นิทรรศการภาพถ่ายเชียงใหม่ เป็นนิทรรศการภาพถ่ายประจำปีจัดขึ้นที่เชียงใหม่ มีแม่งานคือสาขาวิชาศิลปะภาพถ่าย ภาควิชาสื่อศิลปะ และการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มจัดมาตั้งแต่ปี 2015 โดยปีนี้เป็นปีที่ 3 เข้าใจว่าแต่แรกงานนี้น่าจะเป็นนิทรรศการแสดงผลงานของนักศึกษา แต่ในเมื่อจัดงานแล้ว ผู้จัดก็เลยเชิญชวนให้ศิลปินภาพถ่ายชื่อดัง และศิลปินรุ่นใหม่จากต่างประเทศ มาร่วมจัดแสดงผลงาน รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในรูปแบบเวิร์กช็อปไปพร้อมกัน อานิสงส์จึงตกไปที่นักศึกษาและคนเชียงใหม่ที่ตลอดหนึ่งสัปดาห์ ไม่ว่าจะไปที่ไหนของเมือง ก็พบภาพถ่ายศิลปะสวยๆ รวมถึงภาพที่ท้าทายความคิดใหม่ๆ ให้ชมเต็มไปหมด 

โดยปีนี้นิทรรศการหลักจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-15 มกราคม 2563 ที่ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนนิมมานเหมินท์ โดยจัดพร้อมกับนิทรรศการย่อยทั่วเมือง อาทิ โครงการ One Nimman, หอภาพถ่ายล้านนา (ตรงข้ามอนุสาวรีย์สามกษัตริย์), คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโรงแรมแชงกรีลา เชียงใหม่      

From Where We Stand: Parallel Worlds คือหัวข้อของเทศกาลในปีนี้ ซึ่งคิวเรทโดย Zhuang Wubin และ กรรณ เกตุเวช โดยคนแรกคือนักเขียนและนักวิจัยศิลปะชาวสิงคโปร์ ผู้เขียนหนังสือ Photography in Southeast Asia: A Survey ผลงานวิจัยภาพถ่ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สภาบันภาพถ่ายทั่วโลกหลายแห่งนำไปใช้อ้างอิง ส่วนคิวเรเตอร์ท่านที่สองคือ อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปะภาพถ่ายฯ และเป็นผู้อำนวยการโครงการเทศกาลนี้

โลกที่เหลื่อมซ้อน

เริ่มจากนิทรรศการหลักซึ่งจัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ From Where We Stand: Parallel World หรือ ‘โลกที่เหลื่อมซ้อน’ นำเสนอผลงานของศิลปินรุ่นใหม่คัดสรรจาก 30 มหาวิทยาลัยศิลปะชั้นนำจากทั้งภายในภูมิภาคอาเซียน, ฮ่องกง, จีน, ไต้หวัน, สหรัฐอเมริกา, สวีเดน ฯลฯ หัวข้อนิทรรศการบอกเล่าตรงไปตรงมาถึงสถานการณ์ บรรยากาศ ความทรงจำ รวมไปถึงปัญหาที่เหลื่อมซ้อนกันอยู่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งถูกถ่ายทอดผ่านภาพถ่ายหลากมุมมองและเทคนิค อย่างไม่มากก็น้อย, สาสน์จากภาพถ่ายเหล่านี้จะมีความเหลื่อมซ้อนกับประสบการณ์ของผู้ชมหลายคน และนี่เป็นเพียงสังเขป 

This body can do wonders โดย Joanna Berg จาก University of Arts Poznan โปแลนด์ นำเสนอซีรีส์ภาพถ่ายบุคคลข้ามเพศภายในอพาร์ทเมนต์ของพวกเขาและเธอ ศิลปินตั้งใจสะท้อนปัญหาการไม่ยอมรับและการใช้ความรุนแรงของผู้คนหัวเก่าที่มีต่อบุคคลข้ามเพศในโปแลนด์ นั่นทำให้สถานที่เดียวที่ปลอดภัยที่สุดของพวกเขาและเธอคือห้องพักในอพาร์ทเมนต์ส่วนตัว  

Nexus โดย Ney Mila จาก Daytona State University สหรัฐอเมริกา สะท้อนภาวะอันเมินเฉยของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านภาพถ่ายที่จัดองค์ประกอบประหนึ่งหลุดมาจากหน้าแฟชั่นในนิตยสาร ทว่าแทนที่จะเป็นภาพบุคคลกับคอสตูมจัดจ้าน กลับเป็นภาพถ่ายเหล่ามนุษย์ผู้มีใบหน้าเมินเฉยกับปลาที่ตายแล้ว, ซากไม้ หรือวัสดุที่ถูกทิ้ง

Cielo โดย Lisamar Barreiro-Marrero จาก University of Central Florida สหรัฐอเมริกา ถ่ายภาพท่วงท่าของบุคคลที่ห่อหุ้มร่างกายด้วยผืนผ้าสีขาว สร้างเส้นสายแปลกตาไปพร้อมกับเมฆจำลองบนท้องฟ้า 

H.a.l.l.u.c.i.n.a.t.e โดย Ana Setyardyani Putri จาก Indonesia Institute of the Arts อินโดนีเซีย ถ่ายทอดภาพหลอนของศิลปินในภาวะอารมณ์เปราะบาง เป็นภาพถ่ายเหลื่อมซ้อนอันฉูดฉาดด้วยเทคนิค  

Muang Thong Thanee 2020 โดย Chatmongkol Rukrach มหาวิทยาลัยรังสิต ฉายภาพเบื้องหลังของศูนย์ประชุมที่เป็นเหมือนสถานที่จัดงานที่สะท้อนความทันสมัย ความหรูหรา หรือความเจริญทางวัตถุของประเทศไทย ด้วยองค์ประกอบของสถานที่และวัตถุที่ไม่ถูกจัดระเบียบ เรียบง่าย ไปจนถึงเคอะเขิน ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงโดยรอบศูนย์ประชุมนานาชาติแห่งนี้ 

ฯลฯ

นิทรรศการภาพถ่าย AR 

อีกหนึ่งไฮไลท์ของเทศกาลภาพถ่าย จัดอยู่ใต้ชายคาของมิวเซียมแห่งเดียวกัน (10-15 ม.ค.) นั่นคือ Cross by Pasa Festival คิวเรเตอร์ Soonki Park คัดเลือกชิ้นงานของศิลปินเกาหลีใต้ 12 ชิ้น จากเทศกาลภาพถ่ายดิจิทัลสุดล้ำ Pasa Festival นำเสนอด้วยรูปแบบ Augmented Reality ผ่านจอมอนิเตอร์ความละเอียดสูง โดยคัดเลือกภายใต้หัวข้อ ‘เมื่อวิทยาศาสตร์กับศิลปะเป็นหนึ่งเดียว’ 

  Cyber City โดย Claudia Duczkowska ดิจิทัลอาร์ทิสต์จากอาร์เจนตินา นำเสนอภาพ portrait จินตนาการถึงมนุษย์ผู้อยู่ในกรอบค่านิยมสมบูรณ์แบบในโลกแห่งอนาคต หรือ Street Drama โดย Shinster ถ่ายภาพสถานที่ว่างเปล่าก่อนใช้เทคโนโลยี AR ซ้อนทับผู้คนหลากหลายที่กำลังสัญจรไปมาผ่านสถานที่นั้นๆ เป็นต้น

(UN) NATURAL BODIES II 

นิทรรศการของ 7 ศิลปินภาพถ่ายสังกัด Fotografia – UAP ประเทศโปแลนด์ จัดแสดงระหว่างวันที่ 10-20 ม.ค. ที่แกลเลอรี่ชั้นล่าง คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คิวเรทโดย Anna Kedziora นำเสนอซีรีส์ภาพถ่ายสรีระทั้งของมนุษย์ สัตว์ สัตว์สตัฟฟ์ ไปจนถึงวัตถุและภูมิทัศน์ธรรมชาติ ซึ่งสะท้อนความเชื่อมโยงและความหมายของสรีระเหล่านี้ผ่านช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ท่ามกลางบริบทของสังคมในประเทศโปแลนด์ และสังคมโลก 

Solo Exhibitions 

นอกจากนี้ในเทศกาลยังมีนิทรรศการเดี่ยวที่ไม่ควรพลาดอีกสองงาน ได้แก่ The Worshipping โดย ศักรินทร์ สุทธิสาร จัดแสดงระหว่างวันที่ 10-20 ม.ค. ที่โครงการ One Nimman – ศิลปินตั้งคำถามถึงความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของคนไทยผ่านการประกอบสร้างประติมากรรมที่เป็นไอคอนในโลกตะวันตกกับเครื่องสักการะแบบไทยๆ กลายเป็นซีรีส์ภาพถ่ายกึ่งคอลลาจสุดป๊อบที่เห็นแล้วก็อดยิ้มไม่ได้  

และ จินตนานัปการ โดย สมศักดิ์ พัฒนพิฑูรย์ ดัดแปลงกล้องดิจิทัลให้รับแสงสีปกติผนวกกับแสงอินฟาเรด ถ่ายภาพภูมิทัศน์ธรรมชาติที่เราเห็นชาชิน ให้ดูเหมือนเป็นทัศนียภาพต่างมิติที่ศิลปินสแนปมาจากดาวดวงอื่น จัดแสดงระหว่างวันที่ 7 ม.ค. – 30 มี.ค. ที่โรงแรมแชงกรีลา เชียงใหม่  

เทศกาลภาพถ่ายเชียงใหม่ยังมีนิทรรศการย่อยซึ่งจัดก่อนหน้าแล้วอย่าง The Chiang Mai Reform นิทรรศการภาพถ่ายเมือเชียงใหม่โดยศิลปินท้องถิ่น จัดที่ หอภาพถ่ายล้านนา ถึงวันที่ 30 มกราคมนี้ และ workshop ภาพถ่ายจากศิลปินชั้นนำอีกหลายโปรแกรมซึ่งจัดไปจนถึงวันที่ 18 มกราคม ดูโปรแกรมได้ที่ cmphotofest.com 

Tags: ,