจะทำให้เป็นปัญหาเฉพาะหน้า แล้วก็ต้องเป็นการป้องกันเขามากระทบกระทั่งเราเท่านั้น ผมเน้นเลยนะว่าต้องเป็นการป้องกัน หรือเป็นการหักล้าง แก้ต่างเท่านั้น หรือมีการกล่าวร้ายบุคคลภายนอกที่เกี่ยวเนื่องกับพรรคเรา ซึ่งเราก็ต้องชี้แจง ต้องแก้ต่าง ไม่อย่างนั้นสังคมก็รับรู้ไปแบบผิดๆ ใช่ไหมครับ 

แต่ว่าจะเป็นคนเปิดเกมไปกระทบกระทั่งเสียดสีเขาเราไม่ทำ เพราะว่าการประชุมสภาเดี๋ยวนี้มันเป็นการประชุมทางตรงแล้วนะครับ พี่น้องประชาชนเขานั่งประชุมร่วมกับเรานะ ถึงเราจะไม่เห็นเขา แต่เขาเห็นเรา 

มีการวางตัวไว้ไหมครับว่าใครจะเป็นคนเล่นบทแบบนี้ 

ไม่ถึงขนาดนั้นครับ แต่ก็เราก็วางแนวให้กับวิปว่า จะต้องเฝ้า จะต้องดูเรื่องพวกนี้ ส่วนจะเป็นใครลุกขึ้นทำหน้าที่นี้ก็ดูที่หน้างาน จังหวะ หรือความเหมาะสมในขณะนั้นๆ มากกว่า

แต่บางอย่างมันก็เป็นบุคลิก เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล อย่างคุณศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ แนวทางการอภิปรายของท่านเป็นอย่างนั้นนะครับ เราไม่ได้วางว่าศรัณย์วุฒิต้องเล่นบทอย่างนี้นะ เพราะว่ามันจะเป็นการก้าวล่วง เราก็ต้องปล่อยให้แต่ละท่านแต่ละคนใช้ความสามารถทักษะที่เป็นเอกลักษณ์เป็นอัตลักษณ์ของตัวท่านเอง มันก็มีหลากหลายมุมมองนะ แต่ว่าทางวิปเอง ทางทีมงานเอง ไม่ได้ชี้ว่าคุณต้องเล่นอย่างนี้ๆ นะ เรากำหนดเฉพาะประเด็นและเนื้อหาสาระเท่านั้น

ถ้าเราไปหนักด้านใดด้านหนึ่งมันก็ไม่เกิดความสมดุล ถ้าเราไปเจี๋ยมเจี้ยมอยู่ในกรอบในกติกามาก มันก็เรียบๆ สิ่งที่เราต้องการเผยแพร่มันก็ไม่เกิดขึ้นใช่ไหมครับ พูดง่ายๆ มันไม่เร้าใจน่ะ เพราะฉะนั้นต้องผสมผสานให้อยู่ที่ความเหมาะสม สื่อนำไปเผยแพร่ไปขยายขยี้ได้พอสมควร ทีมก็จะมอนิเตอร์เรื่องนี้อยู่ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้มันก็ต้องจัดภาพให้เหมาะสมระหว่าง 3 สิ่งนี้ จะดุดัน จะรุนแรง แต่ขอให้อยู่ในกรอบ ลักษณะท่าทางต่างๆ ก็ต้องมี

คำพูดที่เป็นถ้อยคำที่ประดิษฐ์เป็นสำนวนก็ต้องมีนะครับ ให้มันได้เห็นภาพ เพราะว่าการอภิปรายในสภา เราต้องการให้บุคคลอื่นเห็นด้วยคล้อยตามเราในการลงมติใช่ไหมครับ โอเค ระบบรัฐสภาอาจเป็นไปได้ยาก เพราะมันแบ่งฝ่ายกันไปเรียบร้อยแล้ว ต่อให้คุณจะให้เหตุผลดีขนาดไหน เขาก็ไม่ลงคะแนนให้คุณ แต่มันเป็นมิติทางระบบรัฐสภา ที่เสียงข้างน้อยต้องมีสิทธิ์มีเสียง ที่จะต้องพูดเอาไว้ เป็นบันทึกสภาเอาไว้ เพื่อเอามาตรวจสอบ เอามาใช้เป็นหลักฐานอ้างอิง กรณีถ้ามันมีประเด็นมีเรื่องมีราวเกิดมาภายหลัง 

เมื่อกี้คุณหมอพูดเองว่า ต่อให้พูดดีแทบตาย เขาก็ไม่ลงคะแนนให้ เพราะฉะนั้นเป้าหมายในการอภิปรายในสภาเอนเอียงไปสู่ประชาชนหรือสื่อมวลชนมากขึ้นไหมครับ 

นั่นคือเป้าหมายหลักเลยนะครับ ระบบรัฐสภาเป็นระบบเสียงข้างมาก เสียงข้างน้อยใช่ไหมครับ เสียงข้างน้อยไม่มีโอกาสจะเอาความเห็นของเสียงข้างน้อยไปชนะเสียงข้างมากได้เลย ไม่มีทาง เพราะมันเป็นระบบ ฉะนั้นการพูดของเสียงข้างน้อยนอกจากจะเป็นหลักฐานเป็นบันทึกในสภาแล้ว สิ่งที่เราคาดหวังและต้องการที่สุดก็คือสิ่งเหล่านี้ การพูดให้พี่น้องประชาชนได้ยิน 

การพูดของเสียงข้างน้อยนอกจากจะเป็นหลักฐานเป็นบันทึกในสภาแล้ว สิ่งที่เราคาดหวังและต้องการที่สุดก็คือสิ่งเหล่านี้ การพูดให้พี่น้องประชาชนได้ยิน 

พี่น้องประชาชนมีอยู่ 3 กลุ่ม กลุ่มที่อยู่ฟากฝั่งที่อยู่กับเสียงข้างมาก กลุ่มที่ฟากฝั่งที่อยู่กับเสียงข้างน้อย และกลุ่มที่อยู่กลางๆ และเยอะมาด้วย ถ้าเราสามารถโน้มน้าวชักจูงกลุ่มนี้ให้เห็นด้วยคล้อยตามกับสิ่งที่เรานำเสนอไป มันก็จะส่งผลถึงระบบโดยรวมนะครับ ทั้งเฉพาะหน้า ระยะสั้น ระยะยาว ครบสมัยปุ๊บไปเลือกตั้ง เสียงนี้ที่อยู่กลุ่มกลางๆ ถ้าแบ่งซีกมาอยู่อีกด้านสัก 20% ด้านนี้ชนะเลยนะครับ เสียงข้างน้อยกลายเป็นเสียงข้างมากทันที เพราะฉะนั้นในเชิงระบบต้องคิดอย่างนั้น แล้วมันก็เป็นการนำเอาสิ่งที่พี่น้องประชาชนต้องการเข้าสู่สภาเพื่อแก้ปัญหาด้วย ถึงแม้เขาจะไม่เห็นด้วย ไม่มีมติให้เรา แต่กลไกการทำงาน การแก้ไขปัญหาที่เป็นหน้าที่ของรัฐบาล คุณต้องทำใช่ไหมครับ เพราะประชาชนเขารออยู่ เขาก็สะท้อนมาหาเรา เราก็สะท้อนไปให้รัฐบาลอีกที

ในเมื่อเป้าหมายคือประชาชน การใช้ภาษาหรือศิลปะในการพูดจะต้องระมัดระวังหรือมีความจำเป็นมากแค่ไหน เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจจริงๆ 

ผู้อภิปรายทุกคนต้องยึดเป็นหลักเลยนะครับว่า คุณต้องสื่อสารให้เขาเข้าใจ ให้เขารู้เรื่อง และให้เขาตัดสินใจไปกับเราได้ ไม่ใช่ฟังแค่ผ่านๆ เพราะฉะนั้นการสื่อสาร เรื่องของทักษะการสื่อสาร ประเด็นที่สื่อสาร มันจำเป็นมาก เขียนไว้ในข้อบังคับเลยว่า ต้องพูดในประเด็น ไม่วนเวียนซ้ำซาก ฟุ่มเฟือย ไม่กล่าวร้าย ไม่ไปกล่าวหาพาดพิงบุคคลอื่นโดยไม่จำเป็น ไม่กล่าวถึงสถาบัน ห้ามกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์โดยไม่จำเป็น มีคำว่า ‘โดยไม่จำเป็น’ เช่น กล่าวว่าเป็นโครงการพระราชดำริของพระองค์ท่านอย่างนี้กล่าวได้ ก็ขึ้นกับบุคคลแต่ละคนว่าสิ่งที่คุณเป็นอยู่แล้วก็นำมันออกมาใช้มันสามารถที่จะตอบโจทย์ตรงนี้ได้ขนาดไหน ไม่ได้ฝึกกันง่ายๆ นะครับ มันเป็นการอบรมบ่มเพาะ ค่อนข้างจะใช้เวลาพอสมควร 

ผู้อภิปรายทุกคนต้องยึดเป็นหลักเลยนะครับว่า คุณต้องสื่อสารให้เขา (ประชาชน) เข้าใจ ให้เขารู้เรื่อง และให้เขาตัดสินใจไปกับเราได้ 

จากปี 2544 จนถึงตอนนี้ปี 2562 เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรในการอภิปรายในสภาบ้าง 

เปลี่ยนเยอะมาก ปี 2544 การอภิปรายส่วนใหญ่เน้นวาทกรรม วาทศิลป์ แต่ยุคใหม่เน้นเนื้อหาสาระและวิธีการนำเสนอ เพื่อให้มีผลต่อการนำไปขยายขยี้ เป้าหมายมันต่างกัน เมื่อก่อนนี้มันจบในสภา เพราะฉะนั้นวาทกรรมวาทศิลป์อะไรที่สื่อกระแสหลักพอจะเอาไปขยายได้มันก็เลยจำเป็นในสมัยนั้น ถ้าคุณไม่มี คุณไม่เป็นข่าว แล้วในสมัยนั้นหนังสือพิมพ์มีไม่กี่ฉบับ ทีวีมีไม่กี่ช่อง ช่องทางมันน้อยมาก มันก็เลยมีความจำเป็นสำหรับยุคสมัย แล้วก็ต้องเป็นช็อตเด็ดๆ เรื่องเด็ดๆ ทั้งนั้นถึงจะได้มีโอกาส 

แต่สมัยนี้แทบทุกชั่วโมง เพราะฉะนั้นเราจึงมีดาวเกิดขึ้นตลอด สัปดาห์นี้ดาวดวงนี้ขึ้นมาแล้ว สัปดาห์หน้ามีดาวอีกดวง เมื่อก่อนไม่มีอย่างนี้นะครับ ไม่มีการให้ดาวเป็นรายสัปดาห์นะ เขามองเป็นปีเลย ความต่างมันอยู่ตรงนี้ 

สมัยนี้เนื้อหาสาระเข้ม มีที่มาที่ไปชัด คุณจะกล่าวอ้างลอยๆ โดยใช้หลักฐานเท็จมาพูดไม่ได้แล้ว เพราะระบบการตรวจสอบมี พูดแบบนี้มาเขาตรวจสอบกันทั้งเมืองนะ แค่เสิร์ชหาก็เจอแล้วว่าจริงไม่จริง เพราะฉะนั้นคนพูดต้องระมัดระวังมาก วิธีการนำเสนอก็อาศัยสิ่งต่างๆ เข้ามาช่วยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการฉายภาพ ชาร์ตต่างๆ คลิป ภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหวต่างๆ นำมาแสดงประกอบ ซึ่งท่านเฉลิม (อยู่บำรุง) เป็นผู้นำในการใช้สื่อพวกนี้ ภาพมันฟ้องอยู่แล้วก็ประหยัดการใช้ถ้อยคำ โดยเฉพาะเวลามีจำกัดมันก็เป็นประโยชน์ 

อีกอย่างที่แตกต่างคือคนที่มาเป็นผู้แทน สมัยนี้คนมีความหลากหลายมาก แล้วก็เป็นคนรุ่นใหม่เยอะมาก เมื่อเปรียบเทียบกับสมัยก่อน คนที่จะมาเป็น .. .. ถ้าอายุไม่ 35-40 ปีขึ้นไป ไม่มีโอกาสหรอกครับ หรือไม่มีปัจจัยพอจะมาเป็น .. สมัยก่อน ส..จำกัดอยู่เฉพาะวงการเมืองแคบๆ ตระกูลนี้ ตระกูลนั้น แต่สมัยนี้หลากหลายมาก เลยทำให้เรื่องราวที่เข้าสู่สภาก็หลากหลายมากขึ้น สมัยก่อนไม่เคยพูดเรื่อง LGBT เรื่องสิทธิของผู้ด้อยโอกาส คนชายขอบ นี่คือความแตกต่างเปลี่ยนแปลง ปกติ ส..ใหม่น่าจะมีไม่เกิน 30% ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง แต่ครั้งนี้ 50% หรือประมาณ 250 คนเลยครับที่ได้เข้ามาเป็น ส.. สมัยแรก

ความดุเดือดต่างกันไหมครับ ลดลงหรือเพิ่มขึ้น 

สมัยนี้ก็น่าจะมีเนื้อหาสาระเข้มข้นมากกว่านะครับ เรื่องลีลาท่าทางวาทกรรมวาทศิลป์สมัยนี้อาจจะน้อยลง แต่ภาพของการแสดงออก ความก้าวร้าวรุนแรง ดูเหมือนจะมากขึ้น เช่น เดินไปชี้หน้า สมัยก่อนแม้เขาใส่อารมณ์กันในที่ประชุม แต่พอประชุมเสร็จลงมานั่งกินข้าวก็ยังเป็นเพื่อนกัน อาจจะเพราะว่าที่มาใกล้เคียงกัน เพราะฉะนั้นการปะทะกันในสภาเป็นเรื่องของเนื้องาน การทำหน้าที่ แต่สมัยนี้ที่มามันหลากหลาย อาจจะไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าการทำงานในสภามันเป็นการสวมหัวโขนนะ เมื่อคุณออกนอกสภาแล้วคุณก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ถึงจะตำแหน่ง ส.. ติดอยู่แต่คุณก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง เลยกลายเป็นว่าปะทะกันในสภาแล้วอาจจะไม่มองหน้ากันอีกตลอดไป ลงมาใส่กันต่อข้างนอกสภาอีกก็มี 

ประเด็นมันอยู่ที่ว่า เรื่องที่ออกไปมันเกิดในสภาจริงๆ หรือเปล่า หรือออกไปแต่งเติมเสริมแต่ง ที่เราเรียกว่าเป็น fake news ก็ต้องแยกแยะ เพราะบางคนหรือบางกลุ่ม เขาใช้ช่องทางนี้เป็นเครื่องมือในการหาเสียง การสร้างคะแนนนิยม แต่ก็มีเรื่องดีๆ นะครับ อย่างพรรคใหม่ๆ พอเขาอภิปรายในสภาเสร็จก็มาแถลงข่าว มีทีมงานเอาไปขยี้ขยายต่อ เป็นการรับช่วงกัน ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี แต่ต้องไปดูเนื้อหาสาระว่า มันจะก่อความเสียหายไหม กรณีนี้มันเป็นข่าวลวง ข่าวปลอมหรือสร้างกระแสขึ้นมาโดยที่หวังเพียงคะแนนหรือเปล่า เพราะแบบนั้นเป็นการทำลายระบบไปในตัว การหวังเพียงแต่คะแนนนิยม มันอันตราย 

คิดว่าอะไรที่ทำให้คนติดตามการประชุมสภามากขึ้น มีข่าวออกแทบจะทุกนาที

อย่างแรกน่าจะเป็นเรื่องของการสื่อสารนะครับ ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ตั้งแต่สมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ร่วมกิจกรรมทางการเมือง เพราะว่าการสื่อสารทั้งหลายทั้งปวงมันสามารถเข้าถึงประชาชนได้ อย่างที่สองเป็นเรื่องผลกระทบโดยตรงที่เขาได้รับ จากการทำงานบริหารงานของรัฐบาลใน 5 ปีที่ผ่านมา เฮ้ย เราไม่สนใจไม่ได้แล้ว ลูกหลานเราจะเป็นอย่างไร อนาคตเราจะเป็นอย่างไร เริ่มตระหนัก เริ่มตาสว่าง ก็เลยหันมาสนใจการเมืองมากขึ้น เพราะการเมืองเป็นผู้กำหนดอนาคตของเรา ความเป็นอยู่ การกินดีอยู่ดี คุณจะมีเงินในกระเป๋าหรือไม่ ล้วนมาจากการเมืองทั้งหมด เลยทำให้คนสนใจมากขึ้น 

อย่างที่สาม เป็นกระแสความนิยม ภาษาคนรุ่นเขาใช้คำว่า กลัวตกเทรนด์ กลัวพูดกับคนอื่นเขาไม่รู้เรื่อง เหมือนกับคนคนหนึ่งไม่ได้ดูละคร ก็ต้องดู เพราะพรุ่งนี้จะได้ไปคุยกับเพื่อนรู้เรื่อง การกล่อมเกลาในกลุ่มมีผล ซึ่งเป็นมุมที่ดีนะครับ ถ้าเมืองไทยเรามีภาพอย่างนี้เมื่อสัก 20 ปีก่อน บ้านเมืองเราจะไม่เป็นอย่างนี้ จะไม่มีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น

ทำอย่างไรเราถึงจะสามารถก้าวข้ามดราม่าการเมืองในสภาไปสู่สิ่งที่มันเป็นเนื้อหาจริงๆ ได้ 

อันนี้ตอบยาก เพราะมันเป็นกระแสของสังคม แล้วคนยุคนี้ชอบเรื่องแบบนี้มาก ทำไมคนบางคนไม่ควรจะอยู่หน้าสื่อทุกวันได้เลย แต่สามารถอยู่ในสื่อได้ทุกวัน และพฤติกรรมที่นำเสนอเป็นการทำลายทำร้ายสังคมด้วยนะ นี่เป็นคำถามที่ผมอยากถามกลับนะว่าทำไมพวกเราต้องชอบเอาเรื่องที่เป็นดราม่ามาเผยแพร่ แต่เอาละ มันเหมือนกับว่าทุกฝ่ายต้องพึ่งพาอาศัยกัน มีสิ่งนี้จึงมีสิ่งนี้ เหมือนคำสอนพระพุทธเจ้านะ เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีสิ่งนี้สื่อก็อยู่ไม่ได้ คนนี้ก็อยู่ไม่ได้ มันล้วนอาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกัน มันก็เลยตอบยากว่ามันจะแก้อย่างไร 

มันอยู่ที่จิตสำนึกจริยธรรมคุณธรรมของแต่ละกลุ่มแต่ละคนด้วยครับว่าจะต้องทำตัวอย่างไรให้เหมาะสม และสังคมโดยรวมถ้าเห็นว่ามันผิดมันเพี้ยนก็ต้องบอกต้องกล่าว โดยเฉพาะในสภาต้องนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นได้เพื่อที่จะบอกกับพี่น้องประชาชนว่า มันไม่ได้ประโยชน์นะ มันจะทำลายประเทศ 

แต่ดราม่าการเมืองก็ส่งผลให้คนสนใจการเมืองมากขึ้นนะครับ แต่ว่าจะบวก จะลบ ขึ้นอยู่กับประเด็น ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ทำข่าวออกไป ถ้าดราม่าเชิงบวกมันก็ได้ทั้งข้อมูลและมิติทางการเมืองที่ถูกต้อง ได้แนวทางการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ถ้าเป็นดราม่าเชิงลบ แม้จะได้ความสนใจแล้ว แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้น ย่อมเกิดปัญหาตามมา แบบนี้อันตราย 

แต่เมื่อมีดราม่าแล้ว ก็ต้องมีมาตรการดราม่าที่จะเข้าไปกำจัดตัวมันเองได้ด้วย ยกตัวอย่าง การสร้างข่าวปลอมขึ้นมา เมื่อคุณจับได้ว่ามันเป็นข่าวปลอม ก็ต้องมีมาตรการของดราม่าที่มาจัดการกับข่าวปลอมนั้น คือตัวมันเองต้องลงโทษตัวมันเอง เมื่อสังคมดราม่า สังคมก็ต้องลงโทษสังคมดราม่า มันยากที่จะไปควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่สิ่งที่ดราม่ากลัวที่สุดก็คือการลงโทษทางสังคม การโดนประณาม ซึ่งมันอาจทำให้ภาพมันเปลี่ยนได้ 

มีนักการเมืองอยู่ 2 คน ผมขอเปรียบเทียบให้เห็น ทั้งสองคนเริ่มต้นแบบดราม่าสุดๆ ท้าตีท้าต่อยท้ายิง พอหลังจากที่กระแสติดในสื่อปุ๊บ คนหนึ่งเขาเปลี่ยนภาพทันทีเลยนะ แต่อีกคนหนึ่งยังพยายามที่จะเป็นกระแสในแบบเดิมอยู่ ไม่สนว่ามันจะออกมามุมไหน ขอให้ฉันได้อยู่หน้าสื่อ เช็กเลยว่าวันนี้ฉันอยู่หน้าสื่อไหนบ้าง นี่คือการสร้างดราม่าเพื่อให้ตัวเองไปอยู่ในกระแสสื่อ และสื่อก็รับลูกด้วยนะ

ต่อจากนี้การอภิปรายในสภาจะเดินหน้าไปอย่างไร จะน่าติดตามอย่างไร

ผมคิดว่าการอภิปรายในสภาจะดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะสังเกตแค่ 3-4 สัปดาห์แรก พัฒนาการมันดีขึ้นมากนะครับ เนื่องจากว่าเรามี ส.. ใหม่เยอะนะ และเขาก็เริ่มเห็นแล้วว่า ถ้าเขาไม่ทำให้ดีขึ้น ประชาชนเจ้าของอำนาจที่แท้จริงเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นแล้ว แล้วประชาชนจะเป็นคนจัดการเขาเอง 

ในเรื่องกฎหมาย กติกาก็ว่าไป แต่ว่ากฎสังคมนี่สำคัญ เราต้องช่วยกันติดตามตรวจสอบ พี่น้องประชาชนจะได้ประโยชน์ขึ้นเยอะ รวมไปถึงต้องช่วยกันทำให้ประเด็นมันแพร่หลายและลงลึก สอดคล้องตามความต้องการของพี่น้องประชาชนจริงๆ 

อยากให้วิจารณ์ดาวสภารุ่นใหม่อย่างคุณทิมพิธา (ลิ้มเจริญรัตน์) ว่าเป็นอย่างไรบ้าง

คุณทิมพิธา ยอมรับว่าเขาเกิดนะ เพราะเขาเน้นเนื้อหาสาระ และเรื่องที่เขาสนใจและรู้จริง เขาศึกษามาด้านนี้ เรียนมาด้านนี้ ทำงานด้านนี้มา แล้วนำสิ่งที่เขาเรียนรู้ทำงานมานำเสนอในประเด็นที่เขาต้องการผลักดัน ซึ่งเป็นจุดเด่น ..รุ่นใหม่ต้องทำอย่างนี้ ถ้าคุณจะเป็นเป็ดลอยน้ำเหมือนสมัยก่อน จบแล้ว คนรุ่นเก่าเป็นเป็ดลอยน้ำ พูดได้ทุกเรื่อง แต่จับสาระไม่ได้เลย 

คุณพิธาเป็นตัวอย่างของ ส..รุ่นใหม่ ที่เน้นในประเด็นที่ตัวเองสนใจ สามารถเชื่อมโยงแหล่งอ้างอิง ซึ่งน้อยนะที่ .. จะพูดถึงแหล่งอ้างอิง ที่มาของข้อมูล คุณพิธาจะพูดติดปากทุกครั้งว่า ข้อมูลนี้ผมได้มาจากนี้ๆ อ้างอิงถึงตลอด มันส่งผลถึงคนทำงานที่คอยให้ข้อมูลเขา แหล่งวิชาการ แหล่งข้อมูลของเขา ก็ได้ประโยชน์ไปด้วย อย่างสำนักเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งทำให้เห็นว่าบุคคล องค์กรเหล่านั้นทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ

นอกจากนี้คุณพิธาเป็นคนที่มีทักษะการนำเสนอในมุมข่าวด้วย ทั้งการใช้สื่อประกอบ แล้วก็เป็นคนที่เข้ากับยุคนี้ คือไม่ต้องการเห็นการปะฉะดะ กระทบกระทั่ง ไม่ต้องการเห็นการเสียดสี คนเบื่อแล้ว คนอยากฟังเนื้อหาสาระ ดูสุภาพนุ่มนวลมากกว่า ซึ่งเป็นภาพของเขา เป็นตัวอย่างที่ดีนะครับ

แต่ฟังยากไปไหมครับ

มันเป็นศัพท์วิชาการ เป็นสิ่งที่เขาต้องไปปรับแก้ เพราะพอพูดในประเด็นลึกๆ ศัพท์วิชาการมันจะมา แล้วยิ่งพูดในมุมของนักวิชาการด้วย สังเกตว่า ส.. หลายท่านที่เข้ามาทำหน้าที่ใหม่ เหมือนอาจารย์ นักวิชาการมาบรรยาย ซึ่งการอภิปรายกับการบรรยายต่างกัน การอภิปรายเป็นการพูดแสดงเหตุแสดงผลเพื่อโน้มน้าวชักจูงให้คนอื่นเห็นพ้องกับเรา โดยการพูดผ่านประธานสภา ต้องใช้ศัพท์ง่ายๆ ใช้ถ้อยคำที่เข้าใจง่าย แต่จะไปว่าเขาก็ไม่ได้นะ เพราะเรื่องที่เขาพูด มันเป็นเรื่องที่มีลักษณะทางวิชาการ มันก็จำเป็นต้องมีศัพท์ทางวิชาการมาบ้าง 

คุณช่อ พรรณิการ์ (วานิช) ล่ะครับ 

คุณช่อเขาเป็นสื่อมาก่อน เพราะฉะนั้นประเด็นของเขาแหลมคมนะครับ แต่วิธีการนำเสนอยังเป็นลักษณะสื่อ ดูเครียดไป เวลาคุณช่อขึ้นพูด ข้อมูลดี นำเสนอดีนะครับ การพูดการจาท่วงทำนองดีหมด แต่ดูแล้วเครียด รู้สึกเหมือนกันไหม

คุณมงคลกิตติ์ (สุขสินธารานนท์) ล่ะครับ

ผมขออนุญาตจะไม่ก้าวล่วงเขานะครับ แต่คุณมงคลกิตติ์ถือว่าเป็นคนที่เหมือนจะรู้จังหวะ แนวทางที่เขานำเสนอออกมาทั้งหมดเหมือนกับวางแนวทางไว้แล้ว ผมไม่ใช้คำว่าวางแผนนะ แต่เหมือนกับมีการวางแนวทางวางสคริปต์ไว้แล้วว่า จะต้องเปิดอย่างไร ตามมาอย่างไร ช่วงแรกต้องบู๊หน่อยนะ โหดร้ายหน่อย เพื่อให้มันติด พอเปิดตัวได้ก็เริ่มซอฟต์ลงมา เริ่มเก็บประเด็นอะไรต่างๆ 

คุณปารีณา (ไกรคุปต์) ล่ะครับ

การแสดงออกของสมาชิกแต่ละท่าน ผมไม่อยากวิพากษ์วิจารณ์ เพราะถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล คุณปารีณาก็เป็นที่พึ่งที่หวังของพรรคพลังประชารัฐ เพราะถือว่าเป็นบุคคลที่สื่อให้ความสนใจ อยู่หน้าสื่อตลอด พรรคพลังประชารัฐมอบงานสำคัญให้ เช่น เป็นทีมยุทธศาสตร์ที่จะคอยประท้วง ทักท้วง คอยดูแลการประชุมส่วนประเด็นสาระที่นำเสนอนั้น ขออนุญาตไม่วิพากษ์วิจารณ์ครับ เพราะว่าสังคมเขาก็รู้กันอยู่แล้ว

เป็นไปได้ไหมที่จะไม่เกิดการประท้วง ปะฉะดะ ในสภาเลย

เป็นไปได้ยาก ต้องยอมรับว่ามนุษย์ก็มีอารมณ์ ต่อให้ควบคุมอย่างไร เหมือน .. ท่านหนึ่งที่เดินมาชี้หน้าอย่างนั้นแหละ มันค่อนข้างยากที่จะไม่ให้เกิดการปะฉะดะ แต่ว่าเราต้องมีจิตสำนึกว่าเราเป็นผู้แทนของประชาชน ขณะนี้เราไม่ใช่ นายชลน่าน ศรีแก้ว นะ แต่เราคือตัวแทนปวงชนชาวไทย ตัวแทนคนจังหวัดน่านมันต้องมีจิตสำนึก

อย่างที่สอง ต้องมีมาตรการควบคุมเชิงระบบต้องคอยดูแลกัน แต่ละพรรคแต่ละกลุ่มต้องตั้งทีม คอยมีคนประกบ คอยกระตุก คอยเตือน มันถึงจะผ่อนคลายไปได้และสาม ต้องออกมาตรการชัดๆ ว่าพฤติการณ์พฤติกรรมอย่างนั้นมีบทกำหนดโทษของพรรคเป็นอย่างไร บทกำหนดโทษของสภาเป็นอย่างไร ต้องเอามาใช้ ต้องนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาละเมิดมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพราะคนไม่อยู่ในกติกาก็ต้องใช้กติกาจัดการ

Tags: , , ,