ผมชอบห้องหนังสือของพี่หนุ่ม – นพดล วีรกิตติ ที่มีแสงสาดเข้ามาทางหน้าต่าง แสงค่อนข้างสลัว เขาบอกว่าเขาทำห้องหนังสือเพื่อสร้างบรรยากาศการอ่านให้ลูก หนังสือและแผ่นเสียงวางเรียงอยู่เต็มตู้ที่สูงจากพื้นจรดเพดาน ในวันที่ว่างจากการทำงานอันวุ่นวาย เขาอาจใช้เวลาอยู่ในห้องนี้ได้ทั้งวัน จิบกาแฟที่คั่วเองในห้องที่ต่อเติมออกไปเพื่อตั้งเครื่องคั่วกาแฟเล็กๆ ซึ่งเป็นงานอดิเรกที่พี่หนุ่มสนใจและลงมือทำอย่างจริงจัง นอกจากนั้น เขายังบอกรับสมาชิกสำหรับคนที่ต้องการมีคนคั่วกาแฟส่วนตัว หลังจากหยุดตัวเองจากงานประจำเมื่อปีที่ผ่านมา
สิ่งที่จับความสนใจผมมากที่สุดคือภาพที่แขวนอยู่บนฝาผนัง ภาพขาวดำในกรอบสีดำ เมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ จึงได้รู้ว่าเป็นภาพ Un dimanche sur les bords de Marne (Henri Cartier-Bresson, 1938) ที่พี่หนุ่มตัดมาจากหนังสือเพื่อบอกตัวเองเสมอว่า สนใจการถ่ายภาพเพราะภาพนี้ จนนำไปสู่การเป็นผู้ร่วมก่อตั้งคลับถ่ายภาพ Street Photo Thailand
พี่หนุ่มบอกว่าที่ชอบ เพราะภาพ ‘วันอาทิตย์ริมแม่น้ำมาร์น’ มีประวัติศาสตร์ของสังคมในภาพ Cartier-Bresson ถ่ายภาพนี้ไว้เพื่อบันทึกเหตุการณ์ของชนชั้นแรงงานที่ออกมาใช้วันหยุดอย่างเรียบง่ายริมแม่น้ำ เนื่องจากกฎหมายใหม่ที่เพิ่งมีการบังคับใช้ โดยระบุในกฎหมายว่าคนงานจะได้รับเงินเดือนในวันหยุดประจำปี (Les congés payés) ดังเช่นที่ชนชั้นกลางได้รับมาก่อนหน้านี้แล้ว
ชายใส่แว่นกลมเสียงทุ้มรูปร่างผอมคนนี้ ผ่านการทำงานมาหลากหลาย โดยพื้นฐานพี่หนุ่มเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองชอบหรือไม่ แต่เป็นเพราะเรียนค่อนข้างดี จึงเลือกวิศวกรรมศาสตร์แทนที่จะเป็นแพทยศาสตร์ เพราะเขาไม่อยากเป็นเหมือนพ่อซึ่งไม่ค่อยมีเวลา 30 กว่าปีก่อน-เมื่อเรียนจบ เขามีโอกาสไปฝึกงานที่บริษัทที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างระหว่างประเทศที่เวียนนา ประเทศออสเตรีย ขณะทำงานดราฟต์แบบที่ได้รับมอบหมายบนโต๊ะเขียนแบบในสำนักงาน ความคิดที่จะเดินไปคุยกับหัวหน้างานถึงหน้าที่การงานที่เขาต้องรับผิดชอบ ก็ทำให้ชีวิตของพี่หนุ่มเปลี่ยนไป
“ผมเดินเข้าไปถามเขาว่า มีงานอื่นให้ผมทำไหม เพราะการเดินทางพันกว่าไมล์จากเมืองไทยเพื่อมาดราฟต์แบบ มันไม่น่าจะมีประโยชน์กับผมนัก” พี่หนุ่มเล่าความหลังให้ฟัง
หัวหน้างานเห็นด้วยกับเหตุผลของเด็กหนุ่มวิศวรกรฝึกงาน จึงมอบหมายให้เขาศึกษาโปรแกรมการออกแบบ Autocad ซึ่งเป็นโปรแกรมชนิดใหม่ที่กำลังจะนำมาใช้งาน ด้วยความคุ้นเคยกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์เมื่อครั้งเรียนในมหาวิทยาลัย ความใคร่รู้ และความปรารถนาที่จะหนีจากโต๊ะเขียนแบบ เขาจึงหมกมุ่นทำความเข้าใจกับสิ่งใหม่
“เคยได้ยิน ‘กันดารคือสินทรัพย์’* ไหม” พี่หนุ่มถามผม
“ถ้าผมไม่ค้นคว้าเรื่องการใช้งาน Autocad และทำมันให้ได้ ผมก็ต้องกลับไปนั่งโต๊ะเขียนแบบ”
เขาเสาะหาคู่มือภาษาอังกฤษเพื่อศึกษาโปรแกรมชนิดใหม่นี้ จนในที่สุดก็เข้าใจและนำไปอธิบายวิธีการใช้งานให้กับวิศวกรชาวออสเตรียนและชาวต่างชาติที่อยู่ในสำนักงานรับฟัง บวกกับโปรแกรมที่พี่หนุ่มเขียนเพิ่มเติม จากการเรียนรู้โปรแกรมใหม่นี้ทำให้ความสนใจของเขาขยับจากวิศวกรอุตสาหการที่ต้องทำงานในโรงงาน มาเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์
ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าหากวิศวกรหนุ่มไม่ไขว่คว้าโอกาสและถามประโยคที่เปลี่ยนเส้นทางเดินของชีวิต เขาอาจต้องกลับเข้าไปทำงานในโรงงานแถวรังสิตที่เขาไม่ชอบและไม่เป็นตัวเขาอีกนานแค่ไหน กว่าที่ชีวิตจะให้โอกาสเขาเลือกอีกครั้ง
6 เดือนในเวียนนาดูเหมือนจะเพิ่มทัศนวิสัยการมองชีวิตที่กว้างขวางและความเชื่อมั่นให้กับเขา พลางบอกตัวเองว่าจะเป็นฝ่ายเลือกทำงานที่ชอบ อะไรที่ไม่เหมาะ เขาก็พร้อมที่จะเดินออกมา และจะไม่อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องทนกับอะไรที่ไม่ชอบ โชคดีที่พี่หนุ่มได้ทุกอย่างตามตั้งใจ นอกจากนั้น เขายังได้หัวหน้างานที่ดี เปิดโอกาสให้เขาทำงานอย่างเต็มที่
พี่หนุ่มเลือกที่จะทำงานในบริษัทขายระบบควบคุมอาคารอัจฉริยะ และเป็นหนึ่งในทีมที่ขายระบบนี้ให้กับหอประชุมแห่งชาติสิริกิตต์ ซึ่งเป็นอาคารแห่งแรกๆ ที่ควบคุมอาคารด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (BAS Building Automation System) โดยใช้ความรู้และต่อยอดความรู้ทางคอมพิวเตอร์ที่ได้เริ่มต้นมาจากเวียนนา จากนั้นจึงมีโอกาสเข้าทำงานเพื่อวางระบบการจัดเก็บภาพถ่าย (Photo Database) ให้กับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ซึ่งในยุคนั้น ถือเป็นหนังสือพิมพ์ที่ผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ยาวไกล และใช้เทคโนโลยีเพื่อความเป็นเลิศอย่างน่าจับตามอง นอกเหนือไปจากจัดวางระบบภาพถ่ายแล้ว ยังรวมไปถึงการจัดวางระบบข้อมูล (Editorial System)
จากผู้วางระบบให้กับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ทำให้พี่หนุ่มรู้จักกับคุณพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ในฐานะ Editor-in-chief ซึ่งชักชวนให้พี่หนุ่มมาทำงานวางระบบให้กับหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับใหม่ Asia Times ที่นี่นอกจากการวางระบบที่เป็นความชำนาญแล้ว เขายังได้เข้าร่วมประชุมกับคณะบรรณาธิการ ซึ่งทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้มุมอง วิธีคิด ด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง จากอาจารย์พันศักดิ์และทีมบรรณาธิการ ซึ่งต่อมามีประโยชน์กับเขาในการทำงานให้กับ TCDC (Thailand Creative and Design Center ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ)
“แล้วทำไมพี่ลาออกจาก Asia Times”
“ผมกำลังวางแผนแต่งงาน การทำงานหนังสือพิมพ์ที่เริ่มสนุกตอน 5 โมงเย็น และกว่าจะปิดต้นฉบับก็เที่ยงคืน มันเหมาะกับคนโสด แต่มันไม่เหมาะกับชีวิตผมในอนาคต” เขาบอกเมื่อเลือกชีวิตมากกว่างาน ขณะนั้นก่อนวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปีพ.ศ. 2540
“กาแฟไหม”
เขาถามผมแล้วเดินจากห้องหนังสือไปห้องครัว พลางตวงเมล็ดกาแฟที่คั่วแล้วในขวดโหลใส่ไปในเครื่องบดกาแฟ กาแฟที่พี่หนุ่มคั่วมีกลิ่นของผลไม้สุกอยู่ในนั้นด้วย มันหอมอวลไปทั่วห้อง จากนั้นเขาหยิบกระดาษกรองวางไว้บนที่กรอง รินน้ำร้อนจากกาที่มีปากเล็กยาวลงบนกระดาษเพื่อเตรียมกรองกาแฟ เขาตักผงกาแฟค่อนข้างหยาบลงบนกระดาษชุ่มน้ำ แล้วเริ่มรินน้ำใส่ผงกาแฟที่พูนขึ้นมา วนเป็นวงกลม
“แล้วพี่มาทำงานที่ TCDC ได้ยังไง” ผมถาม
“ผมอ่านจากหนังสือพิมพ์ว่าจะมีโครงการสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ (มิวเซียมสยาม) จึงไปหาอาจารย์พันศักดิ์ ซึ่งเล่าให้ฟังเกี่ยวกับโครงการ TCDC ผมเลยสมัครงานที่นี่ โดยมีหน้าที่วางระบบ IT และ facilities ทั้งหมด” พี่หนุ่มหยุดเทน้ำใส่กาแฟ หันมาตอบ- -ผงกาแฟซึมซับน้ำเอาไว้
“เมื่อวางระบบเสร็จ ก็มาทำงานส่วนที่เป็นธุรกิจสร้างสรรค์ (Creative Business) นิวนึกออกไหม พอเจอวิกฤตต้มยำกุ้ง โรงงานล้มหายตายจาก บางโรงงานไม่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ เราจึงต้องสร้างนักออกแบบ เพื่อสร้างสินค้าขึ้นมาใหม่ โดยพื้นฐานความคิดที่ว่า ‘เมื่อไม่มีคำสั่งผลิต ทำไมเราไม่ผลิตเองโดยใช้ข้อได้เปรียบของเรา’ จุดมุ่งหมายของ TCDC คือ ต้องสร้างงานใหม่ๆ ขึ้นมา โดยทำทุกอย่างเพื่อเอื้อให้นักออกแบบมีข้อมูลในการออกแบบ ทั้งความคิดใหม่ และวัสดุทางเลือกใหม่ๆ ถ้าจะถามว่าไปถึงจุดที่เราวางไว้ไหม ผมคิดว่าเราไปได้หากไม่มีรัฐประหารปี 2549 ซึ่งมันทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก” พี่หนุ่มขยายความ แล้วเริ่มเทน้ำร้อนลงบนผงกาแฟอีกครั้ง
“งานมันน่าสนใจมาก ได้เจอสิ่งใหม่ๆ เรื่องการศึกษา เรื่องการออกแบบ เรื่องเทคโนโลยี แล้วพี่ลาออกทำไม” ผมถามพลางมองดูหยดน้ำสีน้ำตาลอ่อนหยดลงแก้วใส พลางดมกลิ่นกาแฟหอมจางๆ
“ความจริงผมควรจะลาออกก่อนหน้านี้ประมาณ 2 ปี ตอนที่ลูกย้ายโรงเรียนไปเรียนดนตรีที่มหิดล แต่โครงการย้าย TCDC จากเอ็มโพเรียมมาอาคารไปรษณีย์กลางล่าช้า เพราะรัฐประหารปี 2557 ผมไม่อยากให้ลูกติดกับดักของระบบการศึกษาไทย ผมคิดว่ามันไม่เวิร์ก ไม่อยากให้ลูกอยู่ในแทร็กนี้ โชคดีที่ลูกสนใจดนตรี” เขาตอบโดยมองกาแฟที่กำลังรินลงแก้ว แล้วยื่นให้ผม
“ที่ลูกผมสนใจดนตรีก็เพราะผมสร้างบรรยากาศตั้งแต่เขายังเด็ก ผมเปิดเพลงในบ้านตลอดเวลา เพื่อสร้างแรงจูงใจบางอย่างให้เขา ทำให้เพลงเป็นสิ่งปกติในชีวิต ตอนเขาไปเรียนดนตรี เขาก็กลับมาซ้อมที่บ้านสม่ำเสมอ”
“ผมสนใจ Informal Education ที่เราสามารถหาความรู้จากอินเทอร์เน็ตได้อย่างไม่มีขอบเขต เราสามารถเรียนทำอาหารจากเชฟระดับโลกอย่าง กอร์ดอน แรมซีย์ (Gordon Ramsay) ที่ผมเพิ่งเรียนจบไป คุณก็สามารถเรียนถ่ายภาพกับ แอนนี่ ลีโบวิตซ์ (Annie Leibovitz) ได้ ตอนนี้ทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ การศึกษาแบบทางการมันล้าหลัง ตามไม่ทันโลกแล้ว” พี่หนุ่มพูดพลางจิบกาแฟ
“นั่นสิพี่ แล้วลูกผมนี่ควรทำไง”
“ผมว่าก็เรียนคู่กันไป เราไม่สามารถฝากการศึกษาไว้กับโรงเรียนอีกต่อไปแล้ว ความรู้มันก้าวหน้าเร็วมาก เด็กเมียนมาร์ มาเลเซีย ลาว ถ้าเขามีพื้นฐานภาษาอังกฤษ เขาก็เข้าถึงความรู้ได้เท่าๆ กับเรา แล้วถ้าเรายังติดอยู่ที่ภาษา เราจะไปสู้เขาได้ยังไง ต้องเริ่มเลย ไม่มีใครรอใคร”
“ชีวิตพี่วางแผนได้เหมือนที่พี่วางระบบให้องค์กรต่างๆ ไหม” ผมจิบกาแฟบ้าง และพบว่ามันมีรสชาติเปรี้ยวน้อย ขมลึกๆ แต่เบาบาง
“ได้ แต่หลวมๆ พออายุ 40 กว่า ผมวางแผนว่าจะหยุดทำงานประจำตอนอายุ 50 เพราะอยากใช้เวลากับลูกให้มากขึ้น ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยมีเวลาให้ลูก แล้วเด็กมันโตขึ้นทุกวัน เวลาที่ผ่านไปแล้วชดเชยกันไม่ได้ ถ้าเทียบกับเวลาของผมกับของลูกมันยังช้าไป พอเข้ามหิดลอยู่หอพัก ทำให้เราอยู่ห่างจากลูกเร็วไป”
มันเป็นครั้งที่สองของพี่หนุ่มที่เลือกชีวิตมากกว่าการทำงาน และผมเข้าใจดีถึงระดับความรู้สึกของความสนิทสนมหรือห่างเหินระหว่างพ่อกับลูก หากเราไม่ได้ใช้เวลาช่วงสำคัญกับเขา หรือมีพื้นที่ว่างระหว่างกันเกินไป
หลังปลดตัวเองออกจากงานประจำตามแผนชีวิตที่วางไว้ พี่หนุ่มเข้าร่วมงานกับโปรเจ็กต์เกี่ยวกับการศึกษาที่เขาสนใจ และเปิดโรงคั่วกาแฟขนาดเล็กโดยบอกรับการเป็นสมาชิกสำหรับคนที่ต้องการกาแฟแบบที่ตัวเองชอบ ภายใต้ชื่อ Seize the Day (ไขว่คว้าวันเวลา) อย่างที่ครูคีตติ้งเคยสอนลูกศิษย์ไว้ในภาพยนตร์เรื่อง Dead Poet Society (1989, Peter Weir)
นพดล วีรกิตติ
Camera : Medium Format 6 x 6
Black and White Negative Film
หมายเหตุ:
*ชื่อนิทรรศการที่จัดขึ้นครั้งแรกที่ TCDC ‘กันดารคือสินทรัพย์: อีสาน’
Fact Box
นพดลเรียนจบปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปริญญาโท Computerized Information System มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
เคยทำงานเป็นผู้วางระบบ System Network Manager ที่หนังสือพิมพ์ AsiaTimes
เคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและบริหารพื้นที่ (Information Technology & Facility Management Director) และผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจสร้างสรรค์ (Creative Business Development Director) ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)
ปัจจุบัน ร่วมงานโปรเจ็กต์เกี่ยวกับการศึกษาที่เขาสนใจ และเปิดโรงคั่วกาแฟขนาดเล็ก Seize the Day Micro Coffee Roaster