ภาพถ่ายดาวเทียมบ่งชี้ว่า กัมพูชารื้อถอนอาคารที่สหรัฐฯ ออกเงินให้สร้างในฐานทัพเรือชายฝั่งอ่าวไทย เพนตากอนวิตกว่า พนมเปญกำลังเปิดพื้นที่รองรับกองทหารประจำการของจีน ถ้าปักกิ่งปักหมุดที่เมืองท่าสีหนุวิลล์จริง ก็จะเอื้อให้คุมทะเลจีนใต้ได้กระชับมือยิ่งขึ้น
ประเทศใดสามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกทางทหารในประเทศอื่น ประเทศนั้นย่อมได้เปรียบในทางยุทธศาสตร์ ยิ่งเข้าถึงได้มากแห่งเท่าไร ยิ่งทวีบทบาทได้มากเท่านั้น บทบาทยิ่งเยอะ อิทธิพลยิ่งสูง
‘พี่เบิ้ม’ ที่แผ่อิทธิพลได้กว้าง ย่อมกำกับพฤติกรรมของประเทศอื่น ให้เดินตามเป้าประสงค์ได้ อันนี้เป็นหลักพื้นฐานอย่างหนึ่งในทางภูมิรัฐศาสตร์ นี่คือแรงขับเคลื่อนการช่วงชิงชัยภูมิในต่างแดนของชาติมหาอำนาจ
อุษาคเนย์ในบรรยากาศประชันขันแข่ง ที่บางคนเรียกว่า ‘สงครามเย็นรอบใหม่’ ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ กำลังถูกจับตาในสองระนาบทาบซ้อนกัน ระนาบกว้างเป็นการแข่งอิทธิพลในย่านเอเชีย–แปซิฟิก ระนาบลึกเป็นการคุมเชิงในทะเลจีนใต้
ในระยะหลัง ทะเลจีนใต้กลายเป็น ‘จุดร้อน’ เพราะปักกิ่งแสดงท่าทีแข็งกร้าวกว่าแต่ก่อน ทั้งท่าทีต่อไต้หวันในปัญหาอธิปไตย ทั้งท่าทีต่อประเทศคู่พิพาทในปัญหาเขตแดน และทั้งท่าทีต่ออเมริกาในปัญหาที่สหรัฐฯอ้างว่าเป็นปฏิบัติการเสรีภาพในการเดินเรือ
ภูมิหลังเหล่านี้ช่วยให้เราเข้าใจได้ว่า ทำไมแค่กัมพูชาทุบทิ้งโรงเรือนหลังหนึ่งที่สร้างด้วยเงินของสหรัฐฯ จึงส่งแรงกระเพื่อมข้ามสมุทรไปถึงเพนตากอน
รื้อเปิดทางใคร
เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ออกถ้อยแถลงระบุว่า เพนตากอนรู้สึกกังวลต่อรายงานข่าวที่ว่า เมื่อเดือนกันยายน กัมพูชาได้รื้อถอนอาคารที่ทำการของคณะกรรมการความมั่นคงทางทะเลแห่งชาติ ซึ่งเปิดใช้เมื่อปี 2012
ตึกหลังนี้ตั้งอยู่ภายในฐานทัพเรือเรียมในจังหวัดสีหนุวิลล์ทางตอนใต้ของกัมพูชา ฐานทัพแห่งนี้ใช้เป็นสถานที่จัดฝึกของการซ้อมร่วมระหว่างสหรัฐฯ กับกัมพูชาในชื่อ กะรัต (Cooperation Afloat Readiness and Training – CARAT) นับแต่ปี 2010 เป็นต้นมา
ถ้อยแถลงระบุว่า “เรากังวลว่า การรื้อถอนอาคารหลังนี้อาจเกี่ยวข้องกับแผนของรัฐบาลกัมพูชาที่จะรองรับกำลังพลและขุมกำลังทางทหารของจีนที่ฐานทัพเรือเรียม”
สหรัฐฯ แสดงท่าทีนี้หลังจากศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษา (CSIS) เผยแพร่ภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม แสดงให้เห็นว่า อาคารหลังนี้ได้ปลาสนาการไปจากสายตาเสียแล้ว คาดว่าการรื้อถอนคงเกิดขึ้นหลังวันที่ 5 กันยายน
แผนการของกัมพูชา
ความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ใช่หรือไม่ว่าจีนกำลังจะเข้าใช้ฐานทัพเรือเรียม ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสีหนุวิลล์ ดังที่สื่อมวลชนเคยรายงานก่อนหน้านี้ อย่างที่รู้กัน เมืองท่าแห่งนี้เป็นที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ดำเนินการโดยจีน และเป็นแหล่งสถานกาสิโนที่ดำเนินการโดยทุนจีน
เมื่อเดือนกรกฎาคม 2019 หนังสือพิมพ์วอลสตรีทเจอร์นัลรายงานว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ได้เห็นร่างข้อตกลงลับระหว่างกัมพูชากับจีนฉบับหนึ่ง ซึ่งจะเปิดทางให้จีนใช้ฐานทัพแห่งนี้เป็นที่ตั้งประจำการของกองทหารจีน เป็นคลังแสงของจีน และเป็นท่าเทียบของเรือรบจีน
ฝ่ายกัมพูชาปฏิเสธรายงานข่าวนี้ นายกรัฐมนตรีฮุน เซน บอกว่า “เป็นข่าวกุที่ร้ายกาจที่สุดเท่าที่เคยมีการให้ร้ายต่อกัมพูชา” พร้อมกับยืนยันว่า รัฐธรรมนูญไม่อนุญาตให้ต่างชาติเข้าไปตั้งฐานทัพภายในประเทศ
ผู้นำพนมเปญบอกว่า “ถ้าเรือรบของประเทศหนึ่งได้รับอนุญาตให้เทียบท่าที่ฐานทัพเรือของเรา เรือรบของประเทศอื่นๆ ก็สามารถเข้ามาจอดได้เช่นกัน เราไม่ได้กีดกันใคร” และยังย้อนถามด้วยว่า มีประโยชน์อะไรที่จีนจะมีฐานทัพในกัมพูชา เพราะจีนมีที่ตั้งทางทหารอยู่แล้วหลายแห่งในทะเลจีนใต้
ฮุน เซนยังย้ำด้วยว่า กัมพูชายินดีจะจัดการฝึกร่วมทางทหารกับทุกประเทศเช่นเคย เพียงขอให้โรคระบาดไวรัสผ่านพ้นไปก่อน
พร้อมกับการเผยแพร่ภาพถ่ายดาวเทียม หน่วยงานคลังสมองดังกล่าวยังรายงานด้วยว่า ที่ผ่านมา บรรษัทของจีนหลายแห่ง ซึ่งบางกิจการมีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลจีน ได้เช่าพื้นที่โดยรอบฐานทัพเรือเรียม รวมมีเนื้อที่เป็นบริเวณกว้าง ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Canopy Sands Development Group ในเครือของ Prince Real Estate Group ยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์จากจีน กำลังพัฒนาพื้นที่ตอนเหนือของฐานทัพ
ภาพถ่ายดาวเทียมบ่งบอกว่า ทางบริษัทได้เข้าปรับถมพื้นที่ห่างจากฐานทัพขึ้นไปทางเหนือราว 5 กิโลเมตร พื้นที่ปรับถมมีเนื้อที่ประมาณ 250 ไร่ และยังไม่รู้ชัดถึงวัตถุประสงค์ของการปรับพื้นที่นี้
นอกจากนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ กระทรวงการจัดการที่ดิน การวางแผนเมือง และการก่อสร้างของกัมพูชา ประกาศว่า อ่าวเรียมจะเป็นที่ตั้งของสถานตากอากาศมูลค่า 16,000 ล้านดอลลาร์ฯ หลังจากประกาศข่าวนี้เพียง 4 วัน งานขุดลอกชายฝั่งเริ่มขึ้นทันที เข้าใจว่าเป็นการสร้างท่าเรือ
รายงานของ CSIS ตั้งข้อสังเกตว่า ทุกวันนี้ ฐานทัพเรือเรียมรองรับได้แค่เรือตรวจการณ์ขนาดเล็ก การสร้างท่าเรือขนาดใหญ่จึงเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตา
นัยทางยุทธศาสตร์
สหรัฐฯ ดูจะระแวงแคลงใจกับการพัฒนาความร่วมมือทางทหารระหว่างกัมพูชากับจีน เมื่อปี 2017 กัมพูชาแจ้งไปยังสหรัฐฯ ขอยกเลิกการซ้อมรบร่วมประจำปีในปีนั้นและปีถัดไป จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการฝึกกับฝ่ายอเมริกันอีก ทว่าเมื่อเดือนมีนาคม กัมพูชากลับมีการฝึกร่วมกับจีนในขณะที่ไวรัสกำลังแพร่ระบาด
ในระยะหลัง จีนกลายเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในกัมพูชา และเป็น ‘พี่เอื้อย’ ที่คอยโอบอุ้มระบอบอำนาจนิยมของฮุน เซนในท่ามกลางแรงเสียดทานกับชาติตะวันตกในเรื่องสิทธิมนุษยชน พนมเปญตอบแทนด้วยการสนับสนุนท่าทีของปักกิ่งในเรื่องทะเลจีนใต้
นักวิเคราะห์มองว่า ประเด็นฐานทัพส่งผลถึงดุลอำนาจในภูมิภาค ถ้าได้รับสิทธิเข้าไปใช้ที่ตั้งทางทหารในกัมพูชา จีนจะมีข้อได้เปรียบทางยุทธศาสตร์เพิ่มขึ้นมาก ชาติอาเซียนที่พิพาทกับจีนด้วยเรื่องเขตแดนทางทะเล ซึ่งหลายประเทศมีสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐฯ จะถูกจีนข่ม พลอยส่งผลให้สหรัฐอเมริกาขยับตัวลำบาก
อ้างอิง: