ท่ามกลางกระแสค่าเงินที่จับต้องได้ หรือเงินเฟียต (Fiat Money) ที่ผันผวนไปมาเนื่องจากหลายปัจจัย เช่น อัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินสวนทางกัน ดุลการค้า – การลงทุนระหว่างประเทศ หรือแม้แต่สงครามที่กำลังเกิดขึ้น การมาของสกุลเงินดิจิทัลหรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘คริปโตเคอร์เรนซี’ (Cryptocurrency) ก็ถือเป็นทางเลือกใหม่ให้ได้มีเสถียรภาพทางการเงินมากขึ้นเพิ่มเป็นเท่าตัว

การที่โครงสร้างทางการเงินจะมีเสถียรภาพ ย่อมไม่ได้เกิดขึ้นด้วยสกุลเงินดิจิทัลทุกชนิด ไม่เช่นนั้นคงไม่เกิดศัพท์ของนักเทรดอย่างคำว่า ‘ติดดอย’ เพราะโดยธรรมชาติการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลหลายประเภทยังคงมีความผันผวนไม่แน่นอน ยกเว้นประเภทสกุล ‘สเตเบิลคอยน์’ (Stablecoin) ชนิด Stablecoin backed by Fiat ที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยน 1 ต่อ 1 อิงกับค่าเงินเฟียต เช่น ดอลลาร์สหรัฐฯ และยูโร ตามช่วงแลกเปลี่ยนนั้นๆ

ล่าสุด สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า กระทรวงการคลังแห่งราชอาณาจักรกำลังวางแผนออกกฎควบคุมสกุลเงินดิจิทัลสเตเบิลคอยน์ ชนิด Stablecoin backed by Fiat พร้อมประกาศให้มีค่าเทียบเท่ากับประเภทเงินเฟียต เช่น ดอลลาร์สหรัฐฯ และยูโร สำหรับใช้จ่าย แลกเปลี่ยน และยืมสินทรัพย์ประเภทอื่นอย่างเป็นทางการ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศเครือข่ายสหราชอาณาจักรมากขึ้น จากที่ตอนนี้มีผู้ใช้งานเพียงแค่ 0.1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ตามวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) ที่เคยประกาศไว้เมื่อกลางปี 2021 ว่าต้องการให้สหราชอาณาจักรเป็นแนวหน้าของนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยมีส่วนหนึ่งของเป้าหมาย คือการลงมือสร้างภาคบริการธุรกรรมทางการเงินอันมั่นคง

นอกจากนโยบายการนำสกุลเงินดิจิทัลสเตเบิลคอยน์มาใช้ จอห์น เกล็นน์ (John Glenn) รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ ยังเผยแผนการเพิ่มเติมว่า รัฐบาลสหราชอาณาจักรจะเริ่มลงมือสำรวจเชิงรุกเกี่ยวกับปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ Distributed Ledger Technology (DLT) หรือระบบบันทึกธุรกรรมดิจิทัล เพื่อช่วยในการกระจายอำนาจความมั่งคั่งได้อย่างโปร่งใส ผ่านการทำแบบจำลอง Sand Box ของโครงสร้างพื้นฐานตลาดการเงิน (FMI) ก่อนนำมาพิจารณาว่าสามารถใช้ในการออกตราสารหนี้สาธารณะได้หรือไม่ อีกทั้งร่วมมือกับโรงกษาปณ์ในประเทศอย่าง The Royal Mint สำหรับการออกเหรียญ NFT รุ่นพิเศษ สำหรับเป็นสัญลักษณ์สู่ยุครุ่งเรืองของอุตสาหกรรมการเงินดิจิทัล

ริชี สุนัก (Rishi Sunak) รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ระบุเพิ่มเติมถึงแผนการดังกล่าว โดยมองว่าการนำเงินดิจิทัลสกุลสเตเบิลคอยน์มานำร่องใช้งาน จะช่วยดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติทั้งหลายหันมาลงทุนในประเทศมากยิ่งขึ้น และมั่นใจว่าประชาชนจะใช้งานได้อย่างปลอดภัย

“นี่คือความทะเยอทะยานของสหราชอาณาจักร เราต้องการเป็นศูนย์กลางแห่งอุตสาหกรรม Cryptoassets ข้อกฎหมายและมาตรการที่กำลังจะถูกหยิบยกนำมาใช้ จะเรียกความมั่นใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนทำธุรกิจในประเทศระยะยาว ซึ่งจะช่วยสร้างงานสร้างอาชีพแก่คนในประเทศอีกด้วย”

ทั้งนี้ รัฐบาลสหราชอาณาจักรยังคงต้องศึกษาเกี่ยวกับระบบการเงินดิจิทัลให้มากขึ้น หากต้องการนำมาใช้ยกระดับเศรษฐกิจ รักษาเสถียรภาพทางการเงิน และนำมาใช้กับเรื่องธุรกรรมการเงินจริงจังอย่างปลอดภัย เหมือนประเทศสหรัฐฯ ที่มีมูลค่าตลาดเงินดิจิทัลถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อผู้ใช้งานชาวอเมริกันจำนวน 40 ล้านคน เพื่อให้ประเทศอื่นเห็นข้อดี และหันมาใช้งานตาม รวมไปถึงประกาศเพิ่มเติมให้ชัดเจนว่าจะควบคุมเงินดิจิทัลสกุลสเตเบิลคอยน์ครอบคลุมถึงชนิดใดบ้าง นอกเหนือจากที่กล่าวมา

อย่างไรก็ดี เรื่องของการใช้เงินดิจิทัลยังคงมีคำถามต่อเนื่องว่า หากทั้งโลกหันมาใช้เงินประเภทนี้ จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน ช่วยฟื้นฟูประเทศที่ยากจน และสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน แต่อย่างน้อยที่สุด ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวข้ามสู่ยุคเศรษฐกิจ ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์มักคิดค้นหาวิธีพังทลายขีดจำกัดของทุกๆ ปัญหาเสมอมา

ที่มา:

https://www.bbc.com/news/business-60983561

https://www.bbc.co.uk/newsround/25622442

https://www.gov.uk/…/government-sets-out-plan-to-make…

Tags: , , , , ,