“เรามีศีลธรรม เรามีระบบนิเวศ และเรามีหน้าที่ทางกฎหมายที่จะรักษาความสะอาดให้กับอากาศที่พวกเราทุกคนต้องหายใจ” นายกเทศมนตรีเมืองบริสตอลยืนยันกับคณะมนตรีสภาเมืองบริสตอล เมื่อวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อเสนอขอผ่านร่างกฎหมายสั่งห้ามรถยนตร์ดีเซลเข้าสู่พื้นที่ใจกลางเมืองที่เป็นเขตอากาศบริสุทธิ์

ก่อนที่คณะมนตรีสภาเมืองบริสตอลที่นำโดยนายมาร์วิน รีส์ (Marvin Rees) นายกเทศมนตรีจะอนุมัติกฎสั่งห้ามรถยนต์ดีเซลเข้าพื้นที่ที่กำหนดบริเวณกลางเมืองทุกวัน ตั้งแต่เวลา 7.00 น. – 15.00 น. โดยตั้งเป้าเริ่มบังคับใช้ภายในเดือนมีนาคม 2021 ส่วนโทษปรับสำหรับผู้ขับขี่ที่ฝ่าฝืนคำสั่งนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภา โดยคาดว่าไม่น่าจะเกิน 60 ปอนด์หรือประมาณ 2,300 บาท 

รวมถึงยังมีการนำเสนอโครงร่างของโครงการแลกเปลี่ยนรถยนต์จากรถเก่าเป็นรถใหม่ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้ถนนเปลี่ยนไปใช้พาหนะทางเลือกอื่นๆ ที่สร้างมลพิษทางอากาศน้อยลง โดยรีส์อธิบายว่า สภากำลังวางแผนเพื่อเยียวยาผู้ที่มีโอกาสจะได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว อาทิ รถโดยสาร รถแท็กซี่และรถบรรทุกที่อาจจะได้รับผลกระทบจนก่อให้เกิดการชะงักงันของระบบเศรษฐกิจ

“เมืองก็เหมือนกับรูบิคขนาดยักษ์ เมื่อคุณเคลื่อนย้ายสิ่งหนึ่งก็เป็นไปไม่ได้ที่จะหยุดสิ่งอื่นๆ ไม่ให้เคลื่อนไหวตามไปสู่ความวุ่นวาย ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดและเริ่มดำเนินการแก้ไข”

ในขณะที่จอฟฟ์ กอลลอป (Geoff Gollop) สมาชิกสภาฟากอนุรักษ์นิยม อธิบายถึงความกังวลว่า กฎดังกล่าวอาจจะส่งผลถึงโอกาสในการเข้าถึงโรงพยาบาลบริสตอลรอยัลและโรงพยาบาลอื่นๆ ภายในโซนที่กฎระเบียบถูกบังคับใช้ เช่นเดียวกับแคลร์ ฮิสกอตต์ (Claire Hiscott) สมาชิกสภาอนุรักษ์นิยมที่แสดงความกังวลว่า คนรายได้น้อยอาจจะได้รับผลกระทบในการเดินทางไปโรงพยาบาลในช่วงเวลาฉุกเฉิน เนื่องจากไม่สามารถเปลี่ยนรถได้ตามกฎระเบียบ

ฝ่าย พอล สมิธ (Paul Smith) สมาชิกคณะมนตรีแรงงานเพื่อที่อยู่อาศัยยังแสดงความผิดหวังต่อการตัดสินใจของโรงพยาบาลที่พยายามเปิดที่จอดรถยนต์ใหม่ 800 คัน โดยอธิบายว่า “มันน่าตกใจมากที่โรงพยาบาลกำลังเสนอให้คนทำสิ่งที่โรงพยาบาลรู้อยู่แล้วว่าจะทำลายสุขภาพของผู้คนในพื้นที่” และอ้างถึงผลการศึกษาในพื้นที่เมืองว่ามีพลเมืองอย่างน้อย 300 คนต่อปีที่กำลังจะตายเพราะมลพิษทางอากาศ

ทั้งนี้ หลังผ่านสภาเรียบร้อยแล้ว ในขั้นต่อไปข้อเสนอกว่าพันหน้าในรายงานจะต้องถูกส่งไปยังเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งและกรมสิ่งแวดล้อมอาหารและกิจการชนบท (Defra) เพื่อทบทวนแผน ก่อนที่จะมีการหารืออย่างเต็มรูปแบบกับผู้อยู่อาศัยในท้องถิ่นและผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ภายในปีหน้า

ที่ผ่านมาบริสตอลเป็นหนึ่งในหลายเมืองของอังกฤษที่มีระดับมลพิษทางอากาศเกินกำหนด จากการจราจรของรถยนต์ดีเซลจำนวนมาก ก่อนหน้านี้รัฐบาลอังกฤษจึงได้รับคำสั่งจากศาลให้ลดระดับมลพิษทางอากาศลงให้ต่ำกว่าระดับมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดภายในเวลาที่สั้นที่สุด โดยเขตที่สั่งห้ามการเข้าถึงของรถยนต์ดีเซล ได้แก่ เขตเมืองเก่า, เขตเรคคลิฟฟ์ (Redcliffe), เกาะสไปค์ (Spike) และอื่นๆ

ที่มา:

https://www.telegraph.co.uk/news/2019/11/05/bristol-set-become-first-uk-cityto-ban-diesel-vehicles/

https://www.theguardian.com/environment/2019/nov/05/bristol-becomes-first-uk-city-ban-diesel-cars

ภาพ: REUTERS/Peter Nicholls/files