จากการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคณะเยาวชนปลดแอก ต่อมาขยายเป็นประชาชนปลดแอก และล่าสุดเป็นคณะราษฎร ที่ปรากฏว่ามีพระสงฆ์สามเณรออกมาร่วมเคลื่อนไหว ทั้งในลักษณะของกลุ่มและปัจเจก และถ้านับจากจุดเริ่มของพระสงฆ์สามเณรที่มาร่วมชุมนุมตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน ที่ธรรมศาสตร์และสนามหลวง ก็เริ่มมีพระภิกษุสามเณรออกมาร่วมการชุมนุมเรียกร้องมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่นับที่แสดงจุดยืนนี้ทางโซเชียล มีเดีย ถึงกระนั้นก็ยังถือว่าเป็นส่วนน้อยถ้าเทียบกับจำนวนพระภิกษุสามเณรทั้งหมดในประเทศ แต่การออกมาครั้งนี้และทยอยกันออกมาเรื่อยๆ ก็นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ
ข้างฝ่ายประชาธิปไตยที่ชุมนุมเรียกร้องก็เห็นดี และช่วยทำให้ทัศนคติของฝ่ายนี้ที่เคยมีต่อพระสงฆ์ว่าลอยตัวทางการเมือง เป็นปรสิตของสังคม และเป็นฝ่ายค้ำสถาบันฯ ลดลงได้บ้าง
แต่กระนั้นพระสงฆ์สามเณรที่ออกมาก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายจารีตอนุรักษนิยมค่อนข้างหนักหน่วง ทั้งจากพระสงฆ์ด้วยกัน ญาติโยมและองค์กรชาวพุทธต่างๆ นำโดยสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ และในบางกรณีถึงขั้นดำเนินการต่างๆ เพื่อจัดการกับพระสงฆ์สามเณรเหล่านี้ที่ทำตัวไม่สมกับเป็นพระสงฆ์สามเณรโดยให้เหตุผลว่าพระสงฆ์สามเณรไม่ควรมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง การเมืองไม่ใช่กิจของสงฆ์ แต่ปัญหาคือวาทกรรมแบบนี้กลับไม่ใช้กับพระที่เคยไปร่วมเคลื่อนไหวกับฝ่ายขวาจัดซึ่งบางครั้งส่งเสริมหรือกระตุ้นความรุนแรงด้วยซ้ำ เช่น กิตติวุฑโฒ และพุทธอิสระ
ข้อที่น่าศึกษาก็คือว่าวาทกรรม พระสงฆ์สามเณรไม่ควรมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง การเมืองไม่ใช่กิจของสงฆ์ มีข้อเท็จจริงรองรับแค่ไหน หรือมันอาจเป็นแค่วาทกรรมที่ให้ร้ายคนอื่นฝ่ายอื่นและเพื่อปกป้องตัวเอง
คำถามคือพระสงฆ์ปลอดพ้นจากการเมืองจริงๆ หรือ เพราะถ้าดูจากเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทยที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของฝ่ายก้าวหน้าประชาธิปไตย ฝ่ายซ้าย หรือฝ่ายอนุรักษอำนาจนิยม เราก็จะเห็นว่ามีพระสงฆ์ออกมาร่วมเคลื่อนไหวอยู่ด้วยตลอด ซึ่งนั่นก็ยืนยันได้ว่าวาทกรรมข้งต้นนั้นไม่จริง เพราะมีข้อยืนยันหรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าพระสงฆ์เข้ามายุ่งทางการเมืองหรือสถาบันสงฆ์ถูกดึงเข้ามายุ่งกับการเมืองมาเนิ่นนานแล้ว
…..
พุทธศาสนาเข้ามาในแผ่นดินนี้ช้านานแล้วก่อนที่จะมีราชอาณาจักรที่เราคุ้นเคยในแบบเรียน การกระจายตัวและการดำรงอยู่ของพระสงฆ์ก็สอดคล้องไปกับสังคมของชุมชนหรือแว่นแคว้นนั้นๆ แต่ก็มีอิสระค่อนข้างมากและใช้พระวินัยเป็นหลักปกครองตัวเองและเป็นธรรมนูญสงฆ์ในหมู่คณะ โดยไม่ได้มีสถานะเป็นสถาบันอะไร แต่เป็นจุดยึดเหนี่ยวของประชาชนในเรื่องความรู้ความเชื่อและหลักปฏิบัติทางศาสนา
จะว่าไปลักษณะการมาของพระสงฆ์ก็คล้ายๆ มิชชันนารีของศาสนาคริสต์ในยุคหลัง คือเป็นการทำงานภาคสนามทำให้เข้าถึงและเชื่อมโยงประชาชนได้อย่างดีและดีกว่าอำนาจบ้านเมืองเสียอีก
แต่ถ้าเราจะเริ่มนับประวัติศาสตร์ของพระสงฆ์ตามประวัติศาสตร์ไทย กล่าวได้ว่าโดยทั่วไปแล้วการปกครองคณะสงฆ์จะอนุโลมตามแบบการปกครองอาณาจักร แต่สงฆ์ก็ยังเป็นอิสระและถือพระวินัยเป็นกฎหมายหลัก เช่น ในสมัยสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ตอนต้นๆ เมื่อการปกครองของอาณาจักรแบ่งแยกการบังคับบัญชาเป็นจตุสดมภ์ การปกครองคณะสงฆ์เดิมก็แบ่งแยกเป็น 4 คณะที่สำคัญเช่นกัน โดยแบ่งเป็นคณะเหนือ ใต้ กลาง ตะวันออก และคณะธรรมยุติกนิกาย (คณะนี้มีมาทีหลังช่วงปลายรัชกาลที่ 3) พูดง่ายๆ ว่าองค์กรสงฆ์ในแต่ละภูมิภาคมีการปกครองอย่างเป็นอิสระต่อกัน จารีตและธรรมเนียมการเป็นอยู่ก็ยึดหลักสองอย่างคือ พระธรรมวินัยและภูมิภาคที่อยู่ ไม่ต่างจากอาณาจักรหรือเมืองต่างๆ ที่ค่อนข้างเป็นอิสระ แม้จะต้องส่งเครื่องบรรณาการให้เมืองหรืออาณาจักรที่ใหญ่กว่า แต่รูปแบบการปกครองการบริหารจัดการก็ยังถือว่าเป็นอิสระ
และผู้นำหรือกษัตริย์หรือฝ่ายปกครองก็ระมัดระวังที่จะไม่เข้าไปควบคุมหรือก้าวก่ายศาสนาหรือตัวองค์กรสงฆ์มากนัก
…..
ศาสนาพุทธในสยามประเทศเริ่มปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าถูกใช้ในทางการเมืองก็ในช่วงของความแปรปรวนของกระแสการเมืองในตอนปลายรัชกาลที่ 2 นั่นคือการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีผลให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (เจ้าฟ้ามงกุฎฯ) พระอนุชา ตัดสินพระทัยผนวชต่อไปอย่างไม่มีกำหนด การออกผนวชของพระองค์ครั้งนั้นถูกพิจารณาว่าเป็นการลี้ภัยทางการเมืองโดยอาศัยศาสนจักรเยี่ยงสมัยโบราณ
ในระหว่างการผนวชถึง 27 พรรษา เจ้าฟ้ามงกุฎฯ (ที่ในรัชสมัยต่อไป ทรงขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 4) ได้สถาปนานิกายขึ้นใหม่ในศาสนาพุทธ เรียกว่า ธรรมยุติกนิกาย ทรงให้เหตุผลในการสถาปนานิกายใหม่ว่าเพื่อปฏิรูปพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์ตามพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์ ผลของการตั้งธรรมยุติกนิกายได้สร้างศรัทธาต่อประชาชน เจ้านายและขุนนางชั้นสูง และนั่นก็เป็นที่มาของการที่เจ้านายและขุนนางชั้นสูงอัญเชิญให้พระองค์ขึ้นเสวยสิริราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต
การก่อตั้งธรรมยุติกนิกายของพระองค์นำผลดีมาสู่พระองค์ แต่ก็ได้นำความยุ่งยากขัดแย้งมากมายมาสู่สถาบันสงฆ์ไทย และความขัดแย้งนั้นยังคงฝังลึกและขยายตัวออกไปในรัชกาลต่อๆ มา ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างธรรมยุติกนิกายและมหานิกาย ความไม่เป็นธรรมในพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ร.ศ. 121 ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ความไม่เป็นธรรมในการแต่งตั้งตำแหน่งการบริหารคณะสงฆ์ และความล้าหลังด้านการศึกษาของฝ่ายศาสนจักร
…..
การที่สถาบันสงฆ์เป็นศูนย์กลางความเชื่อถือของประชาชนและเข้าถึงจิตใจของประชาชนได้ลึกซึ้งกว่าสถาบันอื่นๆ ทำให้รัฐจำต้องมีมาตรการควบคุมสถาบันสงฆ์ ดังนั้นภายหลังเมื่อมีการปฏิรูปการปกครองบ้านเมืองเป็นระบบรวมศูนย์อำนาจขึ้นตรงต่อราชธานีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) การปกครองคณะสงฆ์ก็ได้รับการปฏิรูปเป็นระบบรวมศูนย์อำนาจ โดยมีศูนย์กลางที่องค์กรบริหารส่วนกลางที่เรียกว่า มหาเถรสมาคม โดยเริ่มตั้งแต่การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะชั้นต่างๆ มอบยศและตั้งสมณศักดิ์ต่างๆ ให้กับพระภิกษุ (โดยพระมหากษัตริย์) และยังได้ตั้งกรมกองขึ้นมาควบคุมคณะสงฆ์อีกชั้น เช่น กรมธรรมการควบคุมการคณะสงฆ์ และการตราพระราชบัญญัติควบคุมการคณะสงฆ์ ร.ศ.121
ยุคสมัยนี้เองที่สงฆ์ไทยถูกดึงเข้ามารับใช้การเมืองคือราชอาณาจักรหรือราชสำนักอย่างชัดเจน และได้กลายเป็นสถาบันที่ถูกใช้ค้ำบัลลังก์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้นพระสงฆ์นอกจากจะต้องปฏิบัติตามธรรมวินัยอันเคร่งครัดแล้ว ยังต้องอยู่ภายใต้กฎหมายแห่งอาณาจักรเช่นเดียวกับสถาบันอื่นๆ สมเด็จพระสังฆราชผู้เป็นประมุขแห่งคณะสงฆ์ไม่ได้มีอิสระในการบริหารคณะสงฆ์ แต่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ (คะนึงนิตย์ จันทบุตร, การเคลื่อนไหวของยุวสงฆ์ไทยรุ่นแรก พ.ศ. 2477-2484)
จุดที่ทำให้สถาบันสงฆ์มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการดำรงสถาบันพระมหากษัตริย์และตัวสถาบันสงฆ์เอง คือการยกเลิกหลักสูตรการเรียนของพระสงฆ์ทั่วประเทศที่มีอิสระในการสอนและใช้อักษรพื้นเมืองที่มีความหลากหลายในการเรียนให้มาใช้ตัวหนังสือไทยอย่างเดียว โดยยึดหลักสูตรใหม่จากทางราชสำนักที่สร้างขึ้นโดย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ด้วยเหตุนี้เองหลักสูตรหรือการศึกษาพุทธศาสนาของไทยจึงกลายเป็นพุทธศาสนาราชาชาตินิยม
ดังนั้นวาทกรรมพระสงฆ์หรือสถาบันสงฆ์ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมืองนั้นจึงไม่เป็นความจริง เพราะได้ถูกดึงเข้ามารับใช้การเมืองตั้งแต่การปฏิรูปการปกครองบ้านเมืองในสมัยรัชกาลที่ 5 กล่าวได้ว่าเมื่ออาณาจักรเปลี่ยนแปลงไปในรูปใด ศาสนจักรก็หมุนเวียนไปตามอาณาจักร จะเห็นว่าการปกครองของอาณาจักรและศาสนจักรจึงมีลักษณะเลียนแบบโครงสร้างของกันและกันโดยตลอด
…..
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎร เมื่ออาณาจักรเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย จึงได้เกิดการเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์ปฏิสังขรณ์การพระศาสนา ขอเปลี่ยนแปลงวิถีทางการปกครองคณะสงฆ์จากพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ซึ่งเป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้เป็นระบอบประชาธิปไตยบ้าง
กลุ่มการเคลื่อนไหวเรียกร้องของพระสงฆ์สามเณรในครั้งนั้นถูกเรียกขานต่อมาว่า กลุ่มยุวสงฆ์ไทย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นประชาธิปไตยจนก่อให้เกิดพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ในรูปแบบการบริหารแบบสังฆสภา ซึ่งถือว่าเป็นประชาธิปไตยอย่างที่สุดในประวัติศาสตร์การปกครองคณะสงฆ์ไทย
ที่สำคัญ เป็นการเรียกร้องความต้องการของคนส่วนใหญ่ในวงการสงฆ์อย่างแท้จริง เพื่อให้การปกครองและการบริหารคณะสงฆ์ไทยเจริญก้าวหน้าและสอดคล้องกับระบอบการเมืองประชาธิปไตย 2475 ถือว่าเป็นหน้าแรกของประวัติศาสตร์การเมืองยุคใหม่ของคณะสงฆ์ไทย ก่อนที่จะถูกทำลายลงในอีก 20 ปีต่อมาด้วยอำนาจเผด็จการทหารและกลุ่มอำนาจเก่าในคณะสงฆ์
แต่เรื่องมันยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะนี่คือยกแรกของการปะทะกันของสองแนวคิดระหว่างอนุรักษนิยมและประชาธิปไตยในองค์กรสงฆ์ไทย
โปรดติดตามตอนต่อไปในวันพุธที่ 28 ตุลามนี้
Tags: คนขายหนังสือ