ดูเหมือนว่ากรณี Brexit จะยังไม่จบง่ายๆ เมื่อ เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ประกาศเลื่อนการเปิดให้สมาชิกพรรคลงมติข้อตกลงในการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งแต่เดิมแล้วกำหนดว่าจะลงมติในวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางการจับตารอดูอย่างเคร่งเครียดจากทุกฝ่าย ขณะที่เธอเองก็ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ และไม่ว่าฝ่ายไหนจะเห็นด้วยหรือไม่กับการแยกตัวออกมาจากสหภาพยุโรป ก็ต้องยอมรับว่าการก้าวเดินครั้งนี้ของสหราชอาณาจักร จะส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่ออาชีพและชีวิตของหลายๆ คน… รวมถึงอาชีพที่เป็นหนึ่งในสิ่งที่อังกฤษภูมิใจเสมอมาอย่างเหล่าศิลปินในอุตสาหกรรมดนตรี
อิทธิพลเพลงจากเกาะอังกฤษนั้นทรงพลังมาตั้งแต่ในอดีต พวกเราทั้งหลายต่างรู้จักมักจี่กันกับเหล่ารุ่นน้าของวงการอย่าง The Beatles, Queen ไล่เรื่อยมาจนถึงยุคสมัยของบริตป๊อปอันเกรียงไกรของ Oasis และ Blur มาจนถึงรุ่นหลังๆ อย่าง Adele หรือ Ed Sheeran ซึ่งความสำเร็จของพวกเขาและเธอไม่ได้เป็นเพียงเรื่องส่วนตัวหรือของค่ายเพลง แต่มันเป็นการสร้างรายได้เข้าประเทศ มีสถิติบอกว่าลำพังปีที่ผ่านมา เพลงจากเกาะอังกฤษขายดีนอกประเทศถึง 108 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 4.4 พันล้านบาท หลายส่วนมาจากการทัวร์คอนเสิร์ตในยุโรปเอง
อย่างนั้นแล้ว Brexit จะส่งผลกระทบต่อ อุตสาหกรรมดนตรีอังกฤษจะได้อย่างไรบ้าง?
อย่างสำคัญที่สุดคือเมื่ออังกฤษตัดสินใจจะแยกตัวออกมาโซโล่เดี่ยวจากสหภาพยุโรป นั่นหมายความว่าผลประโยชน์ต่างๆ ที่อังกฤษเคยได้รับสมัยยังรวมตัวอยู่กับประเทศอื่นๆ ในยุโรปเป็นอันต้องหายวับไปสิ้น อังกฤษต้องทำข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศอื่นๆ ใหม่ทั้งหมด (ซึ่งดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำข้อตกลงให้วิน-วินทั้งสองฝ่ายในหลายๆ ประเทศ) โดยเฉพาะการเผชิญหน้ากับความผันผวนทางการเงินที่แต่เดิมเสถียรเสมอมาภายใต้การปกครองดูแลของอียู ไปจนถึงการเดินทางข้ามประเทศที่จากแต่เดิมง่ายดาย ก็วุ่นวายเมื่อต้องใช้วีซ่าหรือปฏิบัติตัวตามเงื่อนไขที่แตกต่างกันไปของแต่ละประเทศ
จอฟฟ์ เทย์เลอร์ ผู้บริหารขององค์กรตัวแทนอุตสาหกรรมการบันทึกเสียงบริติช (British Phonographic Industry – BPI) บอก “เราต้องทำให้แน่ใจให้ได้ ว่าศิลปินของเราสามารถเดินทางไปออกทัวร์ที่ไหนก็ได้ในยุโรป หรือถ้าอยากจะเอาโปรดิวเซอร์จากที่อื่นเข้ามาร่วมงานในอังกฤษก็ต้องเป็นเรื่องที่ทำได้โดยเสรีด้วย คือถ้ารัฐบาลจะสร้างความมั่นใจให้เราสักหน่อยว่า Brexit นั้นจะสร้างข้อตกลงที่เป็นที่น่าพอใจสำหรับศิลปินในการออกทัวร์อย่างอิสระ มีการปกป้องลิขสิทธิ์เพลงของพวกเขาอย่างหนักแน่น มันก็อีกเรื่องน่ะ”
โดยเฉพาะการที่อียูเสนอให้ปฏิรูประบบตลาดเดียว (Single Market หรือการทำให้สินค้า บริการต่างๆ ของประเทศในสหภาพยุโรปรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน) เพื่อผลประโยชน์ของคนทำงานสร้างสรรค์จำนวนมาก โดยเฉพาะจากนโยบาย Copyright Directive ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อปกป้องลิขสิทธิ์คอนเทนต์หรือผลงานใดๆ ก็ตามบนโลกอินเตอร์เน็ต แน่นอนว่ารวมทั้งสื่อต่างๆ ที่ปรากฏลงในเว็บไซต์ฟังเพลงสารพัด เช่น Youtube, SoundCloud โดยการตรวจสอบอย่างหนักแน่นว่างานหรือบทเพลงที่ปรากฏในโลกออนไลน์ในอียูนั้น เป็นงานละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ และหากอังกฤษตัดสินใจจะเดินออกจากอียูจริงๆ ก็เท่ากับว่าศิลปินจะไม่ได้รับความคุ้มครองจากข้อกฎหมายซึ่งอัพเดตมาใหม่เอี่ยมนี้เลย
ความว้าวุ่นประดามีเหล่านี้นี่เองที่ทำให้เกิดการรวมตัวกันเล็กๆ ของกลุ่มคนดนตรีสัญชาติอังกฤษในนาม Music4EU เพื่อต่อต้าน Brexit และออกแถลงการณ์ที่มีใจความสำคัญระบุว่า การมาถึงของ Brexit นั้นนับเป็น ‘ภัยคุกคามที่สำคัญยิ่ง’ สำหรับอุตสาหกรรมดนตรีของอังกฤษ
“การออกจากสหภาพศุลกากร, ระบบตลาดเดียว, เขตภาษีมูลค่าเพิ่มและกฎระเบียบต่างๆ (ในภาพรวมหรือบางส่วน) สามารถทำลายล้างสถานะการเป็นผู้นำในตลาดโลกของเรา และทำลายเสรีภาพในการค้าขาย, ออกทัวร์หรือโปรโมตศิลปินและงานของเราได้”
พวกเขายังกล่าวว่าอังกฤษยุคหลังจากออกมาจากอียูนั้น แน่นอนว่าคนที่รับผลกระทบไม่ใช่แค่เหล่าศิลปินนักร้อง “หากแต่เป็นแฟนๆ ที่อาจต้องเสียเงินเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม การทำธุรกิจในการตลาดระหว่างประเทศจะเป็นเรื่องยากขึ้น งานแสดงคอนเสิร์ตมีแนวโน้มจะล่าช้าหรือแม้แต่ถูกยกเลิกด้วย”
ในแถลงการณ์นั้นย้ำชัดถึงมูลค่าที่บทเพลงของเหล่าศิลปินที่สร้างผลประโยชน์ให้เศรษฐกิจของอังกฤษแบบเป็นกอบเป็นกำ มวลรวมของรายได้โดยประมาณนั้นอยู่ที่ 4.5 ล้านล้านปอนด์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขายเพลงผ่านซีดี, แผ่นไวนิล, ระบบสตรีมมิ่งและโดยเฉพาะกับการออกทัวร์คอนเสิร์ตที่ทำเงินได้อย่างมหาศาล และแถลงการณ์นี้ยังย้ำอย่างเจ็บแสบว่า “เท่าที่สำรวจความเห็นของนักดนตรีในสหราชอาณาจักรที่มีต่อ Brexit มีแค่ 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเองที่คิดว่า Brexit จะส่งผลดีต่องานของพวกเขา”
และก็ดูเหมือนว่าประชาชนคนดนตรีจากอังกฤษอีก 98 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ จะรวมชื่อของบ็อบ เกลดอฟ, ริต้า โอร่าและดาม่อน อัลบาร์นไว้ด้วย โดยเฉพาะรายหลังสุดที่เพิ่งออกอัลบั้ม Merrie Land ในนามวง The Good, the Bad & the Queen โดยอัลบาร์นให้สัมภาษณ์ว่านี่เป็นจดหมายลาจากที่เขามีให้อียูหลังเหตุการณ์ Brexit
“ผมเขียนเพลงในอัลบั้มนี้ขึ้นมาก็เพื่ออยากอธิบายตัวเองให้เข้าใจว่ามันเกิดไอ้ Brexit ขึ้นมาได้ยังไงกันวะ แล้วมันคืออะไรกันแน่” เขาอธิบาย “มันไม่ใช่แค่ว่า ‘เรากำลังออกจากยุโรปแล้วจ้า’ แต่มันเป็นยิ่งกว่านั้นอีก เหมือนไอ้การลงประชามติครั้งนี้เป็นการบอกว่า ‘ลากันทีไอ้ประเทศไร้สุข’ อะไรแบบนั้นเลย”
อันที่จริงไม่น่าแปลกที่อัลบาร์นจะไม่พอใจการแยกตัวในครั้งนี้ เพราะตัวเขาเองนั้นเติบโตมาจากความหลากหลาย ทั้งการย้ายจากลิงคอล์นเชอร์ทางเหนือสุดของเกาะแล้วมาโตที่เอสเซ็กซ์ ซึ่งเป็นเมืองทางตะวันออก “ผมโตมากับเพลงจาไมก้า ไปโรงเรียนกับเพื่อนๆ ที่มีพ่อแม่เป็นคนยุควินด์รัช (กลุ่มผู้อพยพที่เดินทาวมายังสหราชอาณาจักรหลังสงครามโลกครั้งที่สอง) และช่วยสร้างเกาะอังกฤษขึ้นมาใหม่ ผมโตมากับชุมชนแบบนั้น
“มันเหมือนเรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในสองประเทศที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ระหว่างประเทศมองหาอะไรใหม่ๆ และเต็มไปด้วยวัฒนธรรมที่หลากหลาย ส่วนอีกประเทศคือไม่ได้แยแสอะไรทั้งนั้นเพราะรู้สึกว่าวัฒนธรรมเดิมของตัวเองกำลังถูกรุกราน ซึ่งนั่นแหละคือ Merrie Land แหละ”
อัลบาร์นไม่ใช่เพียงคนเดียวที่ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับการแยกตัวออกมาครั้งนี้ นักร้องสาวลิลี่ อัลเลนเองยังเคยเล่นมุกตลกยั่วล้อสถานการณ์นี้ตอนเธอมีชื่อเข้าชิงรางวัลเมอร์คิวรี่ ว่าหากเธอได้รับเงินรางวัล 25,000 ปอนด์ว่าเธอคงได้ใช้เจ้าเงินก้อนนี้หมดไปกับการทำวีซ่าใหม่หลัง Brexit แน่ๆ เลยค่ะ หรือแม้แต่โนล กัลลาเกอร์ก็ยังออกมาใช้ฝีปากคมกริบของตัวเองแซวเมย์ว่า “แหม แม่คุณ ช่วยบอกเราจริงๆ ซะทีเถอะว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง อย่าเอาแต่โกหกเรื่องข้อตกลงกันอย่างนี้เล้ย” เขาว่า (ซึ่งส่วนตัวเขานั้นเคยออกมาบอกแล้วว่าไม่ให้โหวตให้อังกฤษแยกตัวออกมาเพราะ “ถามจริงๆ ว่ะว่ามึงมีคุณสมบัติอะไรกันถึงได้ไปลงเสียงให้ประเทศแยกตัวออกมาจากทวีปที่เก่าแก่ที่สุดของโลกนี้กันวะ ฮึ!”)
ขณะที่โรเบิร์ต เดล นาจา จาก Massive Attack บอกว่าเขาไม่ได้มีปัญหากับเรื่องค่าใช้จ่ายที่อาจเพิ่มมากขึ้นหลังออกจากอียู (“ผมไม่บ่นเรื่องนั้นหรอก”) แต่ที่สร้างความว้าวุ่นใจให้เขาคือบรรยากาศหลังการแยกตัวออกมาของอังกฤษซึ่งเกิดขึ้นในประเทศยุโรปประเทศอื่นๆ ต่างหาก “คือถ้าไม่มียุโรปเราคงฟอร์มวงกันไม่ได้น่ะครับ ทุกครั้งที่เราไปแสดงที่ฝรั่งเศส อิตาลี สเปนหรือเนเธอแลนด์ เหล่าคนดูก็ค่อยๆ เป็นผู้กำหนดความเป็นเรา และเราคงไม่ประสบความสำเร็จได้เลยถ้าไม่ได้ไปแสดงในที่เหล่านั้น เสียงตอบรับของพวกเขาน่ะสร้างอนาคตพวกเราขึ้นมาเลยนะ”
และสุดท้ายนี้ ก็อาจเป็นอย่างที่เทย์เลอร์ ผู้บริหารของ BPI สรุปไว้ก็ได้ว่า “หนึ่งในเหตุผลที่อุตสาหกรรมดนตรีของอังกฤษมันประสบความสำเร็จคือ พวกเขาดูดซับเอาวัฒนธรรมต่างๆ จากทั่วโลกมาใช้ในดนตรี และสิ่งสุดท้ายเลยนะที่นักดนตรีอยากทำคือ ตัดตัวเองออกจากอิทธิพลเหล่านั้น และคนฟังทั่วโลกน่ะ”
Tags: Music, Brexit, Britpop, music industry