พี่อ๊อบ — อภิชัย เลี่ยมทอง เลือกเล่นเพลง The Swan ประพันธ์โดยคีตกวีชาวฝรั่งเศส กามีล์ แซงต์-ซองส์ (Camille Saint-Saëns 1835-1921) ขณะที่ผมกำลังถ่ายภาพพอร์เทรตของเขาจากแสงที่สาดมาทางหน้าต่าง การได้ถ่ายภาพโดยมีเสียงเชลโลหวานๆ คลอเคลียไปด้วยเป็นความรื่นรมย์อย่างหนึ่ง เสียงหวานๆ บางท่อนดังแล้วเบา — เบาแล้วดัง เนิบนาบ…อ้อยอิ่งอยู่ในอากาศแล้วก็จางหายไป แต่เสียงเหล่านั้นยังวนเวียนอยู่ในความรู้สึก จนต้องกลับมาเปิดเพลงนี้ฟังในขณะที่ผมกำลังถ่ายทอดเรื่องราวของเขา

พี่อ๊อบเป็นนักเชลโลและเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่ผ่านการฝึกซ้อมอย่างหนักในวัยหนุ่ม แบบที่เขาบอกว่า ‘ตะบี้ตะบันซ้อม’ แต่ได้ผลไม่มากนัก จนลีลาเริ่มคลี่คลายในสิบกว่าปีต่อมา เขาเล่าให้ฟังว่าชีวิตนักดนตรีของเขาเริ่มจากการตัดสินใจเดินเข้าไปในห้องชมรมดนตรีสากลตอนเรียนอยู่มัธยมต้น ผมเข้าใจถึงความเท่ที่ได้เล่นเพลงชาติทุกเช้า ขณะที่เพื่อนๆ ต้องยืนเข้าแถวกลางแดดและฟังผู้อำนวยการเทศน์ซึ่งน่าเบื่อสิ้นดี การได้เข้าไปเป็นหนึ่งในสมาชิกของวงดนตรี เป็นความเท่แบบหนึ่งเท่าที่เด็กมัธยมต้นจะทำได้ แต่การเดินผ่านเข้าประตูชมรมดนตรีสากลนั้นไม่ได้เย้ายวนเขาอยู่ได้นานนัก เพราะเขาได้รับมอบหมายให้เล่นคลาริเนตแทนที่จะเป็นกลองอย่างที่ใฝ่ฝัน เร็วเท่าความคิด พี่อ๊อบเดินออกมาจากประตูบานนั้นแล้วเลี้ยวเข้าประตูชมรมดนตรีไทย

ในห้องชมรมดนตรีไทย พี่อ๊อบได้รับมอบหมายให้เล่นขิม ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่เครื่องดนตรีที่เขานึกอยากจะเล่นมาก่อน แต่เขาคิดว่ามันดูดีและเป็นเครื่องตีเหมือนกลอง เมื่อเล่นไปสักพัก เขาเปลี่ยนไปเล่นระนาด เพราะขิมเป็นเครื่องดนตรีเล่นเดี่ยว การเล่นระนาดทำให้เขาได้เข้าร่วมวงกับเพื่อนๆ ที่ชวนสนุกมากกว่า และการเดินผ่านประตูบานที่สองนี้ทำให้เขาอยู่ในแวดวงดนตรีจนกระทั่งปัจจุบัน

แม้ว่าพ่อแม่จะไม่เห็นด้วยกับการเล่นดนตรี เพราะต้องการให้ทุ่มเทกับการเรียน แต่เมื่อเลือกแล้วพี่อ๊อบก็มุ่งมั่นฝึกฝนอย่างเอาจริงเอาจัง เขาเชื่อว่าหากเราทำสิ่งที่เลือกแล้วให้ดีที่สุด มันก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีต่อชีวิตของเราเอง นักระนาดหนุ่มฝึกซ้อมทุกเช้าก่อนเข้าเรียนและหลังเลิกเรียนในตอนเย็น โดยมีครูมาช่วยชี้แนะ ครูจะเล่นให้ดูแล้วนักเรียนต้องจำโน้ตแล้วเล่นให้เหมือน การเรียนแบบนี้ทำให้ได้เรียนรู้เทคนิคการจำ นอกจากสนุกกับการได้เล่นวงแล้ว สิ่งที่พี่อ๊อบชอบในดนตรีไทยอีกอย่างก็คือ โครงสร้างของดนตรีไทยที่มีโน้ตห่างๆ ซึ่งเปิดโอกาสให้นักดนตรีได้แสดงฝีมือและไอเดียในการเล่น คล้ายดนตรีแจ๊ซที่เปิดโอกาสให้นักดนตรีด้นสด (improvisation)

“สมัยเด็กๆ ซ้อมหนักมากแต่สนุก โดยเฉพาะการตีคู่ 8 (ตีตัวโน้ตเสียงสูงและเสียงต่ำตัวเดียวกัน—พร้อมกัน) การจะตีพร้อมกันและทำให้เร็วได้ต้องเกร็งข้อมือ ไม่เหมือนกับฆ้องวงที่ใช้การตีสลับซึ่งไม่ต้องเกร็งข้อมือ เวลาฝึกคือเอาผ้ากระสอบปูรางระนาดไว้ แล้วใช้ไม้ระนาดพิเศษที่มีด้ามเป็นทองแดงหัวเป็นตะกั่ว เป็นวิธีฝึกเหมือนนักวิ่งระยะใกล้ที่ต้องการความเร็ว ที่เวลาฝึกซ้อมจะผูกล้อรถถ่วงน้ำหนักไว้ที่เอว

“ผมฝึกสองสามชั่วโมงต่อวัน ตีจนนิ้วเกร็งแบมือไม่ได้ ต้องให้เพื่อนมาช่วยแกะนิ้วออก แต่เป็นการฝึกที่ได้ผล เพราะเวลาเล่นจริงทำให้มือเบาหวิวเลย”

พี่อ๊อบเล่าถึงการฝึกฝนอย่างจริงจังสมัยเด็กๆ ความเอาจริงเอาจังนี้ทำให้ข้อมือแข็งเกร็ง แม้จะดีกับการเล่นระนาด แต่กลับกลายเป็นอุปสรรคต่อการเล่นเชลโลในเวลาต่อมา

การเรียนดนตรีในระดับมหาวิทยาลัยนั้นแตกต่างออกไป แม้เขาจะยังชอบดนตรี ชอบการฝึกซ้อม แต่โอกาสการได้รวมวงกับเพื่อนนั้นน้อยลงเรื่อยๆ การเรียนในระดับนี้อาศัยการฝึกอย่างโดดเดี่ยว ตัวใครตัวมัน ครูชี้แนะแล้วปล่อยให้ต่างคนต่างซ้อมเอง อีกทั้งการเรียนค่อนไปทางอนุรักษนิยม ต้องเล่นเพลงในแนวทางที่ครูกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ทำให้อิสระในการเล่นน้อยลง เขาไม่รู้สึกสนุกกับการเรียนการสอนแบบนี้ เพราะขัดกับธรรมชาติและความสนใจ อาจเป็นเพราะวัยหนุ่มหรืออาจะเป็นโชคชะตา เขาหาทางออกโดยแอบไปฝึกเล่นเชลโลกับเพื่อนนิสิตเอกดนตรีสากล ควบคู่ไปกับการฝึกระนาดอย่างที่เคยทำมาตลอด โดยที่ครูไม่รู้และไม่อาจให้รู้

“ตอนไปสมัครเรียนเชลโล ครูถามนิสิตแต่ละคนจะเรียนนานแค่ไหน บางคนก็บอกว่าหนึ่งปี บางคนบอกไม่รู้ แต่พอมาถึงผม ผมตอบครูไปว่าเรียนตลอดไป…ครูบอกว่าไม่เชื่อ ผมคิดในใจว่าอยากพิสูจน์ให้ครูเห็น”

“แล้วพี่แน่ใจได้อย่างไรว่าจะทำได้ ผมรู้สึกเหมือนคนที่บอกว่าจะบวชพระตลอดชีวิตตั้งแต่ยังไม่ได้บวช”

“ผมเป็นคนที่ถ้าคิดจะทำอะไรเเล้วก็ทำจริงจัง ชอบความท้าทาย ถ้ามีคนไม่เชื่อก็จะทำให้ดู แล้วบางทีตอนนั้นอาจจะยังหนุ่มอยู่ด้วยก็ได้” น้ำเสียงของเขานุ่มนวล แต่การที่เขายังเล่นเชลโลอยู่ถึงเวลานี้ คงเป็นหลักฐานยืนยันถึงความมุ่งมั่นของเขา

ความลับดังกล่าวถูกเก็บงำไว้อย่างดี แต่คล้ายโชคชะตาจะเล่นงานเขา ในเทอมสุดท้ายของปีสุดท้ายก่อนจบการศึกษา พี่อ๊อบถูกจับได้ว่าไปฝึกเล่นเชลโลในขณะที่ตัวเองเป็นนิสิตสาขาดนตรีไทย นับแต่นั้น ดูเหมือนเส้นทางการเป็นนักดนตรีไทยในสังกัดของครูมีเค้าลางที่ไม่สดใสนัก เพราะเมื่อถึงเวลารวมวงในเวลาต่อมา เขาถูกจับให้ไปเล่นกลองแทนที่จะเป็นระนาดเอก นั่นทำให้เขาเลือกที่จะเดินต่อไปในฐานะนักเชลโลมากกว่าระนาดเอก

“ดนตรีคือเสียงที่เกิดขึ้นแล้วค่อยๆ หายไป การเล่นดนตรีทำให้ผมได้เดินทางไปในหลายๆ ที่ เพราะหากเขาต้องการเสียงที่คุณเล่น เขาก็ต้องพาคุณไปด้วย”

หลังเรียนจบ พี่อ๊อบเป็นอาจารย์สอนดนตรีในมหาวิทยาลัยก่อนจะได้ทุนไปเรียนต่อในสถาบันดนตรีที่ฮ่องกง มันเป็นช่วงเวลาที่เขาค้นพบเคล็ดวิชาบางอย่าง ตอนนั้นเขาเรียนจบปริญญาตรีแล้ว จึงไม่ต้องเข้าเรียนวิชาพื้นฐานเหมือนนักศึกษาคนอื่นๆ เขาจึงมีเวลาฝึกซ้อมวันละ 8 ชั่วโมง ในขณะที่นักศึกษาชาวจีนซึ่งมีฝีมือดีกว่าเขาต้องเรียนวิชาพื้นฐานเหล่านั้น จึงมีเวลาฝึกซ้อมเพียงวันละ 3-4 ชั่วโมง พี่อ๊อบมั่นใจว่าการทุ่มเทฝึกซ้อมจะทำให้ฝีมือเขาพัฒนาในเร็ววัน แต่ผลกลับไม่เป็นไปตามนั้น ยิ่งฝึกซ้อมยิ่งไม่ก้าวหน้า ยิ่งฝึกซ้อมยิ่งผิดพลาด เป็นวงจรที่ไม่นำพาไปสู่อะไรเลย นอกจากความอึดอัดคับข้องใจ เพราะการฝึกด้วยวิธีการผิดๆ ยิ่งเป็นการย้ำความผิดให้กลายเป็นนิสัยที่แก้ได้ยาก ในขณะที่นักศึกษาชาวจีนที่มีพื้นฐานดีอยู่แล้วกลับพัฒนาฝีมือรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว

“ผมไม่รู้ว่าผิดพลาดอะไร เพราะสมัยนั้นยังวิเคราะห์ตัวเองไม่เป็น ซ้อมแบบหัวชนฝา คิดว่าซ้อมมากๆ แล้วจะดีเอง การพบอาจารย์สัปดาห์ละครั้งไม่ช่วยเท่าไรนัก เพราะเมื่อไม่เข้าใจแล้วไปฝึกซ้อม ก็เหมือนกับการตอกย้ำสิ่งผิดๆ กว่าจะแก้ไขได้ต้องใช้เวลานาน” พี่อ๊อบเล่าย้อนอดีตให้ฟัง เปรียบเทียบว่าหากต้องการสร้างตึกร้อยชั้น  ย่อมไม่สามารถสร้างบนพื้นที่เป็นโคลน เราจำเป็นต้องรื้อตึกที่สร้างไปแล้วลงทั้งหมด แล้วเริ่มต้นใหม่ด้วยการปูพื้นฐานให้แน่นเสียก่อน หากยังคงดื้อดึงสร้างตึกสูงต่อไปบนพื้นโคลน ไม่นานโครงสร้างทั้งหมดย่อมพังทลาย

สิ่งที่เขาร่ำเรียนมาจากมหาวิทยาลัยในเมืองไทยจำต้องหยุดไว้ก่อน อาจารย์แนะนำให้เลิกซ้อมเพลงต่างๆ ทั้งหมดแล้วกลับไปเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่ขั้นเบสิค เริ่มตั้งแต่การหัดใช้คันชัก เพื่อแก้ปัญหามือเกร็งที่เป็นผลจากการซ้อมระนาดอย่างหนักหน่วงเมื่อสิบปีก่อน ข้อมือและท่อนแขนที่ฝึกเพื่อเล่นระนาดนั้นเป็นอุปสรรคต่อการถือคันชักของเชลโล ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่ต้องการมือและแขนที่พลิ้วไหว

เมื่อพบปัญหาและลงมือแก้ไขตามคำแนะนำของอาจารย์โดยไม่ถือทิฐิ ทำให้การเรียนรู้ที่ชะงักงันคลี่คลายลง เมื่อปูพื้นฐานใหม่มั่นคงแล้ว ความมุ่งมั่นเดิมที่มีอยู่จึงพาเขาให้เดินต่อไป

“เมื่อรู้ปัญหาและแก้ได้แล้ว ไม่ใช่ว่าเราจะทำได้ถูกต้องตลอดไป อย่างที่บอก ดนตรีคือเสียงที่เกิดขึ้นแล้วหายไป เราต้องฝึกฝนต่อเนื่องจนกลายเป็นนิสัย และผมก็พบว่าหากเราวิเคราะห์ตัวเอง วิเคราะห์ปัญหาได้ เราไม่ต้องซ้อมมาก แต่ไปได้เร็วกว่าการซ้อมแบบตะบี้ตะบัน การฝึกหนักโดยไม่แก้ไขข้อผิดพลาดไม่ได้เป็นข้อดีเสมอไปนัก”

จากฮ่องกง นักดนตรีหนุ่มมุ่งมั่นเดินต่อไปในทางสายดนตรี เขาได้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่สถาบันดนตรีในลอนดอน ที่นี่เขาได้เรียนรู้การทำงานเป็นวง การตีความบทเพลง บทตอนที่สามของการเรียนดนตรีนี้สอดคล้องไปตามจังหวะของชีวิต เหมือนตัวโน้ตและท่วงทำนองที่มีจังหวะช้า-เร็ว ดัง-เบา สอดคล้องกลมกลืนอยู่ในบทเพลง พี่อ๊อบย้ำว่าการเลือกครูนั้นสำคัญมาก จากประสบการณ์ที่ผ่านมา สองสถาบันทั้งในเมืองไทยและฮ่องกง จนถึงขั้นตอนสุดท้าย ที่ได้รับการชี้แนะจากประสบการณ์ของอาจารย์ระดับมืออาชีพถึงมุมมองต่อดนตรีและการรวมวง

จากลอนดอน พี่อ๊อบไปเป็นนักเชลโลในวง Hong Kong Sinfonietta ประมาณ 4-5 ปี ก่อนเดินทางกลับประเทศไทย

นักเชลโลหนุ่มได้รับการชักชวนให้กลับมาเป็นครูดนตรีในสถาบันดนตรีแห่งหนึ่งก่อนที่จะขยับไปเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยในอีกไม่กี่ปีต่อมา การได้เล่นดนตรีอาชีพและสอนดนตรีไปด้วย ทำให้เขาได้เห็นจุดบกพร่องของนักเรียน และช่วยชี้แนะการแก้ปัญหา เขาบอกว่าการวิเคราะห์ผู้อื่นเท่ากับได้วิเคราะห์ตนเองไปด้วย การตรวจสอบตัวเองอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเคล็ดวิชาสำคัญที่จะผลักดันให้ก้าวต่อไปอย่างราบรื่นและมั่นคง แต่ทว่าชีวิตของเขาก็ไม่ได้ราบเรียบนัก เมื่อพบ ‘อุปสรรคเล็กๆ น้อยๆ ของชีวิต’

ในบทเพลงย่อมมีความเงียบ ความเงียบเป็นพื้นที่ว่างที่ทำให้ตัวโน้ตเกิดเป็นเสียง และความเงียบเป็นเหมือนความมืดของกลางคืนที่ขับเน้นแสงดาว และบทเพลงชีวิตของเขากำลังก้าวเข้าสู่ช่วงของความเงียบ

“ผมเป็นมะเร็ง รู้เมื่อ13 ปีที่แล้ว โชคดีที่เป็นอวัยวะไม่สำคัญ” พี่อ๊อบเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงราบเรียบ

เขาเป็นมะเร็งที่โคนลิ้น ซึ่งจะว่าไปก็เป็นอวัยวะที่ไม่สำคัญเมื่อเทียบกับคนไข้คนอื่นๆ ที่ได้นอนพักฟื้นใกล้กันในโรงพยาบาล — เขาบอกอย่างนั้น แต่สำหรับคนฟัง การเป็นมะเร็งไม่ว่าจุดใด ก็สร้างความหวาดวิตกพอๆ กัน

เขาเข้ารับการรักษาด้วยวิธีฉายรังสีและรับคีโมเป็นเวลาหกเดือน จากนั้นจึงเข้าสู่ช่วงฟื้นฟูร่างกาย ผลจากการฉายรังสีซึ่งทำลายต่อมน้ำลายและการรับรส ทำให้การกินอาหารเป็นความทุกข์ทรมาน เพราะไม่สามารถรับรสได้ ทุกอย่างที่ผ่านปากมีรสชาติเหมือนกระดาษ เมื่อเป็นเช่นนั้น อาหารทุกอย่างต้องแปลงให้เป็นของเหลวแล้วดื่มเหมือนน้ำ และทุกวันนี้อาการของเขาดีขึ้นเป็นปกติแล้ว

“ทำไมพี่ถึงคิดว่าการเป็นมะเร็งของพี่ยังเป็นเรื่องโชคดี”

“โชคดี เพราะเขามาสอนวิธีการใช้ชีวิตให้เราใหม่ เหมือนครูที่บอกให้ผมหยุดแล้วไปเริ่มเบสิคใหม่ตั้งแต่ต้น”

ทุกบทเพลงมีตัวโน้ตและเมโลดี้กำหนดไว้ แต่ผู้เล่นสามารถใส่ท่วงทำนองของตัวเองผ่านความยาว-สั้นของตัวโน้ต ความดัง-เบาของเสียง ฉะนั้นแม้นักดนตรีจะเล่นบทเพลงเดียวกัน แต่เสียงที่ออกมาย่อมไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะตีความออกมาอย่างไร บทเพลงของชีวิตคงไม่ต่างไปจากนี้ ทุกคนย่อมเติบโตและผ่านท่วงทำนองหลักของสุข-ทุกข์ในแต่ละช่วงชีวิตจนถึงวาระลับลา—ไม่แตกต่างกัน แต่ชีวิตก็ยังปรานีพอที่ให้มนุษย์ได้ตีความบทเพลงชีวิตได้ในแบบของตน

ผมกลับมาฟังเพลง The Swan โดย Yo-Yo Ma ซึ่งเป็นหนึ่งในอัจริยะทางดนตรีร่ายเชลโลในท่วงทำนองเนิบช้า…สำเนียงหวานระคนเศร้า เชลโลทิ้งเสียงนุ่มทุ้มกังวานไว้ในความเงียบก่อนที่จะจางหายไป…หลงเหลือเพียงความเงียบงัน

 

อภิชัย เลี่ยมทอง | Celloist
Medium Format Camera
Black and White Negative Film

Fact Box

อภิชัย เลี่ยมทอง จบการศึกษาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาดุริยางคศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทุนไปเรียน Professional Diploma in Cello Performance ที่ Hong Kong Academy for Performing Arts จากนั้นเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ Guildhall School of Music and Drama ที่ลอนดอน สหราชอาณาจักร

ปัจจุบัน อภิชัยเป็นหัวหน้าหลักสูตรดุริยางคศาสตรบัณฑิตของวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นนักดนตรีให้กับวง Royal Bangkok Symphony Orchestra (RBSO) และสอนเชลโลอยู่ที่บ้านในวันว่าง   

Tags: ,