ไอดอลแห่งแมนเชสเตอร์
00.36
วงศ์ทนงและหนุ่มเมืองจันท์ต่างเป็นแฟนของทีมฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดด้วยกันทั้งคู่ โดยหนุ่มเมืองจันท์นั้นติดตามมานานตั้งแต่เด็กๆ ส่วนวงศ์ทนงนั้นเดิมทีเป็นแฟนลิเวอร์พูลมาก่อน แต่รู้สึกว่าเป็นทีมที่เก่งเกินไปจนไม่มีอะไรให้ลุ้น เลยหันมาเชีบร์แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดที่อยู่กลางตารางตอนนั้นแทน ซึ่งแฟนแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในช่วงสองทศวรรษหลังมานี้น่าจะมีไอดอลที่นับถือคนเดียวกันคือ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน อดีตผู้จัดการทีมที่คุมทีมมาตั้งแต่ปี 1986 จนถึง 2013 และนำทีมคว้าแชมป์มาได้มากมายถึง 38 รายการ ถือเป็นสถิติที่ใครก็ยากจะทำได้
“การทำให้ทีมชนะได้ถือเป็นคนเก่ง แต่การรักษาชัยชนะไว้ได้ยาวนานนั่นคือฝีมือที่แท้จริง” – หนุ่มเมืองจันท์
จบอาชีพอย่างตำนาน
03.00
ปีก่อนหน้าที่เฟอร์กูสันจะวางมือนั้นเป็นปีที่เค้าได้รองแชมป์ โดยถูก แมนเชสเตอร์ซิตี้ ทีมอริร่วมเมืองเบียดเอาแชมป์ไปในวินาทีสุดท้าย หนุ่มเมืองจันท์เชื่อว่าความจริงเฟอร์กูสันน่าจะคิดถึงเรื่องวางมือตั้งแต่ปีนั้นแต่ก็วางมือไม่ลง เพราะมันคงเป็นอะไรที่คาใจไปทั้งชีวิตที่ต้องเสียแชมป์ให้คู่ต่อสู้จากเมืองเดียวกัน เค้าจึงต่อสัญญาอีกหนึ่งปีเพื่อทำทีมให้ได้แชมป์แล้วจึงวางมือ ถือเป็นการวางหมากสุดท้ายเพื่อให้อยู่ในความทรงจำของคน
“ถ้าเขาทรายแขวนนวมตอนที่เค้าแพ้ มันจะไม่ยิ่งใหญ่เหมือนตอนที่เค้าเป็นแชมป์โลก” – หนุ่มเมืองจันท์
นำอย่างไรให้ชนะ
04.34
ในหนังสือ LEADING ที่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เขียนร่วมกับ ไมเคิล มอริทส์ ได้รวบรวมเรื่องราว ประวัติ และความคิดที่ใช้ในการบริหารทีมเอาไว้ ซึ่งหนุ่มเมืองจันท์เล่าว่าในช่วงหลังมานี้ตนเองได้พบปะพูดคุยกับคนในวงการกีฬา และได้พบว่าสิ่งที่สำคัญของวงการนี้คือการบริหารจัดการทีมนี่แหละ ซึ่งเราสามารถปรับการบริหารตรงนี้มาใช้กับด้านอื่นๆ ได้ด้วย
บทแรกของหนังสือเล่มนี้เริ่มต้นด้วยคุณสมบัติที่สำคัญอย่างแรกนั่นคือการฟัง ซึ่งตรงกับหลักการบริหารของกานต์ ตระกูลฮุน หนึ่งในผู้บริหารของ SCG ที่เคยเล่าว่าตอนที่เค้ามารับตำแหน่งเค้าอยากปรับองค์กรให้เป็นองค์กรนวัตกรรม เลยให้ทางต่างประเทศมาวางหลักสูตร สิ่งแรกที่ผู้บริหารทุกคนต้องเข้าเรียนก็คือการฟัง ซึ่งเฟอร์กูสันก็คิดแบบเดียวกัน เค้าได้ประโยชน์จากการฟังเยอะมาก และนอกจากนั้นการทำให้อีกคนหนึ่งกล้าพูดก็สำคัญเช่นกัน อย่างตอนที่เค้าพาทีมไปแข่งกับทีมลีดส์ ยูไนเต็ด ซึ่งตอนนั้นมี เอริก คันโตนา อยู่ในทีม เค้าก็นั่งฟังกองหลังของทีมตัวเองคุยกันถึงคันโตนา จนสุดท้ายก็ตัดสินใจซื้อคันโตนามาร่วมทีม หรืออย่างตอนไปแข่งกับสปอร์ติง ลิสบอน ก็เป็นบรรดานักเตะที่บอกให้เค้าซื้อตัวคริสเตียโน โรนัลโด มาให้ได้ เรื่องราวเหล่านี้สอนให้รู้ว่าบางทีคำแนะนำอันล้ำค่าจะมาหาตอนที่คุณไม่คาดคิด ถ้าคุณไม่เปิดหูรับฟังมันจะไม่ได้ในสิ่งเหล่านั้น
“การฟังนั้นมีต้นทุนเป็นศูนย์ แต่มันมีมูลค่าเพิ่มมากกว่านั้นหลายเท่านัก” – หนุ่มเมืองจันท์
จงทำงานหนัก
08.00
เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เป็นชาวสก็อตแลนด์ที่มาทำงานคุมทีมในอังกฤษ ครอบครัวของเฟอร์กูสันเองนั้นไม่ได้รวย ทำงานอยู่ในชนชั้นแรงงาน เลยมีคติที่ได้รับปลูกฝังมาจากครอบครัวคือ ‘จงทำงานหนัก’ เค้าจึงเป็นผู้จัดการทีมที่เฮี้ยบมากเวลาฝึกซ้อม ซึ่งสิ่งที่คุณฝึกซ้อมประจำๆ จนคิดว่ามันน่าเบื่อนี่แหละ คือสิ่งที่คุณจะได้ใช้จริงในสนาม เพราะมันทำให้เกิดสัญชาตญาณในจังหวะสำคัญ เพราะฉะนั้นถ้าให้เลือกระหว่างนักฟุตบอลที่ฝีเท้าดีแต่ไม่มีวินัย กับนักเตะที่ฝีเท้าแค่พอใช้ได้แต่มีความมุ่งมั่นฝึกซ้อม เฟอร์กูสันจะให้ค่ากับนักเตะแบบหลังมากกว่า
“ที่คุณเห็นเบคแฮมยิงฟรีคิกเสียบสามเหลี่ยมง่ายๆ คุณไม่รู้หรอกว่าเค้าต้องซ้อมมากแค่ไหนถึงจะได้ลูกนี้มา” – หนุ่มเมืองจันท์
Class of ‘92
14.53
Class of ‘92 คือกลุ่มนักฟุตบอลที่เติบโตและได้ขึ้นมาเป็นกำลังของทีมในช่วงปี 1992 ของเฟอร์กูสัน ทุกคนนั้นไม่ได้มาจากครอบครัวที่ร่ำรวย เพราะฉะนั้นนักเตะเหล่านี้จะมีแรงผลักและความทะเยอทะยานสูงมาก ซึ่งเฟอร์กูสันจะเอ็นดูนักเตะกลุ่มนี้เป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นคนปั้นมาจากทีมเยาวชนด้วย เป็นการให้โอกาสเด็กรุ่นใหม่ได้โตขึ้นมา เมื่อเด็กรุ่นนี้เติบโตและเก่งขึ้นก็สามารถเป็นกำลังหลักสุดพิเศษให้กับทีม ซึ่งในยุคนั้นเองแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดก็สามารถคว้าแชมป์รายการหลักทั้งสามมาครอบครองได้สำเร็จ
ซื้อนักเตะแบบเฟอร์กูสัน
16.08
การสังเกตมีสองแบบ คือมองในรายละเอียด และการมองแบบภาพรวม เฟอร์กูสันเล่าว่าก่อนหน้านั้นเค้าเป็นคนที่มองการฝึกซ้อมแบบละเอียด จะเข้าไปคุมตลอดเวลา แต่ก็มีคนมาบอกว่าให้ลองถอยออกมาบ้าง ซึ่งทีแรกนั้นเค้าก็ไม่ยอม เพราะคิดว่ามันเสียการบัญชาการในการฝึกซ้อมซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ แต่เมื่อผ่านเวลาไปสักพักนึงก็ได้รู้ว่าการถอยห่างออกมาทำให้เราเห็นอะไรได้ชัดเจนขึ้น
เช่นเดียวกันกับเวลาซื้อนักเตะ เฟอร์กูสันจะมีความเชื่อว่า จงเชื่อในสิ่งที่ตาเห็น คือถ้ามีคนมาบอกว่านักเตะคนนี้เล่นเท้าซ้ายได้ดี เวลาเราไปดูเราก็จะคอยสังเกตแต่เท้าซ้ายของเค้าจนเราไม่เห็นภาพรวมของนักเตะคนนั้น เพราะฉะนั้นเวลาไปดูนักเตะเค้าจะดูจากสิ่งที่ตาเห็นเท่านั้น ข้อมูลที่ได้มาก่อนหน้าจะไม่ถูกนำมาใช้เยอะมากนัก
ความสำคัญของรายละเอียด
17.21
เฟอร์กูสันเป็นคนที่ความจำดีมาก จำนักเตะ ครอบครัวนักเตะ สถิติต่างๆ แม้กระทั่งรายละเอียดในแต่ละแมตช์ได้ สะท้อนให้เห็นถึงการเป็นคนใส่ใจในรายละเอียดและเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้สามารถเอามาใช้บริหารทีมได้ดี เมื่อถึงเวลาแข่งขันก็สามารถเลือกนักเตะที่เหมาะสมกับนัดนั้นๆ ในขณะเดียวกันก็รู้ว่านักเตะของคู่แข่งต้องรับมือยังไง
การจัดการคำพูด
18.33
เค้าบอกว่าคำสองคำที่ทรงพลังมากที่สุดในภาษาพูดของมนุษย์คือคำว่า ดีมาก คำๆ นี้สามารถกระตุ้นให้คนทำงานดีขึ้นได้อีก 5% โดยที่ไม่รู้ตัว ถ้าเราเลือกใช้สองคำนี้ได้ในเวลาที่เหมาะสมมันจะมีคุณค่ามาก และนอกจากการกล่าวชมแล้วเฟอร์กูสันยังมีวิธีพูดเพื่อบริหารทีมอีกมากมาย อย่างตอนเริ่มฤดูกาลใหม่เค้าจะกล่าวเสมอว่าให้ลืมชัยชนะและความพ่ายแพ้ให้หมดสิ้นและเริ่มต้นใหม่
หรือเมื่อถึงเวลาที่ต้องเจรจาต่อรองเพื่อซื้อนักเตะเข้าทีมเค้าจะไม่เจรจาเอง แต่จะเลือกตัวกลางไปพูดคุยแทน ซึ่งตัวกลางที่ดีที่สุดคือผู้เล่นที่นักเตะคนนั้นยกย่อง ถ้าเฟอร์กูสันไปเองพ่อแม่นักเตะจะรู้สึกว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม เพราะเค้าเป็นผู้บริหาร แต่ถ้าเอานักเตะไปเจรจาเค้าจะรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน ก็ทำให้ทุกอย่างคลี่คลายและง่ายขึ้น
ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของทีม
20.33
แม้จะขึ้นชื่อเรื่องการสร้างความสัมพันธ์กับนักเตะ แต่หลายๆ ครั้งเฟอร์กูสันก็ตัดสินใจดรอปนักเตะที่เป็นลูกรักถ้าอยู่ในฟอร์มที่ไม่ดี หรือแม้กระทั่งการตัดสินใจขายนักเตะที่แม้จะรักมาก แต่ถ้าขายแล้วสโมสรได้ผลประโยชน์สูงสุดเค้าก็ยอมทำ แสดงให้เห็นถึงความเด็ดขาดที่จะไม่เอาเรื่องส่วนตัวมาใช้ และเลือกทีมมากกว่าเลือกคน
ไดร์เป่าผม
21.49
เรื่องหนึ่งที่ขึ้นชื่อมากของเฟอร์กูสันคือความเฮี้ยบ เวลาที่ไม่พอใจหรือโกรธขึ้นมาโดยเฉพาะเวลาพักครึ่ง นักเตะก็จะโดนเฟอร์กูสันมาตะโกนใส่อยู่ตรงหน้าจนผมปลิว ทำให้เค้าได้รับฉายาไดร์เป่าผม แต่ปรากฏว่าวิธีแบบนี้ของเค้านั้นมันได้ผล ใครที่เป็นแฟนของทีมจะสังเกตเห็นได้เลยว่าหลายๆ เกมที่ครึ่งแรกทีมเล่นไม่ดี หลังจากพักครึ่งนั้นจะเล่นกันเหมือนเป็นคนละทีม และสามารถคว้าชัยไว้ได้ในที่สุด ซึ่งเฟอร์กูสันเคยกล่าวไว้ว่าหลายๆ คนคิดว่าการเป็นผู้บริหารที่ดีคือการทำให้ทุกคนรัก แต่สิ่งที่เค้าต้องการจากนักเตะนั้นไม่ใช่ความรัก แต่เป็นความเคารพยำเกรง การเป็นหัวหน้าต้องมีระยะห่างที่เหมาะสม
วงจรของชัยชนะ
24.43
แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดนั้นเป็นทีมที่มีมูลค่าสูงมาก แต่สิ่งหนึ่งที่มีค่ามากกว่าชัยชนะนั้นคือวงจรของชัยชนะ เฟอร์กูสันบอกไว้ว่าเมื่อเราชนะบ่อยๆ สม่ำเสมอจนเป็นมาตรฐาน มันจะทำให้เหล่าผู้ชนะอยากมาอยู่ร่วมกับผู้ชนะด้วยกัน บางครั้งค่าเหนื่อยของนักเตะที่ย้ายมาอาจจะน้อยกว่าถ้าได้ย้ายไปอยู่กับอีกทีม แต่นักเตะจะอยากมาอยู่กับคนเก่งด้วยกันมากกว่า จนยอมทิ้งส่วนต่างค่าเหนื่อยตรงนั้นไปได้ คล้ายกับซิลิคอนวัลเลย์ที่หลายคนอยากไปทำงานกับสตีฟ จ็อบส์ แบบที่ไม่ดูเงินเดือนเลย เพียงแค่อยากได้ประสบการณ์จากคนเก่งๆ แค่นั้น
เล่นไปตามบทบาท
27.02
ผู้บริหารนั้นจะต้องมีทักษะในการใช้คนให้เป็น บางอย่างใช้ตามงาน บางครั้งเราให้พื้นที่ สำหรับเเฟอร์กูสันนั้นมีคนสรุปให้ว่าเค้านั้นเป็นทั้งเชียร์ลีดเดอร์ที่คอยเชียร์ผู้คนตลอดเวลา เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจที่สร้างแรงใจให้กับลูกทีมเพื่อลงไปเอาชัยชนะ เป้นทั้งจิตแพทย์ที่ต้องคอยรับฟังบางสิ่งบางอย่างที่แม้จะไม่เกี่ยวกับฟุตบอลแต่สามารถปรับทัศนคติต่างๆ ได้ เป็นบาทหลวงที่รับสารภาพบาป เป็นช่างแต่งเสียงเปียโนที่ปรับแต่งแต่ละคีย์ให้บรรเลงออกมาเป็นเพลงที่ไพเราะให้ได้ เป็นคนเชิดหุ่นเบื้องหลัง เป็นคนคิดท่าเต้นที่ต้องออกมาโชว์เบื้องหน้า เป็นครู เป็นผู้พิพิากษา และสุดท้ายคือเป็นเพชรฆาต นั่นคือสิ่งที่เค้าต้องทำตลอดเวลา
“ความสำเร็จของงานบางทีมันไม่ได้อยู่ที่เรายิงได้เยอะแค่ไหน แต่ขอให้เราชนะแค่หนึ่งประตูก็พอแล้ว” – หนุ่มเมืองจันท์
Tags: วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์, สรกล อดุลยานนท์, work, leader, leadership, alex ferguson, Manchester United, management, Life, หนุ่มเมืองจันท์, CARPE DIEM