คล้ายผีเสื้อขยับปีกพลิ้วล้อจังหวะกระแสลมฤดูกาล เป็นสายลมรื่นรมย์ที่พัดพาหลังมรสุมผ่านพ้นไป…

เขาดูเป็นตัวของตัวเองกว่าในชุดแฟนซีสีรุ้งโฉบเฉี่ยว ดูมั่นใจและอิ่มเอมด้วยความสุขสนุกสนานขณะเต้นระบำ เริงร่า พลางส่งยิ้มแล้วโบกมือทักทายบรรดาสื่อมวลชนในค่ำคืนคึกคักย่านไนท์บาซาร์ ต้น – ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักกิจกรรมอิสระด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศและพนักงานบริการ พลิ้วไหวไปกับโอกาสและจังหวะของชีวิตที่รอคอยมานานกว่า 10 ปี

เช่นเดียวกับผู้คนหลายร้อยชีวิตที่ประดับเสื้อผ้า วาดระบายเรือนร่าง และโบกสะบัดสัญลักษณ์ธงสีรุ้ง ของชาว LGBT แต่งแต้มสีสันบรรยากาศครื้นเครงจากเสียงดนตรี สลับชูป้ายข้อความ “Equality Now” “Proud to be Trans” “Love is Love” “Sex Work is Work” ฯลฯ พร้อมเปล่งประกาศข้อเรียกร้องสิทธิความเสมอภาคสำหรับกลุ่มเพศหลากหลาย ที่ชวนให้สังคมมองผู้ขายบริการทางเพศเช่นลูกจ้างหรือคนทำงานทั่วไป จุดประกายสนับสนุนการยกเลิก พรบ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี เดินหน้าสิทธิเท่าเทียมเรื่องการสมรสระหว่างเพศเดียวกัน ตลอดจนรณรงค์ให้ชาวคริสต์ก้าวข้ามมายาคติกีดกันคริสต์ศาสนิกชนที่มีเพศวิถีแตกต่างจากความคาดหวังของศาสนา

บนท้องถนนจากพุทธสถานสู่ลานประตูท่าแพ มีทั้งนักเรียน นักศึกษา คุณลุงสามล้อถีบ นักแสดงคาบาเรต์ นักกิจกรรมและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทุกคนพร้อมใจกันออกมาร่วมขบวนพาเหรดกิจกรรม ‘Chiang Mai Pride 2019’ เฉลิมฉลองแด่ก้าวย่างสำคัญในการแสดงออกซึ่งพลังขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนเพื่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่อีกครั้ง

“มันแก๋น ขึดบ้านขึดเมือง” (มันแสลง กาลีบ้านกาลีเมือง) “พวกอัปรีย์ออกไป!” “Gay get out!” “อย่าดื้อ! อย่าเดิน! ขบวนกะเทย”

เมื่อสิบปีก่อน เสียงแผดกระแทกอารมณ์พุ่งเข้าจู่โจมผู้ร่วมงานที่ส่วนหนึ่งติดอยู่ภายในบริเวณพุทธสถานเชียงใหม่ พวกเขาถูกปิดล้อมจากกลุ่มผู้ต่อต้านการเดินขบวนที่สาปแช่ง ด่าทอด้วยถ้อยคำหยาบคาย ชูป้ายขับไล่ พร้อมขว้างปาข้าวของใส่ เมื่อเหตุการณ์อลหม่านเริ่มลุกลามกลายเป็นความจลาจล ทั้งหมดจึงตัดสินใจนั่งสมาธิสงบสติอารมณ์เลือกต่อสู้ด้วยแนวทางสันติวิธี ทว่าหลายชั่วโมงแห่งความรุนแรงไม่มีทีท่าลดรา ฝ่ายผู้ต่อต้านจึงยื่นข้อเสนอมาให้ทบทวน 3 ข้อ คือให้ยุติการจัดเกย์ไพรด์ทันที ห้ามจัดเกย์ไพรด์ในเชียงใหม่อีก 1,500 ปี และคลานมากราบขอโทษ พวกเขารับข้อเสนอเพียงหนึ่งและยอมล้มเลิกงาน

นี่คือเหตุการณ์ความรุนแรงที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เชื่อว่ากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศยังจดจำได้ไม่มีวันลืม เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2552 ในงาน ‘Chiang Mai 2nd Gay Pride’ ครั้งที่ 2 ของการจัดกิจกรรม LGBT Pride ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งหากย้อนกลับไปหนึ่งปีก่อนหน้าอันเป็นปีแรกที่ Chiang Mai Pride ถือกำเนิดขึ้นนั้น ความตั้งใจในการสร้างสรรค์พื้นที่ให้กับเหล่า LGBT และอยากให้สังคมตระหนักถึงประเด็นสิทธิความเท่าเทียมทางเพศมากยิ่งขึ้นได้รับความร่วมไม้ร่วมมือและผลตอบรับอย่างดีเยี่ยม เพียงแต่ในปีถัดมาจุดเปลี่ยนเล็กๆ ที่ไม่เคยคิดคาดกลับลุกลามกลายเป็นปัญหาและบทเรียนสำคัญ

“10 ปีก่อนทั่วโลกยังไม่มีคำว่า London Pride หรือ Sydney Pride นะ สมัยนั้นจะใช้คำว่า Gay Pride เป็นหลัก เพื่อความชัดเจนเราเลยตัดสินใจกันว่าจะเพิ่มคำว่า Gay ลงไปในชื่องานด้วย ทีนี้ก็ได้เรื่องเลย เพราะคนเข้าใจว่าต้องเป็นงานที่เกย์หรือกระเทยจะออกมาโชว์ตูด โชว์นม ใส่บิกินี่เดินบนท้องถนนแน่ วิทยุและกระแสต่างๆ เลยโหมกระหน่ำด่าเข้ามา

ซึ่งตอนนั้นทางเราก็แบ่งรับแบ่งสู้นะ ประกาศขอให้ทุกคนที่จะมาร่วมงานคำนึงถึงวัฒนธรรมด้วย เพราะเราก็อยู่ในสังคมที่มีกฎเกณฑ์และความเชื่อแตกต่าง ในเมื่อเราเรียกร้องสิทธิมนุษยชนของตนเองได้ เราก็ต้องอย่าไปละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนอื่นหรือทำให้เขารู้สึกว่าโดนคุกคามด้วย แต่แนวทางนี้กลับกลายเป็นชนวนความขัดแย้งกับ LGBT สุดโต่ง จนนำไปสู่การปลุกระดมกลุ่มคนอนุรักษ์นิยมให้ออกมาต่อต้าน ที่สำคัญคือเขายัดเยียดเรื่องการเมืองมาสร้างความเกลียดชัง จุดนี้เองที่ทำให้สถานการณ์มันยิ่งทวีความรุนแรง

เราจำได้ดีที่มีป้าคนหนึ่งพูดผ่านวิทยุว่า เขาเตรียมถุงใส่เลือดใส่ปลาร้าไว้ ถ้าพวกเราเดินผ่านถนนไนท์บาซาร์เขาจะขว้างใส่ แล้วฟาดพวกเกย์ พวกกะเทยด้วยไม้หน้าสาม มีการปลุกระดมแบบนี้ทุกๆ วัน แต่เราก็ยังไม่ยอมแพ้ กระทั่งถึงวันงานจากที่เคยนึกว่าแค่คำขู่พวกเขายกขบวนมากันจริงๆ ตั้งแต่สี่โมงเย็นพวกเราถูกกักให้อยู่ในบริเวณจุดรวมตัวตั้งขบวน โดนขว้างปาสิ่งของ โดนสาปแช่งต่างๆ นานา

จนดึกดื่นพอเห็นว่าสถานการณ์ไม่สู้ดี ทีมงานจึงยุติการจัดงาน ยุตินะ ไม่ได้ยอมแพ้ เพื่อรักษาความปลอดภัยของทุกคน สถานการณ์ตึงเครียดจึงผ่อนคลายลง หลังจากนั้นกลุ่มต่อต้านก็ทยอยสลายตัวแล้วเปิดรั้วให้ทีมงานที่เหลืออยู่ข้างนอกเข้ามา ตอนนั้นรู้สึกเลยว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่มีเหลือแล้ว ทำไมทั้งที่เราก็เป็นคนเหมือนกัน แค่ความคิดเห็นไม่ตรงกัน แค่ไม่ชอบเกย์กระเทย แค่รังเกียจทำไมถึงต้องทำขนาดนี้ พวกเรากอดคอร้องไห้กันเป็นชั่วโมง บรรยากาศมันเศร้าไปหมดเลย”

ศิริศักดิ์ รื้อบาดแผลของความทรงจำ ที่อีกด้านหนึ่งเป็นเสมือนแรงผลักดันให้ตัวเขาและทีมงานเครือข่ายความหลากหลายทางเพศทุกคนสู้กัดฟันเพื่อยืนยันสิทธิอันชอบธรรม จนสามารถจัดกิจกรรม Pride ที่เชียงใหม่ได้เป็นผลสำเร็จอีกครั้ง

21 กุมภาพันธ์ 2562 กลางลานประตูท่าแพที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คนเงียบสงบลงเมื่อเข้าสู่ช่วงพิธีการจุดเทียนรำลึกเหตุการณ์ความรุนแรง ผู้ร่วมงานหยิบวางประกายแสงแห่งความหวังเรียงรายเป็นเครื่องหมายสันติภาพ ชั่วเวลาสั้นๆ ขณะนิ่งภาวนา บรรยากาศโดยรอบราวอบอวลไปด้วยพลังแห่งความรักอันงดงาม

พอเสร็จสิ้นพิธีการ ตัวแทนเครือข่ายจึงชักชวนทุกคนมามองอนาคตที่จะร่วมก้าวเดินไปพร้อมกันผ่านการนำเสนอ ‘แถลงการณ์ต่อพรรคการเมืองและรัฐบาล ว่าด้วยนโยบายสิทธิความหลากหลายทางเพศคือสิทธิมนุษยชน’ โดยมีใจความสำคัญ ที่เสนอให้พรรคการเมืองทบทวนกฎหมายสมรสอย่างเท่าเทียม, ตรากฎหมายรับรองเพศสภาพ คำนำหน้านาม การระบุเพศ และการรับรองสิทธิประโยชน์อื่นใดโดยไม่สร้างเงื่อนไขบังคับให้บุคคลข้ามเพศต้องผ่านกระบวนการแปลงเพศ

แถลงการณ์นี้ยังครอบคลุมไปถึงการแก้ไขหลักสูตรแกนกลางกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีการเขียนในแบบเรียนว่า “การรักเพศเดียวกันและการเป็นบุคคลข้ามเพศเป็นการเบี่ยงเบนทางเพศ” ซึ่งมักถูกนำไปเผยแพร่ในที่สาธารณะ บ่มเพาะอคติ ตีตรา กระทั่งสร้างความเกลียดชัง รวมไปถึงการ ผลักดันให้มีมาตรการที่ชัดเจนในทางปฏิบัติได้จริงต่อกรณีการห้ามเลือกปฏิบัติ กีดกัน ด้วยเหตุแห่งอัตลักษณ์ทางเพศและเพศวิถีในการทำงานหรือจ้างงาน ให้มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาและสถานที่ปฏิบัติงานอนุญาตให้บุคคลสามารถแต่งกายตามเพศสภาพของตนได้, ส่งเสริมรัฐสวัสดิการและบริการทางสุขภาพเข้าถึงได้อย่างเป็นธรรม พร้อมทั้งจัดทำนโยบายที่มีความละเอียดอ่อนต่อลักษณะของความหลากหลายทางเพศ อาทิ การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่เป็นคนข้ามเพศ หรือจัดห้องพักผู้ป่วยให้ตรงกับเพศสภาพของบุคคล

“เพราะสิทธิมนุษยชนก็คือสิทธิมนุษยชน ไม่มีเพศ ไม่มีศาสนา ไม่มีการแต่งกาย ไม่มีการศึกษา ไม่มีเชื้อชาติ หรือวรรณะใดๆ ทั้งสิ้น ขอให้เข้าใจว่าคนคือคน เวลากรีดเลือดออกมาเป็นสีแดงเหมือนกัน ซึ่งงาน Pride ที่เราตั้งใจจัดทำขึ้นในครั้งนี้นั้นก็เพื่ออยากชวนให้ทุกคนมองคนที่มีความหลากหลายทางเพศ Based on Human Right เคารพความแตกต่างและสิทธิมนุษยชนของพวกเราอย่างแท้จริง”

กิจกรรม Chiang Mai Pride 2019 ปีนี้นอกจากจะจัดขึ้นเพื่อเป้าหมายหลักในการสร้างความเข้าใจให้สังคมตระหนักเรื่องความเท่าเทียมและยุติอคติต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศแล้ว ยังถือเป็นวันครบรอบและรำลึก 10 ปีของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ความรุนแรง ที่ต่อมาเรียกกันว่าเหตุการณ์ ‘เสาร์ซาวเอ็ด’ ซึ่งปัจจุบันทางเครือข่ายได้ปักหมุดให้เป็นวันยุติความรุนแรงต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศของประเทศไทย

Tags: , , ,