หนึ่งในภาพที่หลายคนน่าจะยังจำได้ติดตาคือภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงม้าไปตามไหล่เขา รายล้อมไปด้วยขบวนของชาวบ้านที่มารับเสด็จ น้อยคนที่จะรู้ว่าภาพนั้นถ่ายที่บ้านผาหมี หมู่บ้านชาวอาข่าหมู่บ้านเล็กๆ บนเขาในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยอยู่ไม่ไกลจากถ้ำหลวง ขุนนำ้นางนอนนัก โดยชื่อของผาหมีนั้นได้มาจากรูปทรงของดอยใกล้ๆ ที่ดูคล้ายหมีตัวใหญ่นอนอยู่
จากพื้นที่แห้งแล้งและภูเขาสูงชันในแถบชายแดนที่กลายเป็นเส้นทางขนส่งยาเสพติด แต่หลังจากที่มีการปรับและพัฒนาพื้นที่ให้เป็นที่เพาะปลูกชา กาแฟ พืชผักผลไม้ตามฤดูกาล ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอาข่าในหมู่บ้านผาหมีเริ่มดีขึ้น และชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ก็ค่อยๆ เติบโตอย่างยั่งยืน
จากวันนั้นถึงวันนี้ 850 กิโลเมตรจากผาหมีสู่กรุงเทพฯ เราได้สัมผัสกับกลิ่นอายของหมู่บ้านแห่งนี้อีกครั้งที่กรุงเทพฯ เมื่อ ‘ฌานา’ จัดแคมเปญพิเศษร่วมกับ โลเคิล อร่อย และผาหมี โดยได้เชิญชาวบ้านผาหมีมาเสิร์ฟอาหารอาข่าแบบดั้งเดิมให้ได้ชิมกันที่ร้านฌานา สาขาสยามเซ็นเตอร์เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยรายได้จากการขายที่นั่งในงานหลังหักค่าใช้จ่ายจะมอบให้ชุมชนผาหมีเพื่อนำไปพัฒนาชุมชนต่อยอดความยั่งยืนต่อไป
พี่แก้ว รวิมล มงคลธนภูมิ ตัวแทนชาวอาข่าจากชุมชนผาหมี
ดินเนอร์มื้อพิเศษนี้มีไฮไลต์อยู่ที่ “รากชู” สมุนไพรท้องถิ่นที่อยู่คู่ครัวชาวอาข่า พี่แก้ว รวิมล มงคลธนภูมิ ตัวแทนจากผาหมีผู้นำทีมชาวบ้านลงมาครั้งนี้อธิบายให้เราฟังว่ารากชูนี้เป็นพืชที่ขึ้นในที่สูง ชาวอาข่านิยมนำมาใช้ทำอาหาร เนื่องจากมีคุณสมบัติช่วยชูรสชาติของอาหารได้ เนื่องจากชาวอาข่าจะใช้แค่เกลือในการปรุงอาหารเท่านั้น แม้จะสามารถนำมาปรุงอาหารได้ทุกส่วน แต่ส่วนรากดูจะเป็นที่นิยมมากที่สุด เนื่องจากมีความเหนียวกรอบคล้ายกุยช่ายขาว แถมยังอุดมไปด้วยสารอาหาร นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติช่วยแก้หวัด ลดคอเรสเตอรอล ลดการอักเสบและฆ่าเชื้อแบคทีเรียด้วย
ในครั้งนี้ เราได้ลองเมนูที่มีส่วนผสมของรากชูหลายเมนู อย่างเช่น “กู่ ชิ ลู้” หมูสามชั้นสไลด์ที่ทอดจนกรอบ แล้วนำมาผัดกับรากชู กระเทียมและพริกสด “ยา อู กู่ ชิ ลู้” ไข่เจียวที่เจียวด้วยใบรากชู “ส่า เบีย” ลาบหมูอาข่าที่หอมสมุนไพรและรากชู “อะ ลู อะ ซี ลู้” มันบดเนื้อหนึบที่ปรุงรสด้วยรากชู พริกดอย กระเทียมและผักชี รวมถึงซุปร้อนๆ ใส่รากชูรสชาติกลมกล่อมที่ให้ทานคู่กับผักจากฌานาด้วย วิธีเสิร์ฟนั้นก็เน้นการเสิร์ฟแบบดั้งเดิมแบบชาวอาข่า นั่นคือเสิร์ฟบนใบตอง ทานคู่กับข้าวดอยห่อใบตองในกระบอกไม้ไผ่ซึ่งเป็นภาชนะที่ชาวผาหมีใช้ในชีวิตประจำวัน
แม้จะร่วมงานกับเพื่อนเกษตรกรจากทั่วประเทศไทยที่ส่งพืชผักและวัตถุดิบสดๆ มาเสิร์ฟที่ร้านสำหรับเมนูปกติอยู่แล้ว งานนี้นับได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ฌานาได้ร่วมงานกับชุมชนอื่นๆ นอกเหนือจากเกษตรกรใน Farmer’s Hub ของตน ซึ่งคุณเป้-ชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ผู้บริหารแบรนด์ฌานา กล่าวถึงการร่วมงานในครั้งนี้ว่า “ที่ฌานา เราเชื่อเรื่องการสร้างความสุขผ่านมื้ออาหารค่ะ เราอยากนำเสนออาหารสุขภาพที่รสชาติอร่อย ไม่จำเจ กินได้ไม่เบื่อ อีกทั้งมีประโยชน์และปลอดภัยแก่ผู้บริโภค และในขณะเดียวกัน เราก็มีแนวคิดและความเชื่อที่แน่วแน่เรื่องการสนับสนุนเกษตรกร และสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน เราอยากจะสร้างห่วงโซ่อาหารแห่งความสุข หรือ Happy Supply Chain ผ่านการเลือกใช้วัตถุดิบคุณภาพที่ส่งตรงจากฟาร์มของเกษตรกรรุ่นใหม่ นอกจากผู้บริโภคจะได้รับประทานอาหารที่สดใหม่ ปลอดสารพิษแล้ว เกษตรกรเองก็มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย
และเพื่อตอกย้ำความเชื่อนี้ ฌานา ได้ขยายวงจรแห่งความสุขนี้ให้กว้างออกไปอีกให้เกิดเป็น “วงจรแห่งความสุขที่ยั่งยืน” ด้วยการนำเสนอความเชื่อและความตั้งใจของ 6 เพื่อนเกษตรกรชุดใหม่ ได้แก่ ‘ไร่รื่นรมย์’, ‘สวรรค์บนดิน’, ‘ม่วนใจ๋ | กลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีธรรมชาติเชียงดาว’, ‘สามพรานโมเดล’, ‘ฟาร์มบ้านย่า’ และ ‘ศาลานา’ ซึ่งเพื่อนเกษตรกรของฌานากลุ่มนี้ ไม่ได้มีแค่แนวทางการเกษตรแบบอินทรีย์เท่านั้น แต่พวกเขายังมีแนวคิดที่จะสร้างเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็ง เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน เกิดเป็นความร่วมมือเพื่อถ่ายทอดออกมาเป็นมื้ออาหารที่ส่งต่อความตั้งใจจาก ‘คนปลูก’ ผ่าน ‘คนทำ’ สู่ ‘คนกิน’
ตั้งแต่วันแรกที่เราเปิดร้าน เราตั้งใจว่าเราอยากจะทำความรู้จักกับเพื่อนๆ เกษตรกรในเมืองไทยให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจและน่าประทับใจให้คนไทยได้รับรู้ผ่านอาหารของเรา มีอยู่วันหนึ่งได้เจอผู้บริหารของทางโลเคิล อไลค์ ซึ่งทำเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน เราก็ประทับใจแนวคิดของเขามากที่เข้าไปช่วยพัฒนาชุมชนผ่านการท่องเที่ยว แล้วทางแบรนด์ก็เพิ่งมีแบรนด์ใหม่อีกแบรนด์คือ โลเคิล อร่อย ที่เน้นการนำอาหารจากชุมชนต่างๆ มาให้คนกรุงเทพฯ และคนทั่วไปได้รู้จักมากขึ้น เป็นการนำเสนอวัฒนธรรมผ่านมื้ออาหาร เราเห็นว่านี่เป็นคุณค่าที่เราเห็นตรงกัน ก็เลยเกิดเป็นการร่วมงานกันในครั้งนี้ ซึ่งทางเราเองก็อยากจะให้ผู้บริโภคได้เห็นภาพใหญ่ด้วยว่าเราไม่ได้มุ่งสนับสนุนแค่เกษตรกรที่อยู่ในเครือข่ายของเราเท่านั้น แต่ยังตั้งใจสนับสนุนวิถีเกษตรชุมชนให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนค่ะ”
แก้ว รวิมล มงคลธนภูมิ ตัวแทนชาวอาข่าจากชุมชนผาหมี และ เป้-ชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด
ส่วนทางโลเคิล อร่อย นั้น แม้จะทำงานร่วมกับชุมชนผาหมีมาอย่างสม่ำเสมอ แต่ครั้งนี้ก็นับเป็นครั้งแรกที่เป็นการร่วมงานกันระหว่างสามภาคี โดยมีหัวใจอยู่ที่ “ความยั่งยืน” คุณอีฟ ชาญวิทย์ เวียงนนท์ Operation Manager ของโลเคิล อร่อย กล่าวว่า “เราทำงานกับคนที่เห็นภาพเดียวกันกับเราครับ ฌานาจะเน้นเรื่องความยั่งยืนของวัตถุดิบและเกษตรกร ส่วนของเราจะเป็นความยั่งยืนทางอาหาร ซึ่งก็คือการเชิญเชฟจากชุมชนมาเผยแพร่อาหารของตนเองให้คนอื่นรู้จัก ทั้งหมดนี้คือจุดมุ่งหมายของ โลเคิล อร่อย เพื่อให้วิถีเกษตรชุมชนค่อยๆ เติบโตไปเรื่อยๆ ครับ”
แม้จะจัดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ดินเนอร์สองวันที่มีคนจองมาเต็มทุกที่นั่งคงเป็นเครื่องการันตีได้ว่าแคมเปญนี้ประสบความสำเร็จมากแค่ไหน ส่วนในปีหน้าฌานาจะมีโครงการอะไรมาให้เข้าร่วมกันได้อีก ติดตามได้ที่ facebook.com/CharnaRestaurant/
Tags: local cuisine, ฌานา, Charna, Local อร่อย, ผาหมี, รากชู