เครื่องบินแอร์ เอเชีย (Air Asia) ออกตัวทะยานขึ้นสู่เวิ้งฟ้ากว้างใหญ่ ทิ้งแสงสีส้มสลับขาวของราตรีกาลในกรุงเทพฯ ให้หลงเหลือเพียงจุดเล็กๆ เกาะกลุ่มเป็นพุ่ม แยกห่างออกไป เรือบินลำนี้จะหวนคืนสู่ผืนดินอีกครั้งในแผ่นดินที่ห่างไกลออกไป 8 ชั่วโมง ณ จุดหมายของผู้โดยสารทุกคน บริสเบน (Brisbane) 

บริสเบนตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย โดยกัปตันเลือกใช้เส้นทางออกจากประเทศไทยทางภาคตะวันออก  ตรงบริเวณจังหวัดสระแก้ว เหินฟ้าข้ามพนมเปญ เวียดนาม ผ่านบรูไนและทะเลกลางของอินโดนีเซีย จนกระทั่งถึงทางตอนใต้ของทวีปออสเตรเลียและถึงจุดหมายที่บริสเบนในที่สุด

บริสเบนเป็นเมืองหลวงของรัฐควีนแลนส์ ประเทศออสเตรเลีย เมืองถูกออกแบบอย่างประณีตให้แม่น้ำบริสเบนล่องไหลตัดผ่านศูนย์กลางของเมือง สำหรับให้ผู้อยู่อาศัยใช้เดินทาง พร้อมสร้างทางเดินริมแม่น้ำล้อมแม่น้ำดังกล่าวให้เป็นที่ออกกำลังกาย สังสรรค์ รวมถึงหย่อนใจของชาวบริสเบนและนักท่องเที่ยว จึงไม่แปลก ที่ในช่วงใกล้สนธยาเราจะเห็นคู่รักทอดน่องเคียงคู่แม่น้ำบริสเบนที่ไหลเอื่อยส่องสะท้อนแสงงามของโมงยามสุดท้ายของวัน ราวกับปรารถนาให้พวกเขาเคียงคู่กันตราบเท่าที่สายน้ำยังเคียงคู่บริสเบน

ในเมืองที่สายน้ำพาดผ่านแห่งนี้ อากาศมักจะร่มรื่น ชื้นเย็นอยู่เสมอด้วยสายลมที่พัดพาเข้ามาจากมหาสมุทรเอเชียแปซิฟิก และแสงแดดของที่นี้ไม่ร้อนระอุแสบผิวเสียเท่าไร หากอุณหภูมิจะเวียนอยู่ระหว่าง สิบองศาต้นๆ ถึงยี่สิบกว่าๆ เท่านั้น บริสเบนในช่วงนี้อยู่ในฤดูหนาว แต่ไม่ต้องเป็นกังวลว่าความสวยงามของที่นี้จะถูกห่มคลุมด้วยกลีบของหิมะ เพราะในฤดูหนาว บริสเบนมักจะถูกโอบกอดด้วยเปลวฝนและสายลมเยือกเย็นเสียมากกว่า

สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวของบริสเบนส่วนใหญ่อยู่ไม่ห่างจากตัวเมืองนัก ใช้เวลาขับรถราว 30 นาทีเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น เกาะมอร์ตัน เขตรักษาพันธุ์โคอาลาโลนพาย และหากใครเหน็ดเหนื่อยจากการนั่งเครื่องบิน ในตัวเมืองเองก็มีทั้ง พิพิธภัณฑ์ศิลปะ การแสดง วิทยาศาสตร์ และอีกมากที่เรียงรายติดกันอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบริสเบน 

สตอรี บริดจ์ ความวิจิตรจากมุมสูงของบริสเบน

เมื่อเมืองถูกตัดผ่านและโอบกอดด้วยสายน้ำ สะพานจึงเป็นสถาปัตยกรรมที่เชื่อมโยงมุมต่างๆ ของเมืองเข้าไว้ด้วยกัน และ ณ ที่แห่งนี้ พวกเขาเปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินขึ้นสะพานแห่งเรื่องราว หรือสตอรี บริดจ์ (Story Bridge) ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่สะพานของโลก ที่เปิดให้ผู้คนสามารถขึ้นไปชมทัศนียภาพของเมืองจากจุดสูงสุดของสะพานที่สูงกว่า 130 เมตร

เมื่อสอดส่ายสายตาดูจากจุดสูงสุดของสตอรี บริดจ์ ด้านซ้ายมือคือภาพของหลังคาบ้านเรือนไล่เรียงสลับสีและแซมด้วยผืนหญ้าเขียวชอุ่ม อีกด้านหนึ่งคือสถาปัตยกรรมสูงเสียดฟ้าตระหง่านเรียงเคียงกันเป็นเลเยอร์ เชื่อมโยงชีวิตส่วนรวมและส่วนตัวด้วยแม่น้ำบริสเบนที่โอบกอดเมืองแห่งนี้อย่างอบอุ่น สวยงามราวภาพเขียนเมื่อมองผ่านจุดสูงสุดของสตอรี บริดจ์ในโมงยามที่ตะวันเริ่มเหนื่อยล้า ทิ้งไว้เพียงแสงส้มอ่อนๆ ส่องกระทบกระจกและหลังคาน้อยใหญ่ของเมือง 

ถ้ามาถึงบริสเบนเสียแล้ว การสลัดวางความกลัวเพื่อเดินทางขึ้นสู่ยอด 130 เมตรของสตอรี บริดจ์เป็นสิ่งที่คุ้มค่าและไม่ควรพลาด 

เกาะมอร์ตัน เพชรงามแห่งมหาสมุทรแปซิฟิกใต้

ห่างออกไปจากชายฝั่งบริสเบนราวหนึ่งชั่วโมง ท่ามกลางเกลียวคลื่นและเปลวลมของมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ มีแผ่นดินหนึ่งซึ่งรุ่มรวยไปด้วยความสวยงามของธรรมชาติซุกซ่อนอยู่ ‘เกาะมอร์ตัน(Morton Island)’ คือชื่อเรียกของมัน 

บนเกาะมอร์ตันมีกิจกรรมมากมายรองรับผู้มาเยือน ซึ่งล้วนถูกออกแบบให้สอดคล้องอย่างเป็นมิตรกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตต่างๆ บนเกาะ กิจกรรมที่น่าตื่นตาตื่นใจมากอย่างหนึ่งของเกาะมอร์ตัน คือการล่องเรือเพื่อไปดูความอุดมสมบูรณ์ของสัตวน้ำนานาพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น เต่า ปะการัง ตลอดจนกระทั่งนกนางนวล นกกระทุง หรือเหยี่ยว ที่มักจะพบว่ามาอาศัยซากเรืออัปปางเป็นที่ซุ่มรอฝูงปลาอันโอชะ

 มีเรื่องเล่ากันว่า หากเดินทางมาล่องเรือที่เกาะมอร์ตันถูกจังหวะและวันเวลา อาจจะได้พบกับครอบครัววาฬหลังค่อมโผล่ขึ้นจากผิวน้ำ อวดลวดลายเทาสลับขาวบริเวณแผ่นหลังอีกด้วย

ไม่เพียงแต่หาดทราย คุ้งทะเลสีครามกว้าง หรือนานาสิ่งมีชีวิตในทะเลเท่านั้น ลึกเข้าไปในใจกลางของเกาะมอร์ตันผ่านกลุ่มเฟิร์นดึกดำบรรพ์และมวลพฤกษาสูงชะลูดอายุอานามล่วง 100 ปี ยังมีทะเลทรายกว้างไพศาลหลับสนิทซุกซ่อนอยู่ กึ่งกลางของคุ้งทรายนั้นมีเนินทรายสูงกว่า 5 เมตรที่ธรรมชาติรังสรรค์ขึ้นมา ซึ่งนักท่องเที่ยวที่ใจถึงชื่นชอบความตื่นเต้นสามารถคว้าบอร์ดสไลด์ลงมาจากผาทราย เก็บเกี่ยวเม็ดทรายเป็นที่ระลึกกลับที่พักได้

 ซึ่งการเดินทางไปยังใจกลางของเกาะเพียงแค่ต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่อุทยาน และเขาจะเป็นผู้อาสาบึ่งรถบัสหน้าตาคล้ายตู้เย็นพาเราเข้าไปสู่เนินและผืนทรายแห่งนั้น และพวกเขายังจะคอยสาธิตวิธีการไถลลงมาอย่างปลอดภัยและเตรียมอุปกรณ์ให้แก่เรา

เรือรอบสุดท้ายที่จะหอบผู้โดยสารหวนคืนสู่ชายฝั่งบริสเบนจะออกในเวลาประมาณหนึ่งทุ่มตรง แต่ก่อนที่จะจากลาจากเกาะแห่งนี้ไปเช่นเดียวกับดวงอาทิตย์ที่ลาลับฟ้า ช่วงเวลาเย็นค่ำของที่นี้ยังมีกิจกรรมน่ารักๆ อย่างสุดท้ายรออยู่ นั้นก็คือ การให้อาหารโลมา ใช่แล้วครับ เราสามารถใกล้ชิด ตีสนิท และแชะภาพกับโลมาตามธรรมชาติได้ที่เกาะมอร์ตัน 

หลายคนอาจจะเป็นห่วงว่า การให้อาหารโลมาตามธรรมชาติ อาจจะทำให้พวกมันมีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไม่สามารถหาอาหารเองตามธรรมชาติได้หรือเปล่า แต่ในข้อกังวลนี้ ทางเกาะมอร์ตันได้ทำการศึกษาและวิจัยเรื่องนี้ไว้อยู่ก่อนแล้ว โดยพวกเขาจะจำกัดการให้อาหารโลมาในปริมาณ 20 เปอร์เซนต์ของที่พวกมันต้องกินต่อวันเท่านั้น ดังนั้น ถ้าวันไหนนักท่องเที่ยวมีจำนวนเยอะ อาจจะทำให้บางคนพลาดโอกาสใกล้ชิดกับน้องๆ ไปอย่างน่าเสียดาย

ที่มาที่ไปของโลมาเหล่านี้ มีเรื่องเล่าปากต่อปากว่า ประมงหนุ่มคนหนึ่งออกเรือไปตกปลากลางทะเลเช่นปกติ หากวันดีคืนดีให้พระพราย (เทพแห่งลม) เป็นใจและโพไซดอนอารมณ์ดี แหของประมงหนุ่มคับคั่งไปด้วยฝูงปลานานาพันธุ์มากมายเกินรับประทานไหวเพียงครอบครัวเดียว เผอิญเขาเหลือบไปเห็นโลมาตัวหนึ่งดำผุดดำว่ายอยู่เคียงข้างเรือของเขา เขาจึงปันแบ่งความโชคดีในอวนให้แก่โลมาตัวนั้น

หลังจากวันนั้น เจ้าโลมาก็จะแวะเวียนมาออดอ้อนขอปลาจากเขาอยู่เสมอ และชายหนุ่มก็มักจะทนความน่ารักของมันไม่ได้อยู่ร่ำไป เผลอไผลโยนปลาให้มันทุกครั้งแม้ในวันที่ปลาแล้งแห ต่อมาโลมาเริ่มบอกเล่าปากต่อปากไปยังเพื่อนฝูงถึงความใจดีของประมงหนุ่ม เกิดเป็นความผูกพันและเชื่อใจ ฝูงโลมาจึงเริ่มว่ายเข้ามาใกล้ฝั่งขึ้นเรื่อยๆ อันนำไปสู่ธรรมเนียมการปฎิบัติระหว่างฝูงโลมาและผู้คนในเกาะมอร์ตันเรื่อยมา

อาร์ตฟุ้งคลุ้งในอากาศ ณ GOMA

แสงแดดรำไรของบริสเบนส่องกระทบอาคารทรงสี่เหลี่ยมอวดประกายแวววับอย่างสวยงาม คนจำนวนหนึ่งสาวเท้าไหลเฉื่อยราวกับสายน้ำของบริสเบนเข้าสู่ตัวอาคารหลังดังกล่าว บ้างนัดพบปะจิบกาแฟกับคนใกล้ชิด บ้างหน่ายเหนื่อยจากการงานอยากหาสถานที่ผ่อนคลาย และอีกมากถูกจิตเบื้องลึกร้องเรียกให้ดื่มด่ำสุนทรียะ

GOMA(The Gallery of Modern Art) เป็นหนึ่งในหลากหลายพิพิธภัณฑ์ที่เรียงรายอยู่ทางฝั่งใต้ของริมแม่น้ำบริสเบน GOMA อยู่ภายใต้การกำกับดูแลและสนับสนุนอย่างแข็งขันของภาครัฐของควีนส์แลนด์ 

ถึงแม้ว่า ชื่อของพิพิธภัณฑ์จะบ่งบอกถึงศิลปะสมัยใหม่ แต่อันที่จริงแล้ว ภายในพิพิธภัณฑ์หลังนี้เต็มไปด้วยศิลปะหลากแขนงจากศิลปินทั่วทุกมุมเมืองของโลกหมุนเวียนผลัดกันมาจัดนิทรรศการ ให้ผู้มาเยือนได้ปล่อยกายหย่อนใจเพลิดเพลินท่ามกลางงานศิลป์ หนึ่งในศิลปินที่ถูกหยิบยกงานมาแสดงในช่วงเวลานี้ คือ ดิกส์ ราฟซี (Dick Roughsey 1920-1985)

ดิกส์เป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่เกิดและเติบโตบนเกาะมอร์ตันในห้วงเวลาที่ชาติตะวันตกยังไม่เดินทางเข้ามายัดเยียดความศิวิไลซ์ให้กับกลุ่มชนดั้งเดิมของออสเตรเลีย เขาซึบซัมวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวอะบอริจิน จวบจนกระทั่งวันที่เรือสำเภาใบใหญ่หอบหิ้วชนผิวขาว ผมสีเปลือกข้าวเดินทางมาถึง ดิคส์ได้รับโอกาสในการศึกษาจากกลุ่มมิชชันนารี และได้งานในเรือขนส่งสินค้า ซึ่งพลิกผันให้ชีวิตเขาได้รู้จักกับการแกะสลักงานไม้อันเป็นเทคนิคที่สะท้อนลายเซนต์ของเขาให้กระฉ่อนกว้างไกลในเวลาต่อมา

ดิกส์ได้มีโอกาสรู้จักกับ เพอร์ซี เทรซิส (Percy Trezise 1923-2005) ผู้ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนรักและครูคนสำคัญที่ก่อราก บ่มเพาะ และผลักดันเขาให้กลายเป็นศิลปินชาวอะบอริจินคนแรกของโลก

ดิกส์เริ่มจากใช้เทคนิคแกะสลักลงบนเนื้อไม้ ก่อนผันมาขึงแคนวาส จับพู่กัน จรดสีน้ำมัน เรื่องราวหลักในผลงานของเขามักจะข้องเกี่ยวกับวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ และประวัติศาสตร์ของชาวอะบอริจิน ก่อนถูกผสมเข้ากับเอกลักษณ์อันชัดเจน คมคาย แยบยลในลายเซนต์ที่สร้างความตราตรึงและจุดไฟใคร่รู้ให้เกิดขึ้นในใจของผู้พบเห็น

ดิกส์และเพื่อนของเขายังร่วมกันรังสรรค์หนังสือภาพสำหรับเด็กที่ได้รับเสียงตอบรับอย่างกว้างขวาง และได้รับการตีพิมพ์ต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ ในชื่อว่า ‘ตำนานนาคาสีรุ้ง’ (The Rainbow Serpent, 1970)

นอกจากงานของดิกส์แล้ว ขณะนี้ยังมีการจัดแสดงงานน่าตื่นตาอีกมาย อาทิ งานศิลปะญี่ปุ่นคลาสสิก งานเรขาคณิตร่วมสมัย หรืองานของศิลปินหญิงคนสำคัญของบริสเบนอย่าง มากาเร็ต โอเลย์(Margaret Olley, 1923–2011) 

จิบเบียร์แทป คลอไปกับบริสเบนแจ๊ซแบรนด์

หากคืนนี้คุณรู้สึกครั่นเนื้อตัวอยู่กลางเมืองบริสเบน โหยหาเสียงดนตรีแจ๊ซบรรเทาจิตใจอันว้าวุ่น และถ้าได้เบียร์รสดีสักหนึ่งไพน์กลั้วคออันแห้งผาก เราแนะนำให้รีบตรงดิ่งไปที่ Doo Bop Bar 

Doo Bop Bar ตั้งอยู่บนถนน Edward Street ร้านถูกแบ่งออกเป็น 2 โซน โดยชั้นบนจะเป็นเปียร์โนบาร์หวานหยาดเยิ้ม ส่วนชั้นใต้ดินจะเป็นแจ๊ซบาร์สำเนียงบริสเบนดั้งเดิม 

ทางเข้าลงสู่ชั้นใต้ดินของ Doo Bop Bar แวบแรกจะพบกับลุงไมล์ เดวิสยืนเป่าทรัมเป็ตส่องประกายนีออนสีแดงยืนรออยู่ รายล้อมด้วยภาพของนักดนตรีมือฉมังมากมายไม่ว่าจะเป็น แฟรงค์ ซิเนตร้า จอมวายร้าย, เอมี ไวเฮาท์ ราชินีผู้เศร้าโศรก และเจ้าของสำเนียงทรัมเป็ตผู้ร้าวราน ชีต เบอเกอร์

ภายในร้านมีแทปเบียร์ให้เลือกอยู่พอสมควร รวมถึงมีของกินเล่น-ใหญ่รองรับหลากหลายสำหรับแก้อาการท้องร้องขณะดื่มด่ำเสียงเพลง โดยในช่วงหัวค่ำมักจะเป็นบริสเบนแบรนด์แวะเวียนมาอวดฝีไม้ลายมือ แต่หลัง 22.30 น. เป็นต้นไป จะเป็นช่วงของแจมเซสชั่น ซึ่งชาวบริสเบนต่างก็กระหายและตื่นตาเหลือเกิน ที่จะผลัดกันขึ้นไปร่วมแจมบนเวทีแห่งนี้ ส่วนในวันเสาร์-อาทิตย์มักจะเป็นคิวของศิลปินอาชีพแวะเวียนกันมาแจกจ่ายสุนทรียะให้แก่ผู้ชม

กอดโคอาลา ปันขนมจิงโจ้ที่โลนพาย

แทะเล็มยูคาลิปตัสจนท้องอิ่มและหลับไหลไปในความฝันอันเมามาย ก่อนตื่นขึ้นมาบิดขี้เกียจเล็กน้อยให้ร่างกระชุ่มกระชวย และเริ่มต้นกิจวัตรเดิมๆ ซ้ำอีกครั้ง ทั้งหมดนี้ คือพฤติกรรมของ ‘โคอาลา’ ที่เรามักจะเห็นกันอยู่เป็นประจำ

โคอาลา มาจากภาษาอะบอริจินีที่แปลว่า ไม่กินน้ำ ทั้งนี้ก็เพราะว่าในใบของยูคาลิปตัสมีน้ำอยู่เพียงพอต่อร่างกายพวกมันอยู่แล้ว พวกมันใช้เวลาส่วนมากในการหลับ และนอน และหลับอีกรอบ ซึ่งเฉลี่ยพวกมันนอนวันละ 16-24 ชั่วโมง โคอาลายังนับว่าเป็นสัตว์สายพันธุ์ดึกดำบรรพ์ เนื่องจากเคยมีการขุดพบฟอสซิลของพวกมันซึ่งมีอายุกว่า 20 ล้านปี

ถึงแม้โคอาลาจะนอนเยอะและกินเก่งจนน่าอิจฉา แต่ใครเล่าจะปฏิเสธความน่ารักของพวกมันได้ลง ขนนุ่มหนา และสายตาเงียบงันดึงดูดให้ทุกคนอยากกอดพวกมันแทนหมอนข้างตลอดคืน

เขตรักษาพันธุ์โคอาลาโลนพาย (Lone Pine Koala Sanctuary) เป็นหนึ่งในสถานที่จัดตั้งศูนย์การวิจัยเพื่ออนุรักษ์และอนุบาลโคอาลาอย่างจริงจัง อีกทั้งยังเปิดเป็นสวนสัตว์ให้นักท่องเที่ยวสามารถมาเยี่ยมชมสัตว์หากยากนานาพันธุ์ไม่ว่าจะเป็น จิงโจ้หางแดง แทสเมเนียนเดวิล หมาป่าดิงโก้ นกแคสโซแวรีใต้

นอกจากเยี่ยมชมเพื่อเรียนรู้แล้ว ภายในเขตรักษาพันธุ์แห่งนี้ยังมีกิจกรรมน่ารักอยู่สองอย่างที่ห้ามพลาดด้วยเหตุผลทั้งปวง คือ อุ้มเจ้าโคอาลาขนปุกปุยจอมเฉื่อย และให้อาหารจิงโจ้จอมกระโดด ซึ่งกิจกรรมทั้งสองนี้ถูกกำกับภายใต้สายตาอันห่วงใยของเจ้าหน้าที่ประจำเขตรักษาพันธุ์แห่งนี้ 

คำเตือนสองข้อที่เราอยากมอบให้มีเพียง อย่าเผลอเป็นลมกับความน่ารักของพวกมัน และภายหลังที่จับโคอาลา อย่าลืมล้างมือ!

Fact Box

  • แอร์ เอเชียได้เปิดให้บริการเที่ยวบินปฐมฤกษ์ ดอนเมือง-บริสเบน เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา 
  • เที่ยวบินขาออก กรุงเทพฯ - บริสเบน ออกในเวลา 23:40-11:35 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดยจะมีให้บริการทุก วันจันทร์-อังคาร และ วันศุกร์-เสาร์ 
  • เที่ยวบินขาเข้า บริสเบน - กรุงเทพฯ ออกในเวลา 12:50-19:10 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดยจะมีให้บริการทุกวันอังคาร-พุธ และ วันเสาร์-อาทิตย์
  • ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง http://www.airasia.com 
Tags: ,