ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองอเมริกันประเมินจีนเป็นภัยคุกคามร้ายแรง ผู้นำกองทัพสหรัฐฯเสนอให้วอชิงตันปฏิวัติระบบอาวุธ กีดกันปักกิ่งไม่ให้ทาบรัศมี โจ ไบเดน จะสกัดดาวรุ่งจีนได้อย่างไร คือ โจทย์ท้าทายรับศกใหม่ที่ใกล้มาถึง

สำหรับมหาอำนาจ การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ และการประเมินภัยคุกคาม ถือเป็นงานสำคัญยิ่งยวด ถ้าวิเคราะห์ถูกต้อง ประเมินถูกต้อง ประเทศก็จะรักษาสถานะที่เหนือกว่าไว้ได้ แสวงหาเพิ่มพูนอำนาจและผลประโยชน์แห่งชาติต่อไปได้ ถ้าวิเคราะห์ผิดพลาด ประเมินผิดพลาด ผลลัพธ์ก็จะเป็นตรงกันข้าม 

วิเคราะห์ว่าอย่างไร ประเมินว่าอย่างไร นั่นคือขั้นแรกของการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติท่ามกลางการประชันขันแข่งระดับโลก 

หากมองเห็นจุดสมประโยชน์ ประเทศย่อมวางคู่แข่งไว้ในสถานะหุ้นส่วน พร้อมร่วมมือกันสร้างกฎกติกาที่เอื้อเฟื้อแก่กัน หากมองเห็นจุดปีนเกลียว ย่อมวางคู่แข่งไว้ในสถานะภัยคุกคาม ต่างฝ่ายต่างเตรียมรบให้พร้อมสรรพ 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้รับผิดชอบด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ประสานเสียงกันโดยมิได้นัดหมาย คล้ายกับต้องการเรียกร้องรัฐบาลชุดใหม่ ขอให้ประธานาธิบดีไบเดนเร่งรับมือการผงาดของจีน

‘ภัยแดงแรงฤทธิ์ร้าย’

ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ จอห์น แรทคลิฟ เขียนบทความตีพิมพ์ในวอลสตรีทเจอร์นัลฉบับวันพฤหัสฯ (3 ธ.ค.) ตราหน้าค่าชื่อจีน ว่า เป็น “ภัยคุกคามที่ร้ายกาจที่สุดต่อประชาธิปไตยและเสรีภาพของโลกนับแต่สงครามโลกครั้งที่สอง” 

แรทคลิฟ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤษภาคม และกำลังจะพ้นหน้าที่พร้อมกับรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ บอกว่า ข่าวกรองมีความชัดเจน ปักกิ่งมีเจตนาที่จะครอบงำสหรัฐฯและครอบงำโลกทั้งใบในทางเศรษฐกิจ การทหาร และเทคโนโลยี 

เขาบอกว่า จีนใช้กลยุทธ์ 3 อย่าง คือ ปล้น (rob) เลียนแบบ (replicate) เบียดแทรก (replace) พร้อมกับขยายความว่า จีนปล้นทรัพย์สินทางปัญญา ลอกเลียนเทคโนโลยี และเข้าแทนที่บริษัทอเมริกันในตลาดโลก 

แรทคลิฟเรียกร้องให้ทีมงานข่าวกรองชุดต่อไปเผชิญหน้าภัยจีน แบบเดียวกับที่ประเทศเคยทำมาแล้วกับเผด็จการในยุโรปและสหภาพโซเวียต “นี่คือข้อท้าทายสำหรับคนรุ่นเรา ชาวอเมริกันเคยลุกขึ้นยืนหยัดมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่พิชิตลัทธิฟาสซิสม์จนถึงทลายม่านเหล็ก” 

ไบเดนจะเสนอชื่อของอดีตรองผู้อำนวยการซีไอเอ แอฟริล ไฮนส์ ให้วุฒิสภารับรองในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแทนแรทคลิฟ 

ตัวไบเดนเองเคยแสดงทัศนะว่า จีนละเมิดกฎกติกาการค้าระหว่างประเทศ ให้การอุดหนุนบริษัทจีนเพื่อสร้างความได้เปรียบในตลาด และขโมยนวัตกรรมของอเมริกา 

‘ถึงเวลาอาวุธไฮเทค’

ขณะเจ้าหน้าที่ตัวท็อปฝ่ายพลเรือนเสนอให้มองจีนเป็นภัยคุกคามต่อความไร้เทียมทานของสหรัฐฯ ประธานคณะเสนาธิการร่วม มาร์ค มิลลีย์ เสนอให้กองทัพอเมริกันติดเขี้ยวเล็บใหม่ๆ ทั้งหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์

มิลลีย์บอกในการประชุมออนไลน์ Defense Forum Washington ซึ่งจัดโดยสถาบันการทัพเรือสหรัฐฯ ว่า สงครามกำลังเปลี่ยนโฉมหน้าอย่างถึงราก ประเทศไหนครอบครองอาวุธนำวิถีความแม่นยำสูง อาวุธความเร็วเหนือเสียง โดรน และยุทโธปกรณ์ที่เป็นหุ่นยนต์ ประเทศนั้นจะเป็นฝ่ายกำชัย 

เขาบอกว่า ภายในเวลา 10-15 ปี อาวุธหุ่นยนต์จะมีอยู่ในทุกหนแห่ง จีนกำลังพัฒนาขีดความสามารถนี้อย่างรวดเร็ว จีนจะไม่เทียงไล่กวดทันอเมริกา แต่แซงขึ้นหน้าไปเลยทีเดียว ภายในกลางศตวรรษนี้ จีนจะรบชนะสหรัฐฯ 

ผู้นำกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะได้นั่งในตำแหน่งต่อไปในยุคไบเดน เสนอว่า ถ้าไม่อยากให้จีนควบคุมแนวฝั่งแปซิฟิกตะวันตก อเมริกาควรวางกำลังทางบกไว้ในฟิลิปปินส์ เวียดนาม และออสเตรเลีย พร้อมกับประจำการจรวดพิสัยไกลความแม่นยำสูงไว้ในย่านนี้ เพื่อใช้ทำลายเรือรบของจีน 

ตามแผนการนี้ เขาเสนอให้เพนตากอนขยายกองเรือรบให้เพิ่มเป็นกว่า 500 ลำภายในปี 2045 จากที่มีอยู่ในปัจจุบันราว 300 ลำ โดยอย่างน้อยหนึ่งในสี่ควรเป็นเรือหุ่นยนต์ และควรมีเรือดำน้ำมากถึง 90 ลำ พร้อมกับเพิ่มเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดใหญ่ด้วย 

มิลลีย์เน้นว่า สรรพกำลังเหล่านี้ไม่ได้มีไว้ทำสงครามกับจีน แต่มีไว้เพื่อป้องกันไม่ให้จีนทำสงครามกับอเมริกา สหรัฐฯต้องทำให้จีนตระหนักว่า ถ้ารบกับอเมริกา จีนต้องแพ้อย่างแน่นอน แพ้อย่างแหลกลาญ แพ้อย่างรวดเร็ว ผลประโยชน์ของจีนจะเสียหายเหลือคณานับ 

เมื่อฝ่ายประจำเขาว่ามาอย่างนี้ ฝ่ายการเมืองจะว่าไปอย่างไร ประธานาธิบดี คือ คนกุมคำตอบ 

โจทย์ยากของผู้นำจากพรรคเดโมแครต ก็คือ ยุทธศาสตร์รักษาสถานะเบอร์หนึ่งของโลกแบบนี้ ขับเคลื่อนตามลำพังฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรและมิตรประเทศ 

ในโลกที่จีนขยายบทบาทและอิทธิพลไปทั่ว แต่ละประเทศยังคงต้องร่วมมือ หรือพึ่งพาจีน ตามแต่ผลประโยชน์ที่ไขว้กันไปมาอย่างสลับซับซ้อน 

ดังนั้น คงหาประเทศไหนขานรับอเมริกาชนิดร่วมหัวจมท้ายไม่ได้ง่ายนัก 

อ้างอิง:

AP, 3 December 2020

South China Morning Post, 4 December 2020

AFP, 4 December 2020

Reuters, 4 December 2020

Tags: , , , ,