วิกฤตอิสราเอล-ปาเลสไตน์ที่กำลังดำเนินอยู่ต่างจากครั้งก่อนๆ และไม่ได้เรียบง่ายแค่ ‘เพราะชาวยิวกับอาหรับเกลียดกัน พวกเขาจึงรบกัน’ หรือ ‘เพราะยิวกดขี่อาหรับ อาหรับจึงต่อสู้’ หรือ ‘เพราะอาหรับยิงจรวดมา อิสราเอลจึงตอบโต้’ 

แท้จริงแล้ว เราไม่สามารถวิเคราะห์วิกฤตดังกล่าวให้รอบด้านได้ หากปราศจากมุมมอง ‘การเมืองภายในประเทศ’ ของอิสราเอล ซึ่งเป็นแง่ที่คนไม่ค่อยพูดถึง แต่ความจริงมันอาจใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด 

อิสราเอลก็เหมือนกับหลายๆ ชาติ ตรงที่มีกลุ่มการเมืองอันความหลากหลาย เคลื่อนไหวและต่อสู้กันอยู่เสมอ สิ่งที่น่าสนใจของวิกฤตนี้คือ มันเกิดขึ้นท่ามกลางการสั่นคลอนของรัฐบาลเบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu)

เนทันยาฮูสังกัดพรรค ‘ลิคุด’ (Likud) ซึ่งเป็นพรรคใหญ่ ปกครองประเทศติดต่อกันมาหลายสมัยตั้งแต่ปี 1973 พรรคลิคุดนั้นมีอุดมการณ์เอียงขวา เน้นความมั่นคงของชาติ เน้นเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีนิยม และมีอุดมการณ์ไซออนนิสต์ 

ตัวเนทันยาฮูมีพื้นฐานเป็นทหาร เคยต่อสู้ในสมรภูมิสำคัญของอิสราเอลหลายสมรภูมิ เขาเป็นนายกรัฐมนตรีที่ครองอำนาจนานที่สุดในอิสราเอล คือปกครองมาแล้วห้าสมัย ในปี 1996-1999 และตั้งแต่ปี 2009 จนถึงปัจจุบัน ที่ผ่านมาเขานำอิสราเอลรับศึกศัตรูใหญ่มากมาย เช่น อิหร่าน ซึ่งสามารถสู้ได้ ไม่เพลี่ยงพล้ำ

อย่างไรก็ตาม ในสมัยที่สี่ของเขานั้น เนทันยาฮูประสบปัญหาถูกกล่าวหาว่าทำการทุจริตคอร์รัปชัน ทำให้ผู้คนเสื่อมความนิยมในตัวเขาลง

ในสมัยที่ห้า ซึ่งเริ่มเลือกตั้งในปี 2019 นั้น เนทันยาฮูต้องพบว่าเขาไม่มีบารมีมากพอที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ในขณะเดียวกัน คู่แข่งของเขาก็ไม่สามารถรวมคนตั้งรัฐบาลได้เช่นกัน จึงจำเป็นต้องมีการเลือกตั้งใหม่ แต่ก็ยังไม่มีฝ่ายใดจัดตั้งรัฐบาลได้อีก

หลังจากนั้น อิสราเอลก็ก้าวสู่ช่วงเวลาที่เรียกว่า ‘วิกฤตทางการเมือง’ เมื่อมีการเลือกตั้งถึงสี่ครั้งในรอบสองปี แต่ก็ยังไม่มีฝ่ายไหนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างมั่นคง ปัญหามักจะมาในลักษณะว่า รัฐสภาอิสราเอลนั้นมีความหลากหลายมากเกินไป คือมีทั้งกลุ่มเอียงขวา กลุ่มกลาง กลุ่มเอียงซ้าย กลุ่มเคร่งศาสนา กลุ่มชาวอิสราเอลเชื้อสายอาหรับ และกลุ่มอื่นๆ คนเหล่านี้แตกแยกกันเอง เช่น กลุ่มขวาจัดไม่ชอบกลุ่มเชื้อสายอาหรับ จนไม่ยอมร่วมรัฐบาลกัน ทำให้การประสานผลประโยชน์ไม่บรรลุเสียที

ในการเลือกตั้งครั้งที่ 4 ที่เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2021 นั้น กลุ่มของเนทันยาฮูได้คะแนนมากที่สุด แต่ยังไม่เด็ดขาด เขามีเวลาการจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ภายในวันที่ 4 พฤษภาคม 2021 ที่ผ่านมา 

แต่ในที่สุดแล้ว เขาก็ทำไม่สำเร็จ

ณ จุดนั้น สิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลจึงถูกโอนไปให้ ยาอีร์ ลาพิด (Yair Lapid) แห่งพรรค ‘เยช อทิด’ (Yesh Atid) ซึ่งมีแนวทางสายกลางมากกว่าพรรคลิคุด

ความแตกต่างของ เยช อทิด และลิคุด มีหลักๆ เช่น เยช อทิด มีแนวโน้มอยากอยู่ร่วมกับชาวปาเลสไตน์โดยสันติมากกว่า โดยสนับสนุน ‘ทางแก้ปัญหาแบบสองรัฐ’ หรือการให้อิสราเอลและปาเลสไตน์แยกตัวเป็นสองรัฐที่เป็นอิสระแก่กัน ในการนี้ พวกเขาพร้อมที่จะเจรจากับฝ่ายปาเลสไตน์ในการหยุดยั้งการตั้งถิ่นฐานชาวยิวในเขตเวสต์แบงก์ ขณะที่ลิคุดมีแนวโน้มจะเสริมความมั่นคงของถิ่นฐานดังกล่าวให้มากขึ้น

การตั้งถิ่นฐานของชาวยิวในเขตเวสต์แบงก์นั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะหากมีคนอิสราเอลไปอาศัยอยู่ถาวรในเขตเวสต์แบงก์มากขึ้น จนมีจำนวนไม่แตกต่างจากประชากรอาหรับ ฝ่ายปาเลสไตน์ก็จะค่อยๆ เสียความชอบธรรมในการแยกเป็นรัฐอิสระ สิ่งนี้ในตัวขัดแย้งกับโมเดลที่เรียกว่า ‘ทางแก้ปัญหาแบบสองรัฐ’ อย่างไรก็ตาม มันเป็นสิ่งที่ชาวยิวเอียงขวาในอิสราเอลชอบ เพราะเป็นการเพิ่มพลังความมั่นคงแก่ชาวยิวในสถานที่ซึ่งพวกเขาคิดว่าเป็นแผ่นดินมาตุภูมิ

ลาพิดทราบว่าการที่เขาจะจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จนั้น จำต้องการได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย เขาจึงชูสโลแกนจะตั้งรัฐบาลที่รวมทุกฝ่ายเข้าด้วยกัน ทั้งฝ่ายขวา ฝ่ายกลาง ฝ่ายซ้าย ฝ่ายอาหรับ เพื่อเป็นตัวแทนของประชาชนชาวอิสราเอลทั้งหมด

หลายคนมองว่าลาพิดอาจตั้งรัฐบาลสำเร็จ ซึ่งมันจะเป็นการยุติการปกครองสิบกว่าปีของเนทันยาฮู แต่แล้วก็มีเหตุการณ์อีกเหตุการณ์แทรกขึ้นมา

นั่นคือมีการปะทะกันระหว่างชาวปาเลสไตน์และตำรวจอิสราเอล

เรื่องเริ่มจากชาวปาเลสไตน์ประท้วงการที่มีครอบครัวปาเลสไตน์หลายครอบครัวถูกขับไล่ออกมาจากบ้านของตนเอง เพราะกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม การประท้วงนี้ลุกลามไปเรื่อยๆ กระทั่งในวันที่ 7 พฤษภาคม 2021 ตำรวจอิสราเอลได้บุกเข้าไปในมัสยิดอัลอักซอ ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญของศาสนาอิสลาม ขณะที่มีชาวปาเลสไตน์ประกอบพิธีทางศาสนาอยู่ 70,000 คน

ในตอนนั้น ตำรวจอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์ได้ปะทะกันอย่างรุนแรงในมัสยิดอันศักดิ์สิทธิ์ ทำให้มีชาวปาเลสไตน์บาดเจ็บกว่า 300 คน ภาพที่ออกมานั้นทำชาวมุสลิมทั่วโลกโกรธเกรี้ยว

กลุ่มฮามาส (Hamas) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์ได้ตอบโต้เรื่องดังกล่าวโดยยิงจรวดหลายร้อยลูกใส่เป้าหมายอิสราเอล ซึ่งฝ่ายอิสราเอลใช้ระบบป้องกันภัย ‘ไอเอิร์นโดม’ (Iron Dome) สกัดไว้ได้เกือบหมด และส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา มีผู้บาดเจ็บล้มตายจากทั้งสองฝั่ง แต่ฝ่ายปาเลสไตน์ย่อมสูญเสียมากกว่า เพราะเทคโนโลยีสู้ไม่ได้

กระทั่งกลุ่มฮามาสเริ่มส่งสัญญานว่ายินดีจะเจรจากับอิสราเอล โดยขอให้รัสเซียช่วยไกล่เกลี่ย แต่อิสราเอลก็มิได้รับข้อเสนอนั้น ยังคงบุกโจมตีต่อไม่หยุด ต่อเนื่องกันมาถึงปัจจุบัน

มีคนวิเคราะห์เหตุการณ์นี้ไปหลายทาง แต่ที่แน่ๆ มันเปลี่ยนหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ของอิสราเอลจาก ‘เนทันยาฮูอาจจะแพ้ในการจัดตั้งรัฐบาล’ เป็น ‘ประเทศกำลังเข้าสู่ภาวะสู้รบ’

ปรากฏว่ามีพรรคฝ่ายขวาที่ตอนแรกจะร่วมรัฐบาลกับลาพิดประกาศถอนตัว 

พวกเขาเชื่อว่า ในภาวะฉุกเฉินเช่นนี้ไม่ควรให้ลาพิดจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ โดยการเปลี่ยนรัฐบาลขณะประเทศเกิดภาวะฉุกเฉินก็ดี หรือการที่ลาพิดเป็นพวกสายกลางก็ดี ล้วนทำให้อิสราเอลอ่อนแอ ไม่น่าจะสามารถสู้กับฮามาสได้อย่างเข้มแข็ง

ตรงกันข้าม แม้เนทันยาฮูจะเสื่อมบารมีไปมากแล้ว แต่ความเป็นทหารและความเป็นฝ่ายขวาของเขาน่าจะสามารถนำพาประเทศได้ดีกว่าในช่วงที่มีความขัดแย้ง

ถ้าในที่สุดแล้ว สิ่งนี้ทำให้ลาพิดจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ (มีเวลาอีกประมาณสามอาทิตย์) มันก็จะนำสู่การเลือกตั้งครั้งที่ห้า และรัฐบาลเนทันยาฮูยังคงรักษาการณ์ต่อไปได้

ไม่ว่าอย่างไร สถานการณ์นี้เป็นประโยชน์กับเนทันยาฮูอย่างยิ่ง เพราะมันพลิกเกมทั้งหมดขณะที่เขากำลังจะเพลี่ยงพล้ำ และนำสู่คำถามที่ว่า จริงๆ แล้วมีใครอยู่เบื้องหลังวิกฤตความขัดแย้งครั้งนี้หรือเปล่า

ตำรวจอิสราเอลจำเป็นต้องบุกเข้าไปในมัสยิดสำคัญ ขณะคน 70,000 คนกำลังทำพิธีทางศาสนาจริงๆ หรือมันจำเป็นต้องทำอย่างรุนแรงจนมีคนบาดเจ็บขนาดนี้เชียวหรือ

การบาดเจ็บล้มตายของประชาชนทั้งสองฝ่าย จริงๆ แล้วเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของคนกลุ่มใดหรือไม่

แต่เมื่อสงครามเกิดขึ้นแล้ว คนก็จะค่อยๆ ลืมเรื่องเหล่านี้ พวกเขาจะสนใจว่าทำอย่างไรจึงสามารถรักษาความปลอดภัยของตนเอง และเอาชนะศัตรูได้มากกว่า

อย่างไรก็ตาม หากมองภาพกว้าง เหตุการณ์นี้ก็เป็นสัญลักษณ์ว่าฝ่ายขวาของอิสราเอลกำลังสั่นคลอนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จนไม่อาจชนะเลือกตั้งอย่างเด็ดขาด

สังคมอิสราเอลก็เหมือนสังคมที่อื่นๆ ที่เปลี่ยนไปตามกระแสโลก การที่คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทำให้มีการแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น ทำให้มีการเห็นคุณค่าของเสรีภาพ และความเท่าเทียมกันมากขึ้น

ในที่สุด คนอิสราเอลรุ่นใหม่ก็จะต้องตอบคำถามว่า ในขณะที่สิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ ของประเทศเขา เช่น สิทธิสตรี หรือสิทธิกลุ่มหลากหลายทางเพศได้รับการพัฒนาไปมาก แต่เหตุใดจึงมีการกดขี่เพื่อนบ้านของเขาแบบสองมาตรฐาน ตำหนิเพียงว่าเพื่อนบ้านนั้นมีชาติกำเนิดเป็นชาวอาหรับ

และคนอาหรับรุ่นใหม่ก็ต้องตอบคำถามเหมือนกันว่า การแก้ปัญหาอิสราเอลปาเลสไตน์โดยการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวไปให้หมด ซึ่งคนสำคัญในสังคมเขาหลายๆ คนพร่ำสอน เป็นเรื่องถูกต้องชอบธรรมเพียงใด

ในที่สุด แนวคิดขวาจัดที่ใช้ปกป้องและปกครองดินแดนแห่งนี้มาหลายสิบปี อาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป 

แต่ธรรมดาการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ไม่มีอะไรเรียบง่ายฉับไว มันย่อมต้องเผชิญกับแรงต้านจากกลุ่มอำนาจเก่า เหมือนกันที่ชาวอาหรับเจอในเหตุการณ์อาหรับสปริง

ทั้งหมดนี้เป็นเกมยาว

ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดในตะวันออกกลางเท่านั้น แต่เป็นกระแสโลก

อย่างไรก็ตาม ผมอยากกล่าวว่า รัฐบาลเนทันยาฮูก็ดี กลุ่มฮามาสก็ดี ไม่ใช่ และไม่เคยเป็นตัวแทนของชาวอิสราเอลและปาเลสไตน์ทั้งหมด

ขณะที่เกิดการสู้รบ ยังมีชาวยิวและชาวอาหรับจับมือกันออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้มีสันติภาพ คนกลุ่มนี้มีเป็นจำนวนมาก มีหลายองค์กรสนับสนุน เช่น Tag Meir หรือ Yad be Yad พวกเขานำดอกไม้ไปในสถานที่สำคัญทั้งในเขตยิวและเขตอาหรับ เรียกร้องให้ฮามาสและรัฐบาลเนทันยาฮูยุติการต่อสู้

คนพวกนี้เติบโตขึ้นมาท่ามกลางความขัดแย้งนับครั้งไม่ถ้วน แต่พวกเขาก็เลือกที่จะออกมาเดินขบวน เพราะเห็นว่าสงครามไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน

เพราะแม้ว่าปืนอาจสยบคนลงได้ชั่วขณะหนึ่ง แต่นานไปมันจะเป็นระเบิดเวลาที่ทำร้ายคนทุกฝ่าย

น่าเสียดายที่ข่าวของคนกลุ่มนี้ไม่ได้รับการพูดถึงในหน้าสื่อนัก เพราะถูกข่าวสงครามชิงพื้นที่ไปหมด

 

อ้างอิง

voanews.com/middle-east/palestinians-israel-police-clash-al-aqsa-mosque-dozens-hurt 

jpost.com/israel-news/politics-and-diplomacy/israels-escalation-with-gaza-wont-change-coalition-chances-analysis-668087

reuters.com/world/middle-east/netanyahus-deadline-form-government-set-expire-no-sign-progress-2021-05-04/

 

รูปภาพจาก Reuters

Tags: , ,