‘มะเร็ง’ แค่ฟังชื่อเราก็รู้สึกกลัว กลัวด้วยมโนภาพ กลัวด้วยเรื่องราวที่อาจเคยได้รับฟัง แต่เราก็ยังชะล่าใจ ใช้ชีวิตกันอย่างขาดสติ ไม่ระแวดระวัง เรายังตามใจปาก ตามใจอารมณ์ของตัวเอง รับประทานอาหารที่ไม่เป็นคุณกับร่างกาย สูบบุหรี่ เสพสุรายาเมา ฯลฯ ทั้งที่รู้ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านั้นเป็นหนึ่งในปัจจัยก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้
ความน่ากลัวของ ‘มะเร็ง’ เป็นเรื่องจริง เพราะมันคือความป่วยไข้ที่ทำให้เราเจ็บปวด ทรมาน และถึงขั้นเสียชีวิต เป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากมาย ดูจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกก็รู้ รายงานล่าสุดของปี 2561 ระบุว่า ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งถึงกว่า 9.6 ล้านคน ส่วนในเมืองไทย ‘โรคมะเร็ง’ เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตติดอันดับ 1 คนไทยเสียชีวิตจากโรคนี้ 78,540 คนต่อปี มีผู้ป่วยรายใหม่ถึง 122,757 คน และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
วิดีโอนี้ผลิตขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการให้ความรู้เท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาในการผลิตขึ้นเพื่อเป็นข้อสรุป หรือใช้แทนคำแนะนำ–การปรึกษาจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เราใช้ความพยายามอย่างสูงสุดในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสม ทั้งนี้ ไม่รองรับผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติตาม โดยปราศจากการปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชมควรใช้วิจารณญาณในการรับชม
โรคมะเร็งไม่ได้มีผลกระทบต่อผู้ป่วยเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น หากยังทำให้ครอบครัวและสังคมรอบข้างต้องพลอยเดือดเนื้อร้อนใจตามไปด้วย ซ้ำยังส่งผลกระทบในด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตอีกด้วย
เพราะเหตุนี้ ทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ต่างพยายามหาทางต่อสู้กับโรคมะเร็งอย่างสุดความสามารถ แต่หลายครั้งที่ผลลัพธ์ในการรักษาอาจไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ยิ่งตอกย้ำความเชื่อที่หยั่งรากลึกในสังคมไทยว่า เป็นมะเร็งรักษาไม่ได้ รักษาไม่หายขาด หรือเป็นมะเร็งเท่ากับตาย
หากแต่ความพยายามในการหาหนทางต่อสู้กับโรคนี้ยังคงดำเนินต่อไป…
‘ภูมิคุ้มกันบำบัด’ แนวทางการรักษามะเร็งแบบใหม่
ด้วยความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ และความมุ่งมั่นในการค้นคว้าวิจัยหาวิธีรักษาโรคมะเร็งแบบใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการค้นพบวิธีการรักษาโรคมะเร็งแนวทางใหม่ ที่เรียกว่า ‘ภูมิคุ้มกันบำบัด’
เรื่องนี้ รองศาสตราจารย์นายแพทย์เอกภพ สิระชัยนันท์ หัวหน้าสาขาวิชามะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้คำอธิบายว่า “ภูมิคุ้มกันบำบัด หรือ Immunotherapy คือการใช้ภูมิคุ้มกันของร่างกายมาเป็นหน่วยรบ ต่อสู้กับโรคมะเร็ง โดยปกติแล้ว ร่างกายของเรามีเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่หลักในการสร้างภูมิคุ้มกัน และคอยจัดการกับสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย
“เซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่หลักในการสร้างภูมิคุ้มกันมะเร็ง เรียกว่า เม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ ส่วนเซลล์มะเร็งคือ เซลล์ที่มีการกลายพันธุ์ และถือเป็นสิ่งแปลกปลอมในร่างกายเช่นกัน แต่เซลล์มะเร็งมีความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดเป็นโรคมะเร็งในที่สุด
“ต่อมามีการค้นพบกลไกที่เซลล์มะเร็งใช้หลบภูมิคุ้มกัน จึงทำให้สามารถหาวิธีนำภูมิคุ้มกันมาใช้เป็นแนวทางใหม่ในการรักษาโรคมะเร็งได้”
สิ่งที่ทำให้ภูมิคุ้มกันบำบัดต่างจากการรักษามะเร็งชนิดอื่นๆ คือ ภูมิคุ้มกันบำบัดไม่ได้ทำลายเซลล์มะเร็งโดยตรง แต่กระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ไปทำลายเซลล์มะเร็งอีกทอดหนึ่ง ในขณะที่การรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือยานั้น มุ่งเป้าไปที่ผลการทำลายเซลล์มะเร็งโดยตรงเป็นหลัก
‘Checkpoint Inhibitor’ แอนติบอดีที่ยับยั้งเช็คพอยต์
ภูมิคุ้มกันบำบัด มีหลักการ 3 อย่าง คือ แอนติบอดี เซลล์รักษา และวัคซีนรักษามะเร็ง แต่ที่ตรงนี้เราจะขอพูดถึงภูมิคุ้มกันบำบัดชนิดแอนติบอดี ที่ยับยั้งเช็คพอยต์ หรือ Checkpoint Inhibitor
เช็คพอยต์ คืออะไร?
เช็คพอยต์ เป็นกลไกปกติของเซลล์ร่างกาย มีหน้าที่ป้องกันไม่ให้มีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่มากเกินไป เช็คพอยต์ที่อยู่บนผิวเซลล์มะเร็งและเซลล์เม็ดเลือดขาวจะคอยจับกัน ทำหน้าที่เปรียบเสมือนแม่กุญแจและลูกกุญแจ ที่ล็อกไม่ให้เม็ดเลือดขาวเข้าทำลายเซลล์มะเร็งได้ ยายับยั้งเช็คพอยต์ซึ่งเป็นยากลุ่มแอนติบอดีจะทำหน้าที่คอยกันไม่ให้แม่กุญแจและลูกกุญแจจับกัน และเปิดโอกาสให้เม็ดเลือดขาวเข้ากำจัดเซลล์มะเร็ง ยายับยั้งเช็คพอยต์ที่มีใช้ในประเทศไทย ได้แก่ ยายับยั้งซีทีแอลเอโฟร์ (CTLA-4) ยายับยั้งพีดี วัน (PD-1) และยายับยั้งพีดีแอล วัน (PD-L1)
ยายับยั้งเช็คพอยต์ผ่านการวิจัยประสิทธิภาพ และได้รับการรับรองให้ใช้รักษามะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา มะเร็งกระเพาะปัสสาวะและมะเร็งเต้านมชนิดทริปเปิลเนกาทีฟ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยายับยั้งเช็คพอยต์ไม่สามารถใช้รักษามะเร็งได้ทุกชนิด เพราะข้อบ่งชี้ในการรักษาของมะเร็งแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับระยะของโรค และลักษณะของโรค ผู้ป่วยสามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนได้
ผลข้างเคียงจากการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัด
มีคำชี้แจงเพิ่มเติมด้วยว่า การใช้ยายับยั้งเช็คพอยต์อาจมีผลข้างเคียงได้เช่นกัน อาจทำให้เกิดการอับเสบของอวัยวะต่างๆ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะจากการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน อวัยวะที่มักพบการอับเสบ ได้แก่ ผิวหนัง-อาจมีอาการเป็นผื่นหรือคัน ลำไส้-อาจมีอาการท้องเสีย ปวดท้อง ปอด-อาจมีอาการเหนื่อย ไอ ตับ-อาจมีค่าเลือดผิดปกติ ตัวเหลืองตาเหลือง และระบบต่อมไร้ท่อ เช่น ต่อมใต้สมอง และต่อมไทรอยด์ อาจมีอาการฮอร์โมนขาดหรือเกินผิดปกติ แต่อาการส่วนมากจะอยู่ในระดับเบาถึงปานกลาง และสามารถแก้ไขได้ อาการอักเสบเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นตอนไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นตอนเริ่มให้ยา หรือหลังจากหยุดยาไปแล้ว แต่ส่วนมากจะเกิดภายในหนึ่งสัปดาห์ถึง 2-3 เดือนแรก
สำหรับการรักษาอาการข้างเคียง สามารถแบ่งได้ 3 ระดับตามความรุนแรงของอาการ ในผู้ป่วยที่อาการข้างเคียงมีความรุนแรงอยู่ในระดับ 1 (ระดับเบา) หรือระดับ 2 (ระดับกลาง) ส่วนใหญ่จะใช้วิธีรักษาตามอาการ และไม่จำเป็นต้องหยุดยายับยั้งเช็คพอยต์ ผู้ป่วยที่อาการข้างเคียงมีความรุนแรงอยู่ในระดับ 2 ที่มีอาการต่อเนื่อง อาจจำเป็นต้องหยุดยา และรักษาตามอาการจนกว่าจะดีขึ้น ส่วนการรักษาในระดับสุดท้าย เป็นการรักษาผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของอาการข้างเคียงในระดับ 3 (ระดับรุนแรง) หรือระดับ 4 (ระดับรุนแรงมาก) จะต้องหยุดการใช้ยาทันที และอาจจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาร่วมประเมินการรักษา ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์แบบกินหรือแบบฉีด หรือยากดภูมิคุ้มกันในการรักษาอาการข้างเคียงชั่วคราว
การรักษาด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัดจึงเป็นตัวเลือกในการรักษามะเร็งแนวทางใหม่ โดยการนำสิ่งที่มีอยู่ในร่างกายของเรามาต่อกรกับโรคร้าย นำจุดแข็งของภูมิคุ้มกันมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา
อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งเป็นโรคที่มีอาการและลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แม้แต่มะเร็งชนิดเดียวกัน ยังมีรายละเอียดในการรักษาที่แตกต่างกัน ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อค้นหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับตนเองมากที่สุด
เพื่อหาทางเอาชนะโรคร้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Tags: ภูมิคุ้มกันบำบัด, #CancerUnequalDeath, #PersonalizedCancerTreatments, มะเร็ง