“ลิงก์นี้อย่ากดนะ มันหลอกเอาเงิน”
ข้างต้นเป็นประโยคที่ลูกหลานมักเตือนคนในครอบครัวกันประจำ เพราะหลายครั้งตามหน้าข่าวมักเห็นข่าวผู้เสียหายหลงกลเหล่ามิจฉาชีพในการหลอกโอนเงินจนนำมาสู่การสูญเสียนับครั้งไม่ถ้วน
ยิ่งนานวันเข้ากลยุทธ์การโกงของมิจฉาชีพยิ่งมีเพิ่มขึ้นมากเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งลิงก์ให้กรอกข้อมูล การอ้างตัวตน หรือแม้แต่หลอกให้ทำธุรกรรมแทน
“รู้เขารู้เรา… รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง”
The Momentum และ ธนาคาร CIMB THAI รวบรวมกลเม็ดที่เหล่านักต้มตุ๋นใช้เพื่อหลอกลวงให้คนธรรมดาอย่างเราๆ ตกหลุมพราง นำไปสู่การสูญเสียเงินไว้หลากหลายรูปแบบ รวมไปถึงแนวทางการป้องกันเพื่อให้เงินของเราไม่ตกไปสู่กระเป๋าของคนอื่นได้ง่ายๆ
1. ยื่นหมูยื่นม้า
มิจฉาชีพจะยื่นข้อเสนอให้ผู้เสียหายดำเนินการเปิดบัญชีม้า เพื่อแลกกับของกำนัลที่จูงใจให้ผู้เสียหายหลงผิดและนำบัญชีไปทำธุรกรรม ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของต่างๆ ของขวัญ หรือแม้แต่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลังจากนั้นมิจฉาชีพจะล่อลวง เชิญชวนให้คนเข้ามาลงทุนโดยใช้บัญชีดังกล่าวเป็นบัญชีทำธุรกรรม จนท้ายที่สุดความผิดจะตกมาสู่เจ้าของบัญชี
ทั้งนี้ หากอ้างอิงจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ระบุไว้ว่า หากผู้ใดเป็นเจ้าของบัญชีม้าหรือเบอร์ม้า มีโทษปรับสูงสุด 3 แสนบาท หรือ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับแนวทางการป้องกันง่ายๆ เพื่อไม่ให้ถูกหลอก คือต้องไม่เห็นแก่ของกำนัล ไตร่ตรองให้ดีก่อนที่จะเปิดบัญชีธนาคาร และไม่นำบัญชีของเราให้คนไปทำธุรกรรมใดๆ
2. ไหนๆ ก็ช่วยกดเงินแล้ว ก็ช่วยเป็นผู้ร้ายด้วยนะ
อีกหนึ่งวิธีคลาสสิกที่พวกมิจฉาชีพมักชอบทำ คือการไหว้วานให้เหยื่อช่วยกดเงินสดจากตู้ ATM มาให้ โดยอ้างเหตุผลว่า ตนเอกด ATM ไม่เป็น เมื่อเหยื่อเห็นใจและช่วยดำเนินการให้ กล้องที่ตู้ ATM ก็จะจับภาพว่าเหยื่อเป็นผู้กดเงินมาจากบัญชีม้า เมื่อเหยื่อเองกลายเป็น ‘ผู้กดเงินบัญชีม้า’ โดยสมบูรณ์ ก็จะได้รับหมายเรียกจากตำรวจในท้ายที่สุด
หนทางการเอาคืนเหล่ามิจฉาชีพในกรณีสามารถทำได้อย่างง่ายๆ เลยคือ
“ในเมื่อกดเงินไม่เป็น ก็สอนวิธีกดเงินเลยสิ!”
โดยให้แนะนำวิธีการกดเงิน ให้เหล่ามิจฉาชีพทำธุรกรรมด้วยตนเอง เพราะหากเราไม่ได้ทำธุรกรรมเอง เราก็ไม่มีความผิดแต่อย่างใด
3. ล่อด้วย ‘ร้อย’ แลกด้วย ‘ล้าน’
สำหรับวิธีการนี้เหล่ามิจฉาชีพจะปลอมตัวโดยอ้างว่า มาจากบริษัทแห่งหนึ่งผ่านการทำแบบสอบถามโดยมีค่าตอบแทนให้ พร้อมขอข้อมูลผู้ตอบแบบสอบถามเพื่อไปเปิดบัญชีม้า และส่งลิงก์ให้เหยื่อกดเข้าไปจนนำมาสู่การโดนดูดเงิน
เมื่อเหยื่อหลงเชื่อคำลวงของมิจฉาชีพและเข้าไปทำแบบสอบถามแล้วนั้น มิจฉาชีพก็จะส่งลิงก์ให้เหยื่อกดเข้าไป จนนำมาสู่การโดนดูดเงินออกจากบัญชีของเหยื่อในท้ายที่สุด
วิธีการป้องกันเหล่ามิจฉาชีพที่มาหวังจะมาเอาเงินของเราด้วยกลเม็ดแบบนี้ คือต้องตรวจสอบแหล่งที่มาให้ชัดเจนว่าหน่วยงานหรือองค์กรนั้นมีตัวตนจริง
นอกจากนั้นแล้วต้องไม่รับจ้างทำงานให้คนที่ไม่รู้จักหรือมีลักษณะที่ผิดแปลกไปจากปกติ
4. ทักมา ‘หางาน’ หรือ ‘หาเงิน’
สำหรับกลลวงสุดท้ายที่รวบรวมมาเป็นอุทาหรณ์ คือ เหตุการณ์ที่ทางเพจกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (Central Investigation Bureau: CIB) ได้เผยว่า มิจฉาชีพจะส่งข้อความผ่าน SMS หรือ LINE มาชวนสมัครงานด้วยข้อเสนอที่น่าสนใจ หรือจำนวนเงินที่มากกว่าปกติพร้อมให้กรอกข้อมูลส่วนตัว โดยอ้างว่าเพื่อใช้สมัครงาน แต่จริงๆ เพื่อนำไปเปิดบัญชีม้า เมื่อเหยื่อหลงกลเผลอกดเข้าสู่ลิงก์ที่มิจฉาชีพแนบมาแล้วนั้น ก็จะนำไปสู่การสูญเสียเงินในบัญชีของเหยื่อในท้ายที่สุด
แนวทางการรับมือเหล่ามิจฉาชีพที่เข้ามาหลอกลวงด้วยวิธีนี้สามารถป้องกันได้ โดยต้องไม่ตื่นตกใจไปตามบทละครของมิจฉาชีพ เราต้องตั้งสติและไม่วู่วามกดเข้าลิงก์ใดๆ ที่ไม่ทีที่มาที่ไป และในทางที่ดีให้ทำการบล็อกบัญชีดังกล่าวเพื่อไม่ให้มิจฉาชีพติดต่อมาอีกได้
จะเห็นได้ว่านับวันกลลวงที่เหล่ามิจฉาชีพใช้หลอกลวงเหยื่อมีหลากหลายมากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี หากมีสติและรู้เท่าทันวิธีการของเหยื่อ ก็จะสามารถป้องกันเงินที่เราหามาด้วยน้ำพักน้ำแรงของเราให้ปลอดภัยได้
Tags: ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย, ซีไอเอ็มบีไทย, Branded Content, CIMBTHAIBank