จีนกำลังเร่งสร้างหน่วยรบทางทะเลอันพรั่งพร้อมด้วยรี้พลสกลไกร เสริมขีดความสามารถของกองกำลังสะเทินน้ำสะเทินบก พร้อมบุกยึดเกาะพิพาทต่างๆ รวมถึงจู่โจมไต้หวัน
เมื่อทศวรรษ 1990 แวดวงความมั่นคงระหว่างประเทศประเมินกันว่า กำลังทางทะเลของจีนมีศักยภาพแค่ในยุทธการแถบชายฝั่ง ยังไม่พร้อมสำหรับปฏิบัติการในเขตน้ำลึก ถึงตอนนี้ ฉากสถานการณ์ดูจะเปลี่ยนไปแล้ว
กองทัพเรือจีนพัฒนาหน่วยนาวิกโยธินอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้จีนมีหน่วยทหารราบที่พร้อมสนับสนุนปฏิบัติทางทางทะเลต่างๆ เช่น ยึดเรือ บุกขึ้นเรือข้าศึก ยึดหัวหาด รุกรบสังหารฝ่ายตรงข้ามบนชายฝั่ง
ขีดความสามารถเหล่านี้ไม่เพียงช่วยให้จีนมีอำนาจต่อรองสูงขึ้นในการแก้ไขข้อพิพาทเขตแดนทางทะเลกับเพื่อนบ้านในเอเชีย หากยังช่วยให้จีนมีแนวป้องกันอันแข็งแกร่งในการคุมเชิงกับมหาอำนาจอื่นๆ เช่น อเมริกากับชาติพันธมิตร อีกด้วย
เรือยกพลขึ้นบก
กองทัพเรือจีนได้ปล่อยเรือจู่โจมสะเทินน้ำสะเทินบกแบบ 075 ลงน้ำแล้วจำนวน 2 ลำเมื่อปีที่แล้วกับในปีนี้ ลำที่สามกำลังเป็นรูปเป็นร่างภายในอู่ต่อเรือที่เซี่ยงไฮ้ โดยมีแผนจะปล่อยอย่างน้อย 7 ลำ
เรือรุ่นนี้ทำหน้าที่คล้ายเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดเล็ก รองรับทหารได้ 900 นาย มีเนื้อที่สำหรับขนลำเลียงอุปกรณ์หนักและยานขึ้นฝั่ง ในระยะแรก เรือจะบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ 30 ลำ เมื่อจีนพัฒนาเครื่องบินไอพ่นที่ใช้ทางวิ่งสั้น ลงจอดในแนวดิ่งได้ ในระยะต่อไป เรือจะบรรทุกเครื่องบินรบที่คล้ายกับ F-35B ของอเมริกา
นับแต่ปี 2005 เป็นต้นมา จีนยังสร้างเรือสะเทินน้ำสะเทินบกแบบ 071 อีกรุ่นหนึ่งด้วย รายงานเมื่อปี 2019 ขององค์การข่าวกรองกลาโหมของสหรัฐฯ ระบุว่า จีนต่อเรือรุ่นนี้เสร็จแล้ว 6 ลำ ลำที่เจ็ดกำลังต่อ แต่ละลำบรรทุกยานขึ้นฝั่งได้ 6 ลำ เฮลิคอปเตอร์ 4 ลำ ยานเกราะ พร้อมกับนาวิกโยธินหลายร้อยนาย
วารสารเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการต่อเรือของจีนรายงานว่า เรือรุ่น 071 ซึ่งมีความยาว 210 เมตร มีระยะทำการ 10,000 ไมล์ทะเล ทำความเร็วสูงสุดได้ 25 น็อตระหว่างการทดสอบ
ขณะเดียวกัน รายงานของกองทัพสหรัฐฯและญี่ปุ่นคาดว่า กองทัพเรือจีนได้ขยายหน่วยนาวิกโยธินจนมีกำลังพลราว 25,000-35,000 นายในปัจจุบัน เพิ่มจาก 10,000 นายเมื่อปี 2017
กองเรือสะเทินน้ำสะเทินบกของจีนอาจถูกส่งไปรบไกลบ้าน สำแดงกำลังเพื่อป้องปรามปรปักษ์ ปกป้องผลประโยชน์และพลเมืองจีนในต่างแดน รวมถึงภารกิจอื่นๆ เช่น บรรเทาภัยพิบัติ แจกจ่ายความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งภารกิจอย่างหลังนี้เป็นงานที่สร้างหน้าสร้างตาแก่กองเรือของสหรัฐฯ มาโดยตลอด
พร้อมบุกไต้หวัน
กองกำลังสะเทินน้ำสะเทินบกจะมีประโยชน์อย่างมากในภารกิจขึ้นฝั่งไต้หวัน หรือบุกยึดจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ นอกชายฝั่งของจีน เช่น เกาะบางแห่งในทะเลจีนใต้
ในระยะหลัง ปักกิ่งแสดงท่าทีแข็งกร้าวยิ่งขึ้นต่อไทเป เมื่อต้นปี 2019 ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเรียกร้องให้ไต้หวันเปิดการเจรจากันในเรื่องการรวมชาติโดยสันติ ผู้นำจีนเตือนว่า ปัญหาไต้หวันไม่อาจปล่อยคาราคาซังอย่างไม่มีวันจบ
“เราไม่ให้สัญญาว่าจะไม่ใช้กำลัง เราสงวนสิทธิที่จะดำเนินการทุกวิถีทางตามความจำเป็น”
จีนโหมซ้อมรบและดำเนินปฏิบัติการทางทหารรอบเกาะไต้หวันหลายครั้ง กองทัพอากาศไต้หวันแถลงว่า เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน เครื่องบินทิ้งระเบิดกับเครื่องบินรบของจีนได้ล่วงล้ำแนวป้องกันภัยทางอากาศของตน ซึ่งนับเป็นการล่วงล้ำครั้งที่ 8 ในช่วงเวลา 2 สัปดาห์
นอกจากไต้หวันแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านสงครามสะเทินน้ำสะเทินบกบอกว่า หน่วยนาวิกโยธินของจีนกำลังถูกเคี่ยวกรำให้มีความพร้อมยิ่งขึ้นสำหรับการพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในต่างประเทศ ในขณะที่จีนมีการลงทุนเพิ่มขึ้นทั่วโลกภายใต้แผนการ ‘หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง’
หลายปีที่ผ่านมา ขีดความสามารถทางทะเลของจีนเพิ่มสูงอย่างน่าจับตา ปักกิ่งส่งนาวิกโยธินและยานเกราะของทหารหน่วยนี้ไปยังฐานทัพโพ้นทะเลของตนแห่งแรกที่ประเทศจิบูติบนแหลมแอฟริกา อีกทั้งยังส่งนาวิกโยธินไปกับกองเรือจีนที่รับภารกิจปราบปรามโจรสลัดย่านอ่าวเอเดนในทะเลอาหรับ
ขยายกำลังนาวิกฯ
ในอดีต กองทัพจีนเน้นสร้างกำลังทางบกเพื่อปกป้องแผ่นดินใหญ่ ทว่าปักกิ่งเริ่มขยายหน่วยนาวิกโยธินนับแต่ปี 2017 เป็นต้นมา
องค์การข่าวกรองกลาโหมสหรัฐฯ รายงานว่า ตอนนี้จีนมีนาวิกโยธินรวม 7 กองพลน้อย แต่ละกองพลน้อยเพียบพร้อมด้วยหน่วยยานเกราะ หน่วยทหารราบ หน่วยปืนใหญ่ และหน่วยอาวุธปล่อย
หน่วยนาวิกฯ จีนนับว่าแข็งแกร่งกว่ากองกำลังของประเทศอื่นๆ ที่อ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ทุกชาติ สามารถบุกยึดเกาะต่างๆในหมู่เกาะสแปรตลีย์ หรือเสริมกำลังตามป้อมค่ายของจีนในหมู่เกาะพาราเซลได้อย่างรวดเร็ว ถ้าจะเข้ายึดหมู่เกาะเซ็นกากุที่จีนพิพาทกับญี่ปุ่นโดยเรียกว่า หมู่เกาะเตียวหยู ก็คงไม่เหลือบ่ากว่าแรง
อย่างไรก็ตาม เพนตากอนประเมินว่า หน่วยนาวิกโยธินของจีนยังด้อยกว่าหน่วยนาวิกฯ สหรัฐฯ ซึ่งมีกำลังพล 186,000 นายอยู่หลายขุม และยังมีประสบการณ์ด้านการยกพลขึ้นบกและปฏิบัติการบนชายฝั่งน้อยกว่าฝ่ายอเมริกันอยู่มาก
กระนั้นก็ดี ด้วยเหตุที่ไต้หวันเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ถือเป็นเกาะแรกในแนวเกาะที่ทอดตัวยาวจากหมู่เกาะญี่ปุ่นผ่านไต้หวันไปยังหมู่เกาะฟิลิปปินส์ไปจนถึงเกาะบอร์เนียว ก่อรูปเป็นแนวล้อมทะเลชายฝั่งของจีน
ถ้ายึดไต้หวันได้ กองเรือ อากาศยาน และจรวดของจีน ก็จะสามารถควบคุมเส้นทางเดินเรือสำคัญของญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ได้ และไต้หวันยังจะเป็นฐานสำหรับบุกยึดดินแดนอื่นๆ ในแนวเกาะนี้ต่อไปอีกด้วย
แกรนท์ นิวแชม นายพันเอกนอกราชการของหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐฯ นักวิจัยของ Japan Forum for Strategic Studies หน่วยงานคลังสมองในญี่ปุ่น บอกว่า กองทัพจีนได้ประกอบกำลัง ทั้งนาวิกโยธิน เรือ และกำลังพลในระดับที่พร้อมบุกไต้หวันแล้ว
ฟังแล้วชวนตื่นเต้น แต่ยังไม่ต้องตกใจ ความพร้อมกับการลงมือจริงเป็นคนละเรื่องกัน การตัดสินใจบุกต้องคำนึงถึงปัจจัยสารพัด นักยุทธศาสตร์ของจีนย่อมตระหนักดี
อ้างอิง :
Tags: จีน