วันที่ 15 มีนาคม 2566 เวลา 10.30-12.00 น. กรมชลประทานได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ ‘ได้ หรือ เสีย เปิดทุกมุมมอง ตอบทุกประเด็นโครงการผันน้ำยวม’ ณ หอประชุม ชูชาติ กำภู สถาบันพัฒนาการชลประทาน กรมชลประทาน เพื่อเป็นเวทีกลางรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล หรือโครงการผันน้ำยวม ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนจากทุกภาคส่วน ทั้งนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากสาขา และตัวแทนจากภาคเกษตรกร พร้อมทั้งมีการตอบคำถามต่อข้อกังวลต่างๆ ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ เพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน พร้อมเปิดการถ่ายทอดผ่านช่องทางออนไลน์ให้ประชาชนสามารถร่วมรับชมและเสนอข้อคิดเห็นได้อย่างทั่วถึง
สำหรับโครงการผันน้ำยวม ก่อสร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มน้ำปิงและลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง โดยเฉพาะด้านท้ายเขื่อนภูมิพล อีกทั้งเป็นการสนับสนุนการสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ที่จะสามารถผันน้ำจากแม่น้ำยวมมาเติมอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลได้เฉลี่ยปีละ 1,795.25 ล้านลูกบาศก์เมตร สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมจากผลประโยชน์ด้านการเกษตรได้มากกว่า 17,431 ล้านบาทต่อปี รวมไปถึงเป็นการเพิ่มโอกาสในการสร้างประโยชน์ทางตรงและทางอ้อมอีกมากมายได้แก่
1. การเพิ่มพื้นที่ทำการเกษตรในฤดูแล้ง จำนวนกว่า 1.6 ล้านไร่ แบ่งเป็นกำแพงเพชร 286,782 ไร่ และเจ้าพระยาใหญ่ 1,323,244 ไร่
2. การผลักดันน้ำเค็มในช่วงฤดูแล้ง ลดค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาน้ำเค็ม
3. เพิ่มการผลิตพลังงานไฟฟ้า ของโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนภูมิพลเฉลี่ย 417 ล้านหน่วย/ปี และผลิตพลังงานไฟฟ้าท้ายเขื่อนน้ำยวมได้อีก 46.02 ล้านหน่วย/ปี
4. สร้างอาชีพการทําประมงในอ่างเก็บน้ำ มีการเพาะพันธุ์ปลาและปล่อยปลา ให้ประชาชน ในพื้นที่จับปลาไปบริโภคและสร้างรายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น
5. ส่งเสริมด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
ทำไมจึงต้องมีโครงการผันน้ำยวม? เรื่องนี้ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต หนึ่งในคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) กล่าวในวงเสวนาระบุว่า อีก 3-4 ปีข้างหน้า มีการคาดการณ์ว่าจะเกิดวิกฤตภัยแล้งต่อเนื่องหลายปี รวมไปถึงวิกฤตอุทกภัย น้ำท่วมใหญ่ ซึ่งโครงการผันน้ำยวม ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางรับมือจัดการ แต่อย่างไรก็ดี เราต้องพิจารณาถึงประโยชน์ในเชิงทางการเกษตรด้วยเช่นกัน เพื่อให้โครงการไม่เกิดขึ้นเพื่อจุดประสงค์เพียงแค่เชิงป้องกันปัญหา แต่ต้องส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุนมากที่สุด
ส่วนเรื่องปัญหาน้ำในปัจจุบัน พรชัย กันสิทธิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพื้นที่เฉพาะและโครงการสำคัญ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) อธิบายถึงนโยบายในการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยว่า โดยเฉลี่ยในแต่ละปี ประเทศไทยมีการเก็บกักน้ำประมาณ 8.2 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร หรือเพียง 40% ของปริมาณน้ำในแต่ละปี แต่ความต้องการ ใช้น้ำจริงมีมากกว่านั้น ทำให้มีการขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา การบริหารจัดการน้ำ ดังนั้นช่วงที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงต้องมีการวางแผนไว้ล่วงหน้าหลายปี โดยการผันน้ำข้ามลุ่มเป็นอีกนโยบายที่จะช่วยให้ประเทศมีความมั่นคงทางด้านน้ำ
รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ที่ได้รับรางวัลผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำ ประจำปี 2564 จากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวในประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการผันน้ำยวม จะเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลมีการผันน้ำ แต่ก็จะอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม คือไม่เกิน 60% ของน้ำท่า ซึ่งไม่ทำให้สมดุลของน้ำเสีย
สำหรับจุดที่น่ากังวลของโครงการผันน้ำยวม โดยเฉพาะเรื่องชดเชยที่ดินนั้น รศ.ดร.เดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยและพัฒนาบูรณาการเกษตรและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ระบุว่าคณะรัฐมนตรีได้มีมติชดเชยกรณีที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ในโครงการลักษณะใกล้เคียงกับโครงการผันน้ำยวม ส่วนในเรื่องผลกระทบกับทรัพยากรทางน้ำนั้น ทางกรมชลประทาน ได้มีมาตรการต่าง ๆ มารองรับทั้งการเพาะพันธุ์ปลาท้องถิ่นร่วมกับกรมประมง และมีการทำทางผ่านปลาที่ออกแบบให้ทั้งปลาเล็กและปลาใหญ่ สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างสะดวก
นอกจากนี้ ร.ต.สงัด สมฤทธิ์ ผู้ประสานงานสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 กรมชลประทาน ได้เสริมในเรื่องผลประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่โครงการจะได้รับ ว่าจากการสำรวจของกรมชลประทาน ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อุโมงค์ผันน้ำ และอ่างเก็บน้ำยวม ซึ่งจะได้รับประโยชน์ จากการปรับพื้นที่ทิ้งกองวัสดุให้คนในพื้นที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งจะได้รับประโยชน์ร่วมกับการพัฒนาโครงการทั้งในเรื่องถนนและระบบไฟฟ้า นอกจากนี้ยังได้มีการสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่เรื่อง การอนุรักษ์แหล่งน้ำเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป
ทางฝั่งประชาชน นายศรชัย สิบหย่อม ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำ อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกร ได้มีการปรับรูปแบบการทำเกษตรกรรมไปตามปริมาณน้ำที่ทางกรมชลประทานแจกจ่ายมาในแต่ละปี ดังนั้นพวกเขาจึงมีความคาดหวังว่า เมื่อโครงการผันน้ำยวมแล้วเสร็จจะช่วยให้ปริมาณน้ำสำหรับทำการเกษตรเพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามพวกเขายังมีความกังวลกับประชาชนบางกลุ่มที่ยังได้รับผลกระทบอยู่
“แม้ว่าโครงการนี้จะมีประชาชนที่ได้รับผลประโยชน์ทั้งทางตรง และทางอ้อมมากมาย แต่เนื่องจาก เป็นโครงการขนาดใหญ่จึงมีผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมาจึงได้มีการจัดทำรายงาน การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมทุกด้าน แต่ก็ยังมีประชาชนในพื้นที่บางส่วนได้รับผลกระทบจากโครงการนี้จึงอยากให้พิจารณาเรื่องนี้เป็นสำคัญ อีกทั้งยังมีข้อห่วงกังวลในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรการชดเชย ให้กับประชาชนที่สูญเสียที่ดินทำกิน ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของผู้คนที่อยู่อาศัยโดยรอบพื้นที่โครงการ ความคุ้มค่าในการลงทุน ไปจนถึงความโปร่งใสในเรื่องการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการ”นายศรชัย กล่าว
หลังจากนี้ต้องจับตาโครงการผันน้ำยวมเรื่องใดต่อ? ชูลิต วัชรสินธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางโครงการและบริหารจัดการน้ำ บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด ได้พูดถึงประเด็นข้อกังวล ในเรื่องจะมีการเก็บค่าใช้น้ำจากต้นทุนน้ำที่เพิ่มขึ้นหากโครงการแล้วเสร็จ เนื่องจากโครงการผันน้ำยวมเป็นการผันน้ำมาพื้นที่เศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีการพัฒนาระบบชลประทานที่สมบูรณ์ ทำให้ต้นทุนน้ำที่ผันมาต่ำและมีประสิทธิภาพ มีการใช้น้ำหมุนเวียนหลายครั้ง นอกจากนี้โครงการผันน้ำยวมยังเป็นสวัสดิการที่ทำเพื่อประชาชน ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 กำหนดให้รัฐต้องสนับสนุนให้เกษตรกรได้มีน้ำสำหรับการทำเกษตรกรรม และจะไม่มีการเก็บค่าน้ำเพื่อเกษตรกรรม แต่จะไปเก็บค่าใช้น้ำจากหน่วยงานที่ได้นำน้ำไปจำหน่าย หรือหาประโยชน์แทน ซึ่งตรงนี้ก็ต้องได้รับการตรวจสอบกันต่อไป
ขณะที่ ดร.กนก คติการ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเกษตร จาก บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด ได้ให้ข้อมูลในเรื่องความคุ้มค่าของโครงการผันน้ำยวมว่าต้องมองในหลายปัจจัย ทั้งในเรื่องเศรษฐศาสตร์ที่ โครงการนี้เป็นโอกาสของประเทศไทยถ้ามีการนำพืชที่มีมูลค่าสูงมาเพาะปลูกในพื้นที่เพิ่มเติมจะทำได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะหากเกิดวิกฤตภัยแล้งยาวนานต่อเนื่องหลายปีทำให้ไม่สามารถปลูกพืชได้ รวมไปถึงความเสถียรของระบบชลประทานที่จะตามมาหลังจากนี้ ว่าจะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรที่จะทำการเพาะปลูกได้หรือไม่
หลังงานเสวนา The Momentum ได้สัมภาษณ์ รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน เพิ่มเติม ถึงการแก้ไขปัญหาน้ำและทรัพยากรทางธรรมชาติในเชิงนโยบาย ซึ่ง รศ.ดร. บัญชา เสนอว่าภาครัฐควรมีนโยบายในการผลักดันให้ประชาชนและคนในพื้นที่สามารถเป็นต้นแบบ บุคคลสาธิตในการนำร่องบริหารจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติ ทั้งในเชิงเกษตรกรรมและการใช้สอยว่าทำอย่างไรจึงจะมีคุณภาพ โดยบุคคลเหล่านั้นต้องเป็นคนในท้องที่ ที่เข้าใจสิ่งแวดล้อม สภาพสังคม และภูมิประเทศในท้องที่นั้นๆ เพื่อให้การนำร่องเหล่านี้ ประชาชนทั่วไปสามารถนำไปประยุกต์ได้จริง
“ที่ผ่านมาเรานำคนนอกเข้าไปทำการเกษตรเชิงสาธิต ไปทำ ไปสอนให้ชาวบ้านเข้าใจ แต่อย่าลืมว่าคนเหล่านั้นเขาไม่ได้อยู่ในท้องที่นั้นไปตลอด เขาไม่ได้มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง อาจเป็นเรื่องในเชิงอื่นๆ ว่าชาวบ้านเขามีข้อจำกัดอะไรบ้าง ดังนั้นจะเป็นการดีกว่า หากมีการสนับสนุนให้คนในชุมชนได้มีความรู้ สามารถเป็นเกษตรกรต้นแบบได้ เพราะเขาจะมีความเข้าใจในการนำความรู้ไปประยุกต์ให้เข้ากับพื้นที่ในชุมชนได้อย่างลงตัว” รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน กล่าว
นอกจากนี้ รศ.ดร.บัญชา ยังระบุว่าในการทำงานของภาครัฐหากมีการประสานงานกันระหว่างองค์กรที่บูรณาการมากยิ่งขึ้นก็จะทำให้การจัดการเรื่องต่างๆ ในเชิงนโยบายหรือประสานงานระหว่างภาครัฐและประชาชนมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น
สำหรับผู้สนใจสามารถรับชมการเสวนา ‘ได้’ หรือ ‘เสีย’ เปิดทุกมุมมอง ตอบทุกประเด็น โครงการผันน้ำยวม ย้อนหลังผ่านช่องทางออนไลน์ หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Official Page: กรมชลประทาน
Tags: Branded Content, โครงการผันน้ำยวม, กรมชลประทาน