การเลือกตั้งทั่วไปของประเทศกัมพูชาในวันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม 2018 นี้ คาดหมายกันว่าพรรค CPP หรือ พรรคประชาชนกัมพูชา (the Cambodian People’s Party) ของนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน จะชนะเลือกตั้ง กวาดเสียงข้างมากเกินครึ่งในสภา และแน่นอน เขาจะยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของกัมพูชาต่อไปหลังจากครองอำนาจมากกว่า 33 ปี นับตั้งแต่ปี 1985

  การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากศาลยุบพรรคฝ่ายค้านสำคัญอย่างพรรค CNRP หรือ พรรคกู้ชาติกัมพูชา (the Cambodia National Rescue Party) รัฐบาลยังจับกุมคุมขังแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ตอนนี้ ถ้าดูพรรคการเมืองที่เหลืออยู่ ก็ยังไม่มีพรรคการเมืองไหนที่จะสามารถมาต่อกรกับพรรค CPP ได้เลย 

ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค CPP โบกมือให้มวลชน (ภาพถ่ายเมื่อ 27 กรกฎาคม 2018 โดย REUTERS/Samrang Pring)

กลุ่มสังเกตการณ์เลือกตั้งอยู่ภายใต้รัฐบาล

หลังเหตุการณ์ยุบพรรค CNRP และจับกุมผู้นำพรรคฝ่ายค้าน รวมทั้งปราบปรามอย่างหนักจนทำให้ผู้นำพรรคค้านหลายคนต้องเดินทางหนีออกจากประเทศกัมพูชา การเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้จึงถูกนานาชาติตั้งข้อกังขาถึงความน่าเชื่อถือและความชอบธรรม

ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งต่างก็เคนให้เงินทุนสนับสนุนการเลือกตั้งกัมพูชามาตลอด ก็ประกาศระงับเงินสนับสนุนในการเลือกตั้งครั้งนี้ พร้อมกับอีกหลายชาติ ที่ต่างเรียกร้องให้รัฐบาลฮุน เซน จัดการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม  

แต่รัฐบาลกัมพูชาก็ตอบโต้อย่างเจ็บแสบว่า ความชอบธรรมของการเลือกตั้งขึ้นอยู่ที่ประชาชน ไม่ใช่อำนาจของต่างประเทศ

กองทัพกัมพูชาพร้อมอาวุธครบมือประจำการที่สนามกีฬาโอลิมปิกในกรุงพนมเปญ เตรียมรับมือการเลือกตั้ง (ภาพถ่ายเมื่อ 25 กรกฎาคม 2018 โดย REUTERS/Samrang Pring)

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กัมพูชา แถลงว่า การเลือกตั้งรอบนี้จะมีผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งประมาณ 160,000 คน ซึ่งมาจากภาคประชาสัมคมและพรรคการเมืองรวม 107 องค์กร พวกเขาจะถูกส่งไปยังหน่วยเลือกตั้งต่างๆ 

หลายสำนักข่าวรายงานตรงกันว่า ผู้สังเกตการณ์จำนวนมาจากกลุ่มเยาวชน UYFC (the Union of Youth Federations of Cambodia) ซึ่งมี ฮุน มานี (Hun Many) ลูกชายของฮุน เซน และ ส.ส.จากพรรค CPP เป็นประธาน นอกจากนี้ยังมีผู้สังเกตการณ์นานาชาติอีกจำนวนหนึ่งซึ่งจะมาจาก จีน พม่า และสิงคโปร์ 

มีข้อสังเกตว่า ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่อยู่ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล ขณะที่ผู้สังเกตการณ์ต่างชาติก็ไม่ใช่ประเทศที่เป็นต้นแบบที่ดีในเรื่องประชาธิปไตย 

พรรค CNRP ชวนประชาชนบอยคอตเลือกตั้ง

จากการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2013 ที่พรรค CNRP ’เกือบ’ ชนะเลือกตั้งและขึ้นมาท้าทายอำนาจของพรรครัฐบาล CPP แต่เมื่อมาดูการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่มีพรรคฝ่ายค้านที่โดดเด่นแล้ว เพราะรัฐบาลฮุนเซนปราบปรามคู่แข่งอย่างรุนแรงในช่วงปีที่แล้ว จนทำให้ผู้นำของพรรค CNRP ส่วนใหญ่หนีออกนอกประเทศ แถมศาลยังสั่งยุบพรรค ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนจำนวน 118 คน ต้องถูกสั่งยุติบทบาททางการเมืองเป็นเวลาห้าปี

การเลือกตั้งในปี 2018 แกนนำพรรค CNRP จึงชูแคมเปญ นิ้วสะอาด (clean finger) รณรงค์ให้ประชาชนบอยคอตการเลือกตั้งที่ขาดความชอบธรรม 

สม รังสี อดีตแกนนำพรรคคนสำคัญ เชื่อว่าประชาชนจะบอยคอตการเลือกตั้งครั้งนี้ และการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีประชาชนไปใช้สิทธิน้อยลง เขายังปลุกใจประชาชนว่า ต้องแสดงให้ฮุน เซน เห็นว่า หมดเวลาของเขาแล้ว ด้วยการบอยคอยการเลือกตั้งครั้งนี้ นอกจากนี้ ยังมีแคมเปญในโลกออนไลน์โพสต์รูปชูนิ้วสะอาดพร้อมระบุข้อความ “พระมหากษัตริย์ไม่เลือกตั้ง เราก็ไม่เลือกตั้ง” ซึ่งเป็นการดึงความชอบธรรมของพระมหาษัตริย์มาสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนไม่ไปเลือกตั้ง แคมเปญนี้มียอดแชร์สูงในโลกออนไลน์

สม รังสี อดีตหัวหน้าพรรค CNRP ของกัมพูชาที่ถูกศาลสั่งยุบพรรคไป ปัจจุบันลี้ภัยไปอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส (ภาพถ่ายเมื่อ 19 กรกฎาคม 2018 โดย REUTERS/Philippe Wojazer)

กกต. เตือนว่า การโพสต์ว่า พระมหากษัตริย์ไม่เลือกตั้ง เราก็ไม่เลือกตั้ง คือการตีความกฎหมายที่บิดเบือนเพื่อเจตนาล้มการเลือกตั้ง ขณะที่พรรครัฐบาลก็มีท่าทีตอบโต้ โดยเรียกแคมเปญนี้ว่าเป็นการทรยศต่อพระมหากษัตริย์ ประเทศชาติ และประชาชน 

นายกฯ ฮุน เซน กล่าวว่า ใครก็ตามที่เข้าร่วมและสนับสนุนการบอยคอยครั้งนี้คือผู้ทรยศ และเตือนว่าประชาชนที่โพสต์ในโลกออนไลน์ว่าจะไม่ไปเลือกตั้ง ระวังจะถูกลงโทษทางกฎหมาย 

พรรคการเมืองส่วนใหญ่เป็นเพียงไม้ประดับ

ท่ามการข้อกล่าวหาถึงความไม่ชอบธรรมของการเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ก็มีพรรคการเมืองเข้าร่วมชิงชัยถึง 20 พรรค ส่วนใหญ่เป็นพรรคหน้าใหม่ที่เพิ่งจัดตั้งเพื่อลงชิงชัยในการเลือกตั้งครั้งนี้

จำนวนพรรคที่เพิ่มมากขึ้นกว่าครั้งก่อนๆ ทำให้รัฐบาลอ้างว่า เลือกตั้งครั้งนี้มีการแข่งขันจากพรรคการเมืองหลายพรรค เห็นได้ถึงความอิสระและยุติธรรม แต่พรรคหน้าใหม่จำนวนหนึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นหุ่นเชิดของรัฐบาลที่เข้ามาเป็นไม้ประดับ ทำให้การเลือกตั้งมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น ขณะที่พรรค CNRP ก็มองว่า พรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเพียงไม้ประดับในการแย่งชิงเก้าอี้ ส.ส.

การหาเสียงเลือกตั้งของกัมพูชาเริ่มเมื่อ 7 กรกฎาคม 2561 พรรคการเมืองต่างๆ เริ่มเสนอนโยบายเพื่อท้าชิงกับรัฐบาลพรรค CPP การหายไปของพรรค CNRP ทำให้พรรคการเมืองจำนวนหนึ่งหวังจะดึงเสียงสนับสนุนกว่าสามล้านเสียงของพรรค CNRP จากการเลือกตั้งครั้งก่อนให้มาสนับสนุนพรรคพวกเขา โดยเฉพาะพรรค KWP (the Khmer Will Party) ที่นิยามตัวเองว่าเป็นจิตวิญญาณของพรรค CNRP และอ้างว่ามีเป้าหมายทางการเมืองเดียวกัน นอกจากนี้ ยังเสนอจุดเด่นเรื่องผู้นำพรรคเป็นคนรุ่นใหม่ ไม่มีมลทิน และพร้อมสร้างโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่

นอกจากนี้ ความขัดแย้งของสองขั้วการเมืองกัมพูชา ระหว่างพรรครัฐบาลและอดีตพรรคฝ่ายค้าน ทำให้พรรค GDP (The Grassroots Democratic Party) เสนอนโยบายปรองดองแห่งชาติ ซึ่งพวกเขาประกาศว่าถ้าชนะเลือกตั้ง จะจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ โดยเชิญทุกพรรคที่ได้ที่นั่งในสภาเข้ามาร่วมในรัฐบาลและจะปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน พร้อมทั้งอนุญาตให้นักการเมืองฝ่ายค้านที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองกลับมาสู่การเมืองได้อีกครั้ง

อีกปัญหาหนึ่งที่พรรคการเมืองหลายพรรคเห็นร่วมกันคือ ความจำเป็นในการปฏิรูประบบราชการ และการแก้ปัญหาอื่นๆ เช่น ความขัดแย้งจากการแก่งแย่งที่ดินโดยผู้มีอำนาจและนายทุน การเพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำให้แรงงาน และการขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการพลเรือน ครู และหมอด้วย   

พรรครัฐบาลได้เปรียบในการหาเสียง

ภาพขบวนมอเตอร์ไซค์และธงหลากสีสันพร้อมเครื่องเสียงซึ่งใช้รณณรงค์หาเสียงจากพรรคการเมืองต่างๆ ดูจะเป็นภาพที่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ดูคึกคัก ขณะเดียวกัน พรรคการเมืองและประชาชนต่างก็ใช้โซเซียลมีเดียอย่างแพร่หลายมากขึ้น พรรครัฐบาลอ้างว่านี่คือหลักฐานของเสรีภาพในการแสดงออก

  แต่พรรคการเมืองหลายพรรคร้องเรียนว่า พบอุปสรรคจากการหาเสียงเลือกตั้ง เช่น พรรค GDP ร้องเรียนว่า ถูกข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ห้ามผู้สนับสนุนพรรคแจกใบปลิ้ว หรือตำรวจจราจรไม่ช่วยอำนวยความสะดวกในขบวนหาเสียง และพรรค LDP (The League for Democracy Party) ร้องเรียนว่าถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียง

พรรครัฐบาล CPP กล่าวว่า ข้อร้องเรียนของพรรคต่างๆ เป็นเพียงข้ออ้าง เพราะรู้อยู่แล้วว่าจะแพ้เลือกตั้ง ขณะที่การวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของพรรครัฐบาลถูกห้าม เนื่องจาก กกต. สั่งห้ามพรรคการเมืองและผู้สนับสนุนวิจารณ์ โจมตี หรือเปรียบเทียบนโยบายของตัวเองกับพรรคอื่นๆ แน่นอนว่ากติกาเช่นนี้ทำให้พรรครัฐบาลได้เปรียบพรรคอื่น นอกจากนี้การครองอำนาจอย่างยาวนานหลายทศวรรษของพรรค CPP ทำให้กลไกรัฐทั้งหลายอยู่ข้างพรรคและเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคในการเลือกตั้งครั้งนี้

วัดความชอบธรรมของระบอบฮุนเซน

พรรครัฐบาล CPP ของฮุน เซน ถูกคาดหมายว่าจะชนะเลือกตั้งอย่างไร้คู่แข่ง พวกเขามั่นใจว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้สนับสนุน 5.3 ล้านคน จากผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งทั้งหมด หรือมากกว่า 65% ของทั้งหมด และคาดว่าจะได้คะแนนเสียงข้างมากจาก 123 ที่นั่งในสภา

มวลชนที่มาให้กำลังใจฮุนเซน (ภาพถ่ายเมื่อ 4 กรกฎาคม 2018 โดย REUTERS/Samrang Pring)

ฮุน เซน ประกาศความมั่นใจนี้ต่อหน้าแรงงงานกว่า 27,400 คน บอกด้วยว่าถ้าพรรค CPP ไม่ชนะเลือกตั้ง เขาจะลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและยุติบทบาท แต่เขาเชื่อว่าพรรคของเขาจะชนะเลือกตั้งเพราะประชาชนยังคงต้องการความสงบและการพัฒนา

นอกจากความสงบสุขของประเทศตามที่ ฮุน เซน บีบให้ประชาชนต้องเลือกพรรค CPP แล้ว เขายังสัญญาว่าจะเพิ่มรายได้ให้กับแรงงานในโรงงาน ข้าราชการพลเรือน และทหารในทุกปี เขาถึงกับปราศรัยกับแรงงานว่า ถ้าเขาไม่ทำตามสัญญา ขอให้ทุกคนลุกขึ้นมาต่อต้านและล้มเขาจากตำแหน่ง และประกาศว่าเมื่อทุกคนพร้อมใจที่จะล้มเขาลงจากอำนาจก็จะให้คนอื่นมาแทน หรือมีพรรคอื่นขึ้นมาเป็นรัฐบาลต่อ โดยย้ำคำพูดว่าเป็นเรื่องจริงจังไม่ใช่เรื่องล้อเล่น

การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกมองว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่ไร้ความหมาย เพราะไม่มีพรรคฝ่ายค้านที่มีศักยภาพในการต่อสู้กับพรรครัฐบาล หลายฝ่ายจะคาดการณ์ว่า พรรค CPP จะชนะเลือกตั้ง ได้ครองเสียงข้างมากในสภา ส่วนฮุน เซน ก็จะต่ออายุการเป็นผู้นำประเทศที่ครองอำนาจยาวนานที่สุดในโลกได้อย่างไม่ยากเย็น

ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค CPP และ บุน รานี ภรรยา (ภาพถ่ายเมื่อ 15 กรกฎาคม 2018 โดย REUTERS/Samrang Pring)

คงต้องรอดูผลว่า การประกาศเชิญชวนประชาชนให้บอยคอตเลือกตั้งของพรรค CNRP จะส่งผลออกมาอย่างไร เพราะแม้พรรครัฐบาลจะชนะเลือกตั้ง แต่อย่าลืมว่า นี่เป็นการเลือกตั้งภายหลังจากพรรครัฐบาลปราบปรามฝ่ายตรงข้ามจนราบเรียบ หากผลเลือกตั้งออกมายังได้คะแนนน้อยกว่าที่คาด หรือจำนวนผู้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งลดลงจากครั้งก่อน ก็ย่อมเป็นสัญญาณบอกเหตุต่อรัฐบาลไม่มากก็น้อย

ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ อย่างน้อยที่สุด ก็คือการเดิมพันความชอบธรรมครั้งสำคัญของระบอบฮุนเซน 

 

อ้างอิง:

Tags: , , , , ,