“วิธีใหม่สุดฮิตเพื่อสร้างความนิยมให้หุ้นของคุณ: ล้มละลายสิ”
ประโยคพาดหัวกึ่งเสียดสีนี้มีที่มาจากสำนักข่าวซีเอ็นบีซี หลังจากที่บริษัทจำนวนมากที่ซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา อาทิ Hertz บริษัทเช่ารถชื่อดังที่ทนพิษโควิด-19 ไม่ไหว หรือ Chesapeake Energy บริษัทสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ไม่อาจอยู่รอดในภาวะราคาน้ำมันที่ตกต่ำประกาศล้มละลายตามบทบัญญัติข้อที่ 11 ของกฎหมายในสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็คือการขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการนั่นเอง
ข่าวดังกล่าวควรจะเป็นข่าวร้ายของนักลงทุน แต่มันกลับทำให้ความต้องการซื้อหุ้นบริษัทเหล่านี้พุ่งสูงอย่างน่าประหลาดใจ บ้างราคาเพิ่มขึ้น 70 เปอร์เซ็นต์ บ้างกระโดดปิดตัวที่ 5 เท่าของราคาก่อนหน้าแบบชั่วข้ามวัน เปลี่ยนหุ้นราคาหลักสตางค์เป็นหลายดอลลาร์สหรัฐ ทำกำไรมหาศาลให้นักลงทุนที่ฉกฉวยหุ้นเหล่านั้นได้ถูกที่ถูกเวลา
ข้อมูลทางสถิติพบว่ากลุ่มผู้ผลักดันราคาหุ้นของบริษัทที่กำลังขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ คือเหล่านักลงทุนรายย่อยที่หวังหากำไรง่ายๆ ในช่วงเวลาที่ตลาดผันผวน ในขณะที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนมืออาชีพต่างกุมขมับ เพราะการเข้าซื้อหลักทรัพย์ที่ดังกล่าวนั้นมีความเสี่ยงมาก (ก.ไก่ล้านตัว) ที่จะไม่ได้รับเงินต้นคืน
หันกลับมามองที่ประเทศไทย ผู้เขียนก็กลายเป็นคนต้องปวดขมับเพราะหุ้นบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ก็พุ่งทะลุเพดานสวนทางกับข่าวที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้บริษัทฯ ยื่นคำรองขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง
ในบทความนี้ ผู้เขียนจะชวนมาทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างการล้มละลายและการฟื้นฟูกิจการ ความเสี่ยงของการเข้าซื้อหุ้นที่กำลังอยู่ในกระบวนการดังกล่าว รวมถึงตัวอย่างและข้อเตือนใจสำหรับนักลงทุนที่กำลังด้อมๆ มองๆ ว่าจะซื้อดีหรือไม่ ซึ่งผู้เขียนสามารถบอกได้เลยว่าเสี่ยงในระดับใกล้เคียงกับการพนัน และไม่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่หัวใจไม่แข็งแรง
ล้มละลายคืออะไร
ในวันที่บริษัทผลประกอบการไม่ดี เงินสดที่เคยสะพัดเริ่มขาดมือจนไม่สามารถนำมาชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขที่เจ้าหนี้กำหนด เมื่อเปิดงบการเงินก็พบว่าหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์หรือในภาษาทางกฎหมายว่า ‘มีหนี้สินล้นพ้นตัว’ บริษัทเผชิญกับทางสองแพร่งที่ต้องถูกบังคับให้เลือก
ทางที่หนึ่งคือสยบยอมต่อชะตากรรมและเลือกที่จะไม่ไปต่อ หลังจากบริษัทถูกฟ้องร้องโดยเหล่าเจ้าหนี้ ศาลจะมี ‘คำสั่งพิทักษ์เด็ดขาด’ กล่าวคือการห้ามไม่ให้บริษัทซึ่งอยู่ในฐานะลูกหนี้กระทำการใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินและกิจการ ในขณะเดียวกันก็ทำการรวบรวมรายละเอียดทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดของลูกหนี้ แล้วเริ่มเข้าสู่กระบวนการล้มละลายที่เจ้าพนักงานจะจัดสรรปันส่วนสินทรัพย์ของบริษัทให้ตามสิทธิที่พึงมีพึงได้ของเจ้าหนี้ เริ่มจากหนี้สินที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เรื่อยไปจนถึงผู้ถือหุ้น
ผู้อ่านสามารถจินตนาการกระบวนการดังกล่าวได้ง่ายๆ ว่าคล้ายกับการแจกลูกอมถุงยักษ์ให้เหล่าเด็กน้อยที่ยืนเข้าแถวยาวเหยียด ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดของคุณครูที่คอยปรามไม่ให้เหล่าเด็กๆ หยิบลูกอมมากเกินสิทธิที่ตัวเองมี หากลูกอมในถุงหมดลงเมื่อไร ใครที่ยังไม่ได้ลูกอมก็ต้องเดินคอตกกลับบ้านโดยไม่มีสิทธิตีโพยตีพายใดๆ สำหรับกรณีการแบ่งสินทรัพย์ของบริษัทที่ล้มละลาย ผู้ถือหุ้นคือกลุ่มเด็กที่อยู่ปลายแถวซึ่งโดยปกติแล้วมักจะกลับบ้านมือเปล่า
ทางที่สองคือการที่เจ้าหนี้ยื่นขอเข้าฟื้นฟูกิจการที่หากศาลรับคำร้อง ลูกหนี้จะได้รับการพักชำระหนี้โดยอัตโนมัติ สำหรับกระบวนการนี้ ศาลจะเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย เปิดพื้นที่ให้เหล่าเจ้าหนี้แสดงความต้องการของตัวเองพร้อมยื่นเงื่อนไขปรับโครงสร้างหนี้ อาทิ ลดดอกเบี้ยหรือยืดเวลาชำระหนี้ แต่งตั้งผู้จัดทำแผนฟื้นฟูเข้าควบคุมกิจการโดยผู้มีอำนาจอนุมัติแผนฟื้นฟูคือเหล่าเจ้าหนี้และศาล ส่วนผู้ถือหุ้นก็ต้องนั่งสงบเสงี่ยมอยู่มุมห้องรอให้ทุกฝ่ายคุยกันให้เสร็จ
ทุกขั้นตอนของการฟื้นฟูกิจการหากฝ่ายเจ้าหนี้หรือศาลไม่เห็นชอบ หรือไม่สามารถฟื้นฟูกิจการตามแผนภายในกรอบเวลาที่กำหนดไว้ สุดท้ายบริษัทก็จะหนีไม่พ้นชะตากรรมตามทางที่หนึ่งคือเผชิญกับ ‘คำสั่งพิทักษ์เด็ดขาด’ ต้องยุติกิจการและเปิดทางให้ ‘เหล่าเด็กๆ’ มาต่อแถวรอรับลูกอม
เสี่ยงมากแค่ไหน
ในส่วนของบริษัทที่เลือกยุติกิจการแล้วเริ่มแบ่งทรัพย์สินให้เจ้าหนี้และเจ้าของ ผู้ถือหุ้นเดิมก็ได้แต่ทำใจรอรับส่วนแบ่งซึ่งส่วนมากมักจะไม่หลงเหลือมาถึง แต่หากบริษัทเลือกแนวทางการฟื้นฟูกิจการ หุ้นของบริษัทก็จะยังซื้อขายได้ตามปกติ แต่มักจะมีการเตือนโดยตลาดหลักทรัพย์หรือผู้กำกับดูแลว่าให้ระมัดระวังการซื้อขาย เช่น เครื่องหมาย C ที่มาจากคำว่า Caution ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่นอกจากจะเป็นการเตือนแล้วยังบังคับให้ซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวโดยใช้บัญชีแคชบาลานซ์ (Cash Balance) กล่าวคือไม่เปิดโอกาสให้นักลงทุนซื้อจ่ายเงินทีหลังนั่นเอง
แม้กระบวนการฟื้นฟูกิจการจะช่วยยืดลมหายใจของบริษัทรวมถึงฉายแสงแห่งความหวังว่าบริษัทจะกลับมาลุกขึ้นยืนได้อีกครั้งหลังดำเนินการตามแผนฟื้นฟู แต่ความเป็นจริงแล้ว กระบวนการดังกล่าวยืดเยื้อยาวนาน ยุ่งยาก ซับซ้อน และมีรายละเอียดจำนวนมาก โดยทุกก้าวมีความเป็นไปได้ที่เหล่าเจ้าหนี้จะเปลี่ยนใจแล้วขอให้บริษัทขายสินทรัพย์มาใช้หนี้คืน
หากเกิดกรณีนี้เมื่อไร ผู้ถือหุ้นไม่ใช่แค่ขาดทุนบางส่วน แต่เงินลงทุนทั้งหมดมีแนวโน้มว่าจะลดเหลือศูนย์ได้ในพริบตาเดียว นี่คือสาเหตุหนึ่งที่ผู้เขียนบอกในตอนต้นบทความว่าการเข้าซื้อหลักทรัพย์ที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟูกิจการมีความเสี่ยงมาก (ก.ไก่ล้านตัว) ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งคือความเสี่ยงที่วันดีคืนดี บริษัทเหล่านี้จะขึ้นเครื่องหมาย SP หรือ Suspension ซึ่งจะหมายถึงห้ามซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ชั่วคราว เพราะเข้าข่ายเงื่อนไข เช่น ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ หรือส่งงบการเงินล่าช้า
อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ข้างต้นคงไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน เหล่านักลงทุนรายย่อยจึงเข้าไปฉกฉวยโอกาสในระยะสั้นทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าเสี่ยงไม่ต่างจากการพนัน บางคนจังหวะดีก็สร้างกำไรเป็นกอบเป็นกำ แต่การเทรดในลักษณะดังกล่าวก็คือการเล่นเกมส์ที่ผลรวมเป็นศูนย์ เมื่อมีคนได้ก็ย่อมมีคนเสีย ซึ่งหากว่าเราเข้าใจและรับความเสี่ยงตรงนี้ได้ก็ซื้อหุ้นได้เลยครับ ไม่ว่ากัน
หลายคนอาจสงสัยว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่บริษัทซึ่งเข้าแผนฟื้นฟูกิจการจะกลับมาปีกกล้าขาแข็ง พลิกกลายเป็นบริษัทที่สร้างกำไรมหาศาล และสะท้อนผ่านมายังมูลค่าหุ้นที่พุ่งสูงหลายเท่าตัวสำหรับผู้ที่ยังเชื่อมั่นและเข้าซื้อหุ้นในช่วงเวลาที่บริษัทประกาศว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว
คำตอบคือเป็นไปได้ครับ เช่นบริษัทผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง General Motors ก็เคยโดนพิษเศรษฐกิจจากวิกฤติซับไพรม์จนต้องยื่นขอล้มละลาย แต่สุดท้ายก็ได้เงินช่วยเหลือจากภาครัฐและพลิกฟื้นกลับมาทำกำไรได้ หรือสายการบิน Delta สายการบินที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามของสหรัฐอเมริกาที่ยื่นขอฟื้นฟูกิจการเมื่อ พ.ศ. 2548 ก่อนจะพลิกขึ้นมาเป็นสายการบินอันดับต้นๆ ของโลกที่ทำกำไรก่อนภาษีได้ต่อเนื่องราวปีละ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
แต่บริษัทที่ฟื้นตัวได้ก็มีเพียงแค่หยิบมือหากเทียบกับบริษัทที่ขอเข้าฟื้นฟูกิจการในแต่ละปี หากใครที่กำลังจ้องจะเข้าซื้อบริษัทอย่างการบินไทยเพื่อหวังว่าระยะยาวจะฟื้นกลับมาทำกำไรได้ ผู้เขียนมีคำแนะนำเดียวคือทำการบ้านให้มาก วิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนให้รอบด้านว่าปัจจัยพื้นฐานของบริษัทเข้มแข็งเพียงพอที่เราจะฝากอนาคตไว้ได้หรือไม่
หากคุณยังไม่มั่นใจ ในตลาดยังมีหุ้นอีกมากมายที่น่าซื้อหา และยังไม่มีทีท่าว่าจะล้มละลาย
เอกสารประกอบการเขียน
The hot new thing to make your stock pop: Go bankrupt
What It Means to Buy Stock in a Bankrupt Company Like Hertz
What Happens to Stock if a Company Goes Bankrupt?
Planet Money: Owner Of A Broken Hertz
Hertz: And Now for Something Completely Worthless
How Investors Can Profit From Bankrupt Companies
What Happens to the Stock of a Company That Goes Bankrupt?
โบรกฯมองระยะสั้น THAI ยังไม่โดนขึ้น SP แต่ไม่น่ารอดเครื่องหมาย C
Tags: หุ้น, ล้มละลาย