หากพบปาล์มน้ำมัน สิ่งแรกที่คุณจะนึกถึงคืออะไร?
เชื่อว่า ‘น้ำมันปาล์ม’ น่าจะเป็นคำตอบของหลายคน แต่หากถามต่อว่า แล้วน้ำมันปาล์มนำไปใช้ทำอะไรต่อได้บ้าง? ถึงตรงนี้ บางคนอาจจะต้องการกูเกิลเป็นตัวช่วยเพื่อหาคำตอบ
ความจริงแล้ว น้ำมันปาล์มเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไม่น้อย วิถีชีวิตของคนไทยมีส่วนเกี่ยวพันกับน้ำมันปาล์มในหลายขั้นตอนของชีวิต ยกตัวอย่างเช่น สบู่ แชมพู ยาสีฟัน และเครื่องสำอางที่ใช้ทุกวัน อาจมีวัตถุดิบหลักที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปาล์มดิบ หรืออาหารที่เอร็ดอร่อยระหว่างวัน โดยเฉพาะขนมขบเคี้ยวและของทอด ก็อาจมีน้ำมันปาล์มเป็นส่วนหนึ่งในนั้น ยังไม่นับการนำน้ำมันปาล์มไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นมข้นหวาน ไอศกรีม และเนยเทียม หรืออุตสาหกรรมสินค้าอุปโภค เช่น น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก ไปจนถึงน้ำมันรถยนต์
แต่มากไปกว่าการที่คนจำนวนไม่น้อยไม่ทราบว่าสิ่งของที่ใช้อุปโภคและบริโภคอยู่ทุกวันนี้มีน้ำมันปาล์มเป็นส่วนประกอบ คือการที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่ได้ตระหนักถึงที่มาของปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นต้นทางของการผลิตเหล่านี้ ทำให้ยังไม่เห็นข้อแตกต่างระหว่างการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มาจากน้ำมันปาล์มแต่ละแหล่ง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว หากเข้าใจข้อแตกต่างก็จะเข้าใจเหตุผลและมองเห็นวิธีการที่จะช่วยสนับสนุนเกษตรกรที่ปลูกปาล์มน้ำมันด้วยวิธีการที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สวนปาล์มน้ำมันในจังหวัดสุราษฎร์ธานี
รอยแผลในธรรมชาติจากการปลูกปาล์มน้ำมันแบบไม่ยั่งยืน
การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อใช้เป็นพื้นที่ปลูกปาล์ม คือตัวอย่างหนึ่งของการปลูกปาล์มน้ำมันอันละเลยต่อเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะนอกจากจะเป็นทั้งการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ ยังเป็นการทำลายแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย
แม้ในปัจจุบัน เกษตรกรในไทยจะมีปัญหาเรื่องนี้น้อย เมื่อเทียบกับประเทศใกล้เคียงที่เป็นแหล่งผลิตปาล์มน้ำมันอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งมีเรื่องของสัตว์ป่าบางชนิดที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เพราะบุกรุกพื้นที่เพื่อใช้ปลูกปาล์มน้ำมัน แต่เกษตรกรไทยที่เข้าใจเรื่องการผลิตอย่างยั่งยืนแบบถึงแก่นยังคงมีจำนวนไม่มากนัก เมื่อเทียบกับจำนวนเกษตรกรปาล์มน้ำมันทั้งหมด หลายคนยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการปลูกที่ลดการพังทลายของดินและการปกป้องแหล่งน้ำ ไปจนถึงการดำเนินงานภายใต้หลักจริยธรรมที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนและชุมชนรอบข้าง
เพื่อลดรอยแผลที่เกิดขึ้นกับธรรมชาติ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ที่มาจากการขาดความเข้าใจ โดยเฉพาะในประเทศที่มีผลผลิตน้ำมันปาล์มสูงเป็นอันดับ 3 ของโลกอย่างประเทศไทย ซึ่งมีพื้นที่ในการปลูกมากกว่า 5 ล้านไร่ ทั้งยังมีแนวโน้มในการใช้น้ำมันปาล์มดิบภายในประเทศสูงขึ้นทุกปี องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประเทศไทย จึงได้เริ่มต้นจัดทำ ‘โครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’ ตั้งแต่ปี 2561 โดยร่วมกับกรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งปัจจุบันโครงการนี้อยู่ในระหว่างขยายแผนงานที่วางไว้ไปสู่การทำงานร่วมกับเกษตรกรและโรงงานโดยตรงแล้วตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยใช้เกณฑ์ชี้วัดจาก Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO) มาเป็นองค์ประกอบหลักในการสร้างมาตรฐานให้กับเกษตรกร เพื่อให้นำไปสู่การผลิตอย่างยั่งยืนที่จะทำให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญและใส่ใจกับการเลือกผลิตภัณฑ์ที่มาจากระบบการผลิตแบบนี้มากขึ้น
“ก่อนหน้าที่จะมีโครงการนี้ GIZ เองเคยทำเรื่องนี้มาก่อนและทำสำเร็จมาแล้วในปี 2555 ตอนนั้นเรามีกลุ่มเกษตรกรปาล์มน้ำมันรายย่อย 4 กลุ่มที่ได้รับรองมาตรฐาน RSPO ซึ่งไม่ใช่แค่เป็นรายแรกของประเทศไทย แต่เป็นรายแรกของโลกเลยด้วยซ้ำ” กนกวรรณ ศาศวัตเตชะ ผู้จัดการโครงการ เล่าถึงโครงการแรกที่เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นที่นำมาสู่โครงการในปัจจุบัน ซึ่งครั้งนี้ได้ตั้งเป้าหมายให้จำนวนเกษตรกรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานนี้เพิ่มจำนวนขึ้น และขยายไปถึงการสร้างความเข้าใจและความร่วมมือกันเพื่อให้เกิดความยั่งยืนครบทั้งวงจร ตั้งแต่ตัวเกษตรกรเอง ต่อเนื่องไปถึงโรงงานน้ำมันปาล์ม ธุรกิจที่ใช้น้ำมันปาล์ม และผู้บริโภคที่มีสิทธิ์ในการเลือกผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปาล์มด้วย
ความตั้งใจนี้จึงเป็นที่มาของการพัฒนาหลักสูตรการพัฒนาเกษตรกรรายย่อยผลิตปาล์มน้ำมันของไทย (Thailand Oil Palm Smallholder Academy) เครื่องมือหลักที่โครงการนำมาใช้ในการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเกษตรกร
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประเทศไทย
เกษตรกรรายย่อยกำลังเก็บเกี่ยวทะลายปาล์มคุณภาพจากสวนปาล์มที่ดูแลอย่างดี
Train the Trainer สร้างวิทยากรเพื่อส่งต่อความรู้อย่างยั่งยืน
บทเรียนจากโครงการครั้งที่แล้วที่ทีมงาน GIZ มองเห็นก็คือ การขาดการขยายผลอย่างต่อเนื่อง และทำให้องค์ความรู้ที่ได้จบไปพร้อมกับโครงการไม่ได้มีการส่งต่อให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือจากกลุ่มที่ได้ทำงานด้วย ครั้งนี้จึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นการสร้างวิทยากรให้ส่งต่อความรู้ได้ต่อไป โดยเลือกวิทยากรหรือเทรนเนอร์ทั้งจากเจ้าหน้าส่งเสริมการเกษตร ตัวแทนจากโรงงานน้ำมันปาล์มที่เป็นพาร์ตเนอร์ของโครงการ และผู้นำเกษตรกรที่มีศักยภาพในเรื่องนี้
หลักสูตรการพัฒนาเกษตรกรรายย่อยผลิตปาล์มน้ำมันของไทย (Thailand Oil Palm Smallholder Academy) นี้ มีทั้งหมด 5 หน่วยการเรียนรู้หลัก ที่อิงจากหลักการ RSPO แล้วปรับให้เข้ากับเกษตรกรรายย่อย และผ่านการพัฒนาหลักสูตรร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมวิชาการเกษตรด้วย ซึ่งเนื้อหาในหลักสูตรประกอบไปด้วยเรื่องมาตรฐาน RSPO เรื่องการบริหารจัดการกลุ่ม เรื่องกสิกรรมที่เกี่ยวกับการทำสวนปาล์มทั้งหมด เรื่องสิ่งแวดล้อม และเรื่องสังคมที่ครอบคลุมมิติของความยั่งยืน
โดยในการทำงานจะเริ่มจากกลุ่มที่เป็นมาสเตอร์เทรนเนอร์ถ่ายทอดความรู้ให้เทรนเนอร์ก่อน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2563 จนครบ 3 โมดูลแรกแล้ว และเทรนเนอร์บางส่วนได้เริ่มส่งต่อความรู้สู่เกษตรกรในโครงการแล้วเช่นกัน
จนถึงตอนนี้ มีเกษตรกรที่ได้รับอบรมเรื่องนี้มากกว่า 2,000 คนใน 3 จังหวัดที่อยู่ในโครงการ คือ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และกระบี่ ซึ่งทางองค์กรตั้งเป้าหมายไว้ว่า เทรนเนอร์ 200-300 คนกลุ่มนี้จะสามารถนำความรู้ไปขยายต่อยอดสู่เกษตรกรได้อีก 3,300 รายในพื้นที่นำร่องของโครงการ
“โครงการนี้เราวางแผนไว้ว่าจะใช้ระยะเวลาทั้งหมด 4 ปี เพราะเป็นช่วงระยะเวลาที่เราเผื่อไว้ว่าให้เกษตรกรปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานที่มีการรับรองด้วย ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาในการเรียนรู้ รวมถึงการนำไปปรับใช้จริงด้วย
“ถ้าเกษตรกรได้รับการอบรมตามหลักสูตรที่เราออกแบบมาอย่างน้อย 3,000 ราย ก็จะถือว่าประสบความสำเร็จแล้วกึ่งหนึ่ง ซึ่งถ้าเป็นเรื่องนี้ ตอนนี้เราทำได้มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ขั้นตอนต่อไปที่เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จคือการพาเกษตรกรที่เข้าอบรมทั้ง 3,000 ราย ผ่านการรับรองตามมาตรฐาน RSPO ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของเรา เพราะถ้าเขาได้รับการรับรองใบรับรองนี้จะช่วยการันตีคุณภาพของผลปาล์มที่ผลิตได้ อันเป็นผลมาจากการจัดการสวนอย่างเป็นระบบ เกษตรกรและครอบครัวจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น และต้นทุนการผลิตที่ลดลง สร้างโอกาสทางการตลาดในการขายผลผลิตที่มีคุณภาพ” ผู้จัดการโครงการอธิบายถึงความความสำเร็จส่วนหนึ่งที่ตั้งเป้าหมายในโครงการนี้
แต่ความตั้งใจขององค์กรมิได้มีเพียงแค่นั้น เพราะประเด็นเรื่องโลกร้อนและการผลิตอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมคืออีกหนึ่งความตั้งใจ ทำให้มีการผนวกมิติเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงการด้วย เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกร ให้เกษตรกรรับรู้ว่าทุกการกระทำของสามารถมีส่วนช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้
เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของทุกคน
“ถ้าเราไปบอกเกษตรกรตรงๆ ว่า เขาต้องลดโลกร้อนนะ ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เขาอาจจะยังไม่เข้าใจแต่แรก เพราะในความเข้าใจของหลายคน เขายังมองว่าก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่มาจากควันที่โรงงานอุตสาหกรรมปล่อย เราเลยต้องสร้างการรับรู้กันใหม่ว่า ก๊าซเรือนกระจกเกิดขึ้นได้จากทุกกิจกรรม ไม่ใช่แค่เพียงโรงงานอย่างเดียว ต่างคนต่างต้องมีส่วนร่วมในการลดปัญหานี้เหมือนกันตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน เพราะปัญหาโลกร้อนไม่ได้กระทบแค่คนใดคนหนึ่งหรือที่ใดที่หนึ่ง แต่มันส่งผลกระทบในวงกว้าง
“เพราะฉะนั้นในการออกแบบหลักสูตร เราเลยเริ่มตั้งแต่สอนให้เขารู้ว่าก๊าซเรือนกระจกคืออะไร ในชีวิตประจำวันของเขามีกิจกรรมใดที่สร้างก๊าซนี้บ้าง เราถอดบทเรียนให้เขาพิจารณาดูว่า กิจกรรมในสวนของเขาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้และมีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกคืออะไรบ้าง ให้เขาเข้าใจก่อนจะนำไปสู่มาตรการการลดก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับแหล่งปล่อย” กนกวรรณขยายความเกี่ยวกับแนวทางในการสร้างความเข้าใจเรื่องนี้ให้แก่เกษตรกร
โดยมาตรการที่ใช้นั้น ทางองค์กรยึดหลักว่าจะต้องทำได้ง่าย ไม่สร้างความยุ่งยากให้เกษตรกร และต้องสร้างผลประโยชน์ร่วมให้กับเกษตรกรได้ จนเกิดเป็นมาตรการ 5 ข้อที่จะสอดแทรกอยู่ในหน่วยการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่การใช้ปุ๋ยอย่างเหมาะสม การปลูกพืชคลุมดิน การส่งเสริมให้เกษตรกรตัดทะลายปาล์มสุกมากกว่าทะลายปาล์มที่ยังไม่ได้ที่ การนำทะลายปาล์มเปล่าที่ผ่านการหีบน้ำมันจากโรงงานแล้วกลับมาใช้ที่สวนปาล์ม เพื่อรักษาความชุ่มชื้นในดินและการปลูกพืชร่วม ซึ่งมาตรการทั้งหมดมีส่วนช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากสวนปาล์มและในการกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์มในโรงงาน เพิ่มเติมจากประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับโดยตรงจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
แต่เพราะเชื่อว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ทางองค์กร GIZ ประเทศไทยเอง นอกจากจะทำงานร่วมกับเกษตร โรงงานการผลิต และภาครัฐแล้ว ก็มีการประชาสัมพันธ์และทำงานร่วมกับภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไปด้วย
“งานอีกส่วนที่โครงการขับเคลื่อนและมีการดำเนินกิจกรรมอยู่คือ เราพยายามส่งเสริมการตระหนักรู้ให้กับภาคประชาชนด้วย โดยผ่านทางช่องทางออนไลน์เป็นหลักอย่างเพจเฟซบุ๊กของ GIZ เกษตรกรรักโลก เพื่อให้ความรู้กับประชาชนทั่วไป
“เราอยากให้คนทั่วไปเข้าใจก่อนว่าน้ำมันปาล์มมีผลกระทบอย่างไร การที่หลายคนมองว่าน้ำมันปาล์มแย่ ที่จริงแล้วไม่ได้มาจากตัวน้ำมันปาล์มเอง แต่เป็นเพราะการจัดการที่ไม่ดี ไม่ยั่งยืน เราจึงพยายามสร้างความเข้าใจก่อนว่า น้ำมันปาล์มอยู่ใกล้ตัวเรามากนะ ถ้ากวาดสายตามองดูรอบๆ ผลิตภัณฑ์ทั้งหลายที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ก็มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มไม่น้อย ฉะนั้นทางเลือกในการตัดสินใจของผู้บริโภคจึงมีบทบาทสำคัญ เพราะทุกอย่างมีตลาดเป็นตัวนำการผลิต
“ถ้าผู้บริโภคมีความต้องการที่จะปรับเปลี่ยน เราก็เชื่อว่าผู้ผลิตเองต้องผลิตตามความต้องการของผู้บริโภคอยู่แล้ว ซึ่งท้ายที่สุดมันจะนำไปสู่การผลิตที่ยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำที่จะส่งผลให้มีการบริโภคที่ยั่งยืนไปถึงปลายน้ำด้วย” กนกวรรณอธิบายถึงความเป็นไปได้ที่ผู้บริโภคในระดับประชาชนจะมีส่วนช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ได้
ตัวอย่างของการสร้างความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้เกิดการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนเพิ่มขึ้น มีให้เห็นในหลายประเทศ ที่เห็นได้ชัด เช่น ในสิงคโปร์ องค์กร SASPO ก่อตั้งขึ้นในปี 2559 โดยมี 7 องค์กรที่เป็นสมาชิกเริ่มต้น ได้แก่ ASEAN CSR, Denis Group, Danone, IKEA, Unilever, Wildlife Reserves Singapore และ WWF Singapore ด้วยความตั้งใจที่จะเกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการผลิตน้ำมันปาล์มยั่งยืน โดยมีแนวทางให้กับธุรกิจต่างๆ ในสิงคโปร์เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจหันมาปรับเปลี่ยนนโยบายการผลิตของตัวเอง ด้วยการเลือกใช้วัตถุดิบจากแหล่งปลูกที่ยั่งยืน
ในปี 2560 SASPO ได้เผยแพร่เอกสารที่ชื่อว่า Singapore WWF Palm Oil Buyers Scorecard ซึ่งเป็นการประเมินบริษัทในสิงคโปร์ที่เสาะหาและใช้น้ำมันปาล์มจากแหล่งผลิตยั่งยืน เพื่อให้ผู้บริโภคได้เห็นข้อมูลนี้และส่งพลังการเรียกร้องกลับไปยังธุรกิจต่างๆ ที่ยังไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ในขณะที่ธุรกิจที่เป็นสมาชิกของ SASPO มีกระแสตอบรับที่ดีจากการใช้น้ำมันปาล์มยั่งยืน
ปัจจุบัน SASPO มีแบรนด์ต่างๆ มากกว่า 80 แบรนด์ และมีบริษัทผลิตอาหารและเครื่องดื่มมากกว่า 200 ราย ที่ร่วมลงนามในพันธสัญญาที่จะเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบที่ผลิตอย่างยั่งยืนเป็นวัตถุดิบ
อีกเส้นทางในการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงในหลายประเทศมาจากการขับเคลื่อนของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นความยั่งยืนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก เริ่มตั้งแต่ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตของตัวเองให้สอดคล้องกับความยั่งยืนมากขึ้น ไปจนถึงการแสดงจุดยืนผ่านกิจกรรมและการรวมตัวในรูปแบบต่างๆ
ตัวอย่างของพลังคนรุ่นใหม่ที่มุ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงในเรื่องการผลิตน้ำมันปาล์มยั่งยืน เช่น การรวมตัวกันในนาม Youth for Sustainability Alliance และ Youth Fellowship for Sustainable Palm Oil Programme ในอินเดีย ที่รวมตัวกันเพื่อให้ภาคธุรกิจได้เห็นว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญในมุมมองของผู้บริโภค รวมถึงท้าทายให้ธุรกิจต่างๆ ปรับเปลี่ยนนโยบายในการเลือกใช้วัตถุดิบด้วย
สำหรับการรวมตัวของคนรุ่นใหม่ สิ่งที่คนรุ่นนี้ทำได้ดีคือการใช้โซเชียลมีเดียเป็นหนึ่งในเครื่องมือในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อทำให้คนที่ได้รับรู้ข้อมูลส่วนนี้ไตร่ตรองมากขึ้นในการเลือกซื้อสินค้าแต่ละครั้ง รวมถึงยังมีการสนับสนุนให้โพสต์ถามแบรนด์โปรดของตัวเองเกี่ยวกับการใช้น้ำมันปาล์มที่ผลิตอย่างยั่งยืนอีกด้วย
นอกจากนี้ การเลือกใช้วัตถุดิบที่มาจากกระบวนการผลิตที่ยั่งยืนยังมีผลต่อการประเมินอันดับของบริษัทในระดับโลกด้วย ตัวอย่างเช่น การจัดอันดับ Forest 500 ของ Global Canopy หรือ Behind the Brands ของ Oxfam ที่ให้น้ำหนักกับเรื่องความยั่งยืนและชี้ให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงวิธีการผลิตที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถมีข้อมูลว่า ธุรกิจใดเป็นผู้นำในเรื่องนี้ และนำข้อมูลนั้นมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์
ส่วนในด้านการทำงานร่วมกับภาคธุรกิจนั้น องค์กร GIZ พยายามกระตุ้นให้ภาคธุรกิจ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ซื้อที่อยู่ปลายน้ำได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ และหันมาใส่ใจเลือกใช้น้ำมันปาล์มที่ผลิตด้วยกระบวนที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยผ่านการทำแคมเปญ ‘Transforming Sustainable Market in Thailand’ ที่ทำร่วมกับ RSPO และจัดในลักษณะของเวทีอภิปรายเมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมา
วัตถุประสงค์ของเวทีอภิปรายครั้งนี้ ไม่เพียงแต่กระตุ้นให้ภาคธุรกิจมีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ แต่ยังวางเป้าหมายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่การสร้างตลาดที่ยั่งยืนให้กับภาคอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มอีกด้วย
กนกวรรณตั้งข้อสังเกตจากประสบการณ์ในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้ว่า “เท่าที่ทำงานมา เราพบว่าบริษัทที่แปรรูปน้ำมันปาล์มบางรายสนใจและอยากใช้ แต่ยังติดข้อจำกัด เช่น น้ำมันปาล์มยั่งยืนที่ผลิตได้ยังมีปริมาณไม่เพียงพอ เราเลยอยากให้เกิดโมเดลที่เขาลงทุนเพื่อให้ความรู้กับเกษตรกรต้นน้ำโดยตรงเลย
“แต่อีกกลุ่มจะเป็นภาคธุรกิจที่ยังไม่ได้สนใจเรื่องนี้ขนาดนั้น สำหรับกลุ่มนี้ เราอยากชวนให้เขาเห็นถึงความสำคัญ ให้เขาเห็นว่าเทรนด์เรื่องนี้มันใกล้ตัวเขาเรื่อยๆ ยิ่งถ้าเกิดในอนาคต เขาจำเป็นที่จะต้องแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่แข่งขันกับบริษัทอื่นๆ ในประเทศก็ตาม การที่เขาสร้างมูลค่าเพิ่มหรือสร้างความแตกต่างได้จากการเลือกใช้น้ำมันปาล์มที่ผ่านการผลิตอย่างยั่งยืนก็จะเป็นผลดีกับเขา ถ้าเขามองเห็นประโยชน์ที่เขาจะได้รับ เขาก็อาจจะพิจารณาการเลือกใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้ามาสร้างมิติที่แตกต่าง เราจึงพยายามสื่อสารให้กลุ่มนี้เปิดใจมากขึ้น และเริ่มพิจารณาการใช้น้ำมันปาล์มยั่งยืน
“เราเชื่อว่าการทำงานในรูปแบบนี้จะช่วยกระตุ้นให้ผู้ผลิตและเกษตรกรเห็นถึงความสำคัญเพราะตลาดต้องการ ทั้งยังสามารถสร้างแรงบันดาลใจในวงกว้างได้ ภาพที่เราอยากเห็นก็คือ เราอยากเห็นเกษตรกรที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้นและพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการผลิตอย่างยั่งยืนจำนวนมาก โดยที่ปลายน้ำเองก็มีความต้องการในการใช้ เกษตรกรเองก็สามารถผลิตในปริมาณเพียงพอที่ภาคธุรกิจจะใช้ได้ตามความต้องการของเขา”
บรรดาสินค้าต่างๆ ในซูเปอร์มาร์เก็ตที่ล้วนมีส่วนประกอบหลักเป็นน้ำมันปาล์ม
ภาพความยั่งยืนที่สร้างได้จากปลายน้ำย้อนสู่ต้นน้ำ
แม้ว่าเป้าหมายหลักของโครงการจะเป็นการเน้นเรื่องการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรให้พร้อมเข้าสู่การรับรองมาตรฐาน RSPO ผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่ได้พัฒนาขึ้น รวมถึงหวังที่จะเห็นภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาสานต่อขยายผลส่งเสริมและผลักดันเกษตรในพื้นที่อื่นๆ นอกโครงการให้ครอบคลุมมากขึ้น
แต่สิ่งที่องค์กรซึ่งขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องอยากเห็นไม่น้อยไปกว่ากันคือ การสร้างการตระหนักรู้นำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจากทางปลายน้ำมาถึงต้นน้ำ ปลายน้ำที่สำคัญคือผู้บริโภคมองเห็นคุณค่าของเรื่องการผลิตอย่างยั่งยืน และนำมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ สร้างแรงกระเพื่อมมาถึงฝั่งธุรกิจให้เกิดความตระหนักถึงคุณค่าของการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน ภาคธุรกิจมีศักยภาพทุนทั้งแรงงานและการผลิตสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง
การที่ผู้บริโภคเรียกร้องให้มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์โดยใช้น้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ผลิตมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้น จะทำให้ผู้บริโภคที่ใส่ใจกับเรื่องสิ่งแวดล้อมสามารถนำแนวคิดของความยั่งยืนมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำได้มากขึ้นและสะดวกขึ้น เมื่อพิจารณาจากจำนวนสินค้าที่ใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นวัตถุดิบ
“เราอยากเห็นอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากภาคธุรกิจปลายน้ำ อย่างบริษัทที่มีการใช้อยู่แล้ว เราก็อยากเห็นคำมั่นสัญญาที่เพิ่มขึ้น จากเดิมเขาใช้อยู่ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ ก็เพิ่มขึ้นเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ และ 100 เปอร์เซ็นต์ในที่สุด” กนกวรรณเล่าถึงเป้าหมายที่โครงการต้องการขับเคลื่อนให้เกิดขึ้น
ซึ่งเรื่องของภาคธุรกิจ ประโยชน์ที่บริษัทต่างๆ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ข้อดีของการใช้วัตถุดิบที่ยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อไปถึงความน่าเชื่อถือระดับประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปจากน้ำมันปาล์ม เพราะการใช้วัตถุดิบที่มาจากการผลิตอย่างยั่งยืนคือสิ่งที่เพิ่มมูลค่าและความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์โดยตรง
“อีกเรื่องที่อยากเห็นก็คือ ความร่วมมือจากบริษัทปลายน้ำที่ไปส่งเสริมความรู้ให้กับเกษตรกรที่เขาทำงานด้วย ให้องค์ความรู้เขา สนับสนุนให้เขาปรับเปลี่ยน คล้ายๆ กับโครงการที่ GIZ ทำอยู่ แต่อาจจะไม่ต้องสเกลใหญ่เท่าเรา เอาแค่กลุ่มเล็กๆ ที่เขาทำได้ เหมือนกับที่ตามปกติหลายบริษัทมีการทำ Corporate Social Responsibility หรือ CSR อยู่แล้ว ซึ่งลักษณะของการทำโครงการนั้นเพื่อสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน ทั้งเพื่อภาพลักษณ์และเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีในระยะยาว การสนับสนุนเกษตรกรในเรื่องนี้ก็เป็นเหมือน CSR รูปแบบหนึ่งซึ่งเป็นกิจกรรมระยะยาว และสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นได้จริง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราพยายายามสื่อสาร อย่างน้อยก็อยากให้เป็นไอเดียที่เขาสนใจและนำไปสานต่อได้
“เพราะสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น เราเชื่อว่าถ้าผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่เป็นเหมือนปลายน้ำช่วยสนับสนุนก็จะสามารถช่วยส่งผลตอบรับอันดี กลับสู่ทางต้นน้ำได้ในที่สุด” กนกวรรณกล่าว
คุณสามารถเริ่มต้นเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการใช้น้ำมันปาล์มจากแหล่งผลิตที่ยั่งยืนได้ ผ่านการตอบแบบสำรวจที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่การให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับการรับรู้และความเข้าใจ แต่ยังมีส่วนช่วยส่งเสริมการผลิตน้ำมันปาล์มโดยไม่ทำลายผืนป่า และช่วยปกป้องระบบนิเวศได้ เพียงตอบคำถามของเราผ่าน https://www.asean-agrifood.org/quiz/palm_oil_q/
ที่มา
Tags: Branded Content, น้ำมันปาล์ม, GIZ, RSPO