เรือประมงสีฟ้าไม่กี่ลำจอดอยู่ริมคลองปากแม่น้ำแห่งหนึ่งทางฝั่งตะวันตกของอ่าวรูปตัว ก. ถัดเข้ามาเป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูงสีน้ำตาลแดง ไม้บางแผ่นถูกแดดเลียจนซีดใต้กระเบื้องสีขาว ผมนั่งสัมภาษณ์คนไข้อยู่ใต้ชายคาที่ต่อยื่นออกมาจากตัวบ้าน ตรงนั้นเป็นทั้งห้องรับแขก ห้องครัว และโรงรถมอเตอร์ไซค์ “ตอนนั้นหมอบอกว่าเป็นอะไรนะครับ”

“ก็โรคที่เขาเป็นกันอยู่ตอนนี้แหละ อะไร คุนย่าๆ”

“ไม่มีโรค ‘คุณปู่’ บ้างเหรอ” เพื่อนบ้านที่นั่งอยู่ด้วยกันแซว

“ชิคุนกุนยา” ผมแก้ให้ การพบผู้ป่วยโรคนี้หรือไข้ปวดข้อยุงลายมากกว่า 100 รายภายในหนึ่งเดือนที่อำเภอนี้ย่อมเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ และอาจแพร่ระบาดมากขึ้นอีก กองระบาดวิทยาจึงส่งทีมจากส่วนกลางลงไปช่วยเหลือหน่วยงานในพื้นที่ ผมเลยได้มีโอกาสออกสอบสวนโรคเป็นครั้งแรก โดยจะต้องเข้าไปค้นหาผู้ป่วยที่มีอาการไข้ และอาการปวดข้อ ร่วมกับอาการอื่น ได้แก่ ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ หรือผื่นอีกอย่างน้อย 1 อาการ เพื่อซักประวัติอย่างละเอียด ซึ่งจะทำให้ทราบการกระจายตัวของโรคว่าใครป่วยบ้าง? ในพื้นที่ไหน? ตั้งแต่เมื่อไร? และนำมาใช้วางแผนมาตรการในการควบคุมโรคนี้เพื่อเสนอหน่วยงานในพื้นที่ว่าต้องทำอะไรเพิ่มเติมบ้าง 

แน่นอนว่าโรคนี้ติดต่อโดยมียุงลายเป็นพาหะ ทั้งยุงลายสวนและยุงลายบ้าน แค่กำจัดยุงลายได้ การแพร่ระบาดก็น่าจะจบ แต่ความจริงไม่ได้ง่ายขนาดนั้น!

แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่มีเกือบทุกบ้าน

การลง ‘พื้นที่’ ผมหมายถึงพื้นที่ชุมชนจริงๆ ไม่ใช่แค่ตัวโรงพยาบาลประจำอำเภอเหมือนกับที่ผมเคยทำงานมาก่อน คือเดินเข้าไปในหมู่บ้านที่มีการระบาดของโรค ใช่แล้วครับ เราต้องทายากันยุงเพื่อป้องกันตัวเราก่อน (ฮา) นอกจากทีมของผมจะลงไปสอบถามคนในละแวกบ้านของคนไข้ เพื่อค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมแล้ว เรายังมีทีมจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง (ศตม.) ลงไปสำรวจลูกน้ำยุงลายตามบ้านแต่ละหลังควบคู่กันด้วย

เราพบว่าทุกๆ 10 หลัง จะมีบ้านอย่างน้อย 5 หลังที่พบลูกน้ำยุงลายอยู่!

ส่วนใหญ่จะพบอยู่ในถังน้ำหรืออ่างซีเมนต์ในห้องน้ำ ซึ่งหลายบ้านมักจะละเลย เพราะคิดว่าตักน้ำใช้ทุกวัน ยุงไม่น่าจะมาวางไข่ และมักจะไม่ได้ใส่ทรายอะเบท เพราะกลัวผลข้างเคียง ซึ่งความจริงแล้วสารเคมีในทรายฯ ไม่มีพิษต่อคน 

แหล่งเพาะพันธุ์ยุงต่อมาที่ผมสังเกตเห็นหลายบ้านคืออ่างล้างเท้า (ภาพที่ 1) เพราะชาวประมงสมัยก่อนเดินเท้าเปล่า ต้องล้างเท้าก่อนขึ้นบ้าน ถึงแม้ปัจจุบันจะไม่นิยมใช้แล้ว แต่ก็ยังคงวางตั้งอยู่หน้าบ้านเหมือนเดิม

เช่นเดียวกับโอ่งแดงใบใหญ่ (คนพื้นที่เรียก ‘ตุ่ม’) ที่วางเรียงรายอยู่รอบบ้านไม่ต่ำกว่า 3–5 ใบ “โอ่งที่นี่เยอะมากจริงๆ” ทุกคนในทีมลงความเห็น ทั้งนี้เพราะเมื่อก่อนต้องมีโอ่งรองน้ำฝนไว้ใช้ แต่ตอนนี้มีน้ำประปาแล้ว โอ่งบางใบรั่วไปบ้างก็ไม่เป็นปัญหา แต่บางใบที่ยังเก็บน้ำไว้ได้อยู่มักมีฝาปิดไม่ครบทุกใบกลายเป็นที่ให้ยุงวางไข่ได้เช่นกัน

ภาพที่ 1 อ่างล้างเท้าที่พบสังเกตเห็นหลายบ้าน

คนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านทำอาชีพประมง

เรือประมงสีฟ้าไม่กี่ลำจอดอยู่ริมคลองปากแม่น้ำ แต่ถ้าใกล้วันที่พระจันทร์เต็มดวง ชาวประมงเข้าฝั่ง ผมอาจเห็นเรือมากกว่านี้ คนที่นี่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง ทั้งประมงน้ำลึก ซึ่งส่วนมากเป็นผู้ชาย และทั้งประมงชายฝั่ง เช่น เลี้ยงหอยแมลงภู่ หาหอยเสียบและหอยแครง ซึ่งอย่างหลังมักเป็นผู้หญิง

พวกเขาออกจากบ้านไปหาหอยตอนเช้าช่วงน้ำลง แล้วกลับมานอนพักที่บ้านช่วงบ่าย ผมนั่งคุยกับน้าผู้หญิงคนหนึ่งที่ถึงแม้จะหายจากไข้มาเกือบสัปดาห์แล้ว แต่ยังไปทำงานไม่สะดวก เพราะยังมีอาการปวดตามข้อเหลืออยู่ แกเล่าให้ฟังว่า “แขวนเปลนอนกลางวันใต้ถุนบ้านของบ้านข้างๆ ประจำ” เพราะเย็นกว่าตัวบ้านปูนชั้นเดียวของเขา (ภาพที่ 2)

แต่เมื่อถามถึงมุ้ง แกก็บอกว่าใช้ทุกวัน แต่เป็นตอนกลางคืน! 

ในขณะที่ยุงลายออกหากินตอนกลางวันถึงช่วงพลบค่ำ

นอกจากนี้อาชีพที่ผมเห็นหลายบ้านทำคือแกะหอยแมลงภู่ ทำให้มีเศษหอยกองพะเนินอยู่ในบริเวณบ้าน บางหลังก็ใช้เปลือกหอยถมพื้นที่ลุ่มไม่ให้มีน้ำขัง แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งเวลาฝนตกก็อาจทำให้มีน้ำขังบนเปลือกหอย จนกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้ รวมถึงขยะมูลฝอยที่ทิ้งเกลื่อนรอบบ้านบางบ้านเพราะไม่ได้ทำความสะอาดประจำ

“ยางนี่ยังใช้อยู่รึเปล่าครับ” ผมถามเจ้าบ้านถึงยางรถยนต์เก่าที่กองอยู่ เพราะเมื่อก้มดูข้างในเห็นน้ำขังกับลูกน้ำดิ้นไปมา ก็ได้คำตอบว่าเขาเก็บเอาไว้เป็นกันชนเรือประมง ความจริงยางรถยนต์เก่าค่อนข้างเป็นเป้าสายตาของเจ้าหน้าที่ที่ลงไปควบคุมโรคที่มียุงเป็นพาหะ แต่ผมก็พยายามเลี่ยงคำถามที่ทำให้เขารู้สึกว่าถูกจ้องจับผิด

ภาพที่ 2 บริเวณใต้ถุนบ้านที่ผู้ป่วยนอนกลางวันเป็นประจำ

ประชาชนซื้อยากินเองหรือไปรักษาที่คลินิก

 “โรคนี้ทำให้หมอ… (ชื่อหมอที่คลินิก) รวยเลย” อสม.ท่านหนึ่งหนึ่งเปรยทีเล่นทีจริงขณะเดินนำค้นหาผู้ป่วยในหมู่บ้าน ส่วนผมหัวเราะเชิงเห็นด้วย เพราะจากการสัมภาษณ์ผู้ป่วยส่วนหนึ่งมักจะซื้อยากินเองก่อนในวันแรก หากวันต่อมายังไม่หายก็จะไปรักษากับหมอที่คลินิก เพราะไม่ต้องรอคิวนาน และสามารถไปรักษาหลังเลิกงานได้

โดยในอำเภอจะมีคลินิกหลักอยู่ 2 แห่ง คือคลินิกหมอ… แกเกษียณอายุราชการแล้ว ใจเย็น และใจดีจ่ายยาฉีดให้ ทำให้ชาวบ้านติดใจ “ฉีดยา 1 เข็มแล้วหายปวดข้อเลย” ส่วนอีกคลินิกชื่อหมอ… เป็นพยาบาลอาวุโส แต่ชาวบ้านก็เรียกนำหน้าว่า ‘หมอ’ เช่นกัน เท่าที่ผมขอผู้ป่วยดูซองยาก็พบว่าแกจ่ายเป็นยาชุดหลายตัวอยู่ในซองเดียวกัน

ด้วยธรรมชาติของโรคชิคุนกุนยาจะหายได้เองด้วยภูมิคุ้มกันของร่างกาย เพียงแค่กินยารักษาตามอาการเท่านั้น ผู้ป่วยจึงมักพักงานอยู่ที่บ้าน ไม่เหมือนไข้เลือดออกที่อาจมีอาการรุนแรงจนต้องไปรักษาที่โรงพยาบาล ประกอบกับข้อมูลการวินิจฉัยที่คลินิกไม่เข้าสู่ระบบเฝ้าระวังโรค จึงทำให้กว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทราบว่ามีโรคนี้เกิดขึ้น ยุงลายก็แพร่เชื้อจากคนป่วยไม่กี่คนจนลุกลามไปเกือบทั้งหมู่บ้านแล้ว

ในขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นไข้ปวดข้อยุงลายจริง จะได้รับการตรวจเลือดเพื่อหาไวรัสชิคุนกุนยาที่โรงพยาบาลเอกชนในตัวจังหวัดแทบทุกคน โดย 2 ใน 7 รายที่ผมได้พูดคุยด้วย คนแรกมีฐานะดีเลยไปใช้สิทธิ์ประกันชีวิต ส่วนอีกคนเดินทางไปที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดเอง แล้วอาการไม่ค่อยดี รอตรวจไม่ไหว จึงเปลี่ยนไปตรวจกับโรงพยาบาลเอกชนแทน

ข้อนี้เป็นบทเรียนที่สำคัญมากสำหรับผมเลยก็ว่าได้ (พี่ที่ทำงานในพื้นที่ก็เห็นตรงกัน) เพราะที่ผ่านมาผมทำงานในโรงพยาบาลรัฐมาตลอด ทำให้ลืมคิดไปว่าโรคบางโรคไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาลเสมอไป และประชาชนก็มีทางเลือกอื่นนอกจากการใช้สิทธิ์บัตรทอง ถึงแม้จะยอมเสียค่าใช้จ่ายก็ตามที

เจ้าหน้าที่มองว่าเป็นความเคยชินของชาวบ้าน

ชีวิตของยุงลายเป็นวัฏจักร จากไข่-ลูกน้ำ-ตัวโม่ง-กลายเป็นตัวเต็มวัยภายใน 9-14 วัน แต่ถ้าหากสภาพแวดล้อมเหมาะสมก็จะเร็วขึ้นเป็น 5-7 วัน ดังนั้นหากจะหยุดวงจรนี้ ประชาชนจะต้องสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายรอบบ้านของตัวเองทุกสัปดาห์ ส่วนทรายอะเบทสำหรับกำจัดลูกน้ำจะต้องใส่ซ้ำทุก 3 เดือนเป็นวัฏจักรเช่นกัน แต่ชาวบ้านมักจะไม่ได้ทำ หรือทำบ้าง ไม่ได้ทำเป็นประจำ

“ทราย (อะเบท) ที่เอามาแจก บางหลังก็จะเอาไปวางไว้เฉยๆ ขนาดคว่ำจานรองกระถางในบ้านของตัวเอง ก็ยังต้องทำให้เลย” เจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งสะท้อนปัญหาที่เขาพบให้ผมฟัง โดยมองว่าชาวบ้านอาจเคยชินกับการที่มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มาทำแทนให้ จนเห็นว่าเป็นหน้าที่ของภาครัฐจะต้องมาดำเนินการให้ทุกอย่างไปแล้ว “แต่ถ้าไม่เข้าไปใส่ทรายให้ก็จะกลายเป็นว่าควบคุมการระบาดไม่ได้อีก” 

ตรงกันข้ามกับการพ่นยุงจะเป็นหน้าที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นโดยตรงในการพ่นยากำจัดยุงวันที่ 1-3-7 หลังพบผู้ป่วยรายใหม่ ในรัศมี 100 เมตรจากบ้านคนไข้ แต่ก็พบปัญหาว่าบางหลังไม่ให้เข้าไปพ่นยุงภายในบ้าน ด้วยหลายเหตุผล เช่น กลัวเสื้อผ้าที่แขวนไว้จะเลอะน้ำมัน กังวลว่าจะมีพิษต่อสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน (ยาพ่นยุงมีพิษต่อสัตว์มีข้อปล้อง เช่น แมลง กุ้ง ปู รวมถึงปลาและนก) ซึ่งอาจต้องใช้สเปรย์กระป๋องพ่นยุง หรือวิธีอื่นแทน

เพราะยุงลายอาศัยอยู่ทั้งข้างในและนอกบ้าน โดยจากการสุ่มจับยุงในพื้นที่ที่เพิ่งมีการพ่นยากำจัดยุงเมื่อ 2 วันก่อน กลับพบว่ายุงในบ้านมากถึง 60% รอดชีวิตจากการพ่นสารเคมี ซึ่งน่าตกใจอยู่ไม่น้อย และอาจเป็นสาเหตุที่ยังทำให้ควบคุมโรคไม่ได้ จึงจำเป็นต้องมีการประเมินขั้นตอนการพ่นยุง การทดสอบการดื้อยา และการชี้แจงความจำเป็นเพื่อขอความร่วมมือจากชาวบ้านเพื่อเข้าไปพ่นยุงภายในบ้านด้วย

 

ยิ่งได้พูดคุยกับคนในหมู่บ้าน ยิ่งได้เดินตามทีม ศตม. เข้าไปสำรวจลูกน้ำยุงลายตามบ้านแต่ละหลัง และยิ่งเห็นผลการศึกษาทางระบาดวิทยาของทีมส่วนกลาง ก็ยิ่งทำให้ผมนึกถึงคำพูดของอาจารย์ท่านหนึ่งตอนเรียนภาคทฤษฎีเมื่อเดือนก่อนว่า “เมื่อลงพื้นที่แล้ว ไม่ควรได้ข้อเสนอแนะ (ในการป้องกันและควบคุมโรค) เหมือนเดิมกับตอนก่อนลงไป” 

“3 เก็บ 3 โรค” หรือ “5 ป. 1 ข.” เป็นมาตรการในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกที่หลายท่านน่าจะเคยได้ยินจนคุ้นหู (ผมเลยไม่ได้ขยายความนะครับว่าแต่ละตัวย่อหมายถึงอะไร) ส่วนฝั่งบุคลากรด้านสาธารณสุขก็อาจพูดกันจนติดปากไปแล้ว แต่นั่นเป็นเพียงคำแนะนำ ‘ทั่วไป’ สำหรับประชาชนเท่านั้น ในขณะที่ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคในแต่ละพื้นที่อาจแตกต่างกันตามบริบทของชุมชนนั้นๆ การแก้ไขปัญหาจึงต้องอาศัยมาตรการที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น 

ถึงแม้จะเป็นชื่อโรคเดียวกันก็ตามที

Tags: , ,