สำหรับคนที่เลี้ยงสัตว์ทั้งหลาย คงมีสารพัดวิธีในการสังเกต เรียนรู้พฤติกรรมสัตว์เลี้ยงของตัวเอง ว่ารู้สึกอย่างไร หรือต้องการอะไร และมันแสดงออกด้วยพฤติกรรมเช่นไร ไม่ว่าจะหิว ปวดฉี่ ปวดอึ ป่วย หรือแม้กระทั่งง่วงนอน ด้วยเพราะสัตว์เหล่านั้นพูดไม่ได้ ภาระหน้าที่นั้นจึงต้องตกมาอยู่กับทาสแมวทาสหมาอย่างเราๆ 

แต่ล่าสุดมีการวิจัยเพื่อคนรักสัตว์ออกมา เพื่อให้เราสามารถมองหน้าสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะเจ้าเหมียว แล้วรู้ได้ว่ามันกำลังรู้สึกเจ็บปวดอะไรอยู่หรือเปล่า 

งานวิจัยชิ้นนี้มีชื่อยาวเหยียดว่า ‘Conceptual and methodological issues relating to pain assessment in mammals: The Development and utilisation of pain facial express in scale’ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของนักวิจัยจากสถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัยในยุโรปทั้งอังกฤษ อิตาลี และเยอรมนี

โดยงานวิจัยชิ้นนี้พยายามทำความเข้าใจว่า ใบหน้าของเหล่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้นจะมีลักษณะอย่างไรเมื่อพวกมันรู้สึกเจ็บปวดโดยใช้วิธีการเก็บข้อมูลลักษณะรูปร่างใบหน้าที่เรียกว่า ‘grimace scales’

grimace scales ประกอบด้วยรูปภาพหลายชุดที่แสดงให้เห็นว่าการแสดงออกทางสีหน้าเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อสัตว์เลี้ยงรู้สึกตั้งแต่ไม่มีความเจ็บปวด เจ็บปวดปานกลางและเจ็บปวดรุนแรง ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้เก็บตัวอย่างรูปแบบลักษณะใบหน้าจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต่างๆ ทั้งหนูตะเภา ม้า กระต่าย เฟอร์เร็ต หมู แกะ และแมว

สิ่งที่น่าสนใจในการทำวิจัยโดยเก็บข้อมูลจากสัตว์สายพันธุ์เหล่านี้ก็คือ ใบหน้าของพวกมันดูเหมือนจะเปลี่ยนไปในลักษณะที่คล้ายกันเมื่อพวกมันรู้สึกเจ็บปวด ยกตัวอย่างเช่น ดวงตาของพวกมันจะเริ่มหยี มีความตึงเครียดปรากฏบริเวณจมูก ปากและแก้ม และหูของพวกมันอาจมีลักษณะลู่ไปด้านหลังเล็กน้อย

หนึ่งในข้อจำกัดในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการแสดงออกของสัตว์ คือมนุษย์มักจะคาดการณ์จากสิ่งที่มนุษย์รับรู้เกี่ยวกับใบหน้าของมนุษย์เอง แม้ว่าสัตว์จะมีกล้ามเนื้อใบหน้าที่แตกต่างกันและใช้สิ่งนี้แสดงออกในรูปแบบที่แตกต่างกัน และแตกต่างจากมนุษย์ด้วย เช่นเดียวกันกับการพยายามทำความเข้าใจสัตว์ประเภทเดียวกันแต่ต่างสายพันธุ์ซึ่งมีลักษณะใบหน้าที่แตกต่างกัน เช่นหน้ากลมบ๊อกบู้บี้ของแมวพันธุ์เปอร์เซียกับหน้ายาวเชิดหูใหญ่ตั้งตรงของแมวพันธุ์วิเชียรมาศ

ที่จริงแล้วความเจ็บปวดในแมวนั้นประเมินได้ยากจากการดูใบหน้า ด้วยลักษณะเฉพาะและพฤติกรรมของมัน แต่ด้วยความยากนี่แหละมันจึงกลายมาเป็นตัวอย่างที่ดีในการศึกษาให้ลึกซึ้ง ซึ่งการศึกษาที่เจาะเฉพาะแมวนี้เป็นของลอเรน ฟินกา จากมหาวิทยาลัยน็อตติงแฮม เทรนต์ ประเทศอังกฤษ โดยการใช้เทคนิคการตรวจจับการเปลี่ยนไปของกล้ามเนื้อบนใบหน้าของแมวทั้งตอนที่หดตัวและผ่อนคลาย 

งานวิจัยชิ้นนี้ใช้ภาพถ่ายหน้าแมวเกือบหนึ่งพันรูป ซึ่งเป็นรูปถ่ายของแมวก่อนและหลังการเข้ารับการผ่าตัด เพื่อให้เห็นความแตกต่างของการทำงานของกล้ามเนื้อบนใบหน้าของมัน ก่อนจะประมวลผลออกมาว่า หากแมวรู้สึกเจ็บปวด กล้ามเนื้อบนใบหน้าของมันจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง และแสดงผลออกมาอย่างไรบ้าง เพื่อให้มนุษย์สามารถสังเกตได้ 

และนี่คือผลสรุปจากงานวิจัยที่ทำให้เราสามารถรับรู้ได้ว่า รูปแบบลักษณะใบหน้าเช่นนี้ของเจ้าเหมียว การเปลี่ยนแปลงกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เหล่านี้ อาจจะบ่งบอกได้ว่ามันกำลังรู้สึกเจ็บปวดอยู่ 

i หูตกและห่างออกจากกัน

ii-iv บริเวณปากและแก้มมีขนาดเล็กลงและดึงเข้าหาจมูกและขึ้นไปทางดวงตาเหมือนเวลาเรากำลังทำปากจู๋

v ตาตกและหยีเล็กลง

vi เกิดความแตกต่างเล็กน้อยของรูปร่างในส่วนของหูส่วนด้านหน้าของแมวกับหูข้างขวาของมันที่ลู่ลงเล็กน้อยและเบนออกไปทางด้านข้างของใบหน้า

vii จมูกดูเหมือนมีการกดลงเล็กน้อยไปทางด้านซ้ายของใบหน้า 

อย่างไรก็ตาม ผลสรุปจากการวิจัยชิ้นนี้ก็ไม่อาจจะใช้เป็นบทสรุปต่อแมวทุกตัวได้ แมวบางตัวที่ปกติไม่เจ็บไม่ป่วยก็อาจจะมีลักษณะเฉพาะของหน้าตาที่เข้าข่ายลักษณะที่บ่งบอกว่ามันเจ็บปวดตามงานวิจัยนี้ก็ได้ สิ่งหนึ่งที่นักวิจัยบอกก็คือ ทาสแมวทั้งหลายจงพึงสังเกตใบหน้าและลักษณะต่างๆ ทางกล้ามเนื้อของแมวตัวเองให้ดี และเมื่อมันเกิดการเปลี่ยนแปลง คุณจะได้รู้ว่าอาจเกิดสิ่งผิดปกติกับแมวของคุณก็ได้ 

อ้างอิง

https://static1.squarespace.com/static/59d634511f318d611e8ca76d/t/5d6aa693c6d43900014bcd95/1567270556432/mclennan2019.pdf 

https://www.sciencealert.com/your-cat-might-be-trying-to-tell-you-it-s-in-pain-with-its-facial-expression 

https://phys.org/news/2019-11-cat-pain-facial-clue.html

Tags: , , , ,