ป้ายโปสเตอร์หลากหลายรูปแบบที่มีนัยประท้วง กล่าวโทษ เสียดสี การทำงานของนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ในการจัดการปัญหาไฟป่า ถูกนำไปติดตามป้ายรถเมล์ทั่วเมืองซิดนีย์ เมลเบิร์น และบริสเบน ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญการจัดงานศิลปะสไตล์กองโจรภายใต้ชื่อ Bushfire Brandalism ของศิลปินชาวออสเตรเลียหลายคน ภายใต้การนำของสก็อตต์ มาร์ช ศิลปินผู้มีชื่อเสียงชาวซิดนีย์ ที่ไม่พอใจการทำงานของนายกรัฐมนตรีสก็อตต์ มอริสสัน ในการจัดการปัญหาไฟป่า ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา และยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลง
หนึ่งในโปสเตอร์ที่มีการนำไปติดตามป้ายรถเมล์ และป้ายโฆษณาทั่วเมือง ภายใต้แคมเปญการทำงานศิลปะแบบกองโจรในครั้งนี้ก็คือ ผลงานของสก็อตต์ มาร์ช เอง ซึ่งเป็นภาพวาดนายกฯ สก็อตต์ มอริสสัน พร้อมประโยค ‘Climate Denial’ พาดทับบริเวณหน้าผาก นอกจากนี้ยังมีสก็อตต์ มอริสสัน ในเสื้อฮาวายและแก้วค็อกเทลประหนึ่งไปพักร้อน พร้อมประโยค ‘Merry Crisis’ หรือรูปการ์ตูนโคอาล่ากำลังวิ่งหนีไฟ โดยในโปสเตอร์แต่ละรูปนั้นจะมี QR Code แปะไว้ ซึ่งเป็นคิวอาร์โค้ดขององค์กรต่างๆ ที่ประชาชนสามารถบริจาคเงินเพื่อนำไปใช้ในการจัดการกับปัญหาไฟป่าในออสเตรเลีย
ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา มีการติดโปสเตอร์ภายใต้แคมเปญนี้ 78 ชิ้น ในทั้ง 3 เมืองใหญ่ของออสเตรเลีย เรียกได้ว่าเป็นการจัดงานศิลปะเอาต์ดอร์ในแบบกองโจรที่ใหญ่ที่สุดก็ว่าได้ แต่ทางการก็สั่งให้ปลดโปสเตอร์เหล่านั้นออกอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันเหลือเพียงไม่กี่ชิ้น นอกจากโปสเตอร์เหล่านี้ ก่อนหน้านี้ยังมีงานกราฟฟิตี้ล้อเลียนเสียดสีการทำงานของรัฐในการจัดการปัญหาไฟป่าที่มีอย่างมากมายกระจายไปทั่วเมืองอีกด้วย
สำหรับแคมเปญ Bushfire Brandalism นอกจากสก็อตต์ มาร์ช ยังมีศิลปินคนอื่นๆ เข้าร่วมรวมแล้วถึง 41 คนทั้ง จอร์จ ฮิลล์, ทอม เจอร์ราร์ด, ซาราห์ แมคคลอสกี, โกสต์แพทรอล, คัลลัม เพรสตัน และอีเอลเค รวมไปถึงศิลปินที่ไม่ออกนามอีกจำนวนมาก
นอกจากจะผลิตผลงานศิลปะทำเป็นโปสเตอร์ออกไปติดทั่วเมืองแล้ว ศิลปินแต่ละคนยังพร้อมใจกันใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเองนำเสนอผลงานในแคมเปญนี้ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้คนและสื่อมวลชนในออสเตรเลียอย่างมาก
สำหรับคำว่า Brandalism ที่ถูกหยิบยืมมาใช้ในแคมเปญนี้ เป็นขบวนการการเคลื่อนไหวต่อต้านการโฆษณาที่เกิดขึ้นในปี 1979 ในออสเตรเลีย ซึ่งศิลปินใช้งานกราฟฟิตี้บนบิลบอร์ดเพื่อต่อต้านการโฆษณาที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือบุหรี่
ที่ผ่านมาก็มีศิลปินหลากหลายคนใช้การทำงานที่เรียกว่า Brandalism ในการสร้างแคมเปญต่างๆ ทั้งศิลปินชาวอังกฤษเคแอลเอฟ (KLF) ก็ใช้วิธีการนี้ในช่วงยุค 90s หรือเมื่อปี 2015 ศิลปินในฝรั่งเศสกว่า 80 คนก็ใช้วิธีการนี้ ด้วยการติดป้ายโปสเตอร์งานศิลปะประท้วงเรื่องโลกร้อนตามป้ายรถเมล์ในฝรั่งเศสกว่า 600 แห่ง ระหว่างการประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศขององค์การสหประชาชาติ
อ้างอิง
https://www.thisiscolossal.com/2020/02/bushfire-brandalism-australia
https://www.itsnicethat.com/news/bushfire-brandalism-protest-art-campaign-040220
ภาพ : Scott Marsh
Tags: ออสเตรเลีย, ไฟป่าออสเตรเลีย, Bushfire Brandalism, ศิลปะ