ผู้หญิง คนชรา และประชาชนบริสุทธิ์
เหล่านี้อาจเป็นคำตอบแวบแรกของใครหลายคน หากถามถึงผู้ได้รับผลกระทบในสงครามทุกหนแห่งของโลก เมื่อหน้าสื่อมักฉายให้เห็นถึงเคราะห์กรรมของกลุ่มคนเหล่านี้อยู่บ่อยครั้ง
ทว่าในอีกมุมหนึ่ง อนาคตของชาติหรือกลุ่ม ‘เด็กและเยาวชน’ ก็ตกเป็นเหยื่อในความรุนแรงของสงคราม โดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) เปิดเผยสถิติในปี 2020 ว่า เยาวชนประมาณ 19,379 คน ต้องเผชิญกับความโหดร้ายที่ปุถุชนธรรมดาไม่อาจจินตนาการถึง ไม่ว่าจะเป็นการลักพาตัว การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การบังคับเกณฑ์ทหาร การคุมขัง รวมถึงการสูญเสียช่วงเวลาและสภาพแวดล้อมอันเหมาะสมระหว่างที่กำลังเติบโต
เช่นเดียวกับกรณีความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลา 7 ทศวรรษ และกลายเป็นเหตุการณ์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ หลัง ฮามาส (Hamas) กลุ่มกองกำลังติดอาวุธกึ่งทหารของปาเลสไตน์ เข้าบุกอิสราเอลด้วยปฏิบัติการโจมตีอัลอักซอ (Al-Aqsa Flood) ชนิด ‘สายฟ้าแลบ’ ในเวลาเช้าตรู่ของวันที่ 7 ตุลาคม 2023
อีกมุมหนึ่งที่ไม่มีใครเห็น: ชีวิตของเยาวชนทั้งสองฝ่ายที่ต้องสูญเสียไม่ต่างจากคนอื่นๆ
บ่อยครั้งเรื่องราวในสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ มักได้รับการถ่ายทอดตามสื่อกระแสหลักจำกัดในมุม ‘พระเอก-ตัวร้าย’ โดยเฉพาะการฉายภาพของกลุ่มชาติตะวันตกต่อปาเลสไตน์ในฐานะ ‘ผู้รุกราน’ และ ‘ผู้ก่อการร้าย’ เฉกเช่นเรื่องราวในความขัดแย้งครั้งล่าสุด เมื่อมีรายงานเผยว่า กลุ่มฮามาสลงมือสังหารผู้บริสุทธิ์ชาวอิสราเอลและชาวต่างชาติจำนวนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในเชิงรายละเอียดอย่างลึกซึ้ง ความขัดแย้งครั้งนี้สร้างผลกระทบทั้งสองฝ่าย และกลุ่มเยาวชนก็ได้รับบาดแผลอย่างคาดไม่ถึง โดยหนังสือ National and International Civilian Protection Strategies in the Israeli-Palestinian Conflict เผยว่า เด็กจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มปาเลสไตน์ที่อยู่ในแนวหน้าของความขัดแย้ง เผชิญภัยคุกคามจากสงครามโดยตรงด้วยวิธีการอันโหดร้าย เช่น คุมขัง ถูกยิง และมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดอื่นๆ จากกลุ่มทหารอิสราเอล
ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนจากสถิติในปี 2022 เมื่อฮิวแมนไรต์วอชต์ (Human Rights Watch) และสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) เปิดเผยว่า อัตราการเสียชีวิตในเวสต์แบงก์ (West Bank) พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 166 ชีวิต โดยจำนวนเยาวชนผู้เสียชีวิตสูงถึง 34 ราย
ดังการเสียชีวิตของ ยานา ซาการ์เนห์ (Jana Zakarneh) เด็กสาวชาวปาเลสติเนียนอายุ 16 ปี หลังถูกสังหารโดยทหารอิสราเอลในปี 2022 ระหว่างที่กำลังสอดส่องสถานการณ์บนหลังคาบ้าน ซึ่งทางการอิสราเอลออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาว่า เป็นการสังหารโดยไม่ได้เจตนา ขณะที่ มาเจด ซาการ์เนห์ (Majed Zakarneh) ปู่ของเธอ เผยถึงสภาพร่างไร้วิญญาณของยานาว่า เธอถูกยิงด้วยกระสุนทั้งหมด 4 นัด เริ่มจากใบหน้า 2 นัด บริเวณลำคอ 1 นัด และไหล่อีก 1 นัด
เช่นเดียวกับเหยื่อรายอื่นๆ โมฮัมเหม็ด ซาดี (Mohammed Saadi) เด็กหนุ่มชาวปาเลสติเนียนวัย 13 ปี ถูกชาย 5 คน ลักพาตัว ปิดตาและขู่ด้วยอาวุธปืนที่ศีรษะในปี 2021 โดยกลุ่ม Musta’ribeen หรือสายลับอิสราเอลที่ปลอมตัวเป็นชาวปาเลสติเนียน
“ผมบอกเขาให้หยุด แต่ไม่ว่าพยายามเท่าไร ผมก็ถูกตี เขาตีผมทั้งร่างกาย หัว แขนขาทั้งสองข้าง ตาของผมบวมช้ำ ผมยอมตายดีกว่าถูกหยามเกียรติ” ซาดีเผยความรู้สึกกับอัลจาซีรา (Al Jazeera)
นอกจากนี้ อิสราเอลกำลังใช้กฎหมายภายในเพื่อฟอกขาวความผิดดังกล่าว เมื่อกฎหมายเปิดช่องว่างให้ศาลทหารพิจารณาคดีแบบปิดต่อเด็กปาเลสไตน์ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ปรากฏว่า เยาวชนปาเลสไตน์ 99.76% ถูกตัดสินลงโทษด้วยความรุนแรงมากมาย เช่น การปาหิน หรือการจำคุกเป็นเวลาถึง 10-20 ปี
ชะตากรรมที่ถูกกำหนดโดยรัฐ สงคราม และความขัดแย้ง
ไม่ใช่แค่การเผชิญหน้าความรุนแรงจากรัฐ แต่ชาวอิสราเอลและปาเลสติเนียนยังถูกกำหนดหนทางชีวิตตั้งแต่วัยเยาว์ คือการเติบโตเพื่อเป็นทหารพิทักษ์ชาติ
เริ่มจากเยาวชนฝั่งอิสราเอล มีการศึกษาพบว่า อุดมการณ์ดังกล่าวถูกปลูกฝังตั้งแต่การเรียนในระดับชั้นอนุบาลหรือการเล่าเรียนในโรงเรียนของรัฐ ผ่านเรื่องราวการต่อสู้ในสงคราม ชัยชนะของชาติ วีรบุรุษผู้เสียสละ หรือแม้แต่เหตุการณ์ที่เต็มไปด้วยเรื่องสะเทือนใจ สุดท้าย ทั้งผู้ชายและผู้หญิงชาวอิสราเอลต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารเมื่ออายุ 18 ปี
ในทางกลับกัน ปรากฏการณ์นี้มีความรุนแรงเป็นพิเศษในปาเลสไตน์ เนื่องจากเด็กจำนวนมากถูกกระตุ้นให้มีส่วนร่วมกับความมั่นคงของชาติตั้งแต่วัยเยาว์ มีทั้งกรณีเต็มใจและไม่เต็มใจ บางคนเข้าร่วมเพราะความกลัวตาย สะท้อนให้เห็นจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกชั่วขณะในระหว่างการต่อสู้กับอิสราเอล ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีชุมชน การรื้อถอนบ้านเรือน แม้แต่การผ่านจุดตรวจของด่านที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงตาย
ความร้ายแรงไม่ได้สิ้นสุดแค่นี้ เพราะหากเยาวชนปาเลสไตน์เข้าร่วมกองทัพ พวกเขาก็จะพบกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะการถูกตีตราในฐานะ ‘ศัตรู’ โดยไม่คำนึงถึงช่วงอายุจากกองทัพอิสราเอล
ความหวังและความยุติธรรมอันน้อยนิด: เมื่อผู้กระทำความผิดยังลอยนวล
แม้การสูญเสียเกิดขึ้นในสองฝั่ง โดยเฉพาะกลุ่มกองกำลังในปาเลสไตน์ที่ถูกฉายภาพในฐานะผู้ก่อการร้าย แต่ในอีกด้าน อิสราเอลยังคงลอยนวลจากความผิด แม้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) มอบอาณัติให้เลขาธิการสหประชาชาติ จัดทำรายชื่อกลุ่มที่ก่อความรุนแรงต่อเด็ก และมีการยอมรับว่า เด็กจำนวน 8,700 คน ตกเป็นเหยื่อจากกองทัพอิสราเอลในระหว่างปี 2015-2022
ยังไม่รวมถึงความคืบหน้าในการสอบสวนคดีของศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: ICC) หลังมีการประกาศว่า พร้อมสอบสวนข้อกล่าวหา ‘อาชญากรรมสงคราม’ (War Crimes) ต่ออิสราเอลในปี 2021
“มีความหวังน้อยนิด” ชาวปาเลสติเนียนบางส่วนแสดงความรู้สึกกับสำนักข่าวอัลจาซีราในปี 2020 หากพูดถึงโอกาสที่อิสราเอลจะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งในทางกฎหมายและความเป็นจริง
“การยึดครองของอิสราเอลถูกสนับสนุนโดยสหรัฐอเมริกา และไม่มีแรงกดดันจริงจังต่อโลกระหว่างประเทศ เพื่อหยุดยั้งอาชญากรรมของพวกเขาต่อปาเลสไตน์” อาลา อัลบาตช์ (Alaa Albatsh) เหยื่อผู้สูญเสียลูกทั้ง 4 คน ในเหตุการณ์อิสราเอลโจมตีฉนวนกาซาปี 2014 แสดงความคิดเห็น โดยเสริมว่า แม้การพิจารณาจะไม่ทำให้ลูกของเธอฟื้นขึ้นมา แต่สามารถอำนวยความยุติธรรมด้วยการลงโทษอิสราเอล และเยียวยาบาดแผลในใจได้
อ้างอิง
https://link.springer.com/book/10.1007/978-3-031-20390-9
https://www.aljazeera.com/features/2012/8/14/palestinian-children-abused-in-israeli-jail
https://www.hrw.org/news/2023/08/28/west-bank-spike-israeli-killings-palestinian-children
https://edition.cnn.com/2022/12/12/middleeast/palestinian-girl-killed-idf-raid-intl/index.html
https://www.un.org/en/exhibits/exhibit/children-beyond-armed-conflict
https://www.aljazeera.com/news/2020/7/29/palestinians-see-no-icc-justice-for-israels-gaza-crimes
Tags: ฮามาส, Hamas, War Crimes, สงคราม, เยาวชน, อิสราเอล, ปาเลสไตน์, ตะวันออกกลาง, Middle East