วงการการเงินบ้านเราในช่วงปีที่ผ่านมาเป็นปีที่สนุกสนานและน่าตื่นเต้นเป็นอย่างมาก ตั้งแต่การเปิดตัวพร้อมเพย์ (PromptPay) ปีที่แล้ว แม้จะเพิ่งมาใช้งานได้จริงๆ ในปีนี้ก็ตาม แต่ตอนนี้ยอดผู้ใช้งานพร้อมเพย์มีสูงถึง 33 ล้านคน และยอดเงินที่โอนผ่านพร้อมเพย์ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาสูงถึงกว่า 27,000 ล้านบาท ภายในเดือนกันยายนเดือนเดียว มีการเปิดตัวอีกสองฟีเจอร์คือ ‘PromptPay QR’ และการเชื่อมต่อ ‘e-Wallet’

PromptPay QR เปิดทางให้สามารถสร้างโค้ด QR ซึ่งอาจจะสร้างจากแอปธนาคารต่างๆ หรือสร้างโดยเว็บภายนอกเช่น https://promptpay2.me หรือ https://promptpay.io/ ที่ทำให้คนทั่วไปสามารถสร้างโค้ด QR ที่อ่านโดยแอปของธนาคารใดก็ได้

การสร้าง QR แม้จะเป็นก้าวเล็กๆ เพราะสุดท้ายเราก็ยังต้องใช้กระบวนการการโอนคล้ายเดิม คือดูบัญชีปลายทางที่หน้าจอและกดยืนยัน รวมถึงการใช้ระบบ OTP (One Time Password หรือ ชุดรหัสผ่านที่ใช้ครั้งเดียว) ซึ่งเป็นไปตามแต่นโยบายของแต่ละธนาคาร แต่ตัว QR ก็ช่วยลดความยุ่งยากในการพิมพ์หมายเลขที่อาจจะพิมพ์ผิดๆ ถูกๆ ลงไปได้ หลายธนาคารปรับแอปให้สแกน QR ได้โดยง่าย ซึ่งช่วยลดขั้นตอนการหาเมนูลงไป

ความเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่กว่านั้นคือการเชื่อม e-Wallet เข้ากับระบบพร้อมเพย์ ซึ่งเป็นประตูบานใหญ่ให้กับสังคมเงินอิเล็กทรอนิกส์

แต่เดิม ตัวบริการ e-Wallet เองมีข้อจำกัดในการถอนเงินออกจากระบบ ที่ก่อนหน้านี้การถอนเงินออกไปยังธนาคารเพื่อโอนไปบัญชีอื่นหรือถอนเงินสดจะมีค่าธรรมเนียมค่อนข้างสูง แม้แต่การโอนเงินระหว่างบริการ e-Wallet ด้วยกันเองแต่คนละธนาคารก็มีค่าธรรมเนียม ในทางปฎิบัติ คนในระบบเหล่านี้จึงมักโอนกันเองระหว่างผู้ให้บริการเดียวกันเท่านั้น ทำให้การใช้งานทำได้จำกัด

การเชื่อมระบบพร้อมเพย์จึงทำให้การนำเงินออกจาก e-Wallet เหล่านี้แทบไม่มีค่าธรรมเนียมอีก ผู้ให้บริการ e-Wallet รายใหญ่ๆ อย่าง mPAY และ TrueMoney ก็ล้วนเชื่อมต่อเข้ากับพร้อมเพย์เรียบร้อยแล้ว แนวทางนี้น่าจะทำให้จำนวนบัญชีบนระบบพร้อมเพย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้จะไม่ได้เพิ่มอย่างก้าวกระโดดเพราะผู้ใช้ e-Wallet ยังต้องเดินไปเปิดบริการพร้อมเพย์ตามตู้อัตโนมัติหรือธนาคาร แต่โดยรวมแล้วจำนวนคนที่สามารถจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้จะสูงขึ้นมาก

 

หากอยู่ในระบบเงินสด เราเพียงแต่รักษาไม่ให้สูญหาย แต่ในระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์ หากเราเผลอบอกข้อมูลส่วนตัวมากเกินไป ก็อาจจะกลายเป็นเป้าของอาชญากร

 

เราต้องปรับตัวอะไรบ้างหากโครงการเงินอิเล็กทรอนิกส์นี้สำเร็จเป็นวงกว้าง?

ผมเองเชื่อว่าในระยะสั้นไม่กี่ปีข้างหน้า เราคงยังไม่ได้เห็นร้านค้าที่ไม่รับเงินสดในประเทศไทย นอกไปจากร้านค้าทดสอบวงแคบๆ ไม่กี่จุด ดังนั้น หากเรายังเคยชินกับการพกเงินสดอยู่ก็คงไม่มีอะไรต้องปรับตัวนัก สามารถใช้ชีวิตเช่นเดิมได้ต่อไปอีกหลายปี แม้แต่จีนที่หลายคนยกเป็นตัวอย่างว่าเป็นสังคมไร้เงินสดนั้น ซึ่งร้านค้าจะรับเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยทั่วไป แต่ปริมาณการใช้เงินสดก็ยังคงสูงอยู่ดี ไม่ได้หายไปไหน

 

ในช่วงหลัง ผมเองเริ่มติดนิสัยไม่ชอบพกเงินสดเพราะมองว่าเป็นความเสี่ยง บางทีก็กระเป๋าเงินหาย บางทีหยิบเงินแล้วร่วงหล่นหาย หรือที่เป็นบ่อยจริงๆ คือไม่ยอมพกเหรียญ เอาไปกองไว้ในบ้านจนเยอะเข้า จะนำไปแลกก็ลำบาก สู้เก็บเงินไว้ในธนาคารที่แม้ดอกเบี้ยจะน้อยแต่ก็ยังได้บ้าง คนใช้ชีวิตแบบเดียวกับผมเองน่าจะเยอะขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีจุดให้ใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ได้จริงเยอะขึ้นเรื่อยๆ โอกาสที่จะโอนเงินให้กับคนรอบตัวผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ทำได้สะดวกขึ้นมากและค่าธรรมเนียมลดลง

ภายใต้ความก้าวหน้าทางการเงินเช่นนี้ จะทำให้เราจะเสียเวลาเวลากับเรื่องเงินน้อยลง หลายคนอาจจะเคยต้องถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มธนาคารหนึ่งแล้วเดินไปฝากตู้อีกธนาคารเพราะไม่ต้องการเสียค่าธรรมเนียม การต่อคิวเพื่อรอเงินทอนจากแคชเชียร์ก็ควรจะสั้นลง

 

ความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัย

การใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ก็อาจจะเป็นความเสี่ยงอย่างมากกับคนที่ตามเทคโนโลยีไม่ทันนัก และไม่ได้เตรียมพร้อมกับความเสี่ยงรูปแบบใหม่ๆ หากอยู่ในระบบเงินสด เราเพียงแต่รักษาไม่ให้มันสูญหายหรือมีคนมาขโมยไป และถ้าเราทำเงินหาย ความเสียหายก็มีเพียงเงินจำนวนเท่าที่เราทำหายเท่านั้น แต่ในระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์ หากเราเผลอบอกข้อมูลส่วนตัวมากเกินไป ก็อาจจะกลายเป็นเป้าของอาชญากรที่จะมาขโมยเงินของเราโดยไม่ต้องเจอหน้าเราแม้แต่ครั้งเดียว

เช่นปีที่แล้ว มีข่าวพ่อค้าขายสินค้าออนไลน์คนหนึ่งถูกขโมยหมายเลขโทรศัพท์เพื่อนำไปรีเซ็ตรหัสผ่านบัญชีธนาคารออนไลน์ได้สำเร็จ จนกระทั่งสั่งโอนเงินออกจากบัญชีไปเกือบหนึ่งล้านบาท นี่เป็นตัวอย่างว่าคนร้ายพยายามหาหนทางใหม่ๆ ได้เสมอ (หลังเหตุการณ์นั้น ทั้งธนาคารและผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือก็ออกมาระบุแล้วว่าได้ปรับปรุงขั้นตอนเพิ่มเติมแล้ว)

ความปลอดภัยของคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์เองก็เป็นประเด็นสำคัญ คอมพิวเตอร์ที่มีช่องโหว่อาจจะทำให้เมื่อเราคลิกลิงก์เว็บเพียงครั้งเดียวก็สามารถติดมัลแวร์ในเครื่อง จนคนร้ายสามารถดึงรหัสผ่านของธนาคารออนไลน์ไปได้ ผู้ผลิตซอฟต์แวร์อย่างไมโครซอฟต์ ก็มีการออกตัวแก้ไขช่องโหว่ของวินโดวส์ออกมาประมาณเดือนละรอบ แต่กับโทรศัพท์ เช่น แอนดรอยด์ที่มีผู้ผลิตจำนวนมาก รอบการแก้ไขช่องโหว่มักใช้เวลานาน หลายครั้งอาจจะนับปี หรือบางครั้งผู้ผลิตก็ไม่ปล่อยตัวแก้ไขใดๆ อีกเลยหลังจากขาย โดยทั่วไป เราจะเจอรายงานความเสี่ยงของแอนดรอยด์ไม่มากนัก เพราะกูเกิลมีระบบตรวจสอบแอปพลิเคชันบน Google Play เพื่อกรองแอปที่มุ่งร้ายต่อผู้ใช้งานอยู่แล้ว

แต่จุดอ่อนหนึ่งคือ คนจำนวนมากอาจจะชินกับการดาวน์โหลดเกมมาติดตั้งในเครื่องด้วยตัวเอง โดยเฉพาะเกมที่ต้องเสียเงินซื้อ ซึ่งความเสี่ยงที่มัลแวร์เหล่านี้จะมากับแอปเถื่อนก็เป็นไปได้สูงเช่นกัน

ความเสี่ยงที่มากับความปลอดภัยของระบบ ทำให้น่ากลัวว่าสักวันหนึ่ง คนร้ายจะหาทางใช้ช่องโหว่โทรศัพท์เพื่อขโมยเงินเป็นวงกว้างได้

 

ระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์เปิดทางให้ร้านค้าสามารถเก็บประวัติผู้ใช้ได้อย่างแม่นยำ แม้ว่าลูกค้าจะไม่ได้สมัครสมาชิกเพื่อสะสมแต้มแบบทุกวันนี้ก็ตาม

 

ความเป็นส่วนตัวกับธุรกรรมออนไลน์

ในแง่ของความเป็นส่วนตัว พฤติกรรมการใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ได้สร้างข้อมูลจำนวนมหาศาล เช่น ในสิงคโปร์ มีข้อความประกาศชัดที่ประตูรถเมล์ว่าระบบบัตรโดยสารจะเก็บข้อมูลการขึ้นและลงรถของผู้ใช้ เพื่อนำไปวิเคราะห์ข้อมูลการเดินทาง เช่นเดียวกับระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่เปิดทางให้ร้านค้าสามารถเก็บประวัติการซื้อสินค้าของผู้ใช้ได้อย่างแม่นยำ เช่นว่าลูกค้ากลับมาไหม ไปสาขาใดบ้าง บ่อยแค่ไหน ชอบซื้อสินค้าอะไร แม้ว่าลูกค้าจะไม่ได้สมัครสมาชิกและแสดงตัวเพื่อสะสมแต้มแบบทุกวันนี้ก็ตาม

นอกจากข้อมูลที่ถูกเก็บโดยร้านค้าแล้ว ความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งของระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์คือใบเสร็จมักมีข้อมูลระบุตัวตนได้อย่างชัดเจนกว่าเงินสดมาก เมื่อเราใช้บัตรเครดิตจ่ายเงินร้านค้า หลายร้านจะระบุหมายเลขบัตรเครดิตบางส่วนลงบนบัตรเครดิตลงไปด้วย หากใบเสร็จเหล่านี้ถูกทิ้งไปโดยไม่ระวังแล้วมีใครสักคนมารื้อก็จะสามารถแยกใบเสร็จออกมาเป็นรายคนได้ว่า บ้านนั้นๆ มีคนกี่คน และแต่ละคนซื้ออะไรจากที่ไหน เมื่อไรบ้าง ตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อกลางปีที่ผ่านมา มีคดีทิ้งขยะในเกาหลีใต้ ที่สามารถตามตัวคนทิ้งขยะผิดกฎหมายได้สำเร็จโดยใช้เพียงใบเสร็จในขยะเหล่านั้น

เช่นเดียวกับความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่มีธนาคาร ที่เราต้องฝึกให้ชินกับการนำเงินไปฝากไว้กับคนอื่น หรือการใช้ธนาคารผ่านตู้เอทีเอ็มที่ทำให้เราไม่ต้องเจอคนเพื่อทำธุรกรรมอีกต่อไป สิ่งเหล่านี้อาจจะน่ากลัวในตอนแรก แต่เราก็ปรับตัวมาได้เมื่อเวลาผ่านไป สังคมไร้เงินสดอาจจะนำมาซึ่งประโยชน์มากมาย ขณะเดียวกัน เราก็ควรตระหนักว่า เรามีทางเลือกที่จะไม่ใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ได้หากเราพบว่าการทำความเข้าใจและการระมัดระวังเป็นเรื่องยากเกินไป และให้เวลาตัวเองเรียนรู้ประโยชน์ อันตรายที่ต้องระวัง และเรียนรู้ที่จะใช้งานมันอย่างรอบคอบ

 

FACT BOX:

ตามนิยามธนาคารแห่งประเทศไทย เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) หมายถึงมูลค่าเงินที่บันทึกในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (เช่น ชิปคอมพิวเตอร์ในบัตรพลาสติก เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ หรือเครือข่ายอินเทอร์เน็ต) ซึ่งผู้ใช้บริการได้ชำระเงินล่วงหน้า (Pre-paid) แก่ผู้ให้บริการ e-Money และสามารถใช้ชำระค่าสินค้าบริการได้ตามร้านค้าที่รับชำระ

 

Tags: , , , , , , , , ,