ปัจจุบัน ‘แอปพลิเคชันหาคู่’ (Dating Application) เริ่มแพร่หลายและได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มคนทำงาน ที่ต้องการหาเพื่อนใจหรือหลุดพ้นจากสถานะ ‘โสด’ ให้ได้ ส่งผลให้บรรดาผู้ประกอบการแอปฯ ประเภทดังกล่าว จำเป็นต้องหากลยุทธ์ใหม่ๆ มาใช้ดึงดูดผู้บริโภคกันแบบวันต่อวัน
เช่นเดียวกับแอปฯ โลโก้เปลวไฟสีชมพูอย่าง ‘ทินเดอร์’ (Tinder) ที่เพิ่งลองขยับขยายการเข้าถึงของผู้ใช้งานจากแพลตฟอร์มออนไลน์ (Online) สู่ออนกราวด์ (On-Ground) ด้วยการเปิดร้านป็อปอัพสโตร์ (Pop-Up Store) ที่มีชื่อว่า ‘สวิปมาร์ต’ (Swipmart) ใจกลางย่านชิบูย่า เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
แล้วร้านสะดวกซื้อที่ออกแบบโดยแอปฯ หาคู่เจ้าดังมีความพิเศษอย่างไร?
คำตอบคือ ทินเดอร์วางคอนเซปต์ให้สวิปมาร์ตเป็นสถานที่พบปะพูดคุยและนัดเดตแบบครบวงจร ที่เน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริโภคอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป (ตามกฎหมายบรรลุนิติภาวะ) และห้ามผู้ที่ใส่ชุดนักเรียนเข้าทุกกรณี ทั้งนี้ ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการจำเป็นต้องโหลดแอปฯ ก่อน เพื่อใช้เป็นเหมือนบัตรผ่านประตูเข้าร้าน
เมื่อเข้าไปในร้านจะพบว่า ร้านตกแต่งด้วยไฟนีออนสีชมพู โทนเดียวกับโลโก้แบรนด์ ขณะที่สินค้าเน้นวางขายเครื่องดื่มและอาหารแบบเดียวกับร้านมินิมาร์ตทั่วไป เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลม ขนมขบเคี้ยว และบะหมี่ถ้วย รวมไปถึง ‘ทินเดอร์ชิกิ’ (Tinder Chiki) เมนูไก่ทอด ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากร้านแฟมิลีมาร์ต อย่างไรก็ดี ผู้ผลิตพยายามใส่กิมมิกเป็นลูกเล่นจากแอปฯ ทินเดอร์บนหน้าซองฉลาก เช่น สัญลักษณ์ฟังก์ชันซูเปอร์ไลก์ (Super Like) และบูสต์ (Boost)
นอกจากสินค้าข้างต้น ทินเดอร์ยังวางขายเสื้อผ้าแฟชั่นสไตล์ญี่ปุ่นลวดลายลิมิเต็ดอีก 3 ประเภท ได้แก่ ถุงเท้าสลับสีแดงและเขียว เสื้อสเวตเตอร์ และชุดชั้นในแบบเข้าคู่สีขาวและแดง
ที่สำคัญ หลังเวลา 22.00 น. สวิปมาร์ตจะแปลงโฉมจากร้านสะดวกซื้อเป็นร้านกึ่งผับบาร์ ที่จะเชิญศิลปินเจป็อปอินดี้มาร่วมแสดงโชว์คอนเสิร์ต อาทิ แอลล์ เทเรซา (Elle Teresa), ซีวายเค ( CYK), วิกซ์ (Vick) และชิมาโนะ (Shimamo) ตลอดค่ำคืน พร้อมออกกฎห้ามเยาวชนต่ำกว่า 18 ปี เข้าเด็ดขาด แม้จะไม่ได้ใส่ชุดนักเรียนแล้วก็ตาม
(ลิงก์วิดีโอโฆษณาโปรโมตร้านสวิปมาร์ต)
แล้วเหตุใดทินเดอร์จึงสนใจในโมเดลธุรกิจร้านสะดวกซื้อ?
หากลองดูสถิตินับตั้งแต่ปี 1974 ที่ธุรกิจร้านสะดวกซื้อเปิดทำการมากกว่า 1,000 แห่ง จนถึงปี 2022 ที่ผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ดในจำนวนมากกว่า 5 หมื่นแห่งทั่วประเทศ นับเป็น 1 ร้านต่อพื้นที่ 25 ตารางกิโลเมตร และยังมีแนวโน้มจะเติบโตมากกว่าเดิม เพราะสามารถปรับตัวเข้ากับไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ที่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว ทันที ขณะที่จำนวนคนโสดในประเทศมีมากถึง 13.43 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 39 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมด จึงไม่ใช่เรื่องเสียหาย หากทินเดอร์จะใช้จุดเด่นของ 2 ธุรกิจที่ว่ามาผนวกเข้าด้วยกัน เพื่อให้แบรนด์มีจุดเด่นเหนือกว่าแอปฯ หาคู่เจ้าอื่น และชิงเลือกสมรภูมิการตลาดเป็นประเทศที่หมกมุ่นกับการทำงานจนไม่มีเวลาสนใจสร้างครอบครัว
อย่างไรก็ดี กลยุทธ์ดังกล่าวยังคงเป็นการโยนหินถามทางหยั่งเชิงความนิยมผู้บริโภค เพราะทินเดอร์ตัดสินใจเปิดร้านเป็นระยะเวลาสั้นๆ แค่ 4 วัน (16-19 กันยายน 2022) แต่คาดว่าจะมีการกลับมาเปิดใหม่อีกครั้งและอาจขยายสาขาไปในย่านอื่น เพราะมีรายงานว่าสวิปมาร์ตได้รับความนิยมจากบรรดาคนโสดแดนอาทิตย์อุทัยไม่น้อยทีเดียว
ที่มา:
–https://hypebeast.com/2022/9/tinder-opens-a-swipemart-in-tokyo
–https://www.statista.com/topics/7657/solo-society-in-japan/
ภาพ: Tinder
Tags: Swipmart, ประเทศญี่ปุ่น, Business, Tinder