หลังสุนทรพจน์ของผู้นำสาธารณรัฐประชาชนจีน สี จิ้นผิง (Xi Jinping) มีใจความสำคัญชื่นชมบุคลากรทางแพทย์ที่สามารถควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้ผ่านไปได้ด้วยดี การเน้นย้ำถึงความสามัคคี และกล่าวถึงปี 2021 ในวาระครบรอบ 100 ปี การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทำให้ประชาคมโลกต่างก็ตั้งตารอความเคลื่อนไหวของรัฐบาลปักกิ่งในปีที่แสนสำคัญนี้ หนึ่งในการขยับที่สะเทือนไปทั้งโลกอาจเริ่มต้นขึ้นแล้ว เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติจีนแก้กฎหมายให้ประธานาธิบดีสี เข้ามามีบทบาทควบคุมการทำงานของกระทรวงกลาโหมมากขึ้นกว่าเดิม

ข่าวการเข้ามามีอำนาจในกระทรวงกลาโหมของประธานาธิบดีสีถูกเผยแพร่โดยสื่อทางการจีน CGTN และซินหัว รัฐบาลปักกิ่งอนุมัติให้แก้ไขกฎหมายบางช่วงบางตอนของกระทรวงกลาโหม หลังจากนั้น สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีและประธานคณะกรรมการทหารส่วนกลางกองทัพจีน ได้ลงนามคำสั่งภายใต้ประกาศบังคับใช้กฎระเบียบด้านยุทโธปกรณ์ฉบับแก้ไขใหม่อย่างเป็นทางการทันที ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา

 

กฎใหม่เพื่อความเข้มแข็งของสาธารณรัฐประชาชนจีน

ภายใต้กฎระเบียบฉบับแก้ไขใหม่ที่ยืดเยื้อนานถึงสองปีกว่าจะผ่านเป็นกฎหมาย ประกอบด้วยรายละเอียดเบื้องต้นทั้งหมด 14 บท กับข้อกำหนด 100 ข้อ เพื่อปรับปรุงกลไกบริหาร การจัดการยุทโธปกรณ์ และกองกำลังทหารในสถานการณ์ใหม่ รัฐจะระดมทรัพยากรทั้งทางทหารและพลเรือนเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติทั้งในและต่างประเทศ เน้นการประสานงานระหว่างกองทัพกับเอกชนในการพัฒนาวิจัยเทคโนโลยี เพื่อให้กองทัพดึงศักยภาพสูงสุดออกมา รวมถึงให้ความสำคัญกับสงครามที่ไม่ใช่การต่อสู้ในสมรภูมิอย่าง สงครามไซเบอร์ และการแข่งขันทางอวกาศ

แม้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะนั่งในตำแหน่งประธานคณะกรรมการทหารส่วนกลางกลาโหมอยู่แล้ว แต่การแก้กฎหมายครั้งนี้ จะส่งผลให้อำนาจการตัดสินใจที่เดิมอยู่กับสภาแห่งรัฐ เปลี่ยนการรวบอำนาจให้ประธานาธิบสี เป็นผู้ตัดสินแทน ส่วนคณะรัฐมนตรี ก็ถูกจำกัดบทบาทลงให้เป็นฝ่ายสนับสนุนทางการทหาร

ในปี 2020 รัฐบาลปักกิ่งทุ่มงบไปกับกระทรวงกลาโหมมากถึง 1.27 ล้านล้านหยวน หรือ 1.9 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มจากปี 2019 คิดเป็นร้อยละ 6.6 สูงเป็นอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความโปร่งใสต่องบประมาณที่ถูกเทลงไปในกองทัพ การแก้กฎหมายครั้งนี้ ทำให้นักวิชาการจำนวนมากมองว่า ในปี 2021 จีนจะทุ่มกำลังกาย กำลังใจ และกำลังเงิน มากขึ้นกว่าปีก่อนแน่นอน

นักวิชาการด้านการทหารและการเมืองจีน (ที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ) กล่าวถึงเกมการเมืองแบบใหม่นี้ว่า เป็นเพราะรัฐบาลปักกิ่งต้องการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางทหาร เพื่อตั้งรับการเผชิญหน้ากับสหรัฐอเมริกา ที่มีผู้นำคนใหม่เป็น โจ ไบเดน (Joe Biden) เนื่องจากทิศทางการบริหารประเทศที่ไบเดนเคยกล่าวไว้ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ชูประเด็นการนำอเมริกากลับเข้าสู่ประชาคมโลก ซึ่งจะทำให้เกิดการคานอำนาจทางการค้าและการเมืองโลกที่เข้มข้นขึ้นกว่าช่วงของประธานาธิบดีทรัมป์

อดีตรองบรรณาธิการสำนักพิมพ์  Student Times เติ้ง ยี่เหวิน (Deng Yuwen) กล่าวถึงการมอบอำนาจให้ประธานาธิบดีสี เกิดขึ้นเพื่อ ‘ป้องกัน’ มากกว่า ‘รุกราน’ เนื่องจากสถานการณ์ที่อาจเป็นอันตรายต่อชาติสามารถเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ ประกอบกับการเมืองของจีนเองก็ค่อนข้างแตกต่างจากหลายประเทศ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประธานาธิบดีสีจะมีอำนาจทางทหารมากขึ้น  

 

ผู้นำจีนคุมกลาโหมเพื่อโต้ตอบสหรัฐฯ หรือโลกกันแน่?

ชือ ลื่อยี่ (Chi Leyi) ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารที่อาศัยอยู่ในไต้หวันนั้นมองต่างออกไป เขามองว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คือการพยายามปราบปรามดินแดนใต้การปกครองรัฐบาลปักกิ่งที่พยายามประกาศเอกราช โดยเฉพาะฮ่องกงและไต้หวัน ที่จีนแผ่นดินใหญ่ยืนยันว่าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาโดยตลอด

สมมุติฐานนี้ดูเป็นไปได้ สุนทรพจน์ปีใหม่ของประธานาธิบดีไต้หวัน ไช่ อิงเหวิน (Tsai Ingwen) เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ยังคงยืนยันว่ายินดีเจรจากับจีน พร้อมยุติความขัดแย้ง เพื่อสร้างสันติภาพในฐานะประเทศที่เท่าเทียมกัน หลังรัฐบาลปักกิ่งตัดสัมพันธ์การทูตกับไต้หวันอย่างเป็นทางการตั้งแต่ครั้งที่ ไช่ อิงเหวิน ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2016 เพราะนโยบายสมัยหาเสียงของเธอยืนยันชัดเจนว่า “ไต้หวันคือประเทศ”

ประธานาธิบดีไช่ทิ้งท้ายการเริ่มปีใหม่ว่าประชาธิปไตยของไต้หวันที่แข็งแกร่ง มีส่วนมาจากการสนับสนุนของประชาคมโลก วลีของเธอทำให้ใครๆ ต่างมองว่าประธานาธิบดีไต้หวันสร้างความขุ่นเคืองใจให้รัฐบาลปักกิ่งไม่น้อย เนื่องจากสำนักงานกิจการไต้หวันของจีน ออกมากล่าวโต้ตอบในวันเดียวกันว่า “หากจะเจรจา ผู้นำไต้หวันต้องยอมรับความจริงให้ได้ก่อนว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน คำอวยพรปีใหม่ของประธานาธิบดีไช่เป็นเพียงอุบายตื้นเขิน ที่พยายามยุยงรัฐบาลปักกิ่งเท่านั้น”

ความขุ่นเคืองระหว่างไต้หวันกับจีนยังคงมีต่อไปเรื่อยๆ ท่ามกลางการประณามของรัฐบาลปักกิ่งที่มองว่าสหรัฐอเมริกาแทรกแซงกิจการการเมืองจีน ผ่านการสนับสนุนให้ไต้หวันแบ่งแยกดินแดนและประกาศเอกราช ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งจะไม่ยอมให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ชือ ลื่อยี่ ยังมองว่าการแก้กฎหมายด้านกลาโหมและบังคับใช้ในวันขึ้นปีใหม่ คือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของรัฐบาล ให้ประชาชนจีนตื่นตัวต่อการทำหน้าที่ป้องกันประเทศ ปลุกระดมมวลชนให้เกิดความฮึกเหิมอีกครั้งเหมือนปี 1949 ที่พรรคคอมมิวนิวต์จีนก้าวสู่อำนาจเป็นครั้งแรก

เวลานี้จีนได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับข้อพิพาทมากมายทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นข้อพิพาทดินแดนในทะเลจีนใต้ของเวียดนามและฟิลิปปินส์ ข้อพิพาทแถบเทือกเขาหิมาลัยระหว่างจีนกับอินเดีย ความตึงเครียดระหว่างจีนกับญี่ปุ่นในประเด็นหมู่เกาะทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น การเฝ้าระวังสหรัฐอเมริกา รวมถึงปัญหาของไต้หวันกับฮ่องกงที่ยืดเยื้อมานานหลายปี การพยายามพัฒนากองทัพจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลปักกิ่งให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งการทุ่มงบกลาโหมของจีนที่ถือเป็นชาติมหาอำนาจ อาจสร้างความหวาดวิตกให้กับหลายประเทศได้อย่างแน่นอน

 

อ้างอิง

https://www.scmp.com/news/china/military/article/3115955/china-us-tension-american-warships-sail-through-taiwan-strait

https://www.scmp.com/news/china/military/article/3111960/how-china-pushing-forward-its-plan-powerful-modern-military

https://www.reuters.com/article/us-newyear-taiwan/in-new-years-speech-taiwan-president-again-reaches-out-to-china-idUSKBN2961Y7

https://uk.reuters.com/article/uk-chaina-taiwan-idUKKBN29700N?utm_campaign=trueAnthem%3A+Trending+Content&utm_medium+trueAnthem&utm_source+facebook

https://news.cgtn.com/news/2021-01-04/President-Xi-signs-mobilization-order-for-training-of-armed-forces-WM7wQEh19m/index.html

 

Tags: , , , , , , , , , ,