“เดี๋ยวนี้ร้านหนังสือดีๆ ดูเหมือนจะหายากขึ้นทุกวัน”

ประโยคข้างต้นนี้ไม่ใช่เรื่องเกินจริง ยิ่งในห้วงเวลาที่ใครๆ ต่างอ่านทุกอย่างผ่านอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะข่าว แผ่นพับ บทความ หรือหนังสือที่ชอบซึ่งแต่เดิมมีความหนามากถึง 700 หน้า แต่ถูกอัดเป็นไฟล์เดียวและอยู่ในแท็บเล็ต โน้ตบุ๊ก หรือสมาร์ตโฟนคู่ใจ จึงทำให้ธุรกิจที่อยู่คู่กับมนุษย์มาอย่างยาวนานอย่าง ‘ร้านหนังสือ’ เริ่มจางหายไปตามกาลเวลา

แต่ถึงเทคโนโลยีจะนำพาความสะดวกสบาย เช่น การไม่ต้องพกหนังสือเล่มโปรด หรือหนังสือเล่มหนาไปไหนมาไหนให้หนักกระเป๋า แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ายังมีผู้คนอีกมากที่หลงใหลการเปิดหนังสือไปทีละหน้า ค่อยๆ ละเมียดเปิดอ่าน ซึมซับสัมผัสของกระดาษ กลิ่นของหนังสือ ก่อนจะเก็บรักษาหนังสือเหล่านั้นไว้เป็นอย่างดี และบางครั้งเมื่ออ่านจนหนำใจ ก็สามารถนำไปขายต่อเป็นหนังสือมือสอง ส่งต่อเรื่องราวสนุกสนานในหน้าหนังสือให้กับผู้ถือครองคนใหม่ที่ยังคงหลงใหลการอ่านหนังสือเหมือนกันได้อีก

เมื่อทีม The Momentum ยกทีมไปเชียงใหม่ นักเขียนนักอ่านในกองบรรณาธิการเล็กๆ จึงไม่พลาดที่จะพูดคุยกันถึงร้านหนังสือที่ยังคงมีอยู่ในอำเภอเมือง พวกเราตกลงแยกย้ายกันไปยังร้านหนังสือที่สนใจ เพื่อซึมซับบรรยากาศร้าน สูดกลิ่นกระดาษ รวมถึงพูดคุยกับผู้ดูแลร้านและเจ้าของร้าน ถึงแรงบันดาลใจในอาชีพที่ตัวเองทำอยู่ แม้สังคมส่วนใหญ่จะมองว่าร้านหนังสือคือธุรกิจที่ใกล้ตายแล้วก็ตาม

‘Gekko Books Chiang Mai’ พื้นที่ที่หนอนหนังสือภาษาต่างประเทศในเชียงใหม่จะต้องรู้จัก

หากคนเชียงใหม่หรือใครที่มาเที่ยวเชียงใหม่ ไม่ว่าจะด้วยความบังเอิญหรือตั้งใจ จนได้พบเจอกับร้านหนังสือสีเหลืองดำที่ซ่อนตัวอยู่ริมถนนช้างม่อยเก่า แถวประตูท่าแพ นั่นแปลว่าคุณได้เจอกับ ‘Gekko Books Chiang Mai’ ร้านหนังสือภาษาต่างประเทศมือสองที่อยู่ในลิสต์ของพวกเราแล้ว

ความน่าสนใจที่มองข้ามไม่ได้ของ Gekko Books Chiang Mai ไม่ใช่แค่การเป็นร้านหนังสือภาษาต่างประเทศ ร้านขายหนังสือมือสอง หรือร้านหนังสือในตำนานที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2543 แต่ระบบการซื้อ-ขายของที่นี่นั้นคลาสสิก เปิดโอกาสให้นักอ่านได้ค้นพบหนังสือใหม่ๆ ได้อย่างอิสระ

คุณมหพล วุฒิวิถู ผู้เป็นเจ้าของร้านคนปัจจุบัน ซึ่งรับช่วงต่อร้านหนังสือแห่งนี้มาประมาณ 6 ปี ใช้ระบบคล้ายกับการเช่าหนังสือ เมื่อมาซื้อเล่มหนึ่งไปอ่านแล้ว ก็สามารถนำหนังสือเล่มนั้นกลับมาขายคืนแก่ทางร้าน หรือนำมาเปลี่ยนเป็นหนังสือเล่มอื่นไปอ่านต่อได้ไม่รู้จบ

ไม่เพียงเท่านี้ หนังสือเก่า หนังสือที่ไม่ได้ตีพิมพ์แล้ว หนังสือหายากหลายเล่ม ก็ถูกซ่อนรอการค้นพบอยู่ในร้านหนังสือแห่งนี้ ซึ่งสามารถครอบครองได้ในราคาที่ถูกกว่าการสั่งซื้อตามอินเทอร์เน็ต และแน่นอนว่าการได้จับหนังสือเล่มที่ตามหา ได้พลิกดูสภาพของหนังสือไปมา ย่อมดีกว่าการกดสั่งซื้อผ่านหน้าจอโดยที่เราไม่สามารถมองเห็นรายละเอียดเล็กๆ ด้วยตาตัวเอง

‘ร้านเล่า’ ร้านหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวผ่านตัวอักษร

‘ร้านเล่า’ ที่ไม่ได้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่เป็นร้านหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวผ่านตัวอักษรที่ จ๋า- กรองทอง สุดประเสริฐ ผู้ดูแลร้านบอกกับเราว่า หากใครมาเยือนร้านแห่งนี้จะไม่ได้เมาเหล้าแต่จะเมาหนังสือแทน

ร้านเล่าเป็นร้านหนังสือคู่ขวัญเมืองเชียงใหม่ ก่อตั้งในปี 2543 ริเริ่มจากรุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จำนวน 4 คน ซึ่ง จ๋า-กรองทอง เป็นผู้ดูแลร้านรุ่นที่สอง เธอเล่าถึงจุดเริ่มต้นร้านเล่าว่า มาจากความต้องการสร้างพื้นที่ไม่เพียงแต่พื้นที่ของหนังสือ แต่เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ดนตรี และศิลปะ

“ตอนเริ่มต้นเราไม่มีแผนธุรกิจอะไรเลย ( หัวเราะ) ไม่คิดไม่ฝันเหมือนกันว่าจะอยู่มาถึงทุกวันนี้ก็ร่วม 20 ปี เริ่มจากการกระทำเล็กๆ ใครชอบหนังสือประเภทไหน ถนัดเนื้อหาอย่างไร เช่นรุ่นพี่คนหนึ่งตอนนี้เขาเป็นอาจารย์อยู่คณะสังคมศาสตร์ มช. ถนัดแนวมานุษยวิทยา สังคมวิทยา หนังสือวิชาการ พี่อีกคนเป็นนักเขียนและเป็นคนตั้งชื่อร้านว่าร้านเล่าเขาสนใจวรรณกรรม ก็จะช่วยกันเลือกหนังสือมาวางที่ร้าน จนมาถึงตอนนี้ที่ร้านก็ยังขายหนังสือแนวเดิมอยู่คือเรื่องของวรรณกรรมไทย วรรณกรรมแปล ศาสนา ปรัชญา ความเรียง การท่องเที่ยว ส่วนวิชาการก็จะเน้นไปที่สังคม มานุษยวิทยา และประวัติศาสตร์

“จริงๆ ร้านเล่า ย้ายทำเลมาสามครั้งแล้ว ที่ถนนนิมมานเหมินท์ตอนนี้เป็นทำเลที่ 3 ประมาณปี 2557-2558 เราเคยอยู่บริเวณประเสริฐแลนด์ มันสนุกมาก เพราะมีพื้นที่สมัยก่อนที่ตรงนั้นเป็นเวิ้ง ช่วงนั้นจัดกิจกรรมสนุกมาก ขายหนังสือก็สนุก เรายังไม่แก่ทำอะไรก็สนุก (หัวเราะ) และตอนนั้นเชียงใหม่มีสีสันมากๆ เราเคยจัดกิจกรรมจัดเวทีสามวัน จัดฉายหนัง เล่นดนตรีอินดี้ จัดเวทีคอนเสิร์ต เวทีก็จัดเวทีกันมั่วๆ เอง เชิญนักเขียน มีวงหนังสือ จัดงานโปสการ์ดใต้ต้นไม้ มันเป็นอะไรที่สนุกมาก

“ช่วงที่ผ่านมาหลายคนมักบอกว่า หนังสือมันตายไปแล้ว ตอนแรกเราก็คิดนะ แต่ร้านเล่ามันผ่านความกังวลเรื่องการขาย กังวลหนังสืออีบุ๊กไปหมดแล้ว ซึ่งเรากังวลมาตลอดแหละว่าร้านหนังสือจะอยู่ยากขึ้นไหม แต่ตอนนี้เราคิดว่าร้านหนังสืออิสระมันไม่ใช่แค่ร้านหนังสือ ทุกร้านจะมีบรรยากาศ มีบุคลิกเป็นของตัวเอง สุดท้ายก็จะดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่อยากมาเสพบรรยากาศ มาพูดคุย ที่ไม่ใช่แค่การซื้อหนังสือเท่านั้น

“สำหรับการบริหารจัดการของร้านเล่าคือ เราพยายามเข้าใจว่าลูกค้าที่มาหาเขาต้องการหนังสือประเภทไหน เราพยายามเลือกและสั่งหนังสือพวกนี้เข้ามา แต่ยากนะ (หัวเราะ) บางเล่มที่คิดว่าจะขายได้แน่บางทีก็ขายไม่ได้ บางทีคิดว่าเล่มนี้ต้องมาแน่แต่ก็ขายไม่ออก (พูดแกมขำ) การเลือกหนังสือของเรามันจะแตกต่างกับร้านหนังสือใหญ่ๆ หรือร้านแฟรนไชส์เขาจะรันด้วยหนังสือใหม่ หรือหนังสือที่อยู่ในเครือ

“เราคิดว่าหนทางที่ร้านหนังสืออิสระพอจะสู้และอยู่ได้คือ เราต้องรู้ว่าลูกค้ากลุ่มนี้ต้องการหนังสือประเภทไหน หรือหนังสือที่หาไม่ได้ในร้านทั่วไป หรืออาจจะมีในร้านแต่อยู่ในซอกหลืบไหนไม่รู้ และเราต้องไม่ปฏิเสธช่องทางการขายในโซเชียลมีเดีย ก็พยายามปรับตัวแต่ไม่ถนัดเท่าไรนัก (หัวเราะ) การเริ่มต้นทำร้านหนังสืออิสระมันยาก เพราะกว่าจะจับจุดลูกค้าได้ เราคิดว่าการที่ร้านเล่าอยู่มาจนถึงทุกวันนี้เพราะลูกค้าประจำที่แวะเวียนมาซื้อมาอุดหนุน อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ร้านหนังสือมันไปได้คือการทำอย่างอื่นเพิ่ม เช่น ขายเครื่องดื่ม

“หากใครที่อยากเปิดร้านหนังสือ แนะนำให้เปิดเลย! เราจะกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดลูกค้า ดึงดูดนักอ่านของเราจนเจอ แต่ก็อยากแนะนำให้ขายออนไลน์ไปด้วย กลุ่มลูกค้าจะได้กว้างขึ้น หรือหาอะไรที่เรารักนอกจากการอ่านมาทำควบคู่กันไป หากใครมาถามเราว่าควรเปิดไหม เราก็จะตอบเสมอว่าเปิดเลยๆๆ”

หนังสือที่ จ๋า-กรองทอง สุดประเสริฐ แนะนำ 3 เล่ม คือ

1. เจ้าชายน้อย ผู้เขียน: อ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูเปรี

2. เส้นทางสดใส: จากอันดามันถึงอ่าวไทย ผู้เขียน: สดใส ขันติวรพงศ์

3. ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ผู้เขียน: คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร

‘Book Re:public’ ร้านหนังสือที่ถูก คสช. มองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ

7 มิถุนายน 2557 ภายหลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีคำสั่ง คสช. ที่ 68/2557 เรียก อ้อย-รจเรข วัฒนพาณิชย์ เข้ารายงานตัวในฐานะเป็นเจ้าของร้านหนังสือ Book Re:public ที่ทาง คสช. ระบุว่าเป็นร้านหนังสืออิสระทีเสี่ยงต่อภัยความมั่นคงของรัฐ และจัดกิจกรรมล้างสมองเยาวชน

ร้านหนังสือ Book Re:public ก่อตั้งขึ้นหลังเหตุการณ์ล้อมปราบคนเสื้อแดงกลางกรุงในปี 2553 ด้วยความที่รจเรขตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย จึงกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของร้านหนังสือแห่งนี้ที่เธอต้องการเพิ่มพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยน ดึงงานวิชาการที่อยู่บนหิ้ง หยิบเสียงซุบซิบนินทาข้างถนนมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันผ่านเหตุและผล

“จุดเริ่มต้นคือเราอยากมีพื้นที่ เป็นพื้นที่ที่มีหนังสือ มีการพูดคุย เลยคิดว่าไหนๆๆ ก็ต้องมีหนังสือมาอ่านก็น่าจะเอามาขายด้วย เลยกลายเป็นร้านหนังสือขึ้นมา จริงๆ เราตั้งใจจัดเสวนาเอาหนังสือมาคุยกัน มีบุ๊กทอล์ก หากใครมาฟังและสนใจจะซื้อหนังสือกลับก็ได้ เลยเปิดเป็นร้านหนังสือตั้งแต่นั้น

“ตอนแรกที่สร้างพื้นที่นี้ขึ้นมาเพราะคิดว่ามันไม่มี หรือในเชียงใหม่แทบจะไม่มีเลย ส่วนใหญ่เกิดขึ้นแค่ในรั้วมหาวิทยาลัยซึ่งบางครั้งเขาไม่ได้ประกาศ บรรยากาศก่อนการรัฐประหาร คสช. เป็นอะไรที่สนุกมาก ยุคนั้นเราจัดเสวนาเพื่อให้เกิดผลพัฒนาต่อสังคม เรารู้สึกว่าตอนนั้นมีเสรีภาพพอสมควร

“หลังการรัฐประหารก็เปลี่ยนไปเยอะ เขาไม่อยากให้เราพูด ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ปิดกั้นการแสดงออก เราต้องปิดร้านไปช่วงหนึ่งเพราะถูกเขากดดัน เขานี่หมายถึงฝ่ายรัฐนะ ไปกดดันเจ้าของที่เพื่อไม่ให้เราดำเนินกิจกรรมต่อ ไม่ให้เราเปิดร้านต่อ ไม่ต่อสัญญาเช่าร้าน เลยต้องหาที่ใหม่ นอกจากนี้ยังถูกสั่งห้ามงดทำกิจกรรมกับนักศึกษา

“อย่างที่บอกเราไม่ได้เริ่มต้นจากการเปิดร้านหนังสือเพื่อขายหนังสือ เราเริ่มต้นจากการเป็นพื้นที่ มีกิจกรรม มีเสวนา ทำห้องเรียนประชาธิปไตย กิจกรรมต่างๆ สื่อสารกับคนรุ่นใหม่ พอรัฐประหารก็ถูกสั่งห้ามหมด แต่สิ่งที่ผ่านมาเราไม่ได้ทำอะไรที่เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ไม่มีอะไรผิดกฎหมาย หลังจากนั้นก็กลับมาเปิดร้านใหม่ ทำกิจกรรม Human ร้าย Human wrong เป็นการทำงานในแง่ศิลปะ แต่ก็ยังถูกจับตาดูอยู่

“คำว่าหนังสือมันตายไปแล้ว เราไม่เคยเชื่อคำนี้เลย ที่ผ่านมาคนต้องจับหนังสืออ่านอยู่แล้ว แต่อนาคตข้างหน้าเราไม่รู้ หนังสืออาจจะเปลี่ยนรูปแบบเพื่อให้คนสะดวกสะบายมากขึ้นก็ได้ แต่อย่างไร หนังสือไม่มีวันตายหรอก

“หากใครที่ต้องการเปิดร้านหนังสือเล็กๆ เป็นของตัวเอง คำแนะนำคือต้องลดต้นทุนให้มากที่สุด เช่นเปิดที่บ้านไม่ต้องเสียค่าเช่า สิ่งนี้ดีที่สุด มันคือเหตุผลว่าทำไมเราต้องย้ายร้าน Book Re:public มาเปิดที่บ้านเพราะไม่มีค่าเช่า จังหวัดเชียงใหม่ค่าเช่าแพงมาก ถ้าคุณไม่มีต้นทุนเรื่องค่าเช่าต้นทุนก็จะไม่สูงมาก จะทำให้พออยู่ได้ และสำนักพิมพ์ต่างๆ เอง เขาก็เห็นใจร้านหนังสืออิสระอยู่แล้ว

“เราคิดว่าสิ่งที่จะทำให้ร้านหนังสืออิสระอยู่ได้คือ มันต้องมีกิจกรรมอย่างอื่นเพิ่ม หรือมีรายได้ด้านอื่นบ้าง เช่น บางร้านเปิดเป็นคาเฟ่เลย เมื่อก่อนเราก็ทำนะเพราะมีพื้นที่ บางคนเขามาดื่มชา กาแฟ เห็นหนังสือเขาก็จะซื้อกลับไปด้วย เอาเข้าจริงๆ คนที่ทำงานหนังสือคือคนที่รักหนังสือและอยากให้คนเข้าถึงหนังสือ เพราะฉะนั้นหากทำอะไรอย่างอื่นควบคู่เพื่อเพิ่มยอดขายก็จะดีมาก

“ร้านหนังสืออิสระจะบอกเอกลักษณ์ บุคลิกของเจ้าของเป็นอย่างดี ส่วนนี้คือสิ่งพิเศษที่ร้านใหญ่ๆ ไม่สามารถทำได้ เพราะขายหนังสือทุกประเภท ส่วนทาง Book Re:public เราจะเลือกหนังสือตามที่ตัวเองชอบ เราคัดหนังสือเอง เล่มไหนอยากให้คนอ่าน เล่มไหนเราอิน แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะอ่านมันทุกเล่มนะ แต่หมายถึงเล่มนี้น่าสนใจน่าจะเอามาวางไว้ที่ร้านให้คนอ่าน เพราะหนังสือที่ Book Re:public สามารถเปิดอ่านได้ บางทีน้องๆ นักศึกษามาก็จะถามว่าเปิดอ่านได้ไหม เราก็บอกว่าได้อ่านเลย บางคนอ่านจนจบเล่ม บางคนอ่านและเอาที่คั่นหนังสือขั้นไว้ และมาอ่านในวันถัดไป

“เราคิดว่าพวกนี้มันคือเสน่ห์ของร้านหนังสืออิสระนะ เช่น ถ้าอยากได้หนังสือศิลปะในเชียงใหม่คุณต้องไป The Booksmith อยากได้วรรณกรรม ไลฟ์สไตล์ ก็ต้องไปร้านเล่า แต่ถ้าอยากได้ สังคม ประวัติศาสตร์การเมืองคุณก็มานี่”

หนังสือที่ อ้อย-รจเรข วัฒนพาณิชย์ เจ้าของร้านหนังสือ Book Re:public แนะนำ 3 เล่ม คือ

 1. นกก้อนหิน ผู้เขียน: บินหลา สันกาลาคีรี

 2. จิบพม่า ตามหาจอร์จ ออร์เวลล์ ประวัติศาสตร์ระหว่างบรรทัดในร้านน้ำชา ผู้เขียน: เอ็มม่า ลาร์คิน

 3. ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ผู้เขียน: คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร

Waltz Bakes x Harvest Moon Bookshop ร้านหนังสือและคาเฟ่กลางสวนที่อยากอยู่ ‘นอกเมือง’

แม้ว่าร้าน Waltz Bakes x Harvest Moon Bookshop จะเป็นคาเฟ่และร้านหนังสืออิสระน้องใหม่ แต่ประสบการณ์ของสองเจ้าของร้านทั้ง ‘อัง’ – ชฏิลรัตน์ ดอนปัน และ ‘แขก’ – ปิยศักดิ์ ประไพพร นั้นไม่ใหม่ เพราะอังก็เคยทำขนมขายเป็นร้าน Pop-Up เล็กๆ บริเวณย่านวัดอุโมงค์ ส่วนนักอ่านในเชียงใหม่ก็คงคุ้นหน้าของแขกเป็นอย่างดี เพราะเขาเคยเป็นพนักงานร้านหนังสืออิสระในเชียงใหม่มากว่า 18 ปี

เมื่อถึงจุดหนึ่ง ทั้งคู่จึงอยากมีร้านของตัวเอง ประกอบกับเป็นช่วงเวลาที่กำลังสร้างบ้านที่อำเภอหางดง รวมถึงแขกก็ตัดสินใจออกจากงานที่ร้านประจำ จึงคุยกันว่าอยากทำบ้านให้กลายเป็นคาเฟ่และร้านหนังสืออิสระ ซึ่งเป็นความชอบของทั้งคู่ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของหมุดหมายแห่งบ้านคาเฟ่และร้านหนังสืออิสระหลังน้อยแห่งนี้

“ร้าน Waltz Bakes x Harvest Moon Bookshop เริ่มจากการที่เราทำบ้าน ด้วยความที่อังก็เคยทำเบเกอรีขาย พี่แขกก็เคยอยู่ร้านหนังสืออิสระและเพิ่งออกมา เราก็มาคิดกันว่าเอาทั้งสองอย่างมารวมกันที่บ้านเลยไหม

“เชียงใหม่ขยายเยอะมาก อำเภอสันทรายหรืออำเภอหางดงที่เรามาสร้างบ้านอยู่ก็มีคนอยู่ค่อนข้างเยอะ เดี๋ยวนี้คนทำงานในเมือง แต่อาศัยอยู่นอกเมือง เลยคิดกันว่าจะสร้างร้านหนังสือและคาเฟ่เล็กๆ ที่หางดงเพื่อรับคนที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในเมือง ตอนนี้ร้านน่ารักๆ หรือร้านอาหารก็เริ่มมาเปิดนอกเมืองเยอะ เลยคิดว่าน่าจะเป็นไปได้ถ้าเราจะเปิดร้านที่บ้าน”

“ตอนนี้ร้านหนังสือกำลังเพิ่งเริ่ม หนังสือยังมีน้อย แต่จะค่อยๆ ปรับปรุงไปเรื่อยๆ อยากให้เป็นร้านหนังสือที่เข้ามาแล้วมีแต่หนังสือที่น่าอ่าน เหมือนเวลาเราไปร้านหนังสืออิสระ ที่มีการคัดเลือกหนังสือที่ดี อยู่แล้วรู้สึกมีความสุข อยากจับ อยากพลิก อยากอ่าน อยากดู”

“เราไม่ได้เน้นในเรื่องแนวทางหรือคอนเซปต์ของหนังสืออะไรมาก แต่คัดเลือกจากสิ่งที่ชอบ หรือเล่มที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นแนวไหนก็ตาม และไม่ได้จำกัดแนว ที่ร้านเรามีทั้ง fiction, non-fiction, การเมือง, วิชาการ, นวนิยาย, เรื่องสั้น”

“คนจะชอบมาคุยเยอะมากว่า เดี๋ยวนี้คนอ่านหนังสือน้อย แต่ความจริงไม่ใช่เลย สำหรับเรา ถึงแม้จะมีสื่อโซเชียลฯ แต่เราเห็นว่าวัยรุ่นอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มากกว่าเมื่อก่อนเยอะเลย แต่ในเรื่องของทางผู้ผลิตก็มีการเปลี่ยนแปลง เราจะเห็นว่าสื่อประเภทนิตยสารรายปักษ์ รายสัปดาห์ ค่อนข้างจะอยู่ยาก แล้วก็หายไปเยอะ เกือบ 70-80% สำนักพิมพ์ก็อยู่ยาก เรายังคิดเลยว่ากระบวนการไปผิดพลาดตรงไหนจากเมื่อก่อน เพราะเมื่อก่อนพิมพ์หนังสือกันเป็นพันเล่ม ตอนนี้คนอ่านเยอะขึ้น แต่ทำไมสำนักพิมพ์ถึงอยู่ยาก ถ้าให้เรามองคนอ่าน เราคิดว่ามีกลุ่มคนอ่านรุ่นใหม่เพิ่มขึ้น แต่ในด้านคนผลิตมีความยากบางอย่างที่ทำให้การทำสำนักพิมพ์ลำบากขึ้น อยู่ยากขึ้น ตีพิมพ์พันเล่มยังขายไม่หมด มันถึงสวนทางกัน

“ถ้าจะทำร้านหนังสืออิสระจริงๆ ไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยาก แต่ต้องตั้งใจ คิดมาให้ดี และเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับความลำบาก เช่น ค่าใช้จ่าย สมมติถ้าคิดว่าขายหนังสืออย่างเดียวอาจไม่พอสำหรับค่าใช้จ่าย ก็ต้องคิดว่าจะขายอะไรควบคู่ไปด้วย อย่างที่ร้านเราก็ขายเบเกอรีไปด้วย เราคิดว่ามันสามารถหาทางแก้ปั ญหาได้ แต่ต้องเตรียมตัวให้ดีเท่านั้น”

“อยากให้ทุกคนที่มาร้านเราได้ทานขนมที่อร่อย มีหนังสือที่พี่แขกเลือกเข้ามา ได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยน ด้วยความที่ร้านมันคือบ้านเรา เราก็อยากให้เป็นบรรยากาศสบายๆ ทุกคนมาแล้วรู้สึกผ่อนคลาย ไม่ต้องเกร็ง เหมือนได้มาพักผ่อน”

หนังสือที่ร้านแนะนำ คือ

เงาสีขาว ผู้เขียน: แดนอรัญ แสงทอง

‘The Booksmith’ ร้านหนังสือต่างประเทศ ที่ยืนหนึ่งในใจนักอ่านชาวเชียงใหม่ถึง 1 ทศวรรษ

ปรัชญา นิยาย ฮาวทู ปกิณกะ ศิลปะและดีไซน์ ฯลฯ หนังสือเนื้อหาล้ำค่าหลากประเภทจากทั่วทุกมุมโลกถูกขนส่งข้ามน้ำข้ามทะเล โดยมีจุดหมายปลายทาง คือชั้นวางของ ‘The Booksmith’ ร้านหนังสือขนาดย่อมราว 70 ตารางเมตร ย่านถนนนิมมานเหมินท์ ที่เป็นขวัญใจของนักอ่านชาวเชียงใหม่มาถึง 1 ทศวรรษ (2012) ก่อตั้งโดย อาร์ท-สิโรตม์ จิระประยูร อดีตกรรมการผู้จัดการของบริษัท บริษัท เอเซียบุ๊คส จำกัด ( Asia Books Co.,Ltd. )

“เราเริ่มต้นจากการนำหนังสือต่างประเทศประเภทอาร์ท แอนด์ ดีไซน์ (Art and Design) มาจำหน่าย บางเล่มอาจจะเก่า บางเล่มก็ออกมาแล้วสักระยะ ทว่าพอมาอยู่ที่นี่เลยกลายเป็นหนังสือใหม่ ผลตอบรับเลยค่อนข้างดีมาก เพราะไม่มีที่ไหนในเชียงใหม่วางจำหน่าย ซึ่งแต่ละเล่มเราเคยรีเสิร์ชอ่านเอง ตอนเดินทางไปยังร้านหนังสือที่ลอนดอน (ประเทศอังกฤษ) หรือแฟรงค์เฟิร์ต (ประเทศเยอรมนี)”

เรามีโอกาสได้สนทนาสั้นๆ ผ่านทางโทรศัพท์กับสิโรตม์ ถึงจุดกำเนิดของร้าน The Booksmith ที่มีเหตุผลแรกเริ่มมาจากการคลุกลีอยู่ในวงการหนังสือต่างประเทศจนช่ำชอง ผนวกกับเคยมาใช้ชีวิตสมัยเรียนระดับปริญญาตรี ณ มหาวิทยาลัยพายัพ เมื่อถึงคราวรีไทน์จากงานประจำ เขาจึงตัดสินใจมาตั้งรกรากทำธุรกิจที่นี่ โดยช่วงแรกนิยมสั่งซื้อหนังสือประเภทอาร์ท แอนด์ ดีไซน์ มาเป็นเรือธงดึงดูดลูกค้า ก่อนจะขยับขยายไปยังเนื้อหาอื่นๆ กระทั่งกลายมาเป็นโอเอซิสแก่นักอ่านชาวเชียงใหม่ นักอ่านขาจร และขยับขยายมาเป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับสำนักพิมพ์ต่างประเทศ ส่งออกกระจายไปทั่วแถบอินโดจีน

สิโรตน์เล่าให้เราฟังต่อถึงแนวคิดแบบฉบับ Bookselling ที่ทำให้ The Booksmith เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีโจทย์ท้าทายสำคัญคือ ‘แนวหนังสือ’ ที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วไปพร้อมกับผู้อ่าน ดังนั้น ร้านของเขาจึงให้ความสำคัญกับการรับฟังลูกค้าเสมือนเพื่อน สังเกตนิสัยใจคอและความชอบ เพื่อตอบสนองถึงสิ่งที่ลูกค้าต้องการ นอกจากนี้ยังทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงความพิเศษบางโอกาส เช่น เทศกาลคริสมาสต์ที่มีการเขียนโปสการ์ดอวยพร หรือแจกขนมเป็นของฝา

“เอาจริงๆ หนังสือเป็นโปรดักต์ที่หาซื้อจากไหนก็ได้ เพียงแต่เราจะสามารถควานหาความ Unique ของหนังสือเล่มนั้นก่อนคนอื่นได้หรือเปล่า ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าถ้าต้องการซื้อหนังสือประเภทนี้ต้องมาหาเรา ผมว่าตรงนั้นเป็นความท้าทาย

“ตลอด 10 ปี เราจะเห็นว่านักอ่านเขาเติบโตขึ้นเรื่อยๆ มีนักอ่านขาประจำที่เป็นเด็กปี 1 มช. เรียนจบ ทำงานไปแล้ว และกำลังจะแต่งงานก็กลับมาอุดหนุนที่นี่ บางคนอาจจะหายไปบ้างเพราะต้องย้ายถิ่นฐานตามหน้าที่การงาน แต่ขณะเดียวกันก็มีลูกค้าหน้าใหม่เข้ามาเติมเต็ม ลูกค้าเก่าที่มีพอเดินเข้ามาเราจะจำได้ทันทีว่าเขาติดตามหนังสือประเภทไหน ผมว่าเหมือนเป็นการศึกษาซึ่งกันและกัน วงการหนังสือมีความใหม่อยู่ตลอดเวลา เราต้องฟังลูกค้าเพื่อเป็นโจทย์กลับไปศึกษาว่าทำไมเขาจึงสนใจ และหลายเล่มเราก็พบว่าเป็นหนังสือที่ดีมาก”

ภายในร้าน The Booksmith สัมผัสได้ถึงมวลบรรยากาศแห่งความอบอุ่น ลักษณะการจัดวางออกแบบคล้ายร้านหนังสือในประเทศแถบยุโรป มีพนักงานคอยให้บริการตอบคำถามด้วยสีหน้ายิ้มแย้มเป็นกันเอง ขณะเดียวกันผู้ที่เดินผ่านไปผ่านมาด้านนอกยังสามารถมองเข้ามาเห็นสินค้าภายในร้านได้ทะลุปรุโปร่ง คล้ายเป็นการแนะนำตัวว่าฉันเป็นใคร ชนิดไม่ต้องเดินออกมาหน้าร้านแจกโบรชัวร์ ตะเบงเสียงป่าวประกาศ

นอกจากสาขาที่ถนนนิมมานเหมินท์ ปัจจุบัน The Booksmith มีสาขาอื่นรวมทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ สาขาสนามบินเชียงใหม่ สนามบินดอนเมือง คอลแลบกับร้านหนังสือเชนสโตร์และซูเปอร์มาเก็ตเจ้าใหญ่เจ้าหนึ่ง รวมไปถึงล่าสุดที่เปิดขายผ่านทางเว็บสโตร์ที่พัฒนาขึ้นเองอย่าง https://www.thebooksmith.co.th โดยเป็นการวางแผนยืนระยะของร้าน หลังเพิ่งผ่านมรสุมช่วงโควิด-19 ในปี 2020 ที่ทำให้ร้านขาดทุนเป็นปีแรกนับตั้งแต่เปิดร้าน

สำหรับใครที่อยากแวะเวียนมายังร้าน The Booksmith สาขาถนนนิมมานเหมินท์ สามารถแวะเวียนมาได้ตั้งแต่เวลา 08.00-19.00 น. ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมหรือสั่งซื้อได้ที่เว็บไซต์ https://www.thebooksmith.co.th, เพจเฟซบุ๊ก The Booksmith และเบอร์โทรศัพท์ 093-546-3790

‘ปั๊กกะตืน’ ร้านเช่าหนังสือการ์ตูน ที่เป็นทั้งขวัญใจและเพื่อนคลายเหงาของเด็ก มช.

หากเอ่ยถึง Nostalgia ในวัยเด็กของใครหลายคน ‘ร้านเช่าหนังสือการ์ตูน’ คงจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่ถูกถวิลหามากที่สุด เพราะเพียงแค่มีเงินราว 5-10 บาท ก็สามารถหยิบยืมหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นหรือที่เรียกว่ามังงะ (Manga) กองพะเนิน มาอ่านให้เพลิดเพลินคลายความเหงา ยามที่โทรศัพท์และสมาร์ตโฟนยังไม่เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตดั่งปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ด้วยกาลเวลาที่ผันแปรประกอบไลฟ์สไตล์ของนักอ่านที่มีมากขึ้น ทำให้ร้านเช่าหนังสือการ์ตูนต้องแบกรับต้นทุนเกินตัว และเมื่อขาดทุนมากกว่าได้ ผลสุดท้ายธุรกิจดังกล่าวจึงทยอยล้มหายไปทีละนิด และแทบไม่หลงเหลือให้เห็นอีกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพฯ

ทว่าไม่ใช่กับชาวเชียงใหม่ และนักศึกษา มช. ที่ยังมีร้าน ‘ปั๊กกะตืน’ ร้านเช่าหนังสือการ์ตูนและนิยาย ณ ด้านหลังวัดอุโมงค์ ใต้ล่างหอพักอินเตอร์เรสสิเดนท์ ที่เปิดมาตั้งแต่ปี 2535 โดยมี ฮัว-อารยา แซ่ตั้ง อดีตนักศึกษาช้างเผือก ผู้ใฝ่ฝันอยากเปิดร้านหนังสือประเภทนี้เป็นเเจ้าของคอยดูแล และแบ่งปันความสุขให้กับนักอ่านคอเดียวกัน แม้ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย

“เราเป็นคนที่อ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก แม่กับพี่สาวมีหนังสือนิตยสารสกุลไทย กุลสตรี และนิยายเพชรพระอุมา ก็จะขอหยิบมาอ่านด้วย พอมาเข้าเรียนที่มช. คณะมนุษย์ศาสตร์ ก็เจอเพื่อนที่ชอบอ่านหนังสือเหมือนกันตามชมรมอาสาฯ ชมรมวรรณศิลป์ เลยวางแผนกับเพื่อน 8 คนว่า เรามาลงขันเปิดร้านหนังสือกันไหม ตั้งชื่อเป็นภาษาเหนือว่าปั๊กกะตืน แต่พอตอนใกล้จะจบเอาเงินมานับดูกลับได้ไม่เท่าไร สุดท้ายเลยมาหารแบ่งกันเราก็ได้เงินทำทุนมาจำนวนหนึ่ง (หัวเราะ)

“ตอนแรกเราไม่ได้ตั้งใจจะมาเปิดร้านเช่าหนังสือ เพราะพอเรียนจบเราไปทำงานเป็น NGO แต่ก็ยังไม่ทิ้งความคิดที่จะเปิดร้านหนังสือ ประจวบกับได้ทำเลห้องว่างจากคนรู้จักแถวถนนช้างคลาน และด้วยความที่ไม่เงินทุนมากพอจะทำร้านขายหนังสือทั่วไป เลยตัดสินใจมาทำเป็นประเภทร้านให้เช่าแทน เราก็ขนเอาหนังสือการ์ตูน นิยาย หนังสือซีไรต์ ที่เรามีอยู่มาวางในร้าน สักพักพอตั้งตัวได้ก็ค่อยขนเล่มใหม่ๆ มาเติม”

จากช้างคลานไม่นานนักเจ้าของสถานที่ได้ขอเวนคืน อารยาจึงตัดสินใจย้ายพำนักมายังใต้ล่างหอพักอินเตอร์เรสสิเดนท์ ด้านหลังวัดอุโมงค์ ที่เธอคุ้นชินเป็นอย่างดีในสมัยเรียน เนื่องจากอยู่ไม่ไกลรั้ว มช. และด้วยความที่คิดค่าเช่าเริ่มต้นเพียงเล่มละ 3 บาท ไม่ช้าปั๊กกะตืนจึงกลายเป็นขวัญใจนักอ่านงบน้อย รวมไปถึงบรรดาเด็กๆ นักเรียน นักศึกษา

“เรามีหนังสือการ์ตูนดังๆ ให้เช่า ทั้งดราก้อนบอล (Dragon ball), วันพีช (One piece), นินจาคาถาโอ้โฮเฮะ (Naruto), บูม (BOOM), ซีคิดส์ (C-kids) ฯลฯ สมัยนั้นถือเป็นยุคทองมาก ร้านยังไม่ถึงเวลาเปิดก็มีนักศึกษามารอเช่าแล้ว รอบๆ ก็จะมีร้านเช่าเปิดตามเยอะเป็นดอกเห็ด กระทั่งประมาณปี 2559-2560 สมาร์ทโฟนเริ่มเข้ามามีอิทธิพลคนก็เริ่มนิยมหันไปอ่านเถื่อนกันมากขึ้น ร้านเช่าก็ซบเซาปิดตัวตาม เราก็มีแอบจิตตกบ้าง ว่าจะอยู่รอดไหม”

แต่ชีวิตย่อมมีหนทางเสมอ เพื่อความอยู่รอดและเท่าทันต่อยุคสมัย อารยาจึงนึกกลยุทธ์ปรับลดต้นทุนด้วยการรับฝากเช่าหนังสือ จากนักอ่านรายอื่นที่อยากแสวงหากำไรเล็กๆ น้อยๆ โดยแบ่งเปอร์เซ็นต์กำไร 70 ต่อ 30 เปอร์เซ็นต์ เปิดเว็บไซต์วางขายหนังสือมือสอง รวมไปถึงบริการเช่าออนไลน์แก่คนต่างถิ่นด้วยการส่งไปรษณีย์ ผลคือร้านยังพยุงอยู่ไหวแม้ไม่ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ

“เด็กส่วนใหญ่เริ่มหันกลับมาอ่านหนังสือการ์ตูนกันประปราย เพราะดูแอนิเมชันมาจากพวกเน็ตฟลิกซ์ อย่าง ดาบพิฆาตอสูร (Demon Slayer), SPY×FAMILY, มหาเวทย์ผนึกมาร (Jujutsu Kaisen), โตเกียว รีเวนเจอร์ส (Tokyo Revengers) ฯลฯ พวกนิยายก็มีประเภท Y ที่นิยม เราก็ต้องปรับตัวตามเทรนด์นักอ่าน”

“ใจจริงเราอยากให้รัฐมีส่วนเข้ามาสนับสนุนเด็กๆ เรื่องการอ่าน ไม่ใช่แค่เข้าห้องสมุดแล้วต้องมีแต่วิชาการ หนังสือการ์ตูนควรเป็นอีกทางเลือก ดูอย่างประเทศญี่ปุ่นเด็กๆ เขาได้แรงบันดาลใจอยากประกอบอาชีพจากการอ่านมังงะ จุดนี้ผู้ใหญ่ ผู้ปกครองต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ” อารยากล่าวทิ้งท้าย

บรรยากาศภายในร้านปั๊กกะตืน ยังคงสภาพความคลาสสิกตามแบบฉบับร้านเช่าหนังสือในอุดมคติ หนังสือกับนิยายแต่ละเล่มจัดวางตามหมวดหมู่และสำนักพิมพ์อย่างเรียบร้อย บางเล่มเก่าเก็บนานเกิน 20 ปี ยกตัวอย่างเรื่องสแลมดังก์ (Slam Dunk) ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกราวปี 2536 ที่เมื่อเปิดพลิกริมและสูดกลิ่นกระดาษ ก็หวนชวนนึกถึงภาพวันวานของเด็กกะโปโลตัวจ้อย ที่มีเพื่อนคลายเงหาเป็นหนังสือการ์ตูน

ร้านปั๊กกะตืนเปิดให้บริการทุกวันจันทร์ – เสาร์ (หยุดวันอาทิตย์) ตั้งแต่เวลา 12.00-20.30 น. ราคาเช่าอยู่ที่ 5-9 บาท พร้อมมีหนังสือการ์ตูนมือหนึ่งและมือสองให้เลือกซื้อหน้าร้าน สมาชิกใหม่ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ (มีเงื่อนไขต้องวางบัตรประจำตัวมัดจำ) ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่เพจเฟซบุ๊ก ร้านหนังสือการ์ตูน นิยายเช่า ‘ปั๊กกะตืน’ ซอยวัดอุโมงค์ หลัง มช. เชียงใหม่ เว็บไซต์ pakatuen.com และเบอร์โทรศัพท์ 088-289-0076

Tags: , , ,