หญิงสาวชาวกัมพูชาร่วมกันโพสต์ภาพชุดว่ายน้ำลงโซเชียลมีเดีย หลังรัฐบาลได้เสนอร่างกฎหมายฉบับใหม่ ที่มุ่งจำกัดการแต่งกายของประชาชนทั้งในที่สาธารณะและโลกออนไลน์ เพื่อรักษาขนมธรรมเนียมประเพณีของกัมพูชา โดยผู้หญิงจะถูกห้ามสวมใส่เสื้อผ้าที่ดู ‘สั้นเกินไป’ และ ‘บางเกินไป’ และผู้ชายจะถูกห้ามถอดเสื้อในที่สาธารณะ 

ร่างกฎหมายฉบับนี้ ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความคลุมเครือในตัวกฎหมาย และการเอื้อให้เกิดการผลิตซ้ำวัฒนธรรมการกล่าวโทษเหยื่อ (victim blaming) โดยเฉพาะในกลุ่มหญิงสาว ส่งผลให้ผู้หญิงชาวกัมพูชาจำนวนมากตัดสินใจโพสต์ภาพตนเองที่สวมใส่ชุดว่ายน้ำลงบนโซเชียลมีเดีย  และสนับสนุนให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวลงชื่อในแคมเปญออนไลน์ ซึ่งมีผู้ลงนามมากว่า 14,000 รายชื่อ แล้ว

ขณะที่คนในแวดวงบันเทิงกลายมาเป็นกลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านกฎหมายฉบับนี้มากที่สุด และวิพากษ์วิจารณ์ไปถึงบทบาทของกระทรวงกิจการสตรี (Ministry for Women’s Affairs) ที่ไม่สามารถพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงชาวกัมพูชาไว้ได้ เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักร้องและนักแสดงหญิงในกัมพูชาตกเป็นที่เพ่งเล็งของรัฐบาลมากขึ้น เนื่องจากการแต่งกายของพวกเธอที่ไม่เหมาะสมในสายตาของรัฐบาล บางคนถึงขั้นถูกห้ามทำการแสดงเลยทีเดียว 

นอกจากนี้ ยังมีกรณีหญิงสาวรายหนึ่งถูกตัดสินจำคุก 6 เดือน เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในข้อหาเผยแพร่สื่อลามกและกระทำอนาจาร จากการสวมใส่เสื้อผ้าที่มีลักษณะ ‘ยั่วยุทางเพศ’ ขณะไลฟ์ขายเสื้อผ้าผ่านเฟซบุ๊ก 

ด้านรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของกัมพูชาระบุว่า การแต่งกายที่ดี คือ การสวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่สั้นเกินกึ่งกลางของต้นขาเป็นต้นไป และยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้จำเป็นต่อการรักษา ‘เกียรติภูมิของชาติ’ ขณะที่เอง จันดี ผู้จัดการองค์กรการกุศล Gender and Development for Cambodia ชี้ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ผลักดันให้เกิดการพูดคุยถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นความเท่าเทียมทางเพศในสังคมกัมพูชามากขึ้น โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ซึ่งนับเป็นปรากฎการณ์ที่หาได้ยาก 

ชาวกัมพูชาจำนวนมากยังคงคาดหวังและยึดมั่นในค่านิยมที่ว่า ผู้หญิงที่ดีควรอ่อนน้อมถ่อมตนและสงบเงียบเรียบร้อย ตามหลัก Chbab Srey ซึ่งเป็นขนมธรรมเนียมที่กดขี่สตรีมานานหลายศตวรรษ จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้ว องค์การสหประชาชาติ (UN) ขอให้ทางการกัมพูชายุติการสอนขนมธรรมเนียมดังกล่าวในโรงเรียนทุกแห่ง หลังพบว่าขนบธรรมเนียมดังกล่าวคือรากฐานของปัญหาความรุนแรงทางเพศ และวัฒนธรรมการกล่าวโทษเหยื่อมากกว่าผู้กระทำผิดในสังคมกัมพูชา 

ที่มา:

https://www.scmp.com/news/asia/southeast-asia/article/3096381/cambodian-women-post-swimwear-photos-protest-dress-code

https://www.ibtimes.sg/women-cambodia-protest-proposed-law-against-inappropriate-dress-49755

https://www.vice.com/en_us/article/ep4q9a/cambodian-women-protest-new-law-police-clothing

https://www.reuters.com/article/us-women-lawmaking-socialmedia-trfn/cambodian-women-post-swimwear-photos-to-protest-law-on-how-they-dress-idUSKCN2521YQ